ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด Covid – 19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยเอง  เราได้เห็นข่าวผลกระทบต่อเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านธุรกิจการบิน ธุรกิจด้านแฟชั่น หรือธุรกิจเล็ก ๆ ของประชาชนเองก็ต้องเผชิญวิกฤตไปด้วย แต่นอกจากจะต้องติดตามสถานการณ์โรคระบาดแล้ว สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในปีนี้เรียกได้ว่าหนักหนาพอ ๆ กับ Covid-19 เลยทีเดียว เรามาดูกันดีกว่าว่าในครึ่งแรกของปี 2563 นี้ มีสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอะไรบ้างที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก

1.การรุกป่าทำเหมืองผิดกฎหมายในบราซิล

ในขณะที่บราซิลต้องเจอกับการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 57,000 คน แต่การบุกรุกเข้าไปในป่าแอมะซอนเพื่อทำเหมืองผิดกฎหมายยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนโบราณแห่งนี้แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่พนักงานในเหมืองจะนำโรคระบาดไปแพร่กระจายให้ชาวพื้นเมืองที่อาศัยในป่าอีกด้วย

Mining in the Yanomami Indigenous Land in Brazil. © Chico Batata / Greenpeace
ภาพการบุกรุกป่าเพื่อทำเหมืองผิดกฎหมายจากกรีนพีซบราซิล ภาพนี้ถูกถ่ายในเดือนพฤษภาคม บริเวณรัฐ Roraima ซึ่งกระทบต่อชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง © Chico Batata / Greenpeace

ในวันที่ 12-13 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรีนพีซบราซิลบินสำรวจบริเวณที่เป็นพื้นที่ของชาวพื้นเมือง มูนดูรูกุ (Munduruku) และพบว่ามีการขยายพื้นที่การทำเหมืองผิดกฎหมายไปยังบริเวณนั้นแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการบุกรุกเข้าไปในบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมือง Sai Cinza ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

Mining in the Munduruku Indigenous Land in Brazil. © Marcos Amend / Greenpeace
ภาพถ่ายทางอากาศ การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำเหมืองผิดกฎหมายในพื้นที่ของชาวพื้นเมือง มูนดูรูกุ(Munduruku) ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าแอมะซอน © Marcos Amend / Greenpeace

2.อุบัติเหตุน้ำมันรั่วในรัสเซีย

นับเป็นอุบัติเหตุทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของรัสเซียเลยก็ว่าได้ กับปริมาณน้ำมันกว่า 20,000 ตันที่รั่วออกจากแทงค์เก็บ บริเวณ Norilsk และ Taymyr peninsula ในทางตอนเหนือของรัสเซีย โดยเหตุเกิดจากคลังน้ำมันแห่งหนึ่งที่อยู่ในการควบคุมของบริษัท Norilsk Nornickel โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในเมืองที่มีการปนเปื้อนมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

น้ำมันกว่า 20,000 ตันที่รั่วออกจากแทงค์เก็บ บริเวณ Norilsk และ Taymyr peninsula ในทางตอนเหนือของรัสเซีย การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้ได้ปนเปื้อนพื้นที่แม่น้ำเป็นระยะทางยาวกว่า 20 กิโลเมตร และจะส่งผลกระทบต่อทะเลในแถบอาร์ติก

การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้ได้ปนเปื้อนพื้นที่แม่น้ำเป็นระยะทางยาวกว่า 20 กิโลเมตร ซึ่งจะไหลออกสู่ทะเลในแถบอาร์กติกในไม่ช้า โดยสามารถวัดความหนาของชั้นปิโตรเคมีบริเวณผิวน้ำได้ถึง 20 เซนติเมตร อุบัติเหตุครั้งนี้ร้ายแรงเทียบเท่ากับเหตุการณ์น้ำมันรั่วจากเรือขนส่งน้ำมันของบริษัท Exxon Valdez ในอลาสกา เมื่อ 30 ปีก่อน อุบัติเหตุในครั้งนี้ส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งชาวประมงที่พึ่งพาแหล่งน้ำแห่งนี้ด้วยการจับปลาเลี้ยงชีพ ยิ่งไปกว่านั้นการที่ชุมชนอาศัยอยู่ในภูมิอากาศแบบทุนดราทำให้แหล่งน้ำเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ เมื่อแม่น้ำถูกปนเปื้อนก็เหมือนกับอาหารถูกปนเปื้อนไปด้วย

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในหายนะที่ร้ายแรงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมในเขตอาร์กติก พร้อมตั้งคำถามถึงภาครัฐว่าโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นยังเหมาะสมอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ยังเป็นห่วงว่าสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมจะแย่ลงในช่วงโรคระบาดเพราะอุตสาหกรรมอาจฉวยโอกาสนี้ทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น รวมถึงการระบุผู้รับผิดชอบต่อหายนะจากน้ำมันรั่วในครั้งนี้ด้วย

3.ไซโคลน “อำพัน” พัดถล่มอินเดีย

คืนวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไซโคลนอำพัน พัดขึ้นจากชายฝั่งเข้าสู่อินเดียด้วยความเร็ว 155-165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้สามารถหมุนเร็วได้มากที่สุด 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ไซโคลนลูกนี้รุนแรงและสร้างความเสียหายในทางตะวันตกของอ่าวเบงกอลทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 86 คน

หลายปีมานี้อินเดียเผชิญกับพายุไซโคลนบ่อยครั้งและยังสร้างความเสียหายให้กับหลายรัฐในอินเดียอีกด้วย ซึ่งในปีนี้ชาวอินเดียได้รับผลกระทบทั้งจากโรคระบาดและพายุไซโคลน พืชผลของเกษตรกรเสียหายและขาดรายได้ หรือบางพื้นที่ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าเป็นเวลานานกว่าสัปดาห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างระบุว่า ภาวะโลกร้อน และวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติในโลกเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในอินเดียที่ต้องเจอกับพายุไซโคลนบ่อยครั้ง

คลื่นความร้อนในไซบีเรีย สัญญาณของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ในปีนี้ภูมิภาครัสเซียและไซบีเรียมีสภาพอากาศอุ่นขึ้นเนื่องจากเกิดคลื่นความร้อนในพื้นที่ทำให้มีอุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นมากกว่า 20 องศาเซลเซียส และแม้ว่าปีนี้เราจะได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับการลดลงของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ตาม แต่เหตุการณ์คลื่นความร้อนแบบนี้ก็ยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวต้องเผชิญกับไฟป่าและอุบัติเหตุน้ำมันรั่ว ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ไซบีเรียร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์  

สิ่งที่น่ากังวลนั่นคือ เมืองบางเมืองของรัสเซียนั้นตั้งอยู่บนตอนเหนือของวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) ซึ่งเป็นชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) หากอุณหภูมิพื้นผิวยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีความเสี่ยงที่ชั้นดินเยือกแข็งนี้จะละลายและอาจสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับเมือง

ปีนี้เป็นปีที่เลวร้ายพอสมควรสำหรับไซบีเรีย มีรายงานระบุว่า เนื่องจากคลื่นความร้อนนี้ทำให้ไซบีเรียเสียพื้นที่ไป 7,900 ตารางไมล์ มากกว่าปีที่แล้วที่สูญเสียพื้นที่ไป 6,800 ตารางไมล์

5.กระแสคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ของประเทศไทย

ถือเป็นประเด็นที่คนไทยจำนวนมากจับตามองเกี่ยวกับกระแสที่ว่าไทยอาจเข้าร่วม ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ที่เราคุ้นตากันในชื่อย่อว่า “CPTPP” แม้ว่าถ้าไทยเข้าร่วมในความตกลงนี้ จะมีโอกาสให้เงินไหลทุนไหลเข้าประเทศมากขึ้น แต่เราจะต้องแลกนั่นคือ วิถีชีวิตของเกษตรกรและความหลากหลายทางอาหารซึ่งถือเป็นพื้นฐานวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากกว่าอาหารบนโต๊ะที่จะมีราคาสูงขึ้น แต่จะส่งผลต่อความหลากหลายทางพืชพันธุ์อาหารและนำไปสู่การล่มสลายของวิถีเกษตรกรไทย

หากเรายอมรับความตกลง CPTPP แล้ว เราจะต้องยอมรับอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ด้วย ซึ่งอนุสัญญา UPOV1991 นี่แหละที่จะส่งผลกระทบต่ออาหารในประเทศ โดยเนื้อหาของ UPOV1991มีเป้าหมาย “ขยายสิทธิผูกขาดเรื่องพันธุ์พืชและลดทอนสิทธิเกษตรกร” อีกนัยหนึ่งมันก็เป็นการให้สิทธิผูกขาดแก่นักปรับปรุงพันธุ์หรือบริษัทเมล็ดพันธุ์ นั่นเอง พอจะสรุปผลกระทบต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  • การห้ามเกษตรกรนำเอาเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ห้ามคัดเลือกสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในแปลงปลูก เป็นการลดทอนการเกิดสายพันธุ์พืชใหม่ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ
  • อาหารแพงขึ้นเพราะต้นทุนในการปลูกสูงขึ้น ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ในปี 1999 และใช้กฎหมายนี้ควบคู่กับกฎหมายสิทธิบัตรจะเห็นแนวโน้มได้เลยว่า เมล็ดพันธุ์ที่ให้สิทธิผูกขาดแบบเข้มข้นแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์นั้นราคาสูงกว่าหลายเท่าตัว  เมื่อเปรียบเทียบเมล็ดพันธุ์ชนิดที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของระบบทรัพย์สินทางปัญญา  ประเมินว่าหากเราเข้าร่วมความตกลงแล้ว เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยที่เราปลูกอยู่จะมีราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า แล้วแต่ชนิดของพืช
  • เมล็ดพันธุ์ที่ส่งเสริมตามระบบแบบ UPOV1991 นั้น ส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเกษตรเชิงเดี่ยว และกระจุกตัวอยู่ในบริษัทไม่กี่บริษัท โลกจะสูญเสียความหลากหลายทางพืชพรรณธัญญาหารในระยะยาว 
  • กฎหมายที่ให้สิทธิผูกขาดเช่นนี้ จะนำไปสู่ความล่มสลายของวิถีการปรับปรุงพันธุ์และอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อย

ล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) CPTPP มีมติเห็นชอบขอเลื่อนศึกษาผลกระทบการเข้าร่วมสมาชิกของไทย ออกไปอีก 60 วัน หลังจากที่ทางสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบให้มีการตั้งกรรมาธิการ เพื่อศึกษาในประเด็นดังกล่าวโดยใช้กรอบระยะเวลา 30 วัน ซึ่งได้ครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากยังมีประเด็นที่ต้องการเวลาศึกษารายละเอียดเชิงลึกอีกมาก แต่อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องจับตามองการเคลื่อนไหวในประเด็น CPTPP ต่อไปว่าทางรัฐบาลจะมีการส่งสัญญาณดันเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเข้าร่วมเจรจาความตกลงภายในวันที่ 5 สิงหาคม นี้ หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเปิดช่องให้ ครม. ลงมติเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีได้โดยไม่ต้องรับฟังความเห็นจาก กมธ.ของสภาผู้แทนฯ หรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

ปัจจัยสำคัญของการเกิดวิกฤตสภาพภูมิอาการศหรือแม้กระทั่งโรคอุบัติใหม่คือการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน  เช่น การทำลายป่า การแผ้วถางพื้นที่เพื่อการเกษตร การขุดเจาะน้ำมันและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการขยายการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เราจำเป็นต้องชะลอการทำลายทรัพยากรแบบนี้เพื่อไม่ให้โลกของเราอยู่ยากขึ้น

สถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมยังไม่จบเพียงเท่านี้ ติดตาม 5 สถานการณ์ที่เหลือใน 10 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมรอบโลกท่ามกลางไวรัส Covid-19 (ตอนที่ 2)

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านชนิดถั่ว © Peter Caton / Greenpeace
หยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP

ร่วมส่งเสียงบอกนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรีให้ยุติการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ในทันที เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย จากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

มีส่วนร่วม