ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังหาทางออกกับไวรัสโคโรน่า อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงที่เป็นแหล่งผลิตพลาสติกที่สำคัญนั้นได้มีการผลักดันการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยอ้างเหตุผลถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน แล้วอะไรคือข้อควรรู้ที่เราต้องทราบบ้างสำหรับการใช้งานพลาสติกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เราควรเชื่อมั่นในนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพที่ออกมายืนยันว่า การใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำนั้นปลอดภัยแม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากกว่าผู้ได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมน้ำมันและพลาสติกที่ออกมาให้การสนับสนุนการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกว่าร้อยคนจาก 19 ประเทศลงนามในแถลงการณ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับร้านค้าปลีกและผู้บริโภคว่าการใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำนั้นปลอดภัยแม้จะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกันกับกรีนพีซ สหรัฐอเมริกกา ผู้บริหารของ UPSTREAM และกลุ่ม Break Free From Plastic ที่ระบุว่า สารฆ่าเชื้อที่ใช้ในครัวเรือนได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อบนพื้นผิวหนา ๆ ได้ เท่ากับว่าการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำนั้นสามารถใช้ได้ 

แม้ว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่จำเป็นสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสำหรับการป้องกันส่วนบุคคล (personal protective equipment: PPE) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็แตกต่างจากบรรจุภัณฑ์อาหารและสินค้าอื่น ๆ แต่กระนั้น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและพลาสติกก็ยังคงพยายามสร้างความเชื่อผิด ๆ ผ่านการประชาสัมพันธ์และต่อนักการเมืองเพื่อี่ที่จะทำให้การใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

และนี่คือสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งไม่ได้แปลว่าถูกสุขลักษณะเสมอไป

ถ้าไม่ได้พูดถึงมาตรฐานทางอุปกรณ์ทางการแพทย์ พลาสติกก็ไม่ได้ช่วยเรื่องสุขอนามัยมากนัก แบคทีเรียและไวรัสที่เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดโรคนั้นแฝงตัวอยู่ในพื้นผิวของพลาสติกเช่นเดียวกันกับพื้นผิวอื่นๆ 

ในความเป็นจริงแล้ว ได้มีการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ในอังกฤษระบุว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสามารถอยู่รอดบนพื้นผิวของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกได้นาน 2-3 วันและบนกระดาษแข็งประมาณ 24 ชั่วโมง

และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายร้อยคนก็เห็นด้วยกับข้อมูลข้างต้น ไม่ว่าคุณจะซื้อผัก ผลไม้และอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ว่าจะห่อหรือไม่ห่อด้วยพลาสติก คุณควรล้างมันให้สะอาดก่อนบริโภค

เรามีโอกาสน้อยมาก ที่จะได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 จากอาหารหรือบรรจุภัณฑ์บรรจุอาหาร

ส่วนใหญ่แล้วการติดเชื้อไวรัสโคโรน่านั้นเป็นการติดต่อจากคนสู่คน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐอเมริกาออกมาบอกว่าเป็นไปได้ยากมากที่เราติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจากการสัมผัสอาหารและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ

เจ้าของร้านขายของชำและซูเปอร์มาร์เก็ตต้องปฏิบัติตามระเบียบด้านสุขอนามัยอย่างเข้มงวดเมื่อมีการสัมผัสผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนั้นการล้างด้วยน้ำสะอาดรวมไปถึงการปรุงอาหารตามสุขลักษณะอนามัยจึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ก่อนหน้าที่หลายประเทศจะประกาศล็อกดาวน์เมืองต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่านั้น ร้านกาแฟหลายแห่งทั่วโลกเริ่มที่จะปฏิเสธแก้วใช้ซ้ำที่ลูกค้านำมาเองเพื่อปกป้องพนักงานภายในร้าน แต่อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้มีการรับรองแล้วว่าบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำนั้นสามารถใช้ได้แม้ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดหากมีการทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์นั้น ๆ ด้วยสบู่และน้ำร้อน หรือเครื่องล้างจานอัตโนมัติ

เช่นเดียวกันกับการใช้ถุงผ้าเพื่อใส่ของยามจับจ่ายใช้สอย ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศห้ามใช้ถุงผ้าใช้ซ้ำในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยของประชาชน แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีการทำความสะอาดด้วยน้ำร้อน ก็ยังสามารถใช้ถุงผ้าใช้ซ้ำได้ 

ดังนั้นข้อมูลที่ว่าการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นปลอดภัยมาจากไหน?

บริษัทน้ำมันและอุตสาหกรรมพลาสติกกำลังหาประโยชน์จากวิกฤตนี้

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 บริษัทปิโตรเคมีมีความพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากการระบาดครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง โดยการสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คนเพื่อให้พวกเขาหยุดต่อต้านการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ในขณะที่โลกมุ่งมั่นที่จะลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง Shell, BP, Saudi Aramco, และ Exxon กำลังลงทุนเงินจำนวนนับพันล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรมพลาสติกเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับพวกเขาเองในอนาคต

ขณะนี้อุตสาหกรรมพลาสติกและปิโตรเคมีกำลังพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมองว่าการให้บริการของพวกเขา “เป็นสิ่งจำเป็น” และขอความช่วยเหลือทางการเงินกับภาครัฐเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการทำใหกฎหมายทางสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดลงด้วย

รายงานวิจัยจากกรีนพีซสหรัฐอเมริกาพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ตีพิมพ์บทความ บริษัทน้ำมัน และผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติก

รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า เมื่ออุตสาหกรรมพลาสติกยุโรปเรียกร้องให้คณะกรรมการยุโรปยกเลิกข้อห้ามผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งบางอย่างของสหภาพยุโรป รองประธานกรรมาธิการตอบว่า “ฉันไม่ชอบเลยเวลามีคนเขียนข้อความมาหาฉันแล้วใช้เหตุผลเรื่องความต้องการอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล มาลบล้างการห้ามใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง มันไม่เกี่ยวข้องกันเลย”

พลาสติกยังคงเป็นหายนะต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่มีรายได้ต่ำ

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้คนทั่วโลกรวมตัวกันถอยห่างจากการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยการเลิกใช้ถุงพลาสติก หลอด ช้อนส้อม และอีกมากมาย

แต่น่าเสียดายที่มลพิษพลาสติกยังคงเป็นวิกฤตทั่วโลกและมีผลกระทบอย่างมากต่อโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่มีรายได้ต่ำ วงจรชีวิตของพลาสติกส่งผลกระทบทั้งสิ้น ตั้งแต่การสกัดจากน้ำมัน ไปจนการทิ้งเป็นขยะ

นอกเหนือจากพลาสติกหลายพันล้านตันที่กลายเป็นขยะให้เราเห็นอยู่ในทะเลทุกปีแล้วนั้นการเผาไหม้เพื่อทำลายขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในที่มาของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพวิกฤตภูมิอากาศและคาดว่าตลอดวงจรของมันหายในปี 2593  พลาสติกที่ผลิตจากน้ำมันจะเป็นตัวการถึง 12% ของงบประมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ (ที่จะไม่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่ม) ที่โลกยังเหลือ ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 615 โรง ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าพลาสติกที่สะอาดและอนามัยต่อโลกนั้นไม่มีอยู่จริง

ปัญหามลพิษพลาสติกจะไม่หายไป: การศึกษาโดย NGO Tearfund ที่เผยแพร่ในปีนี้แสดงให้เห็นว่าเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลกสี่แห่งในหกประเทศกำลังผลิตขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก อาจจะเทียบได้ว่ามีปริมาณขยะพลาสติกต่อวันมากจนสามารถนำไปใส่ในสนามฟุตบอลจำนวน 83 สนามได้

และในสหราชอาณาจักรขยะพลาสติกส่วนใหญ่จะถูกส่งออกแล้วกลายเป็นขยะมูลฝอยในประเทศอื่น ๆ เช่นมาเลเซีย ชาวมาเลเซียจะต้องเป็นคนจ่ายค่าจัดการขยะที่ตัวเองไม่ได้สร้างขึ้น และยังรวมถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากขยะเหล่านี้อีกด้วย

ในวิกฤติโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เราควรเชื่อในวิทยาศาสตร์มากกว่านักล็อบบี้หรือผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมพลาสติก