Not only  Reuse Reduce Recycle 
but also Recognize “Plastic pollution is our problem”

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา กรีนพีซได้จัดเสวนาพูดคุยในหัวข้อ “Beyond the Story of Plastic: พลาสติก ผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลง” โดยมีคุณวรรณสิงห์ จากเถื่อน Travel, คุณกิ๊ก กรณิศ จาก ReReef, คุณหมิว พิชามญชุ์ จากกรีนพีซ ประเทศไทย และคุณลูกกอล์ฟ คณาธิป จาก Little Big Green โดยทั้งสี่คนได้ให้มุมมองของปัญหาพลาสติกหลังจากได้รับชมภาพยนตร์สารคดี The Story of Plastic ไว้อย่างน่าสนใจจากมุมมองของตัวเองที่แตกต่างกันไป

ถ้าใครที่ยังไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Story of Plastic เราจะขอสรุปให้ฟังสั้น ๆ ว่า ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่จะทำให้เราเห็นถึงช่องว่างของปัญหาพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้น การผลักความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปให้กับผู้บริโภคเพื่อจัดการปัญหา และยังรวมไปถึงการแก้ปัญหาที่ปลายทางไม่สามารถจัดการปัญหามลพิษพลาสติกได้

The Story of plastic เปิดมุมมองอะไรให้เราบ้าง

 ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้บอกเราแค่ว่าตอนนี้มีปัญหาขยะพลาสติกล้นอยู่ตามทุกมุมโลกอย่างขยะพลาสติกที่ลอยอยู่เต็มทะเลหรือกองภูเขาขยะที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากไหน กว่าจะเป็นมลพิษพลาสติก ที่เราเห็นกันทุกวันนี้มีที่มาอย่างไร  “หนังเรื่องนี้เหมือนตบหน้าให้ได้สติว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดเหล่านี้มาจากไหนกันแน่” นี่คือประโยคที่คุณลูกกอล์ฟ เล่าให้ฟังระหว่างการเสวนา 

คุณวรรณสิงห์ยังบอกระหว่างการพูดคุยอีกว่า ตนเป็นคนที่ศึกษาในเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่มีบางอย่างที่รู้สึกตกใจกับข้อมูลที่ได้รับเหมือนกัน เช่น ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอว่าการจัดการขยะเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจัดการไม่ดีจะทำให้ขยะพลาสติกเหล่านั้นถูกปล่อยไปยังแม่น้ำหรือทะเล แต่พอดูหนังแล้วพบว่าขยะที่อยู่ในแถบบ้านเรานั้นเป็นการนำเข้าขยะมาจากยุโรป ซึ่งทำให้เพิ่งได้รู้ว่าต้นทางของขยะเหล่านี้มาจากไหน และสุดท้ายเมื่อขยะถูกทิ้งลงในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นว่าพวกเราไม่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ดีพอ แต่ไม่มีใครถามว่าแล้วต้นตอของขยะเหล่านี้มาจากไหน และยังกล่าวอีกด้วยว่า

“ขยะที่เราเห็นนั้นมันมาจากทั่วโลก โตรอนโต ออสเตรเลีย มันทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เรามองไม่เห็น รวมถึงเรื่องขยะที่เป็นปัญหาที่ไม่คิดว่าจะมี เพราะขยะจากอเมริกายังมาอยู่ที่อินเดียได้เลย กลายเป็นว่า ประเทศที่มีทุนในการจัดการปัญหาขยะน้อย ต้องมาจัดการปัญหาตรงนี้แทนประเทศโลกที่ 1”

ทุกอย่างสามารถรีไซเคิลได้จริงหรือ?

  เรายังอยู่ในวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง ชุดความคิดว่าทุกอย่างสามารถรีไซเคิลได้ทำให้เราใช้พลาสติกแบบเกินความจำเป็นอยู่ เพราะคิดว่าเดี๋ยวจะถูกเอาไปรีไซเคิลคุณหมิวพูดถึงการรีไซเคิลที่ทุกคนคิดว่ารีไซเคิลคือทางออกของปัญหา แต่ความจริงแล้วการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก เป็นเพราะพลาสติกแต่ละชนิดมีหลายเลเยอร์ หลายชนิด มีทั้งหมึกที่พิมพ์ลงไป เลยทำให้มันรีไซเคิลทั้งหมดไม่ได้อย่างที่เข้าใจกัน

Extended Producer Responsibility (EPR) การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต

  คุณกิ๊ก ได้อธิบายถึง Extended Producer Responsibility หรือ EPR ว่าเป็นนโยบายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เริ่มขึ้นในยุโรปเพื่อให้ผู้ผลิตมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตัวเองหลังจากการใช้งานในหนังก็มีการแสดงให้เห็นว่าแชมพูยี่ห้อหนึ่งที่ขายในยุโรปเป็นขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลได้ แต่ขายที่อินเดียเป็นซอง ทั้ง ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน เนื่องจากที่ยุโรปมีการบังคับใช้กฎหมาย EPR และผู้ผลิตได้คิดค่าจัดการสินค้าไปตั้งแต่แรกแล้ว ที่ขวดจะมีฉลากบอกว่าขวดนี้จะได้รับการจัดการขยะอย่างถูกวิธี แต่สำหรับประเทศที่มีกฎหมายอ่อนกว่าจึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ได้

ถ้าเราเลิกใช้ Single-use plastic จะเป็นอย่างไร

  อาจไม่ใช่การเลิกใช้ทุกอย่างที่เป็นพลาสติก แต่เป็นการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาแทนที่ เช่น การใช้นวัตกรรมธุรกิจ เราไปขอให้ร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยสามารถเอาขวดตัวเองไปเติมเครื่องดื่มได้ แล้วจ่ายตามน้ำหนักที่เราเติม แค่นี้ก็ลดขวดไปได้ระดับหนึ่งแล้ว และคิดว่ามันไม่ยากเลย ไม่มีอะไรที่ความฉลาดของมนุษย์สามารถพาเราไปไม่ได้” นี่คือประโยคที่คุณวรรณสิงห์พูดถึงเมื่อเราเลิกใช้ Single-use Plastic 

ด้านคุณลูกกอล์ฟบอกกับเราว่า สิ่งที่ควรเลี่ยงที่สุดคือพลาสติกที่เราได้มา แล้วเราขยำมันทิ้งเลยทันที อะไรที่มันอยู่กับเราไม่นาน เราก็ไม่ควรรับมันมา และการใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุดก็เป็นอีกทางที่สามารถยืดอายุการใช้งานของพลาสติกและสามารถลดจำนวน Single-use Plastic ได้อีกด้วย

  แต่คุณกิ๊กกลับมองว่า การตระหนักรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่าอาจไม่เพียงพอในช่วงเวลาที่ปัญหาพลาสติกกำลังล้นโลก เราอาจจะโตมากับชุดความคิดที่ว่า อะไรก็ตามที่เป็นปัญหา เรามาสร้างจิตสำนึกที่ดี แล้วปัญหาจะหายไป เท่ากับว่าก็ต้องรอให้ทุกคนเป็นคนดีก่อนเหรอปัญหามันถึงจะหาย ภาครัฐควรมีบางอย่างมาสนับสนุนการรณรงค์ที่อยากให้คนตระหนักในเรื่องปัญหามลพิษพลาสติก  อาจจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกหรือ facilitator ที่มาในรูปของกฎหมาย หรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าอยู่ต่างประเทศ การไม่พกถุงผ้าคือเราประหลาด สิ่งเหล่านี้จะเอื้อให้เราเปลี่ยนพฤติกรรม อีกอย่างคือโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น ช่วงแรกที่ทำเพจ ReReef บอกให้เพื่อนพกกระบอกน้ำ เพื่อนถามว่าสิบโมงกินน้ำหมดแล้วไปเติมน้ำที่ไหน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ามันไม่มีอะไรมาสนับสนุนให้กับสิ่งที่เราพยายามรณรงค์อยู่ เพราะฉะนั้นต่อให้เป็นคนดีแค่ไหน จิตสำนึกเต็มเปี่ยม แต่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือโครงสร้างพื้นฐานเราคงไปไหนได้ไม่ไกลเท่าไหร่”

  “การปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกเป็นสิ่งที่ดี ควรทำต่อไป แต่ว่าอย่าลืมปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องทำควบคู่กันไปก็สำคัญเหมือนกัน”, กิ๊ก กรณิศ

คนเก็บขยะถือถังขยะใบใหญ่ ณ หลุมฝังกลบในเมืองดูมาเกเต ฟิลิปปินส์ ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปส่งออกขยะพลาสติกไปสู่ประเทศในทวีปเอเชียและแอฟริกา พวกเขาจัดการปัญหาขยะในประเทศตัวเองโดยนำไปกำจัดในชุมชนอื่น ๆ

โลกหลังโควิด-19 กับปัญหามลพิษพลาสติก

ทั้งสี่คนเห็นไปในมุมมองที่คล้ายกันคือ Hopeless และ Hopeful ถึงแม้จะรู้สึกว่าต่อให้ทำดีแค่ไหนโลกของเราก็จะยังไม่ดีขึ้นในทันที แต่ก็ยังมีความหวังว่ามันจะดีขึ้นได้ถ้าเราทุกคนกล้าที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือความเคยชินกับความสะดวกสบายบางอย่างในชีวิตของเรา และอย่าดูถูกพลังในการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆของตัวเอง เราอาจจะเปลี่ยนคนทุกคนบนโลกพร้อมกันไม่ได้ แต่ถ้าเราเริ่มจากคนรอบข้างและเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เชื่อว่าโลกของเราจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

“หมิวไม่ได้อยากเห็น new normal แต่เป็น better normal มากกว่า มันมีความหวังว่าคนจะตระหนักถึงเรื่องปัญหาพลาสติกมากขึ้น และสังคมที่เราอยู่มันยั่งยืนมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของพวกเรา”, พิชามญชุ์ รักรอด, กรีนพีซ ประเทศไทย

Plastic Brand Audit Activity in Greece. © Constantinos Stathias / Greenpeace
ยุติมลพิษพลาสติก

การรีไซเคิลไม่ไช่ทางออกของปัญหา พลาสติกกว่าร้อยละ 90 ที่ถูกผลิตขึ้น ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล แต่ถูกนำไปที่หลุมฝังกลบหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือถูกนำไปเผาและและปล่อยมลพิษกลับเข้าสู่สิ่งแวดล้อม เราไม่อาจกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกด้วยเพียงแค่การรีไซเคิล ถึงเวลาแล้วที่บริษัททั้งหลายต้องบอกลาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวไปพร้อมกัน

มีส่วนร่วม