เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Extreme Weather Event ฟังดูแล้วอาจเป็นคำศัพท์ใหม่สำหรับใครหลายๆคน แต่เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วนั้นเป็นผลพวงมาจากสิ่งที่เราคุ้นเคยดีนั่นคือ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลพวงจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นหรือภาวะโลกร้อนนั่นเอง

extreme weather event
แล้วความสำคัญของ “เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว” ต่อเรามีมากขนาดไหน ก็คงต้องบอกข่าวร้ายว่าเรากำลังเผชิญเหตุการณ์นี้อยู่ ซึ่งเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วนี้ส่งผลกระทบกับมนุษย์เราอย่างที่เราคาดไม่ถึง

นักวิจัยจากสำนักวิจัยการเปลี่ยนแปลงโลก สหรัฐอเมริกา อธิบายไว้ว่า ในปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมาทั่วโลกเกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น ยกตัวอย่างเหตุการณ์คลื่นความร้อนทั้งในเกาหลีใต้และปากีสถาน เหตุอุทกภัยภัยที่เกิดขึ้นในอินเดีย คลื่นความหนาวที่ปะทะยุโรป และเฮอริเคนทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และนี่คือบางส่วนของภัยพิบัติจากทั่วโลกที่เราเพิ่งผ่านมา

คลื่นความหนาวเข้าถล่มยุโรป

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 คลื่นความหนาวจากไซบีเรียพัดเข้าสู่ยุโรป “ปีศาจจากตะวันออก” นี้เป็นสาเหตุทำให้ทวีปยุโรปมีอุณหภูมิลดต่ำลง คลื่นความหนาวในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนโดยเฉพาะคนไร้บ้าน ในโปแลนด์มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากคลื่นความหนาวนี้กว่า 23 คน

เฮอริเคนทางตะวันตกของสหรัฐฯ

extreme weather event
ภาพความเสียหายหลังการพัดถล่มของเฮอริเคนฟลอเรนซ์ ใน นอร์ท แคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา

ปี พ.ศ.2561 เป็นปีที่สหรัฐอมเริกาต้องเผชิญกับเฮอริเคนที่มีชื่อว่า เฮอริเคนฟลอเรนซ์ พัดเข้าถล่ม แคโรไลน่า และถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในรอบ 29 ปี ซึ่งความรุนแรงของเฮอริเคนส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน เฮอริเคนครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 รายและผู้ว่าการรัฐ เซาท์ แคโรไลน่าต้องสั่งอพยพประชาชนกว่า 1 ล้านคน

คลื่นความร้อนปะทะแดนกิมจิ

extreme weather event
“คลื่นความร้อนในกรุงโซล” นักท่องเที่ยวกำลังใช้พัดลมมือถือเพื่อลดความร้อน

คลื่นความร้อนหรือ Heat Wave ส่งผลทำให้ช่วงหน้าร้อนปีที่ผ่านมาของเกาหลีใต้ร้อนมากที่สุดในรอบ 111 ปี ถึงขั้นที่รัฐบาลออกมาเตือนประชาชนไม่ให้อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน และจัดการมาตรการให้ความช่วยเหลือชุมชนต่างๆด้านการแพทย์ อีกทั้งวางมาตรการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด

และถ้าถามว่าร้อนขนาดไหน ก็จะขออธิบายว่าบางวันสามารถวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 39.5 องศาเลยทีเดียว

“มังคุด” ไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ในฮ่องกง

พายุรุนแรงที่สุดในรอบปีคงหนีไม่ผลไต้ฝุ่นชื่อผลไม้คุ้นหู “มังคุด” ที่พัดเข้าถล่มฮ่องกงจนต้องยกระดับเตือนภัยเป็นระดับ T10 ไต้ฝุ่นมังคุดสร้างความเสียหายและทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวน 111 คน เที่ยวบินถูกยกเลิกหลายร้อยเที่ยว อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย

extreme weather event
ภาพความเสียหายหลังจากไต้ฝุ่น มังคุด พัดเข้าถล่มฮ่องกงในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2561  

อินเดียเผชิญภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2561 เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรัฐเกรละ ประเทศอินเดีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 361 คนและอีกกว่าแสนชีวิตต้องไร้บ้าน ทั้งนี้ ปี 2561 ถือเป็นปีที่อินเดียประสบภัยน้ำท่วมหนัก เพราะเกิดเหตุน้ำท่วมตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม

แต่สิ่งที่น่ากลัวมากกว่านั้นคือ รายงานวิจัยจาก World Bank Group ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบต่อผู้คนในทวีปเอเชียใต้มากกว่า 800 ล้านคน และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

ภัยแล้งในประเทศเยอรมนี

ในปีที่ผ่านมาเยอรมนีประสบภัยแล้งและคลื่นความร้อนอันยาวนาน ส่งผลให้ผลผลิตจากการเกษตรกรรมเสียหายอย่างหนัก

extreme weather event

เช่นเดียวกับเจ้าของผลผลิตจากไร่ผลไม้อินทรีย์ ในเมือง กูเดอร์ฮันวีเทล (Guderhandviertel) ครอบครัวบรอห์ม เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ทำให้เกิดโรคระบาดกับต้นไม้ในไร่ของพวกเขา

ส่งท้ายด้วย “ปาบึก” พายุพัดถล่มภาคใต้ของไทย

extreme weather event

บอกลาปีเก่าไม่ทันไร พอขึ้นปีใหม่ประเทศไทยก็ต้องเจอกับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วนั่นคือ พายุปาบึก

ปาบึกเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกแรกของปี พ.ศ. 2562 โดยก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนได้เร็วที่สุดในแอ่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนืออีกทั้งเป็นพายุโซนร้อนที่เคลื่อนผ่านประเทศไทยในเดือนมกราคมในรอบ 68 ปี

พายุลูกนี้เคลื่อนผ่านอ่าวไทยและขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก่อให้เกิดฝนตกหนัก คลื่นพายุซัดฝั่งและลมกรรโชกแรงในหลายจังหวัดทางภาคใต้และก่อความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง มีการอพยพประชาชนราว 30,000 คน และจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เป็นจังหวัดที่ปาบึกขึ้นฝั่งเป็นจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด

‘1.5’ คือเป้าหมายสำคัญ

ก่อนหน้านี้โลกของเราร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัจจุบันโลกของเราก็เผชิญกับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทุกอย่างอาจวิกฤตไปกว่านี้หากเราไม่สามารถรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

extreme weather event

ทั่วโลกกำลังตื่นตัว คนธรรมดาทั่วไป กลุ่มสตรีและโดยเฉพาะๆเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง พวกเขาย้ำเตือนผู้นำประเทศเกี่ยวกับระยะเวลาในการกู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเราเหลือเวลาเพียงแค่ 12 ปีเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานพิเศษของ IPCC หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่าเรามีทางออกที่จะหยุดองศาที่เพิ่มขึ้นของโลกไว้โดยต้องหยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังแนะนำให้เลือกใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเพราะในปัจจุบันโลกของเรายังไม่ได้นำศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างเต็มที่ และการนำพลังงานหมุนเวียนไปใช้ในสัดส่วนที่สูงจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจากเดิมถึง 1 ใน 3 และเป็นคำตอบสำคัญที่จะชะลอวิกฤตจากภาวะโลกร้อนนี้