โรงเรียนกำลังป้อนอะไรให้กับเยาวชน?

คำถามนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การเรียนการสอนที่ได้รับจากโรงเรียน แต่หมายถึงปัญหาใหญ่อย่างเรื่องปากท้องของเยาวชนลูกหลานของเรา กับอาหารกลางวันของโรงเรียนที่ยังไม่สามารถลบข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย มาตรฐานโภชนาการ และคุณประโยชน์ต่อวัยที่กำลังเจริญเติบโต

หากเมื่อเด็ก ๆ กลับบ้าน เราถามว่าวันนี้กินอะไรเป็นอาหารกลางวันที่โรงเรียน หรือโรงเรียนทำอาหารกลางวันอะไรให้กินบ้างเราคงได้รับคำตอบที่ไม่ค่อยน่าอร่อยนัก อาหารถาดหลุมของนักเรียนบางโรงเรียนอาจจะเน้นหนักไปที่แป้ง ผักน้อย เนื้อน้อย ไม่มีผลไม้ มีขนมหวานที่หวานมากเน้นแป้งไปอีก  หากผู้ปกครองสามารถส่งเข้าโรงเรียนเอกชนได้ก็อาจจะดีกว่าโรงเรียนรัฐสักหน่อย แต่นั่นคือความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนรัฐและเอกชนที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เด็กทุกคนควรมีสิทธิในการเข้าถึงอาหารกลางวันโรงเรียนที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนประเภทและอยู่ส่วนใดของประเทศ

อาหารที่เด็กนักเรียนได้กินในช่วงพักกลางวันควรมีประโยชน์ต่อสุขภาพและไร้สารพิษ

อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพของเรา มีเบื้องหลังที่ไม่ดีต่อสุขภาพของโลก และไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตเช่นกัน อะไรคือปัญหาที่ซุกอยู่ใต้ถาดหลุม

การบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนชั้นประถมศึกษามีปัญหาหลายส่วน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันที่ได้รับในอัตราหัวละ 20 บาทต่อวัน และยังไม่ได้รับการปรับปรุง โดยมีการเสนอปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวค่าอาหารกลางวันเด็กเป็น 27 ถึง 36 บาท ตามขนาดของโรงเรียน แต่ปัญหาอาจจะไม่ได้มีแค่เรื่องงบประมาณ เพราะการจัดสรรงบประมาณเพิ่มมิได้หมายถึงการพัฒนาคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร หรือบวกรวมคำนึงถึงความปลอดภัยในอาหาร และความเป็นธรรมของผู้ผลิต การแก้ปัญหานี้จะต้องมองมุมใหม่ด้วยการคำนึงถึงที่มาของอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิตก่อนจะมาถึงถาดหลุมของนักเรียน และในโรงอาหารของเรา ใครคือผู้ผลิต ผลิตมาอย่างไร มีสารเคมีและการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะหรือไม่ มีคุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นต่อการพัฒนาของเด็กหรือไม่ หรือมีใครได้ประโยชน์จากการจัดสรรจัดซื้ออาหารกลางวันจำนวนมหาศาลทั่วประเทศ

งบประมาณโครงการอาหารกลางวัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ได้รับจากกระทรวงมหาดไทย มีตัวเลขกว่า 16 ล้านบาทต่อปี สำหรับเด็กนักเรียนราว 4 ล้านคน ตัวเลขที่ไม่มากไม่น้อยนี้เราเห็นข่าวที่ปรากฎอยู่บ่อยครั้งถึงการทุจริต เช่น กรณีของขนมจีนราดน้ำปลา  ไข่พะโล้บูด ปัญหาเช่นนี้อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องการมอบงบประมาณ แต่เป็นการใส่ใจต่อปากท้องของนักเรียนไทยของรัฐบาล

มีอะไรในอาหารกลางวันโรงเรียนที่เราต้องกังวล?

“แม้ว่าสถานการณ์ภาวะขาดโภชนาการอาหารในเด็กจะลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาน้ำหนักเกิน และอ้วนกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาเหล่านี้มาจากพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งจากการสำรวจคุณภาพอาหารกลางวันในโรงเรียนพบว่าคุณค่าสารอาหารเป็นปัญหามากที่สุดเนื่องจากไม่ได้ตามเกณฑ์เป้าหมายที่แนะนำ คือ ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 และวิตามินซี” พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นคุณภาพอาหารกลางวันโรงเรียนและปัญหาทางโภชนาการของเด็กไทยไว้ในงาน “ผ.ผักกินดี ทำไม ด.เด็กต้องกินผัก” ของกรีนพีซ 

อาหารที่เหมาะสมตามโภชนาการและวัยของเด็กคือสิ่งที่ขาดหายไปในอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ที่เป็นแหล่งสำคัญของแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งอาหารที่ขาดสมดุลของพืชผัก เน้นหนักไปทางแป้งและเนื้อสัตว์นั้นก่อให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอื่นที่ตามมา ซ้ำร้ายหากปราศจากการตรวจสอบที่มาของการผลิตอาหาร โรงเรียนอาจกลายเป็นสถานที่รับซื้อรายใหญ่ของประเทศที่ป้อนผักปนเปื้อนสารเคมีอันตราย และเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากกระบวนการอุตสาหกรรมที่อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศว่าเป็น ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก

ผลการศึกษาผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อนักเรียนระดับประถมและมัธยมต้น ทั้ง 4 ภาค ของประเทศไทย โดยมูลนิธิการศึกษาไทยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับกรีนพีซ ในปี 2561 พบว่าผักและผลไม้ที่นำมาใช้ประกอบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนทานนั้นอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยร้อยละ 52 และจากการตรวจหาการปนเปื้อนของสารเคมีในเลือดของนักเรียนและคุณครูจำนวน 7,807 คน จาก 55 โรงเรียน พบว่าร้อยละ 6 นั้นอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย และร้อยละ 25 ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และเป็นที่น่าตกใจอย่างยิ่งคือการพบสารเคมีปนเปื้อนไม่ชนิดใดก็ชนิดหนึ่งในร่างกายของเด็กกว่าร้อยละ 90 ตั้งแต่ในระดับชั้นอนุบาล 

ซึ่งการศึกษาข้างต้นยังไปสอดคล้องการศึกษาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในอาหารกลางวันโรงเรียนและนักเรียน ของ ดร.สุรัตน์ หงษ์สิบสอง จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ที่พบว่าในปี 2558 – 2559 กว่าร้อยละ 90 ของเด็กนักเรียนชั้นประถม 1 – 6 ในส่วนของเด็กนักเรียนได้รับการปนเปื้อนสารเคมีจำพวกคลอไพและไดอะซีนอนในปัสสาวะ ซึ่งตรงกับการตรวจผลจากพืชผักที่นำมาปรุงเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน

ผลลัพธ์ข้างต้นทำให้เห็นว่า กระทรวงศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังขาดความตระหนักในเรื่องผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กอยู่มาก รวมถึงขาดมาตรการและกฏระเบียบในการปกป้องนักเรียนและชุมชนจากผลกระทบเหล่านี้ 

ทำอย่างไรจึงจะมีอาหารปลอดภัยในงบประมาณ 20 บาทต่อคน

หากภาครัฐยังมองว่าอาหารกลางวันของเด็กมีความสำคัญในสัดส่วนงบประมาณประเทศที่คนละ 20 บาทเท่านั้น โจทย์ที่ตามมาของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องคือ จะทำอย่างไรให้ทุกบาททุกสตางค์คุ้มค่าทางโภชนาการและปลอดภัย

ที่ผ่านมามูลนิธิการศึกษาไทย ภายใต้โครงการ “การจัดการสารเคมีในระดับท้องถิ่นและการขับเคลื่อนการบริโภคพืชผักที่ปลอดภัย” ได้สร้างตัวอย่างความสำเร็จไว้กับ 55 โรงเรียนในสี่ภาคของไทย โดยมีประเด็นสำคัญที่ทำงานร่วมกันกับโรงเรียนคือ สร้างจิตสำนึกให้กับคุณครูและนักเรียนเพื่อให้หันมาบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ส่งเสริมการปลูกพืชผักในโรงเรียน และสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กับชุมชน เพื่อให้คนในพื้นที่ทำการผลิตอาหารที่ปลอดภัยเพื่อป้อนสู่โรงเรียน เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ไม่ใช่อุตสาหกรรม

National Safe School Lunch Policy Meeting in Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
บรรยากาศของการออกบูธภายในงานการประชุมจัดทำนโยบายอาหารกลางวันปลอดภัยระดับชาติ ที่จัดขึ้นเพื่อร่วมนำเสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารกลางวันในโรงเรียนในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา (พ.ศ.2562) © Chanklang Kanthong / Greenpeace

สำหรับการพัฒนาระบบอาหารกลางวันของนักเรียนให้มีความปลอดภัยนั้น หลายโรงเรียนในโครงการ ได้มีการพัฒนาพื้นที่ว่างรอบโรงเรียนให้กลายเป็นแปลงปลูกผักอินทรีย์ที่เด็ก ๆ และคุณครูมีส่วนร่วมตลอดทั้งกระบวนการ รวมถึงการกำหนดเมนูอาหารและประสานงานกับเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่อาหารมื้อสำคัญที่โรงเรียนนั้นปลอดภัยจริง  รวมถึงช่วยให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองในการผลิตอาหารกลางวัน บ้างก็สร้างรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับนักเรียนได้ 

เงินภาษีของเราควรนำไปสนับสนุนอาหารอินทรีย์มากกว่าอาหารที่ปนเปื้อนไม่ใช่หรือ

ลองคิดให้ดี กระทรวงมหาดไทยแบ่งสรรปันส่วนงบประมาณที่มาจากภาษีของเราเหล่านี้ให้กระทรวงต่าง ๆ นั่นหมายความว่าเงินสำหรับอาหารกลางวันของนักเรียนและลูกหลานเรานั้นมาจากภาษีของเราทุกคนทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันนี้กลับถูกเปลี่ยนเป็นอาหารที่ผักน้อย ไม่ครบโภชนาการ ทำให้เด็กอ้วน อีกทั้งยังสนับสนุนอุดหนุนการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมอันเป็นที่มาของการใช้สารเคมีมหาศาลที่ตกค้างในอาหารของเรา ในขณะที่เกษตรกรส่วนมากยังเป็นหนี้ และประสบปัญหาสุขภาพเนื่องจากการใช้สารเคมีอันตราย

ทำไมกระทรวงศึกษาธิการจึงไม่กำหนดนโยบายนำงบเหล่านั้นไปเลือกสรรซื้อผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ ทั้งพืชพรรณและเนื้อสัตว์ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเกษตรอินทรีย์ กระจายรายได้สู่เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่จังหวัด สร้างความเป็นธรรม และยังดีต่อสุขภาพของคนกิน คนปลูก ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

การปลูกผักทานเองในโรงเรียนถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการจัดหาอาหารที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน © Biel Calderon / Greenpeace

ทุกโรงเรียนสามารถจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนโดยการเชื่อมโยงโรงเรียนกับเกษตรกรในท้องถิ่นที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศได้ ความต้องการผลผลิตที่ปลอดภัยของโรงเรียนนั้นคือสิ่งสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เพราะจะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรหันมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำการเกษตรที่เน้นสารเคมีเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ไปสู่การผลิตเชิงนิเวศที่ใส่ใจต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังตรวจสอบได้เรื่องความปลอดภัย ลองคิดดูว่าหากงบประมาณ 16 ล้านบาทต่อปีหันมาซื้อพืชผักเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่นให้กับเด็กนักเรียนได้ตลอดทั้งปี เราจะมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน สุขภาพของเด็กจะดีขึ้นแค่ไหน และรายได้ในชุมชนจะเพิ่มขึ้นแค่ไหน

กระทรวงศึกษาทำอะไรได้บ้าง

คุณรู้หรือไม่ว่าอาหารในโรงเรียนรับซื้อวัตถุดิบมาจากไหน หากคุณตอบไม่ได้นั่นคือปัญหา 

โรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่เด็กรู้สึกปลอดภัย ทั้งด้านจิตใจและสุขภาพ แต่ปัจจุบันนี้โรงเรียนอาจกำลังคุกคามสุขภาพของนักเรียนผ่านทางอาหารกลางวันโดยที่นักเรียนและผู้ปกครองเองก็ไม่รู้ตัว อาหารโรงเรียนที่ปลอดภัยและเหมาะสมตามโภชนาการควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กไทยทุกคน ไม่ใช่แบ่งแยกตามมาตรฐานโรงเรียนรัฐและเอกชน ซึ่งยิ่งจะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทั้งการศึกษาและสุขภาพ

กรีนพีซมีข้อเสนอทางนโยบายต่อกระทรวงศึกษาธิการดังต่อไปนี้ เพื่อปกป้องสุขภาพของนักเรียนไทย

1. กำหนดให้การสรรหาวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ต้องจัดหามาจากกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตวิถีอินทรีย์และยั่งยืน ได้การรับรองมาตรฐานว่าปลอดภัยอย่างแท้จริงหรือแหล่งผลิตที่ปลอดภัยในชุมชน เป็นพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล หรือที่มั่นใจว่าไม่มีการใช้สารเคมีที่อันตรายหรือจากแหล่งที่สามารถควบคุมและตรวจสอบได้

2. จัดการอาหารกลางวันนักเรียนตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหารและอาหารปลอดภัย สำหรับโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยม ให้เป็นอาหารที่อุดมด้วยพืชผัก และเนื้อสัตว์ที่ผลิตโดยวิถีอินทรีย์ หรือจากการผลิตเชิงนิเวศ อย่างน้อย 2 มื้อต่อสัปดาห์

3. สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนในการปลูกผัก/เลี้ยงสัตว์ปลอดภัยเพื่อจำหน่ายให้แก่โครงการอาหารกลางวันโรงเรียน  และส่งเสริมการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ในโรงเรียนโดยไม่ใช้สารเคมีเพื่อลดปริมาณการนำเข้าผักหรือสัตว์บางชนิดจากภายนอก

ข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ แต่เป็นข้อเสนอที่กรีนพีซได้รณรงค์ต่อกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี 2559 แต่ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างไร 

ถือเป็นอีกหนึ่งคำถามฝากไปยังผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะเปลี่ยนแปลงมื้อกลางวันของเด็กไทย เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนได้กินอาหารกลางวันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของพวกเขาอย่างแท้จริง ปลอดภัยจากสารพิษ ดีต่อสุขภาพและเป็นธรรมต่อเกษตรกร

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม