ไม่กี่ปีมานี้ เราได้เห็นวิธีคิดและการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น หลายพื้นที่ทั่วโลกห้ามใช้ถุงหูหิ้วพลาสติก หรือกระบวนการขยะเป็นศูนย์ (Zero waste) ก็กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลและชุมชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายบริษัทตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ในไทย เราเริ่มเห็นความพยายามลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งเน้นไปที่การงดแจกถุงพลาสติก แต่การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกยังคงพบเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะในชั้นวางสินค้าต่าง ๆ 

ในบทความนี้ เรารวบรวมไอเดียการใช้สิ่งอื่นแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลกได้นำมาใช้ ไปดูกันเลยว่ามีไอเดียอะไรน่าสนใจบ้าง

โซนอาหารสด

● การใช้ฉลากอาหารแบบเลเซอร์ ในประเทศสเปน 

A sweet potato
© ICA/Nature & More

Laser Food เป็นผู้บุกเบิกระบบติดฉลากเลเซอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Natural Branding ซึ่งเป็นการใช้แสงเลเซอร์ส่องไปที่ผิวของผักและผลไม้เพื่อทำเป็นฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์แทนการติดสติกเกอร์ ในปี 2557 เทคโนโลยีนี้มีผู้ค้าปลีกอื่น ๆ นำไปใช้ด้วย เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตในสวีเดนชื่อ ICA ซึ่งปีเตอร์ เฮกก์ ผู้จัดการหน่วยธุรกิจของ ICA ให้ข้อมูลว่า “การใช้ระบบติดฉลากด้วยเลเซอร์กับอะโวคาโดอินทรีย์ ช่วยให้เราประหยัดพลาสติกความกว้างขนาด 30 เซนติเมตรได้ 200 กิโลเมตรภายใน 1 ปี มันอาจดูเล็กน้อย แต่ผมคิดว่ามันก็ดูดีเลยทีเดียว”

● ใช้วัสดุท้องถิ่นที่ได้จากธรรมชาติเพื่อห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด     

แบรนด์ Veggie 1st – ผักสดคุณพิม วางจำหน่ายสินค้าในริมปิงซูเปอร์มาร์เก็ต เชียงใหม่ ใช้ใบตองห่อพริกขี้หนู หัวหอม และพริกไทย แล้วมัดด้วยตอกไม้ไผ่ วัสดุเหล่านี้จะย่อยสลายตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจทำได้เฉพาะในประเทศที่มีพืชพื้นเมืองเป็นของเหลือใช้ สำหรับประเทศที่ไม่ได้มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น บริษัทควรทำการวิจัยการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือใช้ของพืชท้องถิ่นให้ได้มากที่สุดแทนการนำเข้าใบตองมาจากต่างประเทศ

● ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อกำจัด ‘บรรจุภัณฑ์’ ออกไปจากห่วงโซ่อุปทานและลงทุนในอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่จะช่วยเก็บรักษาผลิตผลให้สดใหม่ และใช้บรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด

Zero Waste Shop Zurich, container with food, person filling container. © Greenpeace


© Greenpeace © Greenpeace

“ผลิตภัณฑ์ไร้บรรจุภัณฑ์” หรือ “Nude food” จากนิวซีแลนด์ ผู้ค้าปลีกเริ่มโครงการ “ผลิตภัณฑ์ไร้บรรจุภัณฑ์” (Food in the nude) โดยทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อยุติการห่อพลาสติกในผักและผลไม้ส่วนใหญ่ที่วางขายในร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตจะติดตั้งเครื่องทำความเย็นระบบ “ละอองน้ำ” เพื่อให้สินค้าสดใหม่และเก็บรักษาผลิตผลโดยไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

โซนอาหารแห้ง

อาหารแห้ง คือ อาหารที่เรากินเป็นประจำ และเป็นส่วนประกอบที่มีปริมาณมากที่สุดในมื้ออาหารและเป็นสิ่งที่เราสามารถซื้อเก็บไว้ในปริมาณมากได้ เช่น ข้าวเป็นอาหารหลักที่บริโภคกันอย่างแพร่หลายในเอเชีย และมักถูกบรรจุในพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ข้าวในถุงบรรจุพลาสติกใช้แล้วทิ้งจึงทั้งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นการจำกัดปริมาณการซื้อของลูกค้าด้วย

● ทำงานกับซัพพลายเออร์เพื่อลดบรรจุภัณฑ์ในขั้นตอนการผลิตและพัฒนาระบบการจ่ายสินค้าที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถควบคุมปริมาณการซื้อได้

Algramo ประเทศชิลี ร้านค้าที่ให้บริการรีฟิลสินค้าประเภทข้าว ถั่วชนิดต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเมืองซานติอาโก ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าในปริมาณที่ต้องการและนำภาชนะที่ลูกค้ามีมาใส่ได้ แทนการซื้อสินค้าในซองเล็ก ๆ ซึ่งจะกลายเป็นขยะในภายหลัง นอกจากนี้ ร้านค้ายังมีรถสามล้อไฟฟ้าซึ่งติดตั้งเครื่องจ่ายสินค้าและขับไปให้บริการในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

● พัฒนาเครื่องชั่งน้ำหนักที่ให้ลูกค้าบริการตนเองได้ และสนับสนุนให้ลูกค้านำภาชนะมาเอง

Unpackaged สหราชอาณาจักร เป็นร้านค้าที่ขายสินค้าแบบไร้บรรจุภัณฑ์ บริษัทพัฒนาเครื่องชั่งน้ำหนักแบบที่ให้ลูกค้าบริการตนเองได้ ทำให้ลูกค้าสามารถคำนวณน้ำหนักภาชนะของตนเองได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีคำอธิบายการใช้เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจขั้นตอนการใช้และประโยชน์ของการเลือกซื้ออาหารแบบไร้ขยะด้วย นอกจากนี้ Unpackaged ได้ร่วมมือกับ Waitrose ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในสหราชอาณาจักรเพื่อทดลองทำร้านค้าไร้ขยะในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าจำนวนมาก ลูกค้ารายหนึ่งบอกบีบีซีว่า “การลงมือทำเรื่องนี้เป็นเรื่องดีกับสิ่งแวดล้อม ร้านค้าและผู้ผลิตต้องลงมือทำ แม้ว่าร้านค้าอาจจะลำบากขึ้นบ้างในช่วงแรก พวกเราไม่ได้ต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้เลย มันจึงเป็นงานใหญ่สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องคิดหาทางจัดการ”

● พัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ลูกค้าสั่งซื้ออาหารล่วงหน้าได้

Miwa สาธารณรัฐเช็ก Miwa ย่อมาจาก minimum waste แปลว่า “ของเสียน้อยที่สุด” เป็นระบบที่มุ่งเน้นไปที่ “precycling” คือ วิธีปฏิบัติเพื่อลดขยะของผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง วิธีการดำเนินงานของบริษัท คือ บริษัทจะจัดส่งสินค้า เช่น พาสต้า เมล็ดธัญพืชจำนวนมากไปยังร้านค้ากลางของบริษัท แล้วร้านค้ากลางนำไปบรรจุในภาชนะใช้ซ้ำ หลังจากนั้นจึงส่งไปยังร้านค้าขนาดเล็กชื่อ Miwa เมื่อลูกค้าใช้แอปพลิเคชันสั่งซื้อสินค้าและชำระเงินแล้ว ลูกค้าก็ไปรับสินค้าที่ร้านค้า Miwa ได้เลย หลังจากนั้นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ทั้งหมดจะต้องถูกส่งกลับเพื่อนำมาทำความสะอาด และใช้ซ้ำไปเรื่อย ๆ

โซนผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว และของใช้ภายในบ้าน

ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวและของใช้ภายในบ้าน มักมาพร้อมกับไมโครบีดส์ซึ่งเป็นพลาสติกขนาดเล็กที่อยู่ในสครับขัดผิว ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้าประเภทนี้ด้วย

● ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ใช้ขวดพลาสติกในการขนส่งหรือขายสินค้า

https://youtu.be/lI8ao4jlzXc

Lush บริษัทที่ขายสบู่ แชมพู และเครื่องสำอางที่ไร้บรรจุภัณฑ์ใน 44 ประเทศมามากกว่า 20 ปี ผลิตภัณฑ์ของ Lush ประมาณร้อยละ 60 นั้น “ไร้บรรจุภัณฑ์” บริษัทให้ข้อมูลว่า แชมพูแบบก้อนที่วางขายทั่วโลกช่วยประหยัดขวดพลาสติกได้เกือบ 6 ล้านขวดต่อปี และแชมพู 1 ก้อนใช้งานได้ถึง 80 ครั้ง หรือเท่ากับแชมพูบรรจุขวดขนาด 250 กรัม จำนวน 3 ขวด

● ลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับวัสดุ

©Jenny McGrath/Digital Trends

Procter & Gamble DS3 swatches Clean ประเทศสหรัฐอเมริกา คิดค้น “DS3 Clean” แผ่นสี่เหลี่ยมขนาดเท่าถุงชา เมื่อโดนน้ำจะเกิดฟองและใช้ทำความสะอาดสิ่งต่าง ๆ ได้ แถมยังมีน้ำหนักเบา ทำให้ขนส่งได้ง่ายขึ้น

● พัฒนาระบบเติม และกระตุ้นให้ลูกค้านำภาชนะกลับมาใช้ซ้ำ

5 things you need to know about Unilever Philippines' All Things Hair Refillery
©Unilever Philippines

Unilever All Things Hair Refillery เป็นโปรเจคทดลองในห้างสรรพสินค้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีแก้ปัญหาบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบง่ายๆของแบรนด์ระดับโลก โดยโปรเจคนี้เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ เชิญชวนให้ลูกค้านำขวคแชมพูและครีมนวดผมเก่าของยูนิลีเวอร์มาเติมสินค้าชนิดนั้นๆ โดยมีหลายยี่ห้อ อาทิ Dove Sunsilk และ TRESemmé ลูกค้าจึงจ่ายเฉพาะค่าสินค้าตามปริมาณที่ลูกค้าเติม ไม่ต้องจ่ายค่าบรรจุภัณฑ์ ทำให้สินค้าราคาถูกกว่าการซื้อในบรรจุภัณฑ์พลาสติก

โซนซื้อกลับบ้าน

● ออกแบบวิธีการคืนภาชนะใช้ซ้ำ

reCIRCLE ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นระบบการส่งคืนภาชนะที่นำนวัตกรรมเข้ามาใช้ และร่วมกับร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านกาแฟทั่วสวิตเซอร์แลนด์ ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินประมาณ 30 บาท เพื่อมัดจำกล่องใช้ซ้ำที่ชื่อว่า reBOX และส่งคืนกล่องที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการและลูกค้าจะได้รับเงินมัดจำคืน โดยลูกค้าสามารถนำกล่องนั้นกลับมาใช้ซ้ำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ บริษัทกล่าวว่า หากคน 1 คนใช้กล่อง reBOX แทนภาชนะใช้แล้วทิ้งเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะช่วยลดขยะพลาสติกซึ่งมักมีจุดจบที่เตาเผาขยะได้ 1.5 กิโลกรัมต่อปี

● นำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการ เพื่อเพิ่มอัตราการคืนภาชนะใช้ซ้ำ

Muuse ให้บริการยืมแก้วกาแฟใช้ซ้ำในสิงคโปร์ ฮ่องกง และซานดิเอโก ภายใต้หลักการ “Borrow – Use –  Return” โดยลูกค้าจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Muuse แล้วมองหาร้านกาแฟที่ร่วมรายการที่พร้อมให้ยืมแก้วใช้ซ้ำ หลังจากนั้นเมื่อใช้บริการเรียบร้อยแล้ว ก็เพียงนำไปคืนยังร้านกาแฟที่ร่วมรายการ 

Vessel สหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Cup-sharing company เมื่อลูกค้าสั่งเครื่องดื่มร้อนด้วยแอปพลิเคชัน Vessel พนักงานจะสแกนคิวอาร์โค้ดที่ก้นแก้วแล้วส่งเครื่องดื่มให้ลูกค้า ลูกค้ามีเวลา 5 วันในการส่งคืนแก้วที่ตู้หรือร้านกาแฟที่กำหนด บริษัทจะจัดการเก็บแก้วกาแฟที่ใช้แล้วไปล้าง และนำกลับไปใช้ใหม่ หากลูกค้าไม่ส่งคืนแก้ว หลังจากมีระบบแจ้งเตือนหลายครั้ง ลูกค้าจะถูกเรียกเก็บเงินจำนวน 450 บาทผ่านแอปพลิเคชัน

● ส่งเสริมให้ลูกค้าใช้ภาชนะของตนเอง

©Lottie Gross

Dabbawalas อ่านว่า ดับบาวาลาเป็นระบบจัดส่งอาหารกลางวันในประเทศอินเดีย  เริ่มมีขึ้นในช่วงทศวรรษปี 1890 และยังคงเปิดให้บริการถึงทุกวันนี้ พนักงานของ dabbawala จะปั่นจักรยานเก็บรวบรวมกล่องอาหารกลางวันตามบ้านต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นบ้านของลูกค้า แม่ครัวคนส่งปิ่นโต หรือร้านอาหารที่ทาง Dabbawalas ดีลไว้ แล้วนำไปส่งยังสถานที่ปลายทางโดยใช้รหัสสีกำหนดปลายทางของกล่องอาหารนั้น ๆ กล่องอาหารกลางวันจะถูกแยกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อนำขึ้นรถไฟ แล้วพนักงานท้องถิ่นของ dabbawalas ที่ประจำในแต่ละสถานีจะขนกล่องลงจากรถไฟและส่งต่อไปยังสำนักงานเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อไป หลังจากนั้น กล่องอาหารกลางวันจะถูกส่งกลับเพื่อล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ 

ค่าบริการอยู่ที่ 630 บาทต่อเดือน และจะมีการส่งกล่องอาหารกลางวันจำนวน 175,000 –  200,000 กล่องต่อวัน Dabbawalas มีมานานนับศตวรรษโดยไม่มีเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์จีพีเอสใดๆ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ DabbaDrop โครงการสตาร์ทอัพในกรุงลอนดอนด้วย ซึ่งใช้วิธีส่งกล่องอาหารถึงหน้าประตูบ้านและเก็บรวบรวมกล่องกลับมาเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง

จุดชำระเงิน

● ลูกค้าซื้อถุงผ้าที่ทนทานและใช้ซ้ำได้

IKEA ถือเป็นห้างแรก ๆ ที่ตอบรับนโยบายปลอดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ย้อนกลับไปในปี 2549 อิเกียริเริ่มโครงการ “งดใช้ถุงพลาสติก” (Bag the Plastic Bag) ในสหราชอาณาจักรเพื่อเรียกเก็บเงินค่าถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวน 5 เพนนีต่อใบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าใช้ถุงใช้ซ้ำ หลังจากนั้น ได้ขยายโครงการนี้ไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 2550 ปรากฎว่าลูกค้าในสหรัฐอเมริกาจำนวนร้อยละ 92 เลือกใช้ถุงใช้ซ้ำแทนถุงใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่นั้นมาอิเกียก็นำนโยบายนี้ไปใช้ในหลายประเทศเพื่อกำจัดถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและถุงกระดาษด้วย โดยมีทางเลือกให้ลูกค้าคือ ซื้อถุงใช้ซ้ำในราคา 59 เซนต์หรือนำถุงมาเอง

● จัดหาถุงให้ลูกค้ายืมหรือเช่า สำหรับลูกค้าที่ลืมนำถุงใช้ซ้ำมา Shopping

ถุงบูมเมอแรง เป็นโครงการที่เริ่มต้นในออสเตรเลีย โดยโครงการจะรับบริจาคผ้ามาตัดเป็นถุงใช้ซ้ำ แล้วแจกจ่ายให้แก่ผู้ค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ ลูกค้าที่ลืมนำถุงผ้าส่วนตัวมาสามารถยืมถุงใช้ซ้ำได้ เมื่อใช้งานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าก็จะนำถุงผ้ากลับไปคืนร้านค้า ซึ่งก็เหมือนกับการ “บูมเมอแรง” ถุงผ้ากลับไปที่เดิม เพื่อให้ลูกค้าคนอื่น ๆ ยืมไปใช้ใส่สินค้าต่อไป โครงการนี้ดำเนินการบนความเชื่อใจลูกค้าว่า ลูกค้าจะนำถุงผ้ากลับมาคืนร้านค้า แต่ในบางพื้นที่ บริษัทอาจใช้วิธีวางเงินมัดจำเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ใช้จะส่งคืนถุงผ้า

● นำเทคโนโลยีแบบดิจิทัลและการจ่ายเงินออนไลน์เข้ามาใช้เพื่อกระตุ้นให้คนอยากเข้าร่วมโครงการ

Woolworths ออสเตรเลีย ห้างสรรพสินค้าวูลเวิร์ธ (Woolworths) ริเริ่มโครงการถุงใช้ซ้ำกับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าทางออนไลน์ หลักการคือ เมื่อลูกค้าสั่งสินค้าและเลือกบริการ “จากตะกร้าถึงม้านั่ง” ผู้ส่งจะนำสินค้าบรรจุในถุงใช้ซ้ำหรือตะกร้า แล้วจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าถึงหน้าบ้าน กับอีกวิธีคือ ลูกค้าเลือกใช้บริการ “รับสินค้า” ลูกค้าก็จะนำถุงผ้ามาใส่สินค้าที่สั่งไว้ด้วยตัวเองที่ร้านค้า นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน Woolworths จะเตือนลูกค้าให้นำถุงใช้ซ้ำของตนเองไปที่ร้านค้าด้วย

Shop ผ่านทางออนไลน์

● ทำงานกับบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำสำหรับการจัดส่งสินค้าและพัฒนาระบบที่สามารถนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำได้

โครงการ Loop เป็นการจัดส่งสินค้าโดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทนทานและนำกลับมาใช้ซ้ำ Loop ทำงานร่วมกับแบรนด์คู่ค้าให้มีบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปเติมได้ อาทิ Häagen-Dazs Gillette และ Pantene ลูกค้าต้องจ่ายเงินมัดจำเพื่อยืมบรรจุภัณฑ์และรับสินค้าในภาชนะใช้ซ้ำ โดยการจัดส่งจะส่งสินค้าในกล่องใช้ซ้ำด้วย เมื่อลูกค้าใช้สินค้าหมดแล้ว ก็เพียงนำบรรจุภัณฑ์เปล่าใส่กลับไปในกล่องใช้ซ้ำ แล้วบริษัทจะมาเก็บกลับไปเพื่อทำความสะอาด ระบบนี้จึงช่วยลดวัสดุใช้ครั้งเดียวทิ้งในขั้นตอนขนส่งทิ้งไปด้วย Loop มีบริการในบางรัฐในสหรัฐอเมริกาและปารีสเท่านั้น

● ทำงานร่วมกับบริษัทอื่น ๆ เพื่อจัดหาบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำและส่งคืนบรรจุภัณฑ์แก่ร้านค้า (Reverse Logistics)

RePack จากฟินแลนด์ บริษัทสตาร์ทอัพก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดยผลิตบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำจากวัสดุรีไซเคิล และมีเป้าหมายเพื่อกำจัดของเสียบางส่วนที่เกิดจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วย แนวคิดนี้คล้ายกับระบบการส่งคืนขวด ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์จะจ่ายเงินมัดจำเพื่อใช้บริการจัดส่งแบบ RePack เมื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ที่เข้าร่วมโครงการ หลังจากลูกค้าได้รับสินค้าแล้ว พวกเขาจะพับหีบห่อเปล่าให้เหลือขนาดเล็กเท่ากระดาษเขียนจดหมายแล้วส่งคืนบริษัทโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นลูกค้าจะได้รับบัตรกำนัลทางอีเมลที่สามารถนำไปใช้ได้กับร้านค้าที่ร่วมรายการ บรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้นสามารถใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 20 ครั้ง

● สร้างระบบมัดจำ (Deposit Return Schemes) เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้ซ้ำ สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์และใช้ระบบขนส่งอย่างยั่งยืน

The Wally Shop ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดตัวในนิวยอร์กในปี 2561 บริษัทจัดส่งสินค้าทางจักรยาน ซึ่งมีทั้งของแห้งและผลผลิตในท้องถิ่น เมื่อลูกค้าสั่งซื้อทางออนไลน์ สินค้าทุกอย่างจะถูกบรรจุในบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ เช่น ถุงตาข่ายทำจากฝ้ายอินทรีย์ ถุงซีล ขวดโหลแก้ว และกระเป๋า โดยบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำแต่ละชิ้นจะมีการเก็บเงินมัดจำจำนวน 30 บาท และได้รับเงินคืนหลังจากคืนบรรจุภัณฑ์แล้ว บรรจุภัณฑ์นั้นก็จะถูกนำไปทำความสะอาดและนำมาใช้ซ้ำต่อไป บริษัทนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากระบบการจัดส่งสินค้า Dabbawala ในอินเดียที่ได้ขยายออกไปทั่วโลก ซึ่งบ่งบอกถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของระบบจัดส่งสินค้าประเภทนี้

NOTE: กรีนพีซไม่ได้ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ ตราสินค้า หรือบริษัทใด ๆ ที่ปรากฎในบทความ เราเพียงนำไอเดียที่น่าสนใจมาแบ่งปัน เพื่อสร้างให้เกิดการคิดนวัตกรรมหรือลงมือทำเพื่อลดใช้พลาสติก เรายินดีมาก ถ้าหากคุณอยากจะต่อยอด หรือนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการที่คุณกำลังทำอยู่ อย่าลืมมาเล่าให้เราฟังบ้างนะคะ ว่าคุณมีวิธีลดพลาสติกครั้งเดียวทิ้งอย่างไรบ้าง

มาแลกเปลี่ยนกันได้ที่ FB Group สถานี DIY – MAKE SMTHNG Buy Nothing หรือทางโซเชียลมีเดียของกรีนพีซที่ GreenpeaceThailand

#BreakFreeFromPlastic

Plastic Brand Audit Activity in Greece. © Constantinos Stathias / Greenpeace
ยุติมลพิษพลาสติก

การรีไซเคิลไม่ไช่ทางออกของปัญหา พลาสติกกว่าร้อยละ 90 ที่ถูกผลิตขึ้น ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล แต่ถูกนำไปที่หลุมฝังกลบหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือถูกนำไปเผาและและปล่อยมลพิษกลับเข้าสู่สิ่งแวดล้อม เราไม่อาจกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกด้วยเพียงแค่การรีไซเคิล ถึงเวลาแล้วที่บริษัททั้งหลายต้องบอกลาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวไปพร้อมกัน

มีส่วนร่วม