ฉันเหลือบมองไปรอบกาย เห็นผู้คนมากมายกำลังเพลิดเพลินกับการดูดน้ำหวาน ชานมไข่มุกละมุนลิ้น กาแฟรสใหม่ ในใจก็พลางนึกสงสัยว่าพวกเขาจะรู้หรือไม่นะว่าหลอดพลาสติกในแก้วบนมือเขาจะไปจบลงที่ไหน หลังจากที่ชั่วโมงแสนหวานชื่นใจของพวกเขาสิ้นสุดลงคุณอาจยังไม่รู้ว่าในแต่ละปี มีขยะพลาสติกถึงแปดล้านตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทร จากผลสำรวจในปีพ.ศ. 2558 5 อันดับแรกของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเลได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยทั้ง 5 ประเทศรวมกันนี้สร้างขยะพลาสติกในทะเลถึงร้อยละ 60 จากขยะพลาสติกทั่วโลก หลอดพลาสติกเองก็เป็นหนึ่งในขยะพลาสติกเหล่านั้น แม้ว่าในประเทศไทยเราอาจยังไม่มีผลวิจัยชัดเจนว่าเราสร้างขยะหลอดพลาสติกกันมากแค่ไหน แต่ในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งสร้างขยะพลาสติกในทะเลน้อยกว่าไทยเสียด้วยซ้ำ) ยังพบว่ามีหลอดพลาสติกถึงราว 500 ล้านชิ้นถูกใช้และทิ้งในแต่ละวัน

ขยะพลาสติกบริเวณชายหาดมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

หลอดพลาสติกเป็นขยะที่เราใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในระยะเวลาอันรวดเร็ว หากลองนับดูอย่างจริงจัง คุณจะพบว่าในหนึ่งวัน เพียงแค่คนคนเดียวอาจสร้างขยะหลอดพลาสติกได้มากกว่า 3 ชิ้น โดยแต่ละครั้งเราอาจใช้งานแค่เพียงไม่กี่นาที ในขณะที่ขยะเหล่านี้อาศัยระยะเวลาถึงสองร้อยปีในการย่อยสลาย สิ่งที่เราทุกคนพอจะทำได้จึงเป็นการลดการสร้างขยะเพิ่มโดยไม่จำเป็น

หากคุณคิดว่าคุณใช้หลอดในตัวเมืองห่างไกลท้องทะเล ไม่ได้ทิ้งเรี่ยราดตามชายฝั่ง จะเป็นไปได้อย่างไรที่หลอดของคุณจะไปจบลงในมหาสมุทร คุณอาจคิดผิด เหตุเพราะว่าในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดสามารถกำจัดขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีขยะพลาสติกจำนวนมากถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี แม้ว่าเราจะทิ้งขยะลงในถังอย่างเป็นที่ อย่างไรเสียก็ยังเป็นไปได้ว่าจะมีขยะตกค้างจากการกำจัด จากข้อมูลการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในไทย ปี 2558 พบว่าขยะราวร้อยละ 10 ของขยะตกค้างที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีจะถูกปล่อยลงมหาสมุทร คิดเป็นราว 50,000 – 60,000  ตันต่อปี หรือประมาณ 750 ล้านชิ้น โดยขยะถุงพลาสติกและหลอดพลาสติกพบมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ

ขยะพลาสติกจากกิจกรรมเก็บขยะของอาสาสมัครเยาวชนกรีนพีซ หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี

หลอดพลาสติกเป็นขยะย่อยสลายยากที่เล็กและเบา ทันทีที่ถูกกำจัดลงสู่ทะเล กระแสน้ำสามารถพัดพาหลอดเหล่านี้ไปได้ไกลจนปะปนอยู่ใต้คลื่นมหาสมุทร สัตว์ทะเลจำนวนมากอาจเข้าใจผิดว่าขยะเหล่านั้นเป็นอาหารและพลาดกินเข้าไปจนเกิดอันตราย เช่นในเมื่อสองปีก่อน คลิปช่วยเหลือเต่าทะเลที่มีหลอดติดอยู่ในจมูกได้รับการแชร์อย่างแพร่หลายจนเป็นไวรัลตามอินเตอร์เน็ต สีหน้าของสัตว์ทะเลผู้ไม่มีพิษมีภัยดูทุกข์ทรมานกับสิ่งแปลกปลอมในร่างกายของมันอย่างมาก

และนี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ผลวิจัยพบว่านกทะเลกว่าร้อยละ 70 และเต่าทะเลกว่าร้อยละ 30 มีขยะพลาสติกอยู่ในท้องของพวกมัน ลองจินตนาการดูว่าภายใต้มหาสมุทรกว้างใหญ่ที่มีขยะลอยปะปนอยู่นับล้านตัน จะมีสัตว์น้อยใหญ่ที่ต้องทุกข์ทรมานเช่นนี้โดยไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกกี่ล้านตัว

บางประเทศที่ตระหนักถึงปัญหาขยะหลอดพลาสติกที่มากเกินความจำเป็นเหล่านี้ยังมีการเสนอให้แบนการใช้หลอดพลาสติกโดยสิ้นเชิงและหันมาใช้หลอดจากวัสดุอื่นๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นในเมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาได้เสนอให้มีการห้ามใช้หลอดพลาสติกอย่างจริงจังหลังจากตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นที่แลกกับความสะดวกสบายชั่วคราวอันได้ไม่คุ้มเสียนี้ และในรัฐเดียวกันที่เมืองเดวิส

ยังมีการออกกฏหมายให้ผู้ประกอบการร้านค้าถามผู้บริโภคว่าต้องการหลอดหรือไม่แทนที่จะเสิร์ฟน้ำพร้อมหลอดโดยอัตโนมัติเช่นในอดีต

ทว่าการแก้ปัญหานี้ก็ไม่ใช่หน้าที่ของทางรัฐหรือผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว เราเองก็สามารถเลี่ยงการใช้หลอดพลาสติกโดยไม่กระทบชีวิตประจำวันได้หลายวิธีง่ายๆ เช่น

  1. เลือกดื่มน้ำจากแก้วหรือขวดน้ำเสมอเมื่อเป็นไปได้ บางคนเกรงกลัวเชื้อโรคจากปากขวดน้ำหรือขอบแก้ว ในขณะที่หลอดที่เราคิดว่าสะอาดต่างก็ผลิตมาจากโรงงานเช่นกัน อีกทั้งยังต้องใช้นิ้วมือในการสัมผัสหลอดก่อนเพื่อใส่ลงในแก้วหรือขวด หากคิดให้ดีการใช้หลอดพลาสติกเพื่อเลี่ยงความสกปรกจึงอาจเป็นทางออกที่สะอาดน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ
  2. เมื่อออกนอกบ้าน หากเราไม่ต้องการใช้แก้วจากร้านค้า เราสามารถพกแก้ว ขวด หรือกระติกน้ำส่วนตัวที่เราสบายใจจะดื่มโดยตรงติดตัวไว้เสมอได้ นอกจากจะเลี่ยงการใช้หลอดได้แล้ว เรายังสามารถเลี่ยงการใช้แก้วหรือขวดน้ำพลาสติกได้อีกด้วย
  3. ปฏิเสธหลอดจากร้านค้าต่างๆเมื่อซื้อน้ำ มีร้านค้าจำนวนมากที่เสิร์ฟหลอดมาให้เราทันที หากเราต้องการดื่มแบบไม่ใช้หลอด เราจึงควรแจ้งกับพนักงานล่วงหน้าว่าเรา “ไม่รับหลอด”
  4. หากคุณเป็นคนที่ติดการใช้หลอดจริงๆ คุณสามารถเลือกซื้อและพกหลอดส่วนตัวที่ใช้ซ้ำได้ ในปัจจุบันมีการผลิตหลอดที่สามารถใช้ซ้ำได้ ทั้งหลอดสแตนเลส หลอดแก้ว ซิลิโคน หรือหลอดไม่ไผ่ต่างๆ และยังมีแปรงขนาดเล็กสำหรับล้างหลอด อาจต้องเสียเวลาล้างสักหน่อย แต่เทียบกับผลลัพธ์ที่ได้คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงเรามากนักหรอก จริงไหม?

เราไม่มีทางรู้เลยว่าหลอดที่เราใช้ในวันนี้จะไปอยู่ในท้องของสัตว์ทะเลตัวไหนหรือไม่ในวันหน้า เพียงแค่ไม่กี่นาทีที่เรามีความสุขกับการดูดเครื่องดื่มแสนอร่อยผ่านหลอดพลาสติก เราอาจทำร้ายสัตว์ทะเลผู้บริสุทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ

เราทุกคนต่างมีส่วนในการสร้างขยะเหล่านี้ และพวกเราทุกคนก็มีพลังในมือที่จะหยุดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็นเช่นกัน

ภายใต้ผืนน้ำสีมรกตที่กระเพื่อมขึ้นลงกระทบแสงแดดสะท้อนเป็นประกายงดงาม มีขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่มนุษย์สร้างขึ้นแต่กลับยัดเยียดให้ท้องทะเลเป็นผู้รับผิดชอบ คุณอาจไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมาย ทว่าหากคุณใช้หัวใจรับฟัง คุณจะได้ยินเสียงร่ำไห้ของมหาสมุทรที่อ้อนวอนขอให้พวกเรามนุษย์หยุดทำร้ายพวกเขาเสียที

 

สรรพร อุไรกุล อาสาสมัครกรีนพีซ