การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) เป็นหนึ่งในตัวแปรหลักที่จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคระบาดในอนาคต ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยต่างๆ อีกมากที่มีส่วนสำคัญซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการระบาดของ COVID-19 ถือเป็นบทเรียนถึงความเสี่ยงที่เราต้องเผชิญในวันข้างหน้า รวมถึงทางเลือกต่างๆ ที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อปกป้องชีวิตของเรา

ผลกระทบของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ความเสี่ยงต่อโรคระบาดที่มากขึ้นนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ความเสี่ยงนี้เป็นสิ่งที่เรามีร่วมกัน เราจะไม่อาจปกป้องตนเองได้เลยหากเราและคนทั่วโลกไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้

ไร่โสมซานชีถูกปกคลุมไปด้วยตาข่ายสีดำ ณ เมืองเต๋อโฮ่ว เขตเหวินซาน มณฑลยูนนาน © Simon Lim / Greenpeace

โรคระบาด COVID-19 ผลักดันให้รัฐบาลทั่วโลกหามาตรการจัดการกับการบุกรุกป่าเพื่อแสวงประโยชน์จากสัตว์ป่าและพรรณพืช โรคระบาดนี้หยิบยกให้เห็นถึงความเสี่ยงของโรคจากการติดต่อสัมผัสกับสัตว์ป่าเหตุนี้เอง เราจึงควรให้ความสนใจกับความเสี่ยงจากทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์เป็นอันดับแรก และที่สำคัญเราทุกคนควรตระหนักไว้เสมอว่า สัตว์ป่าไม่เคยเป็นภัยกับมนุษย์มากเท่ากับการที่เราเข้าทำลายธรรมชาติซึ่งกลับกลายมาเป็นภัยคุกคามทั้งต่อเราและสัตว์ป่า

นอกจากนี้ โรคระบาดได้ชี้ให้เห็นถึงต้นทุนมหาศาลของความล้มเหลวในการปกป้องทั้งเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติรอบตัว แต่ฉันกังวลว่ารัฐบาลก็อาจจะยังคงไม่ยอมรับความจริงว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และครอบคลุมเพื่อปกป้องชีวิตของผู้คนอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่พวกเราจำเป็นจะต้องทำ คือการหาวิธีตรวจสอบช่องทางต่าง ๆ ที่สัตว์ป่าอาจมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับมนุษย์ รวมถึงช่องทางอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวมนุษย์เอง พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ซึ่งมนุษย์ ธรรมชาติ และสัตว์ป่าล้วนมีความเชื่อมโยงต่อกัน เราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการแสดงความรับผิดชอบต่อเครือข่ายนี้ ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก

คุณเฟิง หัวหน้าสถานีตํารวจเขตทะเลสาบปี่ต้า เมืองแชงกรีล่า มณฑลยูนนาน ได้อธิบายส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันที่ตำรวจป่าต้องทำ ซึ่งก็คือการช่วยเหลือสัตว์ป่า © Shi bai Xiao / Greenpeace

การปกป้องระบบนิเวศ คือการปกป้องชีวิตเรา

ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคอุบัติใหม่คือการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน  เช่น การทำลายป่า การแผ้วถางพื้นที่เพื่อการเกษตร การขุดเจาะและถลุงทรัพยากร รวมถึงการขยายการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เพิ่มโอกาสการสัมผัสระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าและทำให้เกิดความเสี่ยง ในขณะที่ ระบบนิเวศที่สมบูรณ์และความหลากหลายเป็นเสมือนกันชนระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า และนี่คือเหตุผลว่าทำไมการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพคือปัจจัยหลักที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคระบาดในอนาคต

เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคระบาด เราจะต้องปกป้องระบบนิเวศจากการถูกทำลายด้วยเช่นกัน รวมถึงการป้องกันไม่ให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมและถูกแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการสัมผัสกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด อีกทั้งยังเปิดช่องทางให้กับการล่าและค้าสัตว์ป่า นี่จึงเป็นเหตุผล ว่าทำไมปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไขร่วมกันในระดับโลก ทั้งหมดเพื่อการปกป้องชีวิต โดยการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ 

ต้นหิมาลายันเฮมล็อกเก่าแก่ (Tsuga dumosa) สปีชีส์ต้นสนประจำเขตหิมาลายาตะวันออก © Yan Tu / Wild China / Greenpeace

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพส่งผลกระทบกับทุกคน….เพียงแค่มากน้อยไม่เท่ากัน

เพื่อต่อกรกับความท้าทายข้างต้น มีการจัดทำข้อเสนอภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity หรือ CBD) ในปีนี้ ข้อเสนอดังกล่าวนี้มีมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากมนุษย์ที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศลงอย่างน้อย 30% จากพื้นที่บนพื้นดินและท้องทะเลทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 โดยข้อเสนอนี้ได้กำหนดให้นักอนุรักษ์ระบุพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อทำให้เป็นพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศและเชื่อมต่อพื้นที่เหล่านี้ขึ้นด้วยกัน แต่เป้าหมายนี้จะเป็นจริงไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเคารพสิทธิชนพื้นเมืองและคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ โดยต้องมีกระบวนการแจ้งเรื่องล่วงหน้า และได้รับอนุญาตจากชุมชนในพื้นที่ หากข้อเสนอนี้เดินหน้าไปได้ เราจะมีพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศครอบคลุมราว 1 ใน 3 ของพื้นผิวโลก

แนวคิดนี้อาจถูกมองว่าทะเยอทะยาน แต่ความทะเยอะทะยานนี้ คือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับวิกฤตที่พวกเรากำลังเผชิญ อีกทั้งยังเริ่มได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

ความหลากหลายทางชีวภาพถือเป็นประเด็นสากล และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพรวมถึงผลกระทบต่อมนุษย์ เช่น การเพิ่มความเสี่ยงจากโรคระบาดนั้นไม่มีพรมแดนประเทศ ทางออกของปัญหานี้คือความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนั้นจึงต้องมีการสนับสนุนเพื่อสร้างความร่วมมือของผู้คนจากทั่วโลกให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อต่อกรกับวิกฤต

ตอนนี้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะด้วยมาตรการที่จะผนึกรัฐบาลจากทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน เปิดโอกาสให้ได้ต่อรองเจรจาแนวทางการปกป้องธรรมชาติภายใต้กรอบการดูแลขององค์การสหประชาชาติ (UN) รวมถึงเปิดโอกาสให้ทั่วโลกได้มีส่วนร่วมในการกระตุ้นการทำงานของรัฐบาล เมื่อมีการปฏิบัติงานล่าช้าในช่วงการระบาด COVID-19 เช่นนี้

การทำลายระบบนิเวศคือการจุดชนวนของการเกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คน (โรคระบาดในหมู่สัตว์ป่า ที่สามารถแพร่มาสู่มนุษย์ได้ เช่น ยุงและเห็บ) เพราะการทำลายระบบนิเวศ คือการเปิดโอกาสให้สัตว์สัมผัสกับมนุษย์ และนำไปสู่การล่าและการค้าสัตว์ป่า

หัวใจของกรอบแผนงาน “protect 30” คือการตระหนักว่าพวกเราต่างได้รับผลกระทบจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะในรูปแบบของโรคระบาด ภาวะโลกร้อน หรือความเสียหายทางเศรษฐกิจ และที่เลวร้ายที่สุด คือคนบางกลุ่มจำต้องแบกรับผลกระทบเหล่านี้ไว้มากกว่าคนกลุ่มอื่น แม้พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างปัญหานี้ตั้งแต่ตอนต้นเลยด้วยซ้ำไป มันถึงเวลาแล้วที่จะหยุดนั่งฝันหวานว่าพวกเราไม่ได้มีส่วนร่วมในการก่อวิกฤตนี้ และจะไม่ได้รับผลกระทบจากมัน

ผืนป่าล้ำค่าที่ยังไม่มีมนุษย์เข้าไปเปลี่ยนแปลงในเขต Three Northern Districts (เขตสามหัวเมืองเหนือ) ที่มองโกเลีย หรือที่รู้จักกันในฐานะ Intact Forest Landscapes (ผืนป่าสมบูรณ์ที่ไม่ได้ถูกบุกรุกจากมนุษย์) © Shi bai Xiao / Greenpeace

ชุมชนที่เป็นหนึ่งเดียวคือสิ่งที่เราต้องการในตอนนี้

แผนการนี้จะสำเร็จได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือที่เราจะได้รับจากชุมชน โดยข้อเสนอระบุมาอย่างชัดเจนว่าแผนการปฏิบัติจะต้องแสดงความเคารพต่อสิทธิชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการแสดงออกของสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ เพราะสำหรับ กรีนพีซเงื่อนไขเหล่านี้ต้องมาเป็นอันดับแรก อย่างที่เห็นได้จากการออกกฎให้ข้อเสนอนี้เคารพสิทธิการตัดสินใจของชนพื้นเมือง

การร่วมมือกันในระดับชุมชน จะเป็นทั้งแรงกดดันให้รัฐบาลหาข้อเจรจาที่เป็นเอกฉันท์สำหรับทั้งสองฝ่าย และการสร้างมาตรการพื้นฐานจะสามารถช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ เมื่อได้ข้อตกลงจากทุกฝ่าย ในแต่ละประเทศจำเป็นต้องหาเครื่องมือและบุคลากรเพื่อเริ่มดำเนินการตามแผนการคุ้มครองระบบนิเวศเอาไว้ โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสากลหากต้องการ เราจะสามารถพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นชุมชนหนึ่งเดียวกันแล้วได้ก็ต่อเมื่อเราได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่มีกำลังทรัพย์ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ทางออกของความท้าทายนี้ คือการได้น้ำพักน้ำแรงจากผู้คนทั่วโลกมาแก้ไขร่วมกัน

Pan Wenjing ผู้จัดการฝ่ายงานรณรงค์ปกป้องผืนป่าและท้องทะเลประจำกรีนพีซ เอเชียตะวันออก 

Primary Forest in Papua. © Ulet  Ifansasti / Greenpeace
ร่วมปกป้องป่าฝนเขตร้อน

ป่าฝนเขตร้อนที่เป็นบ้านของอุรังอุตังกำลังถูกทำลายจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หากเราไม่ทำอะไรเลย ถิ่นที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่าจะถูกทำลาย

มีส่วนร่วม