เมื่อโควิด-19 มา…แต่หน้ากากผ้าไม่พอ ทำอย่างไรกันดี?

ท่ามกลางการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา (Covid-19) ในสังคมไทยและโลกในขณะนี้ กรีนพีซได้รวมพลังอาสาสมัครจากหลากหลายชุมชนเกิดเป็นโปรเจคที่ชื่อว่า “อาสาเย็บหน้ากากผ้ากับกรีนพีซ” เพื่อกระจายหน้ากากผ้าใช้ซ้ำให้ทุกคนเพื่อใช้ป้องกันโรค  

แม้ทุกคนอยู่ในระหว่างการปฏิบัติตัวตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) แต่ความเอื้อเฟื้อไม่ได้เลือนหายไปด้วย แต่กลับชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อพบว่าสถานการณ์หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้ายังไม่เพียงพอและเข้าไม่ถึงกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมได้อย่างทั่วถึง กรีนพีซเล็งเห็นว่ายังมีกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมหลากหลายกลุ่ม ที่ยังไม่สามารถซื้อหาหน้ากากผ้ามาใช้สำหรับป้องกันโรคได้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้เกิดการรวมพลัง “อาสาเย็บหน้ากากผ้ากับกรีนพีซ” ในครั้งนี้

จุดเริ่มต้นของการรวมพลังอาสาสมัคร

กรีนพีซเริ่มประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ที่เคยร่วมงานกัน จำนวน 6 แห่งและหน่วยงานเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง รวมเป็น 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ. จันทบุรี โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร  โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อสอบถามความต้องการหน้ากากผ้าและจำนวนหลังคาเรือนที่เป็นชุมชนรอบโรงพยาบาลเหล่านั้น พบว่ายังมีชุมชนอีกมากมายที่ยังต้องการหน้ากากผ้าแต่เข้าไม่ถึงอยู่เป็นจำนวน 2,500 คน ประกอบด้วย กลุ่มคนไร้บ้าน ชาวปกาเกอะญอ กลุ่มคนชายขอบที่อาศัยอยู่แนวชายแดน รวมถึงเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางส่วนพร้อมกับคนไข้ที่มาใช้บริการ และกลุ่มจิตอาสาที่ออกปฏิบัติงานช่วยเหลือสังคม เป็นต้น โดยทางโรงพยาบาลต่าง ๆ และมูลนิธิได้ช่วยประสานกับชุมชนต่าง ๆ เพื่อแจกจ่ายหน้ากากผ้าให้ทั่วถึง หลังจากได้รับการจัดส่งมาจากเหล่าอาสาเย็บหน้ากากผ้า

ทันทีที่เปิดตัวโครงการอาสาเย็บหน้ากากผ้า ก็มีผู้สนใจมาสมัครอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันให้กับเพื่อน ๆ ในสังคม กิจกรรมอาสาสมัครในครั้งนี้ได้รับการตอบรับดีจนเจ้าหน้าที่กรีนพีซที่จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับเย็บหน้ากากผ้าจัดส่งให้แทบไม่ทัน 

มีการจัดการอำนวยความสะดวกในการจัดส่งอุปกรณ์สำหรับเย็บหน้ากากผ้าทางไปรษณีย์ให้กับอาสาสมัครถึงที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงและให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19 และยังช่วยให้หน้ากากผ้าเหล่านี้ส่งถึงผู้ที่ต้องการใช้หน้ากากผ้าในการป้องกันโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย 

สำหรับผ้าที่ใช้ในการเย็บหน้ากาก กรีนพีซประสานกับร้านขายผ้าที่มีผ้าเหลือใช้เป็นม้วนอยู่ในร้าน  เพื่อนำม้วนผ้าที่เหลือใช้เหล่านั้นมาใช้เป็นวัสดุในกิจกรรมเย็บหน้ากากผ้าครั้งนี้ ตามแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste) และตัดผ้าทรงสี่เหลี่ยม เพื่อเป็นการใช้ผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เหลือเศษผ้าให้ต้องทิ้ง ในขณะเดียวกัน เราได้ยึดหลักความอนามัย ตามที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะนำด้วย เช่น ใช้ผ้ามัสลินในการเย็บ เพราะมีประสิทธิภาพกันละอองน้ำ เส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคขนาดเล็กได้ดีและซักใช้งานได้หลายครั้ง เพื่อให้ใช้ป้องกันละอองน้ำลายซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ได้จริง เมื่อแนวคิดเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อไปทำให้มีอาสาสมัครบางคนเกิดไอเดีย นำวัสดุเหลือที่บ้าน เช่น เศษผ้าต่าง ๆ มาเย็บ  เมื่อเย็บเสร็จเรียบร้อยก็นำไปซักให้สะอาดพร้อมใช้งาน แล้วส่งต่อให้กับชุมชนปลายทาง

หน้ากากผ้าที่ชุมชนปลายทางได้รับนี้มีเรื่องราวความสุขสนุกมากมายซ่อนอยู่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับเราในครั้งนี้มีหลากหลายมาก มาจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ที่สำคัญคือมีทั้งคนที่เย็บเป็น และเย็บไม่เป็น แม้ว่าจะมาจากต่างพื้นที่ หรือแตกต่างกันในประสบการณ์การเย็บปักถักร้อย แต่สิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันคือ มีความตั้งใจส่งมอบหน้ากากผ้าให้กับกลุ่มคนที่ยังต้องการด้วยความปรารถนาดี แม้จะไม่ถนัดเรื่องการตัดเย็บ แต่มีใจอยากช่วยเหลือสังคมเป็นตัวตั้ง จึงไม่เป็นปัญหา เพราะทางเรามีคลิปวิธีการเย็บง่าย ๆ ส่งให้เย็บตามได้ด้วยตนเอง โดยคลิปนี้ได้รับความร่วมมือจาก คุณครูแคท สมาชิกกลุ่ม TAM : DA ที่ปิ๊งไอเดียทำทุกสิ่ง เนรมิตของเหลือใช้ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวให้นำมาใช้สอยได้ใหม่ในชีวิตประจำวัน เราจึงประสานให้มาร่วมกิจกรรมสอนเย็บหน้ากากผ้าจากเศษผ้าเหลือใช้ในบ้านให้กับผู้ที่สนใจในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ด้วย ด้วยความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสังคมของทุกคน จึงไม่เป็นอุปสรรคในการเย็บแม้แต่น้อย จากคนที่เย็บไม่เป็น แรก ๆ ก็รับไปเย็บเพียง 5-10 ชิ้น เมื่อคล่องขึ้นก็สมัครซ้ำมาอีกหลายครั้ง เพื่อนำไปเย็บเพิ่มอีก 20-30 ชิ้น 

สำหรับคนที่เย็บหน้ากากเป็นก็มีหลายหลากอีกเช่นกัน มีทั้งคู่พี่น้องจับมือมาช่วยกันเย็บ คุณลูกวัยทำงานสมัครรับอุปกรณ์ไปให้คุณแม่หรือญาติพี่น้องที่ถนัดในการเย็บ คุณแม่สอนคุณลูกแล้วเย็บหน้ากากไปด้วยกันเป็นกิจกรรมครอบครัวได้เป็นอย่างดี หรือบางคนต้องกล่อมให้ลูกนอนหลับก่อนจึงจะเย็บได้ ไม่เช่นนั้นจะเย็บไม่สำเร็จ บางคนก็เย็บเพลินจนไปชักชวนเพื่อนบ้านมาเป็นอาสาสมัครเย็บหน้ากากผ้าไปด้วยกัน และอาสาสมัครส่วนใหญ่อยู่ในช่วง Work From Home ก็ใช้เวลาเย็บในช่วงกลางคืน เพื่อทำภารกิจ “อาสาเย็บหน้ากากผ้า” จำนวนมากให้สำเร็จ เพราะกลุ่มคนที่เย็บผ้าเป็นนี้มีความสามารถในการรับไปเย็บตั้งแต่ 50-300 ชิ้น นับว่าเป็นจำนวนมากที่ต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยในการทำ แต่ทุกคนใส่ใจในทุกรายละเอียดในการทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่การบรรจงเย็บให้ตรงและได้ขนาดมาตรฐานตามการนำไปใช้ได้จริง และซักรีดเพื่อให้ชุมชนปลายทางสามารถนำไปใช้ได้ทันที ขณะทำอาสาสมัครบางคนป่วยเป็นไข้หวัดเล็กน้อย ก็งดการเย็บหน้ากากไปในช่วงนั้นเพราะกลัวว่าเชื้อโรคจะติดไปกับผ้าที่กำลังเย็บด้วย รอให้หายขาดแล้วจึงมาเย็บต่อให้สำเร็จ บางคนมีความสุขในการเย็บเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมาก ๆ จึงไปเชิญชวนกลุ่มอาสาสมัครที่ตนเองสังกัดอยู่มาร่วมมือกัน บางคนไปเล่าความสุขในการทำความดีครั้งนี้ให้เพื่อนต่างชาติที่อยู่ในไทยฟัง แม้จะต่างชาติต่างภาษาและเย็บไม่ค่อยเป็น ก็มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนี้ได้ 

นอกจากนี้ กรีนพีซยังได้จัดส่งอุปกรณ์สำหรับเย็บหน้ากากผ้าไปให้เครือข่ายความร่วมมือของเรา เพื่อให้แต่ละเครือข่ายนำไปขับเคลื่อนกิจกรรมรวมพลังกลุ่มภายใต้การดำเนินการของแต่ละกลุ่มด้วย เช่น กลุ่ม TAM : DA  กลุ่มจิตอาสาสังขละบุรี กลุ่มเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิพิทักษ์กาญจน์ มูลนิธิบ้านเด็กป่า โดยแต่ละเครือข่ายก็ไปกระจายวงเหมือนวงน้ำที่ขยายวงกระเพื่อมไปเรื่อย ๆ รวมกันเป็นกระแสสายธารน้ำใจไทย คนละเล็กคนละน้อยก็ร้อยเรื่องราวหน้ากากผ้าให้สำเร็จส่งถึงปลายทางได้ทันใช้ต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19

รวมพลังเพื่อสร้าง #BetterNormal ร่วมกันต่อไป

การร่วมมือกันการสอดประสานกันจากทุกภาคส่วนทำให้โครงการนี้เดินหน้าตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนในการปกป้องสุขภาพของผู้คน 

พลังอาสาสมัคร และพลังของคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับวิกฤติทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการหยิบยื่นน้ำใจหรือความช่วยเหลือที่ชุมชน หรือคนในสังคมต้องการ รวมไปถึงการรวมตัวเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชน และการปกป้องทรัพยากรเพื่อการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม