อยากจะขอปรับคำกล่าวที่ว่า “You are what you eat.”  สักหน่อยเป็น “The world is what you eat.” เพราะสิ่งที่เราเลือกกินนั้นไม่ได้เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อรอบเอวหรือสุขภาพของเรา แต่ยังส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมของโลก สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงวิถีชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานการผลิตด้วย 

Child Eating Ecologically Sourced Lunch at Kindergarten in Japan. © Kayo Sawaguchi / Greenpeace
การกินอาหารของเราคือการกำหนดอนาคตของสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ © Kayo Sawaguchi / Greenpeace

ที่มาของโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและอดีตนั้นมีความสัมพันธ์กับระบบอาหารและการกินของเรา การเชื่อมโยงของระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมกับการทำลายป่าและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนึ่งในต้นตอของโรคระบาดหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ รวมถึง Covid-19 ในปัจจุบัน (ดังเช่นในตอนที่สอง) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการเจ็บป่วยของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตก็เชื่อมโยงกับการเจ็บป่วยของเรา แต่ในเมื่ออาหารมีอิทธิพลในการสร้างปัญหาระดับโลกได้ ก็สามารถเป็นทางออกที่แก้ทั้งปัญหาสุขภาพของเราและสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน 

ความมั่นคงทางอาหารและการเข้าถึงอาหารได้ถูกทั้งตั้งคำถามและความหมายใหม่ในช่วงวิกฤต Covid-19 ประเด็นเรื่องสุขภาพและการพึ่งพาตนเองทางด้านอาหารถูกขยับมาใกล้กันมากขึ้น สิ่งที่ชัดเจนมากขึ้นคือ สุขภาพของคนในสังคมและสิ่งแวดล้อมของเราขึ้นอยู่กับความยั่งยืนและการกระจายศูนย์ระบบอาหาร เป็นอาหารสำหรับคนบริโภค อาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยที่มีการผลิตที่ดีต่อสุขภาพของดิน น้ำ อากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยต่อกรต่อปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้มากกว่าซ้ำเติม 

ความหลากหลายทางชีวภาพคือภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อการเกิดโรคระบาด แต่ขณะนี้เกษตรเชิงอุตสาหกรรมและการครอบครองของบรรษัทยักษ์ใหญ่ต่อระบบอาหารนั้นกำลังทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพสูญเสียไปอย่างใหญ่หลวง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุไว้ว่า กว่าร้อยละ 90 ของพันธุ์พืชและพันธุ์ปศุสัตว์นั้นสูญหายไปด้วยการผลิตของระบบอุตสาหกรรมอาหาร โดยร้อยละ 75 ของอาหารทั่วโลกมาจากพืชแค่ 12 ชนิด และสัตว์ 5 สายพันธุ์เท่านั้น ส่วนสายพันธุ์ปศุสัตว์อื่นกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ไปอย่างเงียบ ๆ ซ้ำร้ายการครอบครองเมล็ดพันธุ์ของบรรษัทนั้นทำให้ประชากรทั่วโลกกินพืชหลักเพียง 3 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด และข้าวสาลี ในปริมาณร้อยละ 60 ของอาหารทั้งหมด นอกจากนั้นการครอบครองเมล็ดพันธุ์ยังนำไปสู่การดัดแปลงพันธุ์พืช GMO ที่อ้างว่าปรับปรุงให้พันธุ์พืชสร้างผลผลิตได้มากขึ้น แต่กลับต้องใช้พื้นที่มากขึ้น ใช้ปริมาณปุ๋ยและสารเคมีมากขึ้นในการดูแล ผลก็คือทำลายดิน และป่าไม้ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด รวมถึงไวรัส และแบคทีเรีย ทำลายสมดุล เป็นต้นเหตุที่ทำให้โรคร้ายขึ้น หรือจุลชีพจำเป็นต้องย้ายไปสู่ถิ่นที่อยู่ใหม่  (host) ที่อาจจะเป็นมนุษย์ที่อยู่ใกล้กับธรรมชาติที่ถูกคุกคามมากที่สุด 

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์และแพทย์เริ่มหันมาแนะนำให้บริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพในหลายด้านแล้ว ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับโลก เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นเชื่อมโยงกับการก่อวิกฤตโลกร้อนและมลพิษต่าง ๆ ตั้งแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงมลพิษจากโรงงานปศุสัตว์และการปนเปื้นของเชื้อดื้อยาในอาหารและสิ่งแวดล้อม 

Cattle Ranching in Brazil. © Marizilda Cruppe / EVE / Greenpeace
อุตสาหกรรมปศุสัตว์เช่นการเลี้ยงวัวคือหนึ่งปัญหาของการบุกรุกพื้นที่ป่า © Marizilda Cruppe / EVE / Greenpeace

หากรวมมูลค่าทางทรัพยากรและสุขภาพที่เราต้องเสียไปอันเป็นผลมาจากอาหารของเรานั้น ราคาอาหารที่แท้จริงคงไม่ตรงกับราคาที่ระบุไว้บนป้ายราคา หรือหากบรรษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และเกษตรยักษ์ใหญ่ต้องจ่ายราคาให้กับสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไป แต่ปัจจุบันนี้กฎหมายยังคงไม่มีมาตรการเอาผิดบริษัทผู้ก่อมลพิษอย่างเคร่งครัด และบริษัทเองก็ยังขาดนโยบายที่แสดงความโปร่งใสของที่มาวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างง่ายดาย ราคาที่ไม่เป็นธรรมนี้จึงไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงผู้บริโภคที่อยู่ปลายทาง แต่อาจเป็นราคาที่มองเห็นได้ยาก อย่างวิกฤติสภาพภูมิอากาศ หรือความไม่เป็นธรรม ย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานไปตั้งแต่ชุมชนในสิ่งแวดล้อม และเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงตั้งแต่ต้นทาง จากการใกล้ชิดกับมลพิษ จากชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปเนื่องจากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย หรือจากไวรัสและแบคทีเรียที่อาจแพร่กระจายและกลายพันธุ์จากสัตว์และปศุสัตว์ที่เลี้ยง เนื่องจากความเครียดของสัตว์จากการถูกคุกคาม ถูกทำลายถิ่นที่อยู่ หรือการเลี้ยงสัตว์จำนวนมหาศาลในพื้นที่แออัด

ปัจจุบันนี้เราคงเริ่มตระหนักถึงภาวะโลกร้อนมากขึ้น ระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมของเราเป็นทั้งตัวการก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเป็นสิ่งที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้แค่เรารู้สึกร้อน แต่ยังหมายถึงสุขภาพของเราด้วย อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นตัวแปลที่ทำให้โรคระบาดที่มีพาหะอย่างยุงและแมลงสามารถขยายพันธุ์ได้ดีขึ้น มีแนวโน้มทำให้น้ำแข็งละลายและไวรัสและแบคทีเรียในยุคหลายพันปีก่อนถูกปลดปล่อยออกมา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่เชื่อมโยงกับความจำเป็นที่นกอพยพที่ต้องเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้ไวรัสที่อาศัยอยู่ในนกป่าที่เจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัว ซึ่งมีโอกาสแพร่ไปสู่สัตว์ปีกของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และเป็นที่มาของโรคระบาดอย่างไข้หวัดนก

เพราะอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของปริมาณแคลอรี่ที่เรากินเข้าไปเท่านั้น แต่อาหารเป็นเรื่องของข้อมูลด้วย ที่ยิ่งเรารู้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี อะไรอยู่ในจานอาหารตรงหน้าเราบ้าง มีส่วนผสมอะไร มีที่มาอย่างไร ใครเป็นผู้ผลิต ผลิตอย่างไร และมีกระบวนการการปลูกหรือเลี้ยงมาอย่างไร รวมถึงที่มาของอาหารของอาหาร(พืชที่เลี้ยงสัตว์) มีที่มาอย่างไรด้วยเช่นกัน แต่เหตุผลที่เรารู้ข้อมูลเหล่านี้น้อยไม่ใช่แค่เพราะความสะดวก แต่ยิ่งเรารู้น้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลดีต่อผลกำไรสำหรับบริษัทอุตสาหกรรมมากเท่านั้น หรือคุณไม่แปลกใจว่า ในเมื่อทุกคนต้องกินอาหาร และบริษัทผลิตอาหารขายได้ดิบดี แต่ทำไมเกษตรกรทั่วประเทศ (รวมถึงทั่วโลก) ยังคงมีภาระหนี้สิน

Ecological Agriculture Farmer in East Samar. © Vincent Go / Greenpeace
การกินอย่างรู้ที่มา รู้ว่าใครเป็นคนผลิตอาหารให้เรากิน มีวิธีปลูกแบบไหน คือหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้ระบบอาหารของเรากลับมาดีขึ้นได้ © Vincent Go / Greenpeace

คะน้าหนึ่งต้น หรือเนื้อสัตว์หนึ่งจานที่คุณเลือกกินนั้น คือ สิ่งที่พาคุณเชื่อมโยงกับสุขภาพของตัวเราและโลก ความเชื่อมโยงของอาหารที่เรากินกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อโลก คน และสิ่งมีชีวิตบนโลกนั้นอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว คงมีน้อยคนที่นึกถึงภาวะโลกร้อนทุกครั้งที่เคี้ยวอาหารทุกคำ หรือนึกถึงป่าที่หายไป สัตว์ที่ต้องสูญพันธุ์ สารเคมี ดินที่มีเชื้อดื้อยาตกค้าง ความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้อาหารของเราหมดอร่อยไป แต่อย่างน้อยถึงเวลาที่เราจะต้องเริ่มทำความเข้าใจกันแล้วว่า อาหารที่เรากินนั้นมีระบบที่เชื่อมโยงกับโลกมากกว่าที่คิด และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้น 

การกินเนื้อสัตว์น้อยลงทำให้โลกใช้พื้นที่ในการปลูกพืชอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์น้อยลง การกินอาหารแปรรูปน้อยลงก็ช่วยลดความต้องการการผลิตปาล์มน้ำมัน ที่อุตสาหกรรมมักปลูกในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนอันเป็นบ้านของอุรังอุตัง การหันไปกินผักผลไม้มากขึ้นก็ช่วยลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่จะส่งผลให้เกิดแบคทีเรียดื้อยาและทำให้การเจ็บป่วยจากแบคทีเรียรักษาได้ยาก การลดเนื้อสัตว์ในแต่ละมื้อของเราช่วยเก็บรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัยากรที่สมบูรณ์ไว้ได้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นตัว อีกทั้งยังสร้างความสมดุลสำหรับร่างกายและโลกที่จะเป็นภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมได้อย่างดีที่สุดต่อไปในอนาคต

Papua Forest Destruction, Indonesia. © Greenpeace
ภาพป่าที่ถูกทำลายจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบนเกาะปาปัวของอินโดนีเซีย © Greenpeace

การรักษาโรคร้ายต่าง ๆ ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นที่คำบอกของหมอ แต่ต้องเริ่มจากอาหารแต่ละคำของเรา การป้องกันโรคระบาดครั้งใหม่ไม่ได้เริ่มจากวัคซีนที่โรงพยาบาล แต่ต้องเริ่มจากฟาร์มแต่ละฟาร์ม ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ที่ทำงาน โรงเรียน และทำได้จากการเปลี่ยนการผลิต ด้วยการเลือกกินของเรา เพื่อเปลื่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน เป็นธรรม ป้องกันโรคระบาด และดีต่อสุขภาพของเราและโลก

ทุกอย่างเป็นไปได้ จากการกินของเรา

ข้อมูลอ้างอิง1. FAO, ‘What is Happening to Agrobiodiversity?’,1999.  http://www.fao.org/3/y5609e/y5609e02.htm