หลังวิกฤตโรคระบาด Covid-19 ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ในฐานะที่เราทุกคนกลายเป็น “ลูกหนี้” ร่วมกัน เราจะนำงบนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อะไร ได้อย่างไรบ้าง? 

เสวนาคุยกันใต้หลังคาโซลาร์เซลล์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม โดยกรีนพีซ ประเทศไทย เราและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและพลังงานได้เสนอข้อเสนอการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วยการ “ปฏิวัติพลังงาน 1 ล้านหลังคาเรือน ภายใน 3 ปี” นั่นคือการนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เข้ามาติดตั้ง บนหลังคาครัวเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาล โดยคาดหวังว่าพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยไปพร้อม ๆ กับการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อเรา 

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถือเป็นอีกสถานที่สำคัญที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเพื่อการเรียนการสอนรวมทั้งการสนับสนุนด้านวิชาชีพ จึงเป็นส่วนที่น่าสนใจที่จะสนับสนุนการสร้างอาชีพจากการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในบทความนี้เราจะพูดถึงข้อเสนอการปฏิวัติบนหลังคาโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ภายใน 3 ปี (ปี 2564-2566) กับ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “โรงเรียนแสงอาทิตย์ การจ้างงานและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม”

Thai Legal Scholar Prinya Thaewanarumitkul at Thammasat University in Bangkok. © Biel Calderon / Greenpeace
© Biel Calderon / Greenpeace

ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการจ้างงาน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วยการลดก๊าซ CO2

ที่ผ่านมาเรามักนึกถึงการติดตั้งโซลาร์แค่บนหลังคาบ้านเรือน แต่จริง ๆ แล้วสถาบันการศึกษามองเห็นโอกาสนี้มานานแล้ว และวางเป้าหมายกันว่าจะมีการสร้างอาชีพจากการปฏิวัติบนหลังคาโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แล้วทำไมโรงเรียนหรือสถานศึกษาทำไมจึงควรติดตั้งโซลาร์เซลล์ มันมีข้อดีอย่างไร?

อาจารย์ชาลีได้อธิบายไว้ว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์และการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาสถานศึกษานั้นมีสิ่งที่น่าสังเกตดังนี้

  1. ลดภาระค่าไฟฟ้าที่สถานศึกษาต้องจ่าย
  2. โรงเรียนมีเงื่อนไขหนึ่งนั่นคือการเรียนการสอนเกิดขึ้นตอนกลางวัน การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นในตอนกลางวันจึงทำให้โรงเรียนใช้งานโซลาร์เซลล์ได้คุ้มค่า
  3. แผงโซลาร์เซลล์ช่วยลดความร้อนภายในอาคาร เพราะตัวแผงเมื่อวางอยู่บนหลังคาจะสร้างเงา (shade) ทำให้หลังคาไม่ได้โดนแสงอาทิตย์โดยตรง

ส่วนในมุมมองของการลงทุน อาจารย์ชาลีให้มุมมองว่าสถานศึกษาควรติดตั้งเยอะกว่าบ้านเรือน ประมาณ 10 กิโลวัตต์ โดยลงทุนเป็นเงินประมาณ 400,000 บาท และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,200 หน่วย เมื่อคำนวนออกมาแล้วหากเราใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ก็จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงเดือนละ 4,800 บาท (รวมทั้งปี 57,600 บาท) ซึ่งสามารถคืนทุนการติดตั้งได้ภายใน 6-7 ปี

สำหรับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการปฏิวัติ 1 ล้านหลังคาเรือนภายใน 3 ปี มีข้อเสนอเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนสถานศึกษา นั่นคือ “การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 30,000 โรงเรียน” โดยเสนอแนวทางการดำเนินงานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงเรียน ด้วยงบประมาณ 7,600 ล้านบาทต่อปี (3 ปี) โดยแบ่งเป็นประเภทโรงเรียนตามตารางด้านล่าง

ที่มา : รายงาน ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (พ.ศ.2564-2566)

หากมองในภาพรวมแล้ว การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในโรงเรียนจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ารวมปีละ 5,098 บาทต่อปี ทำให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และนำงบประมาณไปจัดสรรบริหารเพื่อคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น ในภาพรวมหากเราลงทุนติดตั้งระบบในทั้ง 3 แห่งก็คือ บ้านเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาล จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและช่วยสร้างงานที่เกี่ยวกับระบบโซลาร์บนหลังคาได้มากถึง 50,000 อัตรา

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการลดภาระค่าใช้จ่าย การสร้างอาชีพกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญนั่นคือทุกครั้งที่ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ก็จะช่วยลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมกัน เพราะในปัจจุบันประเทศไทยผลิตพลังงานไฟฟ้าจากหลายแหล่ง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานน้ำ เป็นต้น ซึ่งการผลิตพลังงานไฟฟ้าของไทย 1 หน่วยจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 500 กรัม แต่ถ้าเราเพิ่มการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แทนถ่านหิน เราก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเดิม 500 กรัม จะลดลงเหลือ 50 กรัมต่อ 1 หน่วยไฟฟ้า ซึ่งคำนวนได้ว่าการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาเพียงแค่ 2 แผง (ประมาณ 600 วัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ต้นใหญ่ 1 ต้นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาล้านหลังนี้ก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ต้นใหญ่ๆล้านต้นเลยทีเดียว

Solar Panel Installation in Switzerland. © Greenpeace / Philipp Rohner
© Greenpeace / Philipp Rohner

ความเป็นไปได้ของอาชีพด้านพลังงานหมุนเวียนในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

ในปัจจุบันก็มีนายช่างหรือผู้ที่สนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ผันตัวเองเข้ามาทำธุรกิจติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำให้เกิดความต้องการการจ้างงานมากขึ้น โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องอย่างโรงเรียนอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค หรือแม้แต่ภาควิชาวิศวกรรมศาตร์เองมีการเตรียมคนตรงนี้มีการเตรียมแผนเพื่อผลิตกำลังคนออกมารองรับอย่างไร

อ.ชาลีให้ความเห็นว่า ในส่วนของการผลิตกำลังคนออกมาเพื่อรองรับธุรกิจของโซลาร์เซลล์นั้นไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไปและไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะนักศึกษาจากภาควิชาเทคนิคไฟฟ้าก็สามารถทำงานด้านนี้ได้เลย แต่ส่วนที่คิดว่าสำคัญมากๆเลยก็คือ “การสร้างงานใหม่” เราสามารถดึงคนที่ไม่ได้อยู่สายอาชีพนี้โดยตรงเข้ามาเรียนรู้การทำงาน ตรงนี้ต่างหากที่จะช่วยให้ประเทศเกิดการแข่งขันและมีตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งตอบโจทย์ในช่วงที่เราพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคระบาด

ที่ผ่านมาการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมถ่านหินของประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี  การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากถ่านหินไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดอย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์หลังจากสถานการณ์โรคระบาดนี้ เป็นโอกาสที่รัฐบาลควรฉกฉวยเอาไว้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

solar-revolution-poster

กรีนพีซรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และผลักดันมาตรการ Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน

ข้อเสนอการปฏิวัติหลังคาด้วยโซลาร์เซลล์ยังไม่จบแค่บนหลังคาครัวเรือนและสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีข้อเสนอการปฏิวัติบนหลังคาโรงพยาบาลอีกด้วย ติดตามข้อสรุปของข้อเสนอการปฏิวัติหลังคาโรงพยาบาลได้ในตอนต่อไป หรืออ่านรายละเอียดเต็มๆได้ในรายงาน ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (พ.ศ.2564-2566) 

#GreenAndJustRecovery

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม