ภายใต้ความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนข้ามเพศมักจะไม่ได้รับความสนใจเท่ากับกลุ่มอื่น ๆ ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศนี้  (Pride Month)  เราอยากให้กลุ่มคนข้ามเพศได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยการแบ่งปันเรื่องราว ความกดดันต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องเจอทั้งจากในสังคมภายนอกและจากกลุ่มคนข้ามเพศด้วยกันเองเช่นเดียวกับ พริษฐ์ ชมชื่น

พริษฐ์ ทำงานอยู่ที่สำนักงานกรีนพีซประเทศไทย เขาเป็นชายข้ามเพศ (trasman) และเป็นนักกิจกรรมเพื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในปีนี้ เขาได้เข้าร่วมกับ Greenpeace’s Global Rainbow Network ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเจ้าหน้าที่ที่เป็น Queer เพื่อสานต่อกิจกรรมรณรงค์ของเขาที่กรีนพีซ 

การรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศและโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมได้ขึ้นไปบนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ที่เทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือคลองเตยในกรุงเทพมหานคร ในฐานะนักรณรงค์เพื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ด้วยนวัตกรรมและวิธีการรณรงค์เชิงรุกของกรีนพีซนั้นทำให้ผมประทับใจในการทำงานและเรื่องราวขององค์กรเป็นอย่างมาก

เมื่อ 3 ปีก่อน ผมเข้าร่วมกับกรีนพีซเพราะผมเห็นว่าสิ่งแวดล้อมกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต และเราจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง หลังจากร่วมโครงการเพื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยหลายโครงการ ผมคิดว่าผมต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมมองว่าความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับโลกของเรามันก็เหมือนกับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเพศทางเลือกนั่นแหละ

พริษฐ์ (ขวา) เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาชุดใหม่เพื่อเสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อการแต่งงานที่เท่าเทียม

ที่กรีนพีซ ผมไม่ได้แค่มีส่วนร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังค้นพบช่องทางใหม่ในการสานต่อกิจกรรมเพื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศในอนาคต รวมถึงการเป็นหนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่หลักของโครงการ  Global Rainbow Network ทำให้สามารถสร้างความตระหนักรู้และความเคารพในสิทธิของกลุ่มเพศทางเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนข้ามเพศ เรามีกลุ่มคนข้ามเพศจำนวนหนึ่งในกรีนพีซก็จริง แต่มันไม่ได้ใหญ่มากพอจะทำให้ทุกคนเห็นตัวตนของเราเหมือนกับกลุ่มเกย์หรือเลสเบี้ยน ผมดีใจที่ผมมีพื้นที่ตรงนี้ในการพูดและสื่อสารเรื่องราวของการเป็นคนข้ามเพศ

การใช้ชีวิตตามกรอบของสังคม

Transphobia หมายถึง การเกลียดชังหรือความกลัวที่มีต่อบุคคลข้ามเพศ เมื่อความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นกับตัวบุคคลข้ามเพศเองนั้น เรียกว่า internalized transphobia ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง รู้สึกผิด หรือแม้กระทั่งความรู้สึกเกลียดตัวเอง

คนข้ามเพศส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการที่จะใช้ชีวิตตามเพศกำเนิด แล้วพวกเขาเรียนรู้การเป็นเพศที่เขาไม่ได้เกิดมาได้อย่างไร  คำตอบคือพวกเราหลายคนหันไปพึ่งค่านิยม บรรทัดฐาน ความเชื่อในสังคมที่เราอาศัยอยู่ และใช้เงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นกรอบในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ

พริษฐ์ในงาน Pattaya international pride

โชคไม่ค่อยดีที่กรอบนี้ก็เป็นเหมือนกล่องและใครก็ตามที่อยู่นอกกล่องนี้จะถูกตัดสินว่าผิด พวกเราหลายคนติดอยู่ในกับดักนี้ ชายข้ามเพศอย่างผมเองเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าผมควรจะวางตัวอย่างไรในฐานะชายข้ามเพศ ผมจะต้องแสดงความเป็นชายออกมาแบบไหน จะต้องมีกล้ามหรือจะต้องไว้หนวดหรือเปล่า แบบไหนที่เรียกว่าดูดี จะเทคฮอร์โมนหรือผ่าตัดแปลงเพศดีมั้ย จะต้องยังไงให้ได้รับการยอมรับและกลมกลืนไปกับค่านิยมของสังคม  คำถามพวกนี้ยังเกิดขึ้นในจิตใจตลอด

ด้วยโครงสร้างและกลไกทางสังคมที่สร้างกรอบความคิดนี้ขึ้นมาจนมันฝังลึกเข้าไปในโครงสร้างนั่นทำให้เราเกือบจะเป็นอิสระออกจากมันไม่ได้ การใช้ชีวิตในกรอบนี้มีต้นทุนสูง ไม่ใช่เพียงแค่ต้นทุนทางการเงิน เพราะสิ่งที่มากกว่านั้นคือต้นทุนด้านสุขภาพ เมื่อพวกเราพยายามจะออกจากกล่องนี้ เราจะถูกเกลียด ถูกตีตรา และถูกเลือกปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องจ่ายถ้าเราอยากจะเป็นอิสระจากกรอบความคิดเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น  Homophobia ความกลัวและเกลียดชังคนรักร่วมเพศ ความกลัวและความเกลียดชังนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของพวกเราและทำให้เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น

ในฐานะคนข้ามเพศ ผมหวังว่าผมจะได้รับการสอนว่าเพศไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบ และหวังว่าพวกเราจะมีพื้นที่ที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น คุณสามารถมีส่วนร่วมในการทำให้คนข้ามเพศอย่างผมเป็นอิสระได้ เริ่มจากการลบล้างความเชื่อแบบเดิม ๆ ว่าแต่ละเพศควรจะแสดงออกอย่างไร และแสดงให้เห็นว่าคุณยินดีและต้อนรับคนข้ามเพศ สิ่งสำคัญคือต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเสมอภาคและสิทธิของพนักงานรวมถึงเพื่อนร่วมงานที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือก ถ้าทุกคนช่วยกัน ผมมั่นใจว่ากลุ่มคนข้ามเพศของเรา จะสามารถมีจุดยืนในสังคมและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

สุขสันต์เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ

Happy Pride Month!

Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม