“เรากำลังอยู่ในยุคที่ชดใช้กรรม” กรรมจากการพัฒนาที่ทำลายธรรมชาติมากเกินไป มหาสมุทรกำลังส่งสัญญาณว่า มันรับผลจากกิจกรรมของมนุษย์ไม่ไหวแล้ว ทั้งการพบไมโครพลาสติกในอาหารทะเล อุณหภูมิน้ำทะเลที่กำลังสูงขึ้น สภาพอากาศวิปริต ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ถ้าวันนี้ไม่ทำอะไร วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจร้ายแรงจนทำลายแหล่งผลิตอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย เกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากร เกิดการอพยพครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอด และเราได้เห็นจากวิกฤตโควิด-19 แล้วว่าเวลาเกิดวิกฤตแบบนี้คนจนตายก่อนและจะเจ็บปวดที่สุด

นั่นไม่ใช่พลอตหนัง แต่เป็นภาพอนาคตที่อาจกำลังรอเรา บทสนทนากับ เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ผู้พยายามเตือนว่า “วิกฤตทางสิ่งแวดล้อม คือความเป็นความตายแบบเดียวกับวิกฤตโควิด-19” และการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบต่างคนต่างทำ การเน้นการสร้างจิตสำนึก หรือการทำ CSR แบบส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทใหญ่ๆ ไม่เพียงพอแล้ว แต่ต้องมีกฎหมาย นโยบาย หรือกลไกเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นแนวทางปฎิบัติตามปกติของสังคม เป็นความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ และเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน

 เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์

เพชร มโนปวิตร ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกมาหลายแห่ง ทั้ง องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมให้องค์กรทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และร่วมก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม ReReef ซึ่งจำหน่ายและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นขับเคลื่อนการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล แก้ปัญหาขยะพลาสติก และสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

‘พี่เพชร’ ผู้หลงใหลในเรื่องมหาสมุทร จะต่อจิ๊กซอว์ให้เราเห็นว่า ทำไมการอนุรักษ์ทางทะเลถึงเป็นเรื่องยากเมื่อเทียบกับการอนุรักษ์ทางบก ทำไมมหาสมุทรได้รับผลกระทบจากเราทั้งที่เราไม่ได้อยู่ริมทะเล และทำไมเขาถึงเลือกเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์

จากเด็กที่โตมากับสารคดีส่องโลก สู่นักกิจกรรมไฟแรง

ตอนเด็กพี่ชอบดูสารคดีธรรมชาติ อย่างรายการส่องโลก พูดถึงภารกิจของคุณสืบ นาคะเสถียร ที่ช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่ตกค้างจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งบริเวณนั้นเป็นป่าที่ราบต่ำ มีสัตว์ป่าชุกชุม การสร้างเขื่อนทำให้สัตว์ป่าตายไปจำนวนมากเพราะหนีน้ำท่วมไม่ทัน ขณะที่บางส่วนติดอยู่ตามเกาะเล็ก ๆ คุณสืบซึ่งเป็นข้าราชการที่ทำงานวิจัยก็ถูกส่งให้ไปช่วยชีวิต คิดว่านี่เป็นสารคดีหนึ่งที่ติดใจเรา และทำให้มองเขื่อนด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปด้วย ทำให้เราเห็นว่าจริง ๆ เขื่อนไม่ได้มีแต่ข้อดีเหมือนที่เรียนตอนเด็กๆ และการพัฒนาทุกอย่างมีสองด้านเสมอ

คุณสืบตัดสินใจจบชีวิตในปี 2533 เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ทำให้กระแสการอนุรักษ์ตื่นตัว เพราะไม่มีใครคิดว่านักอนุรักษ์ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างคุณสืบจะฆ่าตัวตาย นั่นเป็นช่วงที่เราเข้ามหาวิทยาลัยพอดี ชอบอ่านหนังสือ และเริ่มตั้งคำถามกับความหมายของชีวิต ตอนนั้นกิจกรรมองค์กรอนุรักษ์กำลังอยู่ในช่วงพีค ตัวเองจึงคลุกตัวทำกิจกรรมอยู่ที่ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติฯ ของมหาวิทยาลัย ก็เลยได้มีโอกาสร่วมจัดเสวนาเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาต่างๆ ได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูป่า พาเด็กเดินป่า การลงพื้นที่ทำให้รู้สึกว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ และสิ่งแวดล้อมคือเรื่องความเป็นความตายของเผ่าพันธุ์เราเลยก็ว่าได้ มันมีปัญหารุมเร้าและมีงานเยอะแยะที่เราอยากเข้าไปมีส่วนร่วม นั่นน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เห็นเส้นทางของตัวเองชัดว่า งานนี้แหละที่เราอยากทำ และน่าจะเป็นงานที่มีความหมายต่อชีวิต

ซึ่งช่วงนั้นพอได้จัดกิจกรรมเยอะๆ ก็จะรู้จักพวกพี่ๆ ที่ทำงานในวงการอนุรักษ์ จบมาก็เลยเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงไฟแรง เป็นหนุ่มนักกิจกรรมอุดมการณ์แรงกล้า เวลากรอกใบสมัครก็เสนอเงินเดือนไปเต็มที่เลย 6,500 บาทมั้ง ต่ำสุดของราชการเลย เพราะเรารู้สึกอยากทำงานนี้มาก เป็นงานในฝัน เราอยากใช้งานวิชาการที่เราชอบมาขับเคลื่อนงานอนุรักษ์

เปิดโลกใต้ทะเลจากการดำน้ำ จุดประกายความหลงใหลในเรื่องทะเล

ช่วงแรกทำงานอนุรักษ์ทางบกเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นก็ไปเรียนปริญญาโทด้านนิเวศวิทยาเขตร้อน ที่มหาวิทยาลัยเจมส์คุก รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านชีววิทยาทางทะเล ก็เลยแวดล้อมด้วยเพื่อนฝูงที่ทำงานเกี่ยวกับทะเลเป็นส่วนใหญ่ และได้โอกาสเรียนดำน้ำตอนอยู่ที่นั่น  เป็นการเปิดโลกใหม่ที่ทำให้หลงรักไปโดยปริยาย เพราะเวลาเราอยู่บนบก มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะได้เห็นสัตว์ป่านอกจากนก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ แต่เวลาลงไปอยู่ใต้น้ำ เราได้แหวกว่ายกับปลา มีโอกาสเห็นเขาเป็นตัว ๆ  ในระยะใกล้

การดำน้ำมันเปิดโอกาสให้คนเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นบ้านของสัตว์ ถ้าได้รับการแนะนำอย่างถูกต้อง คิดว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนกลายมาเป็นนักอนุรักษ์ได้ไม่ยากเลย คล้ายๆกับการดูนก ดูสัตว์ป่า การมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่ทำให้คนรับรู้ว่าโลกนี้ไม่ใช่ของมนุษย์อย่างเดียว แต่มันเป็นโลกของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย

ปลาแต่ละชนิดมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง และฉลามไม่ได้ดุร้ายแบบในหนัง

ถ้านึกถึงปลา คนส่วนใหญ่อาจมองว่ามันเป็นอาหาร แต่ถ้าได้ดำน้ำ จะเห็นคาแรกเตอร์ปลาแต่ละชนิด อย่างปลากระเบน ที่ดูสง่างามและยิ่งใหญ่มากเวลาที่เราอยู่ใต้น้ำ หรือปลานกแก้วสีสันสดใสที่มีบทบาทช่วยให้ปะการังฟื้นตัวได้ เพราะคอยกินสาหร่ายไม่ให้แย่งพื้นที่ปะการัง ส่วนฉลามก็เซ็กซี่มากสำหรับนักดำน้ำ เพราะเป็นนักล่ายิ่งใหญ่ที่วิวัฒนาการมาตั้ง 400 ล้านปี เรียกได้ว่าธรรมชาติออกแบบมาอย่างดีที่สุดแล้วจนน่าศึกษาวิธีว่ายน้ำ วิธีจู่โจมเหยื่อเวลาพี่เจอปลาฉลาม จะรู้สึกโชคดีมาก เพราะมันเป็นสัตว์น่าสงสารที่ถูกมนุษย์ไล่ล่าอย่างรุนแรงมาตลอด จนประชากรหลายชนิดลดลงมากกว่า 99% น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเสือโคร่งหรือช้างด้วยซ้ำ ฉลามส่วนใหญ่ไม่ได้มีนิสัยก้าวร้าวหรือดุร้ายอย่างที่สื่อสร้างภาพให้มันเป็น เขาจะล่าเพื่อความอยู่รอด เกินครึ่งมีนิสัยกลัวคนหรือขี้อายด้วยซ้ำไป มีฉลามไม่กี่ชนิดที่เคยจู่โจมคน อย่างฉลามขาว ซึ่งตัวใหญ่มากก็เลยล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ เหตุการณ์ฉลามกัดกินคนส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาด เพราะเราไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นบ้านเขาจนสับสน แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์ไม่ใช่เหยื่อของฉลาม

การอนุรักษ์ทางทะเล ล้าหลังกว่าการอนุรักษ์ทางบก 10-20 ปี เพราะแนวคิดว่าทะเลไม่มีเจ้าของ และคนไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นใต้น้ำ

เราบอกได้เลยว่าเรื่องการอนุรักษ์ทางทะเลนั้นล้าหลังทางบกไป 10-20 ปี พราะคนมีทัศนคติว่าทะเลเป็นพื้นที่เปิด ไม่มีเจ้าของ ใครใช้ประโยชน์ก็ได้ เหมือนสมบัติส่วนกลางที่มีแต่คนมาตักตวงสิ่งมีค่า ทำการประมง ขุดแร่ ขุดน้ำมัน ในขณะเดียวกันเราก็ทิ้งขยะจำนวนมากลงไป เพราะแนวคิดว่าทะเลเป็นของส่วนรวม มันก็เลยเป็นตัวอย่างคลาสสิคของ “โศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวม (Tragedy of the Commons)” เป็นทฤษฎีเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่บอกว่าสมบัติส่วนรวมจะถูกใช้ เพราะไม่มีใครคิดว่าต้องเป็นเจ้าของหรือต้องเป็นคนดูแล เหมือนแปลงทุ่งหญ้าที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของจะมีทุกคนมาใช้ แต่แปลงที่มีเจ้าของก็จะมีการดูแลมีการจัดสรรปันส่วน

อีกสาเหตุก็คือ คนทั่วไปก็ยังมองไม่เห็นด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นใต้ทะเล การดำน้ำสำรวจธรรมชาติใต้ทะเล เพิ่งเป็นที่นิยมระยะหลังเท่านั้นถ้าเทียบกับการสำรวจธรรมชาติทางบก ถ้าเกิดอะไรขึ้นใต้ทะเล เช่น เรืออวนลาก ลากแนวปะการังไปทั้งหมดเลย ก็ไม่มีใครรับรู้ เพราะไม่มีการบันทึกหรือออกมานำเสนอ พอไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ได้นึกถึง เรียกว่า “Out of sight, out of mind” ตัวอย่างคือ เหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อปี 2553 ที่หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งปะการังน้ำตื้นที่ดีที่สุดของประเทศไทยตายไปมากกว่า 90% แต่ข่าวเงียบมาก แทบไม่มีคนรับรู้เลย ยกเว้นแต่นักวิจัยในวงการเท่านั้นเอง ทั้งที่ความจริงแล้วผลกระทบไม่ต่างเลยจากกรณีไฟป่า แต่ถ้ามีไฟป่าที่เขาใหญ่ แล้วป่าไหม้ไป 90% คิดว่านายกฯ คงจะไปลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว นี่คือจุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างการอนุรักษ์ทางบกกับทางทะเล

เราอยู่ในยุคชดใช้กรรม เมื่อมหาสมุทรรองรับผลจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อไปไม่ไหวแล้ว

มีคำกล่าวว่า “ทุกลมหายใจที่สองของคุณ ได้มาจากมหาสมุทร” เพราะตัวผลิตออกซิเจนครึ่งหนึ่งบนโลกมาจากแพลงก์ตอนพืชที่อยู่ในทะเล ขณะเดียวกัน ทุกการกระทำที่ส่งผลกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือที่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วมันไปจบที่มหาสมุทร อย่างแรก ความร้อนส่วนเกินกว่า 90% ที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ถูกมหาสมุทรดูดซับเอาไว้ ทำให้ปะการังที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตายลง อย่างที่สอง ขยะหรือสารเคมีที่เราทิ้งทุก ๆ วันแล้วลงสู่แหล่งน้ำ สุดท้ายก็ไปจบที่ทะเล ซึ่งงานวิจัยบอกว่ามีขยะปีละ 8-12 ล้านตันลงสู่ทะเล

มหาสมุทรรองรับทุกอย่างจากมนุษย์ แต่มันส่งสัญญาณว่าเริ่มที่จะรับไม่ไหวแล้ว ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่เรียกได้ว่าชดใช้กรรมก็ว่าได้ เราพบแล้วว่าอาหารทะเลที่เรากินเริ่มปนเปื้อนพลาสติก ส่วน Climate Change ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เราสัมผัสได้ถึงอากาศที่ร้อนขึ้นจริง หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 2 องศา ปะการังทั่วโลกก็อาจจะตายหมด และส่งผลกระทบมหาศาลทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร หรือการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน ก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นและถูกดูดซับลงไปในมหาสมุทร ยังทำให้ตอนนี้เกิดปรากฏการณ์ทะเลเป็นกรด สัตว์ที่มีเปลือกอาจจะสร้างหินปูนไม่ได้เพราะทะเลเป็นกรดมากขึ้น ผลกระทบในเชิงเคมีต่อมหาสมุทรจะร้ายแรงมาก และแก้ปัญหาแทบไม่ได้ เพราะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน

วิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อาจนำไปสู่สงครามแก่งแย่งทรัพยากร วิกฤตโควิด-19 คือตัวอย่างที่ชี้ว่าคนจนเจ็บปวดที่สุดเสมอ

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้จำลองภาพในอนาคตต่าง ๆ ไว้แล้วว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะได้เห็นการละลายหมดของน้ำแข็งขั้วโลก ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดการอพยพย้ายถิ่นของคนจากเมืองที่จมน้ำ รวมถึงกรุงเทพมหานครที่อยู่แทบจะระดับเดียวกับน้ำทะเล ภัยธรรมชาติที่มันรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะขัดขวางระบบการผลิตอาหาร จนมีอาหารไม่เพียงพอต่อประชากรมนุษย์ อาจจะนำไปสู่สงครามแก่งแย่งทรัพยากร

เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จะแก้ปัญหาด้วยการปลูกต้นไม้แบบมินิมอลมันไม่พอละ แต่เราจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ในเชิงทัศนคติ นโยบาย และเป้าหมายการพัฒนาแล้วในช่วงนี้ ถ้ายังไม่ตื่นกัน เหมือนเรากำลังหลับตาเดินตกเหว ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์พยายามตีฆ้องร้องป่าวว่า มันต้องทำอะไรได้แล้ว

วิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้เห็นปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม เมื่อปิดเมือง คนรวยอยู่ได้นานกว่าแน่นอน คนที่หาเช้ากินค่ำได้รับผลกระทบก่อน คนไม่มีรายได้จะอยู่รอดได้ก็ต้องมีทรัพยากรพื้นฐาน มีความร่วมมือกัน เหมือนเราเห็นกรณีการทำสวนผักชุมชน ผลิตอาหารเอง ลดรายจ่าย ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ หรือการยังมีธรรมชาติที่สมบูรณ์จึงเป็นหลักประกันความอยู่รอดที่สำคัญ นี่เหมือนเป็นหนังตัวอย่างของภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนกัน ว่าเวลาเกิดวิกฤตอย่างนี้ แน่นอนว่าคนที่มีต้นทุน มีทรัพยากรเยอะก็จะอยู่ได้นาน ในขณะที่คนจนที่ไม่มีแผนสอง ก็จะเจ็บปวดที่สุด ถามว่าแล้วเราจะปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ได้เหรอ ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักแล้วก็อยู่ไม่ได้ ก็จะสะท้อนว่าสถานการณ์ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันมันบิดเบี้ยว ถ้ามองในภาพใหญ่ ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีการจัดการทรัพยากรที่ดี มีแนวทางการพัฒนาที่เน้นเรื่องความยั่งยืนจึงได้เปรียบ เรียกได้ว่ามีภูมิคุ้มกัน ก็มีโอกาสได้ไปต่อ ความจริงในเชิงภูมิศาสตร์และนิเวศวิทยา ประเทศไทยมีทุกอย่างที่จะสร้างสังคมแบบนั้นได้

ประชาธิปไตยคือความจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการอนุรักษ์

การอนุรักษ์ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องของส่วนรวม จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาธิปไตย เพราะว่าประชาธิปไตยในอุดมคติ ก็คือรัฐบาลควรจะเป็นผู้รักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ตัวแทนที่ได้มาก็คือได้รับการเลือกมาจากเสียงส่วนใหญ่ ถึงจะเป็นรัฐบาลที่รักษาผลประโยชน์และคิดในเรื่องของการพัฒนาสำหรับคนส่วนใหญ่ และต้องไม่ลืมว่า Absolute power corrupts absolutely คือระบบที่ผู้บริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่างมักนำไปสู่การทุจริต และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง หรือคนเฉพาะกลุ่ม ประชาธิปไตยจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบคานอำนาจ และการตรวจสอบนโยบายที่เข้มแข็ง

ทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องของส่วนรวมที่จะกระทบคนทั้งประเทศ และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในยามที่ธรรมชาติล่มสลายคือคนจน คนชายขอบ เราต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องของคนรวยที่นึกอยากจะชี้นิ้วอนุรักษ์ป่าตรงนั้นตรงนี้ เรียกได้ว่าการมีความรู้ทางนิเวศวิทยา และการรับฟังเสียงส่วนใหญ่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการที่ว่าเราจะก้าวต่อไปข้างหน้า สุดท้ายการอนุรักษ์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่นักอนุรักษ์หรอก แต่อยู่ที่ความเห็นของคนในสังคม อย่างกรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ หรือการเสนอพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราก็ดี ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่เอา ก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นการแสดงฉันทามติร่วมกันว่าการพัฒนาต่อจากนี้มันไม่ควรต้องแลกด้วยการทำลายระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างคืนมาได้อีกแล้ว

คำถามต่อการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้รวมความอุดมสมบูรณ์ที่อาจเสียไป มาคำนวณต้นทุนหรือยัง

คิดว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นอีกตัวอย่าง ว่าที่ผ่านมาเราอาจจะตั้งเป้าในการพัฒนาที่ไม่ถูกนัก เราต้องมองก่อนว่าระบบนิเวศทุกอย่างมันมีราคา ไม่ใช่แค่คิดว่าเอาพื้นที่ไปทำมาค้าขายแล้วจะได้ผลตอบแทนเท่าไร แต่สิ่งที่หายไปจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตรงนั้นไม่ค่อยถูกนำมาคำนวณหรือพิจารณาเท่าไร

คุณค่าในเชิงระบบนิเวศ หรือนิเวศบริการ (ecosystem services) เป็นสิ่งที่มีราคาสูงมาก ยังรวมไปถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทดแทนไม่ได้ เช่น ถ้ามีโลมาอาศัยอยู่พื้นที่ตรงนั้น ก็จะบ่งชี้ว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความพิเศษ มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว การเป็นแหล่งผลิตอาหาร ซึ่งเอื้อให้คุณสามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน ยั่งยืน และต่อยอดได้มากมายต่อชุมชนที่อยู่ที่นั่น  เทียบกับการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ที่มันมีความสมบูรณ์อย่างนั้นไปเป็นนิคมอุตสาหกรรม มันก็น่าเสียดาย ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ใคร ใครต้องแบกรับต้นทุนหรือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ  ที่สำคัญการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ มักมองผลตอบแทนในระยะสั้น แต่ไม่ได้มองความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว คุณได้เอาผลประโยชน์จากระบบนิเวศด้านต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้สามารถตีราคาได้แล้ว เข้ามาคำนวณความคุ้มทุนด้วยหรือยัง ถ้าชั่งน้ำหนักเรื่องนี้ด้วย คำตอบมันก็จะชัดเจนมากขึ้นว่ามันควรหรือไม่ควรเดินหน้า

ต้องมีกฎหมายให้บริษัทใหญ่ ๆ รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำตั้งแต่แรก ไม่ต้องรอ CSR

จากที่ทำงานมา เรามองเห็นจุดแข็งของสังคมไทย ว่าให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์โดยพื้นฐาน อาจจะด้วยความพร้อมของเศรษฐกิจ และขบวนการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างเข้มแข็งมีความต่อเนื่อง  ประเด็นการอนุรักษ์จุดติดเสมอมาในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย บางกรณีนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยซ้ำ อย่างกรณี 14 ตุลา 2516 ที่เริ่มมาจากข้าราชการใช้เฮลิคอปเตอร์ของรัฐไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

แต่จุดอ่อนคือเรายังไม่ได้ใช้ศักยภาพตรงนั้นให้เต็มที่ การทำ CSR ของบริษัทใหญ่ต่าง ๆ หรือความตื่นตัวของสาธารณะ เช่น การรณรงค์เรื่องพลาสติก ยังเต็มไปด้วยการเสนอทางออกเล็ก ๆ แบบกระจายตัว ซึ่งไปไม่ถึงจุดที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ได้ เราจำเป็นต้องมีกฎหมายที่ผลักดันเรื่อง “ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” (Extended Producer Responsibility, EPR) ซึ่งจะบังคับให้ผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ตั้งแต่ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือการรับขยะกลับคืน

ถ้าเราสามารถรวบรวมคนที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง ไปให้ถึงจุดที่เห็นความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนกฎหมาย เราจะไม่ต้องมารอให้บริษัทใหญ่ ๆ ทำ CSR เพื่อแก้ปัญหา ความจริงมันเป็นความรับผิดชอบของเขาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ที่จะแก้ปัญหาที่เขามีส่วนสร้างขึ้นตั้งแต่แรก ไม่ใช่ว่าพอบริษัทลุกขึ้นมาทำโครงการ CSR ซึ่งความจริงส่วนมากก็ยังเป็นโครงการ PR แบบเดิมๆ คนก็มองว่าดีจังเลยที่บริษัทเข้ามาช่วย

ในเรื่องของการทำ CSR ซึ่งตอนนี้หลายบริษัทขนาดใหญ่พยายามทุ่มทุนกันมาก อยากให้เข้าใจแนวคิดเรื่อง CSR ว่าไม่ใช่อีเวนท์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ แต่คือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมจริงๆ CSR ที่มีอิมแพคมากที่สุด คือการพิจารณาผลกระทบต่าง ๆ ที่บริษัทสร้างขึ้นในกระบวนการผลิตของตัวเอง ลองไล่ supply chain ของตัวเอง และไล่ดูผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตั้งแต่ต้นทางของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงหลังขายผลิตภัณฑ์ออกไปแล้ว ว่าจะรับผิดชอบอย่างไรในการแก้ปัญหา เชื่อว่าบริษัทใหญ่ ๆ ต่างมีทรัพยากรและองค์ความรู้ที่สามารถทำได้อยู่แล้ว ถ้าตั้งใจจะทำจริงๆ

สิ่งแวดล้อมไม่ควรเป็นเรื่องของคนดี แต่กฎหมายและกลไกต่างๆ ต้องมาอำนวยความสะดวก

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ควรเป็นเรื่องของคนดีมีจิตสำนึกเท่านั้น แต่ควรเป็นเรื่องของระบบการจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ และสะดวกที่สุดสำหรับผู้บริโภค อย่างทุกวันนี้การแยกขยะเป็นเรื่องที่แสนยากเย็น และกลายเป็นภาระของผู้บริโภคฝ่ายเดียว ยกตัวอย่างคนที่ขยันพยายามแยกขยะพลาสติก แยกแล้วจะไปส่งต่อที่ไหน ทำไมกรุงเทพฯ ถึงไม่มีรถเก็บขยะพลาสติกและขยะรีไซเคิลแยกต่างหาก แทนที่ผู้บริโภคที่ต้องการจะช่วยลดขยะ ต้องหอบหิ้วพลาสติกเข้าเมืองไปยังจุดทิ้งที่มีอยู่อย่างจำกัด หรืออย่างพี่อยากจะทำถังหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร (compost) ที่บ้าน ก็ต้องไปเสิร์ชข้อมูล ซื้อถังเอง ลงทุนเอง หมดเงินไปสามพัน นี่คือแบบที่ประหยัดที่สุด ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราทำ เรากำลังช่วยประหยัดงบเก็บขยะให้กับ กทม. เพราะขยะสดมีปริมาณมหาศาลมาก คิดเป็นราวๆ 50% ของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นตามบ้าน

ถ้าคุณสามารถที่จะสนับสนุนให้ทุกบ้านทำถังแบบนี้ได้ หรือแม้กระทั่งแจกถังหมักปุ๋ยแบบสำเร็จรูปได้ ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณค่าจัดเก็บขยะปีละเป็นพันล้านได้เลย เพราะฉะนั้นคุณเอาเงินตรงนี้มาลงทุนสนับสนุนการทำถังหมักปุ๋ยตามบ้านเรือน สร้างกลไกการแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเมืองให้กลายเป็นสวนผัก ผลิตอาหาร ก็จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาแบบยั่งยืน

เราพยายามผลักดันมาตลอดว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรเกิดขึ้นในระดับใหญ่ ไม่ใช่หวังแค่เรื่องของจิตสำนึกโดยลำพัง แต่ต้องทำให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมกลายเป็นแนวทางปฏิบัติปกติของคนส่วนใหญ่ หรือ Social norm โดยอาศัยกฎหมายมาช่วย เช่นการสร้างแรงจูงใจด้วยกลไกเศรษฐศาสตร์ เราต้องไม่ปล่อยให้พลาสติกกลายเป็นของฟรีอยู่อย่างทุกวันนี้  ถุงพลาสติกก็ฟรี แก้วพลาสติกก็ฟรี กล่องโฟมก็ฟรี หลอดก็ฟรี ลองทำให้ทุกอย่างมีราคาและสะท้อนต้นทุนในการจัดการหลังการใช้งาน จะช่วยทำให้คนคิดมากขึ้นในการใช้แล้วทิ้ง

หรือพฤติกรรมบางอย่างก็ควรเป็นกติกาของสังคม เช่น ต้องลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งให้มากที่สุด หรือสร้างการรับรู้ว่าการทิ้งเศษอาหารปะปนไปกับขยะรีไซเคิลเป็นเรื่องทำไม่ได้นะ มันแย่พอๆกับการทิ้งขยะลงข้างทางเลยนะ แต่นั่นหมายความว่าเราก็ต้องมีถังขยะเปียกรองรับอย่างทั่วถึง และมีการจัดการที่ดี เราต้องสร้างกลไกพวกนี้ขึ้นมาควบคู่ไปกับการให้ความรู้และจิตสำนึก ไม่ต้องรอให้ทุกคนเป็นคนดีมีจิตสำนึกก่อนถึงจะสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้  

เราจะรอด ถ้าปฏิบัติต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมเหมือนกับวิกฤตโควิด-19

วิกฤตโควิดน่าจะเป็นจุด reset ว่าทิศทางการพัฒนาควรจะต้องเปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่มองผลประโยชน์ระยะสั้นในช่วง 5 ปี 10 ปี ควรมองผลประโยชน์ระยะยาวมากขึ้น และใช้เรื่องวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยตัดสินใจ เหมือนการแก้ปัญหาโควิด ที่ทำให้เราเรียนรู้ศัพท์ทางด้านสาธารณสุขมากมายอย่าง Social distancing หรือ Flatten the curve ต้องจำกัดการติดเชื้อเพื่อให้โรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ ทุกคนเข้าใจและให้ความร่วมมือ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องความเป็นความตาย

จริง ๆ แล้ววิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ก็คือความเป็นความตายแบบเดียวกับวิกฤตโควิด แต่เกิดขึ้นใน time scale ที่ต่างกัน อยากให้มองวิกฤตสิ่งแวดล้อมเหมือนกับวิกฤตโควิด แล้วใช้หลักการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีนักวิชาการพยายามที่จะเสนอทางรอดมากมาย ตัวอย่างเช่น แผน 30×30 ที่บอกว่าแต่ละประเทศจำเป็นต้องเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายใน 10 ปีข้างหน้า ก็เป็นแนวคิดที่นักวิทยาศาสตร์คิดมาแล้วว่าทำไมถึงจำเป็นต้องเก็บพื้นที่ส่วนหนึ่งของทะเล เอาไว้ให้ปลอดจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์

การฟื้นธรรมชาติหลังโควิดเริ่มได้เลยด้วยการหยุดโครงการพัฒนา และการแก้ปัญหาที่ไม่เข้าท่าทั้งหมด ไม่เข้าท่าในแง่ ได้ไม่คุ้มเสีย ทำลายระบบนิเวศท้องถิ่น ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ และไม่เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ให้คนท้องถิ่นในระยะยาว ประเทศไทยมีโมเดลทางเลือกในการพัฒนาที่เหมาะสมและยั่งยืนกว่าที่เป็นมามากมาย และไม่มีโอกาสไหนเหมาะที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่าตอนนี้อีกแล้ว

เพราะว่าสุดท้าย การมีอยู่ของธรรมชาติคือหลักประกันในการอยู่รอดของมนุษย์ในระยะยาว เราต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์เหมือนกับกำลังช่วยชีวิตคน ถ้าเราปฏิบัติกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกับวิกฤตโควิดเราก็อาจจะรอด

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม