หลังวิกฤตโรคระบาด Covid-19 ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ในฐานะที่เราทุกคนกลายเป็น “ลูกหนี้” ร่วมกัน เราจะนำงบนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อะไร ได้อย่างไรบ้าง? 

เสวนาคุยกันใต้หลังคาโซลาร์เซลล์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม โดยกรีนพีซ ประเทศไทย เราและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและพลังงานได้เสนอข้อเสนอการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วยการ “ปฏิวัติพลังงาน 1 ล้านหลังคาเรือน ภายใน 3 ปี” นั่นคือการนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เข้ามาติดตั้ง บนหลังคาครัวเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาล โดยคาดหวังว่าพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยไปพร้อม ๆ กับการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อเรา 

Solar Rooftop at Prapokklao Hospital in Thailand. © Roengchai  Kongmuang / Greenpeace
ภาพการเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ตั้งแต่ปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) หลายโรงพยาบาลเริ่มปฏิวัติหลังคา เปลี่ยนหลังคาเดิมให้กลายเป็นหลังคาโซลาร์รูฟท็อป ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าอย่างน้อยๆ 7 โรงพยาบาลของรัฐได้รับการระดมทุนจาก กองทุนแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นกองทุนที่ได้รับเงินบริจาคจากประขาชนทั่วประเทศ และกรีนพีซก็ได้ร่วมเป็นเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนโรงพยาบาลแสงอาทิตย์และการปลดล๊อคนโยบายพลังงานหมุนเวียนด้วยกัน  แต่ในปีนี้เราจะยกระดับการปฏิวัติให้โรงพยาบาลกลายเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นให้มากกว่าเพียงแค่การระดมทุน เรามีข้อเสนอเพื่อการปฏิวัติในครั้งนี้ แต่จะเป็นไปในแนวทางแบบไหนนั้นเราอยากชวนทุกคนมารู้จักกับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือคุณหมอจุ๊ก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา นายแพทย์ที่ทำให้โรงพยาบาลจะนะ เป็นโรงพยาบาลแรกๆที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

โซลาร์เซลล์ที่โรงพยาบาลจะนะ

ตอนนี้ที่โรงพยาบาลจะนะเราติดตั้งโซลาร์เซล์มาได้เข้าปีที่ 3 แล้วครับ เริ่มติดตั้งตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันเราติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั้งหมดที่ 72 กิโลวัตต์ เราติดตั้ง 2 รอบด้วยกันโดยรอบที่ 2 ต้องใช้งบประมาณราว 1,700,000 บาท เราจึงใช้วิธีระดมทุนออนไลน์ โดยรับการระดมทุนคนละ 170 บาท ซึ่งเราได้ยอดทั้งหมดมา 2,500,000 บาท ทำให้มีงบเหลือนำไปติดตั้งที่สถานีอนามัย นอกจากเงินบริจาคแล้วบางโรงพยาบาลก็มีงบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เช่นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า ในจังหวัดเพชรบูรณ์ เราคิดว่าในปัจจุบันมีโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 50 โรงพยาบาลแล้วที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา อย่างไรก็ดีเรายังไม่มีงบประมาณการสนับสนุนการติดตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้การสนับสนุนจึงมาจากประชาชนและภาคเอกชนเสียส่วนใหญ่ สำหรับสิ่งที่เราเรียนรู้จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในครั้งนี้จริงๆมีหลายด้านเลย นอกจากนี้เรายังอยากสื่อสารเรื่องราวที่มากกว่าค่าไฟฟ้าที่ลดลงต่อเนื่อง เพราะเราอยากเปลี่ยนโลกให้เป็นโลกสีเขียว อยากทำให้สังคมดีขึ้นด้วยพลังงานหมุนเวียนเพื่อโลกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง ชะลอภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นความฝันร่วมกันของเราและคนในสังคม 

First Solar Hospital Launch in Thailand. © Greenpeace /
โรงพยาบาลแสงอาทิตย์แก่งคอย ในจังหวัดสระบุรี เป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งแรกของไทยโดยได้รับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศ © Greenpeace /

ความสำคัญอย่างหนึ่งของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็คือ “งบประมาณ” เราจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้งบประมาณของประเทศได้ถูกนำไปใช้และคืนกำไรให้กับประชาชนสูงสุดและยั่งยืน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีการขับเคลื่อนอย่างไรต่อกระแสการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลบ้าง?

เรามีความพยายามเพื่อคุยกับกระทรวงพลังงานและได้มอบหมายให้เราทำแผนแม่บท 5 ปี สำหรับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อไปหารือกับกระทรวงพลังงาน เรายังคาดหวังว่าทุกพรรคการเมืองควรจะต้องคิดให้หนักเพื่อพาประเทศไปสู่ต้นแบบพลังงานหมุนเวียนของโลกให้ได้ เรามาไกลมากถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งเราจะไปได้ไกลกว่านี้อีกเพียงแค่เราจะต้องมีนโยบายที่เปิดกว้าง

ข้อเสนอของกรีนพีซและเครือข่ายสำหรับการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาล

สำหรับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการปฏิวัติ 1 ล้านหลังคาเรือนภายใน 3 ปี มีข้อเสนอเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาล นั่นคือ “การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 236 เมกกะวัตต์” โดยเสนอแนวทางการดำเนินงานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาล 8,170แห่ง ด้วยงบประมาณ 7,450 ล้านบาทต่อปี (3 ปี) โดยแบ่งเป็นประเภทโรงพยาบาลตามตารางด้านล่าง

ที่ผ่านมาการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมถ่านหินของประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี  การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากถ่านหินไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดอย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์หลังจากสถานการณ์โรคระบาดนี้ เป็นโอกาสที่รัฐบาลควรฉกฉวยเอาไว้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

กรีนพีซรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และผลักดันมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าหักลบกลบหน่วย Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน สามารถอ่านรายละเอียดเต็มๆได้ในรายงาน ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (พ.ศ.2564-2566) 

#พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน

#SolarEnergyForAll

#GreenAndJustRecovery

Solar Rooftop at Luang Suan Hospital in Thailand. © Greenpeace / Arnaud Vittet
พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน

ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟระดับครัวเรือน ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม