4 จาก 10 คะแนนเต็ม คือคะแนนที่ “พี่หนู” สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้กับ ‘สิทธิมนุษยชน’ ในประเทศไทยระหว่างที่เราได้พูดคุยในออฟฟิศย่านลาดพร้าว  ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่เราจะเดินทางไปไหนมาไหนมีความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงนี้ทำให้การลงพื้นที่ของทีม EnLAW เพื่อพูดคุยกับชุมชน ต้องหยุดชะงักหรือเปลี่ยนช่องทางไปติดตามสถานการณ์ในช่องทางออนไลน์แทน

ในระหว่างนี้เราจึงชวนพี่หนูมาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์การลงพื้นที่ การต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกของเธอต่อเส้นทางสายนี้ตั้งแต่เริ่มสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนจนกระทั่งกลายมาเป็นหนึ่งในคนสำคัญในแวดวงสิ่งแวดล้อมของไทย รวมถึงอัพเดทสถานการณ์ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ขาดความยั่งยืนในช่วงวิกฤต Covid-19

สุภาภรณ์ มาลัยลอย หรือ พี่หนู ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่พี่หนูสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

เราเริ่มสนใจประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเราอยู่ในชมรมค่ายอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ประเด็นที่เราคิดว่ามันกว้างกว่าที่เราเคยรู้ เราทำงานค่ายแล้วได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสชุมชนที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มชุมชนในชนบทหรือกลุ่มชาติพันธุ์ เราได้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนที่เขาใช้ชีวิตแบบที่เราไม่เคยเห็น เราเองเป็นคนฉะเชิงเทรา บ้านเราเป็นชาวนาซึ่งเราคิดว่าเราเองลำบากแล้ว แต่พอเรามาทำงานกับชมรมเรากลับได้เห็นคนที่ลำบากกว่าเรา ตอนนั้นเองก็ได้เรียนรู้สังคมที่กว้างขึ้น เลยเริ่มสนใจความเป็นไปทางมิติของสังคมตั้งแต่ตอนนั้นเลย

กิจกรรมของค่ายที่เราได้ไปร่วมเป็นกิจกรรมที่เราต้องลงไปอยู่ร่วมกับคนในชุมชนนานเป็นเดือน ๆ เป็นค่ายเพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชน เราจะต้องลงไปสำรวจพื้นที่ก่อนทำข้อมูลว่าคนในชุมชนต้องการอะไรอย่างเช่น ชุมชนนี้ต้องการห้องสมุด อาคารเรียน ระหว่างการไปทำกิจกรรมค่ายอาสาเรามีโอกาสได้ไปพักในบ้านของชาวบ้านในชุมชน ไปนอนตามบ้านของชุมชนเลยและต้องคุยกับชาวบ้านว่าเขามีปัญหาอะไรไหม หรือใช้วิถีชีวิตอย่างไร พอเราได้ข้อมูลแล้วตอนกลางคืนทีมเราจะมานั่งคุยกันว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากชุมชน เราเห็นปัญหาอะไรบ้างจากพื้นที่นี้แล้วจะชวนถกกันเพื่อให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างว่าทำไมเขาถึงเจอกับปัญหานี้ อย่างเช่น เขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกกฎหมายแต่ชุมชนนี้อยู่ที่นี่มานานเป็นร้อยปีแล้ว เราก็เรียนรู้ตั้งคำถามจากปัญหาเหล่านี้ บางพื้นที่เราสื่อสารด้วยภาษาไทยไม่ได้เพราะชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แต่ว่าชาวบ้านดูแลเราอย่างดีเลยนะ เขาชวนเรากินข้าว ดูแลเราเวลาลงพื้นที่ พูดคุยกับเรา ตอนนั้นเรารู้สึกเลยว่ามันยังมีเรื่องราวที่เราไม่ได้ถูกสอนในห้องเรียน เราไม่เห็นชุมชนแบบนี้เราไม่ได้เห็นวิถีชีวิตแบบนี้ ซึ่งพวกเขาคือคนกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตอยู่จริงในโลกใบนี้

พอเราเริ่มทำงานก็อยากทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนนี่แหละ ได้มาร่วมงานกับรุ่นพี่ที่เป็นพี่ในชมรมนี้เอง เขาชวนเรามาทำงานกับบริษัทกฎหมายซึ่งเน้นช่วยกลุ่มแรงงานกลุ่มชุมชนแออัดที่ได้รับผลกระทบจากมิติกฎหมาย ช่วยเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เริ่มจากการทำงานด้านการจัดการเลยเพราะเราไม่ได้จบกฎหมายแต่จบคณะบัญชีมา ได้ช่วยบันทึกการประชุม ช่วยพิมพ์งาน บวกกับที่เราสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้วเราก็เลยได้เรียนรู้การทำงานจากทีมทนายความที่ไปช่วยชุมชน ซึ่งการลงพื้นที่ทำข้อมูลชุมชนร่วมกันนี้ยิ่งทำให้เราสนใจปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบและพยายามที่จะใช้สิทธิของตัวเองในการดูแลและปกป้องตัวเองโดยใช้กระบวนการยุติธรรม

พอทำงานได้ช่วงหนึ่งเรารู้สึกว่าเราไม่เข้าใจภาษากฎหมายคือเราฟังไม่รู้เรื่อง ด้วยความที่อยากเข้าใจมากขึ้นก็เลยตัดสินใจมาลงเรียนวิชากฎหมายพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อให้ตัวเองเข้าใจภาษากฎหมายมากขึ้น เราเลือกลงเรียนวิชาพื้นฐานทั้งหมดรวมทั้งวิชากฎหมายที่เราสนใจ กฎหมายปกครอง กฎหมายสิ่งแวดล้อม และกฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นต้น แต่เพราะเราไม่ได้จะต้องการเป็นทนาย เพียงแค่อยากจะเข้าใจภาษากฎหมายให้มากขึ้นเท่านั้นก็เลยไม่ได้ลงวิชาว่าความ วิธีพิจารณาคดีอะไรแบบนี้ 

พี่ ๆ ในบริษัทก็สนับสนุนให้เรามาเรียนเพิ่มเติมเพื่อเอาความรู้ไปใช้ในการทำงาน แต่แน่นอนว่าเราไม่ได้ใบปริญญานะ ดังนั้นในเชิงการทำงานสายสังคม กับชุมชนแล้วเนี่ย เราต้องการขับเคลื่อนประเด็นการแก้กฎหมาย การนำเสนอเพื่อให้เกิดการตีความที่ครอบคลุมเรื่องของสิทธิมนุษยชน เรารู้สึกว่ามันท้าทายเพราะเราไม่ได้จบกฎหมายมาโดยตรง สำหรับเราเราจะใช้วิธีประมวลข้อเท็จจริงที่ไปเจอมาแล้วนำเสนอเวลาทำงาน เราเอาจุดแข็งที่เราลงพื้นที่จริง เราเห็นความจริงไม่ใช่แค่อ่านข้อกฎหมายเฉย ๆ

ในปี 2544 มีกลุ่มนักพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาหลายองค์กร เห็นว่าจากสถานการณ์การพัฒนาประเทศที่เน้นอุตสาหกรรม และโครงการขนาดใหญ่ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และละเมิดสิทธิของประชาชน ชุมชน แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จะทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิกันมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัด และเห็นว่าประเทศไทยยังขาดองค์กรที่ทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมในการสนับสนุนความเข้มแข็งให้กับชุมชน รวมถึงการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้มาพูดคุยกับคุณสุรชัย ตรงงาม (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการมูลนิธิ) ในการก่อตั้งโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ และเราได้เป็นหนึ่งในทีมชุดแรกที่ทำโครงการนี้ โดยเข้าไปช่วยเรื่องการจัดการและการเงินในตอนต้น โดยมีกิจกรรมการอบรมเรื่องกฎหมาย การให้คำปรึกษาและทำคดี จนปี 2556 โครงการเติบโตขึ้น มีคนทำงานรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงาน จึงได้มีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราก็ได้เติบโตจากการทำงานจัดการเป็นผู้ประสานงาน และในปัจจุบันเป็นผู้จัดการมูลนิธิ

สิทธิมนุษยชนในปัญหาสิ่งแวดล้อม

เรารู้สึกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสิทธิมนุษยชนมันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของเราคือ ‘เราอยากให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ’ เพราะฉะนั้นการที่จะมีชีวิตที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมประกอบด้วยสิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็คือสิทธิ์ในร่างกายของเราที่เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน คือการปกป้องชีวิตของเรามันไม่ใช่แค่ปกป้องร่างกาย เนื้อตัวของเรานะ แต่เรายังต้องการสิทธิ์ที่จะมีน้ำสะอาด เราต้องการอากาศที่บริสุทธิ์ในการหายใจ ต้องการที่อยู่อาศัย ยังมีส่วนที่มากกว่าเรื่องสิทธิพื้นฐานด้วยนั่นก็คือเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เรารู้สึกว่าชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการ เหล่านี้แหละที่เราคิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเชื่อมโยงกัน

บางทีคนมองแค่ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนมันเป็นเรื่องเนื้อตัวร่างกายของเรา หรือการมีชีวิตอยู่ที่มีรายได้เพียงพออะไรแบบนี้ แต่ว่าพอเรามองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องไกลตัว เราก็เลยไม่ได้มีส่วนเข้าไปกำหนดการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้วย  อย่างถ้าเราคิดว่าอากาศบริสุทธ์มันควรเป็นสิทธิ์ที่เราควรเข้าถึง พอมีปัญหา PM2.5 เราก็มีสิทธิ์เรียกร้องให้รัฐจัดการแก้ไขหรือเรียกร้องต่อบุคคลที่ทำให้เกิดผลกระทบนี้แก้ไขปัญหา หรืออย่างกรณีชุมชนคลิตี้ล่างที่ต้องใช้น้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากการประกอบกิจการ กรณีนี้ถ้าเรามองในเชิงโครงสร้างแล้ว มันคือการพัฒนาที่ไปทำลายวิถีชุมชน พวกเราเองแม้ว่าไม่ได้อาศัยอยู่ในคลิตี้ แต่เรามีสิทธิ์ไปเที่ยวไปเล่นน้ำที่คลิตี้นะและเราก็ควรมีสิทธิ์ไปเรียกร้องรัฐว่าไม่ควรปล่อยให้เกิดการพัฒนาที่ทำลายน้ำสะอาดที่ทุกคนเข้าถึง

คือถ้าเรามองสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา และสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของของใครคนใดคนหนึ่ง อย่างแม่น้ำคลิตี้หรือน้ำตกคลิตี้แม้ว่าเป็นสิทธิพื้นฐานของชาวบ้านที่จะใช้ แต่แม่น้ำนั้นไม่ได้เป็นของชาวบ้านในคลิตี้ล่างชุมชนเดียวนะ พวกเราเองก็มีสิทธิ์ที่จะช่วยดูแลแม่น้ำสายนี้ได้และสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดเหล่านี้ได้เหมือนกัน หรือยกตัวอย่างการสร้างอ่างเก็บน้ำในป่าซึ่งอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวแต่ส่วนตัวเรามองว่าเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับเรา การเข้าไปทำลายป่าทำลายบ้านของสัตว์ สัตว์ไม่มีที่อยู่อาศัย สุดท้ายสัตว์ก็ลงมาข้างล่างสร้างผลกระทบต่อชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวที่เราเข้าถึงได้ 

ถ้าถามว่าตอนเราหยุดพักจากการทำงานเราจะไปที่ไหน? เราอยากอยู่ในเมืองไหม? คือเรามองว่าการเดินห้างเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่การพักผ่อนที่แท้จริง ลึก ๆ แล้วทุกคนก็ยังอยากไปเที่ยวน้ำตกที่สวยงาม เที่ยวทะเลที่สะอาด ไปซึมซับบรรยากาศป่าที่สมบูรณ์ที่ทำให้เราผ่อนคลายและรู้สึกดี แต่ไม่มีใครที่รู้สึกว่าอยากปกป้องสิ่งเหล่านั้นเพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไกลตัวเรา แต่จริง ๆ มันไม่ไกลเลย มันคือส่วนหนึ่งของทุกคน เราเลยคิดว่าถ้าเราไม่มองสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งกับตัวเราเอง สิ่งแวดล้อมก็จะถูกทำลายไปโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างง่ายดาย แต่ถ้าทุกคนมองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของตัวเอง เราก็จะร่วมปกป้องดูแลรวมทั้งได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันทุกคนไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

บางคนมองว่ามันเป็นปัญหาของNGO ไม่ใช่ชาวบ้าน?

เราเองที่ทำงานตรงนี้เราเห็นชุมชนเขาอยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยากจัดการชุมชนของตัวเองให้ดีและอยากมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตของเขาด้วยการพึ่งพาตัวเอง เพราะฉะนั้นโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามาแล้วทำลายวิถีชีวิตของเขาแล้วเขาไม่สามารถยอมรับได้ เราในฐานะองค์กร NGO ทำงานด้านกฎหมายโดยตรง เราก็ควรบอกชาวบ้านว่าถ้าเขาไม่ต้องการโครงการนี้ เขามีสิทธิ์ตามกฎหมายอะไรบ้างหากไม่ต้องการโครงการ 

มันก็เป็นสิทธิ์จากทั้ง 2 ภาคส่วน ฝั่งรัฐบาลหรือผู้พัฒนาโครงการเองมีสิทธิ์ตามกฎหมายในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่คุณทำไม่ได้เป็นไปตามข้อห่วงกังวลของชุมชน ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันนะ แต่เราเดินบนเส้นทางที่เท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะนโยบายรัฐกับกลุ่มทุนไม่เคยฟังเสียงประชาชน แล้วประชาชนก็ไม่ได้มีอำนาจหรือไม่มีเครื่องมือกลไกอะไรมาสนับสนุน 

เราที่เป็น NGO มีภารกิจคือเราไปหนุนความเข้มแข็งของชาวบ้าน ซึ่งทุกครั้งที่เราคุยกับชุมชนเราบอกชัดเสมอว่าเราไม่ได้มาตัดสินใจแทนชาวบ้านนะ เรามาให้คำปรึกษากับชุมชนในกรณีที่พวกเขาต้องการหรือไม่รู้ว่าพวกเขาจะเดินต่อไปอย่างไรในการดำเนินการตามกฎหมาย เรามีหน้าที่ทำให้ชุมชนดูว่าเส้นทางการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไรบ้าง มีเส้นทางไหนบ้าง แล้วเราปล่อยให้ชุมชนตัดสินใจเอง หากเขาตัดสินใจว่าจะคัดค้านชุมชนก็อาจต้องการความช่วยเหลือจากองค์กรมากกว่าแค่ความรู้ อย่างเช่นการสู้คดี หรือการคัดค้านการตรวจสอบ เราจะช่วยเกี่ยวกับการทำหนังสือ หรือถ้าสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นจัดทำอย่างไรได้บ้าง 

บางครั้ง พอเราไปอยู่บนโต๊ะเจรจา พอมีเราที่เป็น NGO เข้าไปด้วย คนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของพวก NGO แต่ถ้าเรามองย้อนไปว่าบนโต๊ะนั้นมีคนจากรัฐที่รู้กลไกมากกว่าชาวบ้านเยอะ ฝั่งกลุ่มทุนมีทนายความ มีนักกฎหมาย แล้วชาวบ้านมีใคร? คุณบอกว่าต้องฟังเสียงชาวบ้านจริง ๆ สิ แล้วชาวบ้านเขารู้เท่าคุณไหม? คุณให้ข้อมูลชาวบ้านครบถ้วนเท่ากับที่คุณรู้หรือเปล่า? คุณเสริมสร้างศักยภาพให้ชาวบ้านมากพอที่พวกเขาจะต่อรองเท่าคุณไหม? คุณฟังเสียงของชาวบ้านเท่ากับเสียงกลุ่มคุณไหม? คือเรารู้สึกว่าทุกคนจะมองว่าพอมี NGO ไปนั่งเจรจาด้วยหรือมีคนอื่นที่ไม่ใช่ชาวบ้านจะกลายเป็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้านแล้วนะ 

ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันมีบางเรื่องที่ชาวบ้านเขารู้สึกว่าเขาโต้ตอบไม่ได้ คือเจรจาในมุมมองกฎหมายไม่ได้ แล้วชาวบ้านอยากให้เราเข้าไปช่วยโดยเราจะทำความเข้าใจกับชุมชนว่าเขาต้องการอะไร แค่ไหน อย่างไร เราอาจจะช่วยเขาอธิบายเพิ่มเติมในทางกฎหมาย เรื่องสิทธิ์ต่าง ๆ ที่เขาไม่สามารถพูดได้ แต่เรื่องความเป็นไปของชุมชนแน่นอนว่าชุมชนต้องพูดเองเพราะเราไม่รู้เรื่องชุมชนมากเท่าเขาอยู่แล้ว สรุปก็คือมี 2 ส่วนหลัก ๆ ที่เราช่วยคือเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ทุกคนมีสิทธิ์นะ เพราะฐานการต่อรองมันไม่เท่ากันถูกไหม บริษัทยังจ้างที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายเลย มันเป็นเรื่องปกตินะ เพราะ NGO ก็เป็นเหมือนองค์กรที่มาเสริมความเข้มแข็งของชาวบ้าน มาสนับสนุนให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจบนพื้นฐานที่เขามีข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน

พี่หนู สุภาภรณ์ เป็นตัวแทนของ EnLAW ร่วมให้ข้อมูลกับชุมชนใน จ.สระบุรี ในเรื่องการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็ก เมื่อปี 2562

“ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม บางมหาวิทยาลัยวิชากฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นวิชาบังคับและไม่ได้เรียนลึกลงไปในรายละเอียดนะ ต้องเป็นคนที่ทำงานด้านนี้จริง ๆ มาอ่านมาติดตาม พอติดตามแล้วก็จะเห็นว่ากฎหมายเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ถ้าไม่ได้ติดตามก็จะไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นอย่ามาบอกว่าชาวบ้านจะเข้าใจกฎหมายเหล่านี้หรือการใช้สิทธิ์เหล่านี้ เพราะรัฐไม่เคยให้ความสำคัญในการเอาข้อมูลเหล่านี้ไปเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน”

จริง ๆ ถ้ารัฐเห็นความสำคัญของการใช้สิทธิ์ของชาวบ้านและรัฐทำหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจกับชาวบ้าน ก่อนที่จะเกิดกระบวนการการตัดสินใจในชุมชนก็ไม่ต้องมี NGO แบบเราก็ได้นะ แต่ในเมื่อรัฐยังไม่ได้ทำตรงนั้นเราเองก็รู้สึกว่ามันเป็นภารกิจในการให้ความรู้ความเข้าใจ เสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนเพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

พอจะมีกรณีตัวอย่างเล่าให้ฟังได้ไหม?

อย่างกรณีที่เราได้ลงไปทำงานด้วยแล้วรู้สึกประทับใจแต่เป็นเคสที่ยากนะ ก็คือคดีคลิตี้ ที่นี่เป็นชุมชนของปกาเกอะญอ ชาวบ้านเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเยอะมากจากการที่เขาไม่สามารถใช้น้ำในลำห้วยได้ ด้วยกำแพงด้านภาษาทำให้เราใช้เวลาและความพยายามมาก ๆ ในการคุยกับชาวบ้าน สุดท้ายชาวบ้านบอกเราว่าเขาไม่ได้ต้องการเงินเยียวยาแต่เขาต้องการใช้น้ำสะอาด ทีนี้เราก็ต้องทำความเข้าใจกับเขาว่าการที่เขาต้องการใช้น้ำสะอาด เขามีสิทธิ์อะไรบ้างและต้องทำอย่างไรบ้าง ที่จะทำให้น้ำสะอาดและเขาเองก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษด้วย สุดท้ายชาวบ้านเลือกฟ้องรัฐเพื่อให้มาฟื้นฟูเพื่อให้น้ำกลับมาสะอาด และฟ้องบริษัทเอกชนเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งคดีคลิตี้เป็นคดีที่ชุมชนปกาเกอะญอฟ้องรัฐเพื่อให้ฟื้นฟูลำห้วย 

เคสนี้ถ้าอธิบายในเชิงการทำงานของเราก็คือ เราทราบวัตถุประสงค์ของชาวบ้านว่าชาวบ้านต้องการให้ลำห้วยกลับมามีน้ำสะอาดเหมือนเดิมเขามีทางเลือกอะไรบ้าง ตรงนี้นำมาสู่ความท้าทายที่สองนั่นคือการก้าวข้ามความกลัว ความกลัวที่ว่าคือชุมชนนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานและพวกเขาไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งเราได้อธิบายว่าจริง ๆ ชุมชนมีสิทธิ์เรียกร้องให้รัฐเข้ามามาดูแลซึ่งเป็นหน้าที่และมีสิทธิ์ที่จะฟ้องบริษัทผู้ก่อมลพิษให้มาเยียวยาชุมชน 

เคสคลิตี้ถ้ามองในมุมมองของรัฐก็อาจมองได้ว่าองค์กร NGO เป็นผู้ยุยงให้ประชาชนฟ้อง แต่ถามว่าในเมื่อมันเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นแล้ว มันก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะเรียกร้อง แต่เขาไม่รู้ว่าเขามีสิทธิ์ทำอะไรได้บ้าง เราก็ช่วยเหลือให้คำปรึกษา

แต่ว่า คดีด้านสิ่งแวดล้อมมั้นไม่ได้จบแค่ในชั้นศาลนะ อย่างกรณีคลิตี้นี่แหละเพราะแม้มีคำพิพากษาออกมาแล้วเมื่อปี 2560 ว่ากรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการไปจัดการฟื้นฟูและบริษัทที่ก่อให้เกิดความเสียหายต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าเสียหายในการฟื้นฟู แต่จนกระทั่งตอนนี้การฟื้นฟูก็ยังมีปัญหาอยู่นะ 

การเยียวยาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมันยากนะ เมื่อเกิดเหตุการปนเปื้อนแล้วต้องมาแก้ไขทีหลัง แล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาการปนเปื้อนของมลพิษในสิ่งแวดล้อมอีกเยอะ ถ้าเทียบกับเคสอื่น ๆ เนี่ย หรือเคสการปนเปื้อนมลพิษที่มาบตาพุดแล้ว ที่คลิตี้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กไปเลย แล้วถ้ากลไกของรัฐหรือมาตรการในการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษยังไม่มีประสิทธิภาพพอ เราก็จะอยู่ในแผ่นดินที่ปนเปื้อนมลพิษไปเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกลับยังมีทิศทางการพัฒนาที่เน้นอุตสาหกรรมเช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยบอกว่าเป็นอุตสาหกรรมก้าวหน้า อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเรารู้สึกว่ามันมีการพัฒนาไปข้างหน้าโดยไม่ได้มองฐานของชีวิตคนและฐานศักยภาพของพื้นที่ว่าจริง ๆ แล้วควรพัฒนาไปในแนวทางไหน เหมือนเราพัฒนาอยู่บนที่ดินเปล่า ไม่มีคนและไม่มีทรัพยากร เรารู้สึกว่ารัฐไม่เห็นว่าผืนดินตรงนั้นควรพัฒนาเป็นอะไร มันเหมือนการพัฒนาบนกระดาษที่ว่างเปล่า

สำหรับเราเรามองว่าสิ่งสำคัญคือ วิถีชุมชนและศักยภาพของพื้นที่ แต่การพัฒนาในตอนนี้มันทำลายศักยภาพของพื้นที่ อย่างที่ที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ก็ให้ถมแล้วสร้างอุตสาหกรรม พื้นที่ชายทะเลที่ชาวประมงชายฝั่งสามารถจับปลาหาอาหารใกล้ชายฝั่งโดยไม่ต้องออกเรือไปไกลมาก ก็ไปพัฒนาโดยจะสร้างท่าเรือที่ทำลายวิถีชีวิตชุมชนและระบบนิเวศตรงนั้นไปเลย ซึ่งเรารู้สึกมาก ๆ กับประเด็นนี้เพราะระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นไม่ได้ ไม่เหมือนเราสร้างบ้านแล้วมันพังเราก็รื้อแล้วสร้างใหม่ได้ แต่เราทำแบบนั้นกับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องคิดเยอะ ๆ ในการที่จะทำอะไรบางอย่างแล้วมันทำลายระบบนิเวศ

ข่มขู่ อุ้มหาย ลอบสังหาร และการฟ้องคดี ‘ปิดปาก’ (Strategic lawsuits against public participation : SLAPP suits)

เวลาที่มีโครงการหรือการพัฒนาอะไรบางอย่างเข้าไปในชุมชนมันมีความขัดแย้งแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การนำเสนอโครงการ เริ่มต้นอาจจะเกิดความขัดแย้ง เช่น พี่น้องทะเลาะกันไม่พูดคุยกันเพราะต่างฝ่ายต่างสนับสนุนกันคนละด้าน มีการแบ่งฝ่ายเกิดขึ้นเพราะความคิดไม่ตรงกัน หรือรุนแรงขึ้นมาอีกระดับก็คือไม่เผาผีกัน ไม่ขอยุ่งเรื่องของอีกฝ่ายอีก 

นอกจากนี้ก็จะมีแกนนำในชุมชน ซึ่งเขาก็เป็นคนในชุมชนนั่นแหละแต่เป็นคนที่มีศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูล กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น รวมทั้งคนในชุมชนไว้ใจ เขาก็เลยกลายมาเป็นตัวแทนของชุมชน แน่นอนว่าแกนนำจะถูกหมายตาซึ่งถ้าถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง ก็มีตั้งแต่การให้เงิน ข่มขู่เอาชีวิต มีการปล่อยข่าวล่าค่าหัว ยิงขู่ 

“มีเคสที่เราเสียใจมากคือเราไม่สามารถปกป้องเขาได้ มีบางพื้นที่แกนนำเสียชีวิตเพราะเขาลุกขึ้นมาสู้ เรารู้สึกแย่มากเพราะว่ารัฐและกลไกทางกฎหมายมันไม่มีประสิทธิภาพที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ์เหล่านี้ สำหรับเราแกนนำเหล่านี้เขาเป็นนักปกป้องสิทธิ์ของชุมชนและสิทธิ์ด้านสิ่งแวดล้อม เขาเสียสละลุกขึ้นมาพูด มาปกป้องชุมชนของตัวเอง แต่กลับกลายเป็นว่าคนที่กล้าลุกขึ้นมาพูดแทนชุมชนนั้นก้าวขาข้างหนึ่งเข้าไปในความเสี่ยงแล้ว”

ก่อนหน้านี้การข่มขู่เอาชีวิตแกนนำเกิดขึ้นเยอะมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่ว่าสองสามปีที่ผ่านมามีปรากฎการณ์ที่เราเห็นเพิ่มขึ้นแทนนั่นคือ การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายสูง ๆ เพื่อปิดปาก หรือฟ้องคดีอาญาเพื่อให้คนกลัวไม่อยากออกมาพูด เป็นวิธีการใช้กระบวนการทางกฎหมายมาปิดปากคนแทน

อย่างที่ปราจีนบุรี เขาป็นคนในชุมชนที่ลุกขึ้นมาสู้ในปัญหาบ่อขยะ ตอนนี้เขาโดนฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหาย 50 ล้านบาท กับอีกที่หนึ่งที่ต่อสู้เรื่องโรงงานยางมะตอยซึ่งสร้างติดกับอ่างเก็บน้ำที่ชุมชนใช้ประโยชน์อยู่ กรณีนี้แกนนำถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1 ล้านบาท ถ้าเป็นการฟ้องแบบนี้องค์กรของเราจะประสานเครือข่ายทนายความที่ทำงานร่วมกันให้มาช่วยเรื่องคดีความ และเราจะเสริมในเรื่องการทำงานกับเครือข่าย เช่น กรณีปัญหาบ่อขยะเราก็จะไปประสานกับเครือข่าย ที่ทำงานด้านปัญหาการจัดการขยะแล้วมาคุยกันว่า เราจะมาขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องแกนนำโดนฟ้อง แต่เราต้องตรวจสอบอำนาจรัฐและกลไกการบังคับใช้กฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วยโดยเข้าไปคุยกับชุมชนเพื่อบอกพวกเขาว่าเรื่องนี้เราสามารถต่อสู้ได้ เป็นการใช้สิทธิ์ส่งเสียงของเราโดยสุจริตเพื่อปกป้องบ้านเราภายใต้ขอบเขตที่ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของอีกฝ่าย

ถ้าเราไม่ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านมันมีผลกระทบก็คือพอชาวบ้านเห็นแกนนำโดนฟ้อง เขาก็จะหยุดทันทีเพราะทุกคนไม่อยากโดนคดี และจะมีกระแสในเชิงที่ว่า เนี่ยเราจะสู้เขาได้ยังไง พอไปสู้ก็โดนคดีแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายเขา การไปพูดคุยจะช่วยให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเขามีสิทธิ์และการโดนฟ้องมันไม่ได้หมายความว่าเราผิดแล้วเพราะเรามีสิทธิ์สู้คดีในชั้นศาลได้

เรื่องสิทธิในประเทศไทย คะแนน 1-10 พี่หนูให้คะแนนในเรื่องนี้เท่าไหร่?

เราให้ 4 คะแนน เพราะว่ามันมีประเด็น เช่น มีการเขียนถึงสิทธิมนุษยชนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ จริง ๆ เราอยากให้ 0 ด้วยซ้ำ อย่างการละเมิดสิทธิ์ในชีวิตเพราะมีหลายกรณีที่ถูกอุ้มหาย แต่ถ้ามองโดยรวมยังพอมีบางสิทธิ์ที่ได้ใช้บ้างแต่ก็ไม่น่าได้คะแนนเกินครึ่ง

เท่าที่เราทำงานกับองค์กร Projection International (PI) เขาทำงานเก็บข้อมูลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็พบว่ามีการทำให้ชาวบ้านสูญหายหรือตายไปกว่า 59 ชีวิต แต่มีการสอบสวนหรือกลายเป็นข่าวจริง ๆ มีแค่ไม่กี่ราย อย่างกรณีที่เราไปทำงานกับชาวบ้านที่ตำบลหนองแหน จังหวัดฉะเชิงเทรา กรณีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ก่อมลพิษต่อชุมชน การร่วมต่อสู้ของชาวบ้านทำให้สูญเสีย ‘ผู้ใหญ่จบ ’ หรือคุณประจบ เนาวโอภาส เราเพิ่งมารู้ทีหลังว่าก่อนหน้านั้นมีชาวบ้านเสียชีวิตไปหนึ่งคนซึ่งไม่เป็นข่าว การอุ้มหายหรือทำให้ตายจากการต่อสู้เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมในภาคใต้กับภาคอีสานมีเยอะมาก ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้นถ้ากลไกของรัฐ กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และจะดีกว่านี้ถ้ามันไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกก็คือไม่มีใครต้องตายหรือถูกบังคับให้สูญหายตั้งแต่แรก

ความไม่มีประสิทธิภาพของกลไกทางกฎหมายจะยังทำให้เกิดกรณีแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ รวมทั้งจะทำให้มีแนวโน้มเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต เราเชื่อว่าถ้ากลไกมันมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ก็จะทำให้ชาวบ้านกล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของตัวเองและสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ที่จ้องจะทำร้ายไม่เลือกวิธีอุ้มหายหรือลอบสังหารหรือการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก แล้วมันจะทำให้การคุ้มครองสิทธิ์ของชุมชนดีขึ้นในภาพรวม

งานของพี่หนูค่อนข้างหนักหน่วงมาก เคยท้อหรือหมดพลังในการทำงานบ้างไหม?

ช่วงแรก ๆ ที่เราเข้ามาทำงาน เรามีเครื่องมือทางกฎหมายเป็นกลไกกลางระหว่างชุมชนกับรัฐหรือกับเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินโครงการ กฎหมายคือเครื่องมือกลางที่จะพิสูจน์ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่กฎหมายเปลี่ยนไปเพราะมีอำนาจพิเศษเข้ามา มีคำสั่งพิเศษมาตรา 44 ทำลายหลักการด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนไปเยอะมาก ช่วงนั้นเรารู้สึกแย่มากเลยนะ ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 ยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการบางกิจการ หรือ Roadmap การจัดการขยะ และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดว่าโรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องทำ EIA หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 ที่มีการให้โครงการบางโครงการของรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน สามารถสรรหาผู้รับเหมาในการดำเนินโครงการ ก่อนที่รายงาน EIA จะผ่านความเห็นชอบได้ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกว่า กลไกกลางที่เป็นเครื่องมือในการเจรจารหว่างประชาชนกับรัฐหรือเอกชน มันไม่ใช่กลไกกลางอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเครื่องมือสำหรับตอบสนองต่อกลุ่มบางกลุ่มเท่านั้น โดยทำลายกลไกของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะเป็นการถ่วงดุลการตัดสินใจหรือทำลายหลักการการเข้าไปมีส่วนร่วม 

เรารู้สึกแย่ทุกครั้งที่ต้องตอบคำถามกับชาวบ้าน ชาวบ้านเขาบอกว่ามีทหารเข้ามาตอนกลางคืนพร้อมอาวุธ เขามีสิทธิ์อะไรบ้าง? คือมันไม่มีกฎหมายไหนที่บอกว่าชาวบ้านทำอะไรได้บ้าง มีก็เพียงกลไกการร้องเรียนให้ตรวจสอบ แต่อีกฝ่ายกลับมีอำนาจเต็มที่จะกระทำบางอย่าง เราแม้ว่ารู้สึกแย่แต่คนที่ถูกกระทำคือชุมชน เราก็ต้องย้อนกลับมาทำงานขับเคลื่อนให้ตั้งคำถามหรือเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งพิเศษ หันกลับมาใช้กลไกปกติที่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ รวมทั้งตรวจสอบนโยบายหรือกฎหมายที่ออกมาโดยไม่ชอบธรรมและลดทอนมาตรการการมีส่วนร่วมและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกเพื่อมีการเพิ่มอำนาจและกลไกของประชาชนในการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

“ถ้าเครื่องมือกลาง มันไม่ใช่เครื่องมือกลางอีกต่อไป แล้วเราจะไม่สามารถใช้กลไกทางกฎหมายสนับสนุนชาวบ้านได้อีกต่อไป เราต้องเปลี่ยนให้กลไกนี้กลับมาเป็นเครื่องมือกลางในการทำงานอีกครั้งแล้วชุมชนจึงจะมีโอกาส มีสิทธิ์ที่จะไปถ่วงดุลหรือต่อรองกับรัฐได้เหมือนเดิม”

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถทำงานตรงนี้ต่อได้ก็คือชุมชนกับสิ่งแวดล้อมกับระบบนิเวศที่ชาวบ้านปกป้องไว้ เราอยากขอบคุณชาวบ้านในทุก ๆ ชุมชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทะเลชายฝั่งที่ยังมีอาหารสมบูรณ์ หรือการพยายามพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ทำอาหารปลอดภัยและอยากมีวิถีชีวิตบนพื้นฐานทรัพยากร สิ่งเหล่านี้ทำให้เรายังมีพลังทำงานตรงนี้อยู่ ชุมชนเขาโดนกระทบมากกว่าเราเยอะนะเพราะฉะนั้นเราก็ต้องช่วยปกป้องพวกเขาด้วย ถ้าไม่มีชาวบ้านเหล่านี้เราคิดว่าสิ่งแวดล้อมก็คงเสียหายไปมากกว่านี้ คงไม่มีความสวยงาม ความอุดมสมบูรณ์ให้เราได้ชื่นชม

พี่หนูช่วยอัพเดทเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมได้ไหมคะ ว่าในช่วงที่โรคระบาดเป็นประเด็นใหญ่ มีการใช้โอกาสนี้ดำเนินการโครงการเพื่อเข้าไปเอาทรัพยากรชุมชน

สถานการณ์ตอนนี้จะมีเรื่องเหมืองแร่ที่ยังเดินหน้าขอประทานบัตรในหลายพื้นที่  มีหลายพื้นที่ที่เดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะนะ ซึ่งมีการจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงโรคระบาด Covid-19 ซึ่งเราทราบกันดีว่ามีกฎหมายห้ามชุมนุมหรือรวมตัวกันทีนี้องค์กรเราจึงทำความเห็นทางกฎหมายว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะจัดเวทีแสดงความคิดเห็นในช่วงนั้นและเราคิดว่ามันกระทบต่อสิทธิ์ของประชาชนเพราะคือสิทธิของชุมชนที่ควรมีโอกาสปรึกษาหารือกันก่อนแล้วค่อยให้ความเห็นต่อเรื่องนั้น ๆ การมาฉวยโอกาสหรือใช้ช่วงเวลานี้เดินหน้าโครงการกระทบต่อสิทธิ์ของชาวบ้านมาก

หรืออย่างกรณีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามที่เป็นข่าว ชาวบ้านจะไปใช้สิทธิ์ในการตรวจสอบและคัดค้านก็ถูกกีดกันเนื่องจากมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามรวมตัวกัน ห้ามเข้าพื้นที่นั้น แต่ผู้ดำเนินการกลับเข้าพื้นที่และดำเนินการก่อสร้างได้ หรือการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในช่วงนี้ที่เราไม่สามารถเข้าพื้นที่ไปพบชุมชนได้ แต่ชาวบ้านติดต่อมาแล้วบอกว่าช่วงนี้ลำห้วยมีตะกอนขุ่นมาก นักวิชาการภาคประชาชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้เลย คือจริง ๆ เรารับไม่ได้กับกรณีแบบนี้ที่มีโครงการซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเข้าไปดำเนินการโดยไม่มีกลไกอื่นสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เราไม่ทราบถึงสถานการณ์ว่ามีการดำเนินโครงการอย่างไรบ้าง ประชาชนไม่สามารถจับตาได้เท่าสถานการณ์ปกติอยู่แล้วซึ่งเราคิดว่ามันไม่เป็นธรรม

สื่อช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน?

สื่อมีความสำคัญมาก ๆ เวลาที่เราทำงานเราจะคำนึงถึงสื่อด้วยเพราะลำพังเสียงของชาวบ้านมันเบาบางมากที่จะไปกำกับการตัดสินใจการดำเนินการของอีกฝ่าย การจับตาของของสาธารณะจะช่วยส่งเสียงว่ามันเป็นธรรมหรือไม่จะช่วยเสียงชาวบ้านอีกแรง เพราะฉะนั้นสื่อจะทำให้คนข้างนอกพื้นที่เห็นว่ารัฐกำลังทำอะไรอยู่ กลุ่มทุนกำลังทำอะไรอยู่แล้วมันกระทบต่อสิทธิ์ของใครอย่างไรบ้าง สื่อจะขยายให้เสียงชาวบ้านดังขึ้น ทำให้การส่งเสียงในการกำกับการตัดสินใจมีพลังมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

เราเห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสิทธิมนุษยชนในโซเชียลมีเดียมากขึ้นซึ่งเป็นพลังสำคัญมากเช่นกัน นอกจากนี้เรายังเชื่อมั่นว่าพลังของคนรุ่นใหม่นี้เองจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะพวกเขาจะเป็นคนกำหนดอนาคตของเขาเอง มันเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ว่าอยากจะมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้ไว้สำหรับพวกเขาหรือไม่ในอนาคต เราอยากชวนคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องระบบนิเวศ เรื่องชุมชนไปลองลงพื้นที่จริง คือไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ห่างไกลด้วยนะ คนเมืองลองไปชุมชนแออัดดูก็จะเห็นชีวิตอีกแบบเลยนะ ลองไปเจอวิถีชีวิตที่อยู่นอกเหนือจาก safe zone ของเรา แล้วมาลองทบทวนว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวของเรา

ในมุมมองพี่หนูที่ทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทำงานกับชุมชน พี่หนูอยากเห็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมหลังจากสถานการณ์โรคระบาดอย่างไรบ้าง

เราควรจะหันกลับมามองว่าความมั่นคงของประเทศจริง ๆ มันควรจะมาจากความมั่นคงของประชาชนทุกคน ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยอย่างในช่วงสถานการณ์ Covid-19 แล้วอาหารขาดแคลน คนที่เอาอาหารมาให้เราคือใคร ก็คือกลุ่มเกษตรกรถูกไหม หรืออย่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐไปไล่ออกจากป่าเนี่ย เขามีอาหารมาแบ่งปันคนเมืองนะ เขาอยู่ได้กับทรัพยากร ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นแล้วเขาดูแลทรัพยากรด้วย แต่รัฐทำอะไร? รัฐไปทวงคืนผืนป่าจากเขา มันน่าละอายขนาดไหน? คือคุณอยู่ในเมืองไม่มีผืนป่าแต่คุณไปทวงคืนป่าจากชุมชนที่เขาดูแลจัดการและใช้ประโยชน์ คือบางพื้นที่อาจจะมีการทำลายทรัพยากรจริงแต่มันก็ต้องดูเป็นกรณี ๆ ไปนะ แล้วเราคิดว่ามันมีสิ่งที่ขัดแย้งกันมากนั่นคือ รัฐทวงคืนพื้นที่ป่าจากชุมชนที่เขาดูแลทรัพยากรและใช้พื้นที่เพื่อเพาะปลูกอาหาร แต่ในอีกพื้นที่รัฐอนุญาตให้เอกชนใช้พื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อระเบิดภูเขาทำเหมือง คือคุณอนุญาตให้ทำลายภูเขาเป็นลูก ๆ ได้แต่คุณไม่อนุญาตให้ชุมชนใช้ทรัพยากรเพื่อเพาะปลูกได้  

รัฐเองจะต้องกลับมามองเรื่องความมั่นคงของประชาชนมากขึ้น สถานการณ์โรคระบาดนี้เราเห็นเลยว่าชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรที่มั่นคงทำให้เขาอยู่ได้โดยไม่ลำบาก เขามีกินมีใช้อยู่กับทรัพยากรนั้นได้และสามารถแบ่งปัน ส่งต่อให้คนอื่นได้ด้วยซ้ำ

อีกหนึ่งเรื่องนอกจากประเด็นความมั่นคงของประชาชนแล้ว ยังมีเรื่องการท่องเที่ยวที่เกินสมดุล หลายพื้นที่ที่มีข่าวว่า ทรัพยากรฟื้นฟูอีกครั้ง มีโลมากลับมาเพราะทะเลฟื้นฟูอะไรแบบนี้ มันสะท้อนถึงการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกินสมดุลของรัฐ เราไม่ได้บอกว่าไม่ให้ใช้เลยนะแต่เรากำลังบอกว่าถ้าเราใช้แล้วดูแลด้วยเหมือนคนอยู่กับป่าก็ต้องดูแลป่า ถ้าเขาไม่ดูแลป่าแล้วเขาจะอยู่อย่างไรใช่ไหม เหมือนกันกับการจัดการทรัพยากรในการท่องเที่ยว ระบบนิเวศเองก็ต้องการการดูแลเหมือนกัน

สุดท้ายคือการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่บางอุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ในช่วงโรคระบาดเพราะไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตแรงงาน การพัฒนาเหล่านี้อาจจะต้องมองให้สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และทำให้สมดุลด้วย

“การฟื้นฟูวิกฤตของประเทศไทยคือการกลับมามองทิศทางการพัฒนาใหม่ ไม่ใช่เดินไปแบบนี้ เพราะในที่สุดแล้วกลุ่มคนที่มีเงินมากที่สุดคือกลุ่มทุนใหญ่ ที่เขามีวัตถุดิบมากมายแต่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่สามารถอยู่ได้เพราะเขาพึ่งพาตัวเองไม่ได้ในช่วงวิกฤต เราควรมองว่าเราจะพัฒนายังไงที่ทำให้ทุกคนพึ่งพาตัวเองได้ในช่วงวิกฤตด้วย คิดว่ามันมีหลายเรื่องที่ต้องทบทวนโดยส่วนสำคัญนั่นก็คือนโยบายการบริหารจัดการของรัฐ”

พวกเราที่เป็นคนทั่วไปแต่สนใจประเด็นนี้แล้วอยากช่วยเหลือ เราจะช่วยเหลือได้ยังไงบ้าง? 

เวลาที่ได้เห็นชุมชนออกมาเรียกร้องอะไรบางอย่างอยากให้ช่วยฟังเสียงเขาหน่อย แล้วถ้าฟังแล้วรู้สึกเห็นด้วย ช่วยสนับสนุนพวกเขาในการตรวจสอบกลไกการทำงานและอำนาจรัฐเท่าที่เราสนับสนุนพวกเขาได้ และเราคิดว่าทุกคนควรต้องสนใจกฎหมาย นโยบายในมิติสิ่งแวดล้อมของภาครัฐได้แล้วเพราะมันไม่ได้ไกลตัวเราเลย ทิศทางการพัฒนาที่มาจากรัฐใช้งบประมาณภาษีไปในการพัฒนาแล้วไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายวิถีชีวิตของชุมชนหรือเป็นการส่งเสริมชุมชน เราคิดว่าจะต้องสนใจและจับตาเรื่องนโยบายเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เรื่องการเมืองและสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องเดียวกันนะ

“เราเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ คือสังคมข้างหน้ามันเป็นสังคมของคนกลุ่มนี้ซึ่งพวกเขามีส่วนที่จะกำหนดนโยบาย หรือเขาเองอาจจะก้าวไปเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ในช่วงต่อไป”

อยากให้กล้าที่จะเสนอมุมมองของตัวเองว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไร ทุกคนสามารถพูดได้ไม่ว่าจะเป็นความเห็นร่วมด้วยหรือความเห็นต่างต่อทิศทางนโยบาย หรือเห็นด้วยกับชุมชนหรือไม่เห็นด้วยเพราะอะไร แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล และความรักความเข้าใจแต่ไม่ใช่อคตินะ เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็มีความเห็นต่อประเด็นเหล่านี้ได้เหมือนกัน เราอยากให้มีข้อเสนอข้อคิดเห็นเยอะ ๆ เพราะเชื่อว่าพื้นฐานความต่างแบบนี้จะทำให้เกิดอะไรใหม่ ๆ ในอนาคต

“เราคิดว่าเสียงของคนรุ่นใหม่จะเป็นเสียงสำคัญ อยากให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นออกมาโดยอิสระบนพื้นฐานความรักและความเข้าใจ ที่เราอยากให้พัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่การพัฒนาบนฐาน GDP หรือเงินสำหรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น”


เรื่อง : Supang Chatuchinda

ภาพ : Puchong Saelao