สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทุกวันนี้เป็นตัวการให้เกิดผลกระทบมากมาย ในฐานะพลเมืองโลกพวกเราไม่ควรเมินเฉยต่อวิกฤตการณ์ที่เราเผชิญอยู่ และบางครั้งพวกเราบางคนก็อาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้ใหญ่เกินมือเราหรือห่างไกลตัวเราเกินไป เราจึงเชิญบุคคลจากทุกสาขาอาชีพในชุมชนท้องถิ่นมาแบ่งปันเรื่องราวกับพวกเราว่าพวกเขาเชื่อมต่อความพยายามในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันอย่างไรบ้าง พูดคุยกับเรเน ออง นักรณรงค์เพื่อสภาพภูมิอากาศรุ่นเยาว์จากฮ่องกงมาเล่าถึงปฏิบัติการที่เธอปราศัยเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง

เรเน เยาวชนนักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฮ่องกง © Greenpeace

“ฉันชื่อเรเน นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 จากฮ่องกง เมื่อฤดูร้อนที่แล้วฉันหันมารับประทานพืชผักเป็นหลักเพื่อช่วยชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังทวีความรุนแรงจนเกินจะแก้ไขหรือไม่? แต่เราช่วยชะลอมันได้โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของพวกเราเอง

เรเนรับรู้ถึงปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศมาสักพักแล้วแต่ก็ไม่ได้ใส่ใจนัก จนกระทั่งพี่สาวของเธอเดินทางกลับมาจากอังกฤษเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา เธอเล่าให้ครอบครัวฟังถึงระบบรีไซเคิลในอังกฤษและชักชวนให้คนในครอบครัวมาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยกัน 

หลังจากได้รับแรงบันดาลใจจากพี่สาวของเธอ เรเนและครอบครัวของเธอเริ่มหาแหล่งรีไซเคิลในฮ่องกง รวมทั้งทำความสะอาดพลาสติกและขวดแก้วก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเสมอ เมล็ดพันธุ์แห่งการปกป้องสิ่งแวดล้อมได้งอกงามขึ้นมาในตัวเธอ “ฉันหวังว่าเราจะเริ่มลดรอยเท้าคาร์บอนและปริมาณขยะที่จะถูกนำไปฝังกลบ”

เรเนแชร์ประสบการณ์การจัดการขยะภายในบ้านกับครอบครัว © Greenpeace

ไฟป่าออสเตรเลีย – พวกเราช่วยได้

เรเนชี้ว่าไฟป่าออสเตรเลียเป็นตัวอย่างให้เราเข้าใจถึงผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไฟป่าตามฤดูกาลธรรมชาติได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศและแผ่ขยายจนเกินควบคุมด้วยเพราะอากาศแห้งแล้งและคลื่นความร้อนอย่างเป็นประวัติการณ์ เธอเศร้าใจที่ผู้คนมากมายสูญเสียบ้านพักอาศัยและสัตว์ป่าสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

เรเนกังวลว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นที่ไหนในโลกอีกก็ได้ “หากพวกเรายังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบสิ้นเปลืองและไม่เริ่มลงมืออย่างมีสติ หายนะเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นกับพวกเราในวันใดวันหนึ่ง” เรเนเคยรู้สึกว่าฮ่องกงเป็นสถานที่ปลอดภัยเพราะในช่วงชีวิตวัยเด็กที่ไม่มีภัยธรรมชาติมากเท่านี้ และเธอยังตระหนักว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศก็กำลังเกิดขึ้นกับฮ่องกงด้วย “อุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น ถ้ามนุษย์เรายังคงดำเนินชีวิตกันแบบเดิมต่อไป ภาวะโลกร้อนก็จะแย่ลงไปอีก พวกเราควรลงมือเปลี่ยนแปลงตอนนี้เลย”

อาสาสมัครนักดับเพลิงกำลังเทน้ำให้กับพอสซัม ขณะที่กำลังดับไฟป่าในแถบเขาสโนวี่ (Snowy Moutains) ออสเตรเลีย © Kiran Ridley / Greenpeace

มาช่วยกันเปลี่ยนแปลง!

เรเน ย้ำว่าเหตการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทั้งหลายส่งผลกระทบต่อเรามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่นไฟป่าออสเตรเลียและไต้ฝุ่นมังคุด เพราะฉะนั้นพวกเราต้องลงมือกันเดี๋ยวนี้เลย “มันช่างน่าท้อใจที่เห็นหมีโคอาล่าถูกไฟคลอก เพื่อน ๆ บางคนเพียงแค่แสดงความคิดเห็นว่า ‘หายนะชัด ๆ’ ในสื่อสังคมออนไลน์แต่ก็ไม่ลงมือทำอะไรเลย ในขณะที่ยังเป็นแค่นักเรียน เพื่อน ๆ และตัวฉันอาจไม่สามารถบริจาคเงินได้ แต่พวกเราสามาถเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันได้”

“พวกเราสามารถสั่งอาหารกลับบ้านให้น้อยลง(ลองเปลี่ยนมาทำอาหารเองที่บ้าน หรือลองปลูกผัก) ใช้หลอดพลาสติกให้น้อยลง ลดการบริโภคเนื้อสัตว์แล้วทานพืชผักมากขึ้น เริ่มการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเองแล้วแบ่งปันความคิดเหล่านี้ออกไป พวกเราก็จะส่งอิทธิพลให้ผู้คนรอบตัวเรามากขึ้น แล้วผู้คนมากขึ้นก็จะรับรู้ถึงผลกระทบในทางบวกและลงมือต่อๆกันไป

ภาพเหตุการณ์หลังซูเปอร์ไต้ฝุ่น “มังคุด” พัดเข้าถล่มฮ่องกงเมื่อปี 2561 © Greenpeace

กินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง หรือไม่ก็มาเป็นมังสวิรัติกัน!

หลังจากได้รับรู้ถึงผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เรเนตัดสินใจเป็นมังสวิรัติตั้งแต่ปี 2562 เพื่อช่วยจัดการกับสภาวะฉุกเฉินของภูมิอากาศ

การกินเนื้อสัตว์เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร? คำตอบก็คือ ปัจจุบันมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ไปทั่วทั้งโลก การปศุสัตว์ในระดับอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการแผ้วถางป่าเพราะต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และการเสียสมดุลทางนิเวศวิทยา

ของเสียจากปศุสัตว์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปศุสัตว์วัวนั้นปล่อยมีเธนและก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณมากและเร่งให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น หลาย ๆ คนอาจยังไม่รู้ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียวก็นับเป็นสัดส่วนถึง 14.5% ของคาร์บอนไดออกไซด์ในโลกนี้ มากกว่าปริมาณที่ปล่อยมาจากรถยนต์ เรือ รถไฟและเครื่องบินรวมกันเสียอีก การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ของพวกเราจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้

World Meat Free Day Event in Phuket. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
อาหารจานผักที่ออกแบบโดยนักเรียนจากโรงเรียนในภูเก็ตและพังงา เพื่อให้เด็กๆเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้จากการกินอาหารที่ทำจากพืชผักเป็นหลัก © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

เหล่าผู้นำนานาชาติควรลงมือจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ!

“ฉันหงุดหงิดที่เห็นเหล่าผู้นำนานาชาติไม่ร่วมกันต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศเมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากเกรียตา ทุนแบร์ย ฉันตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลง รวมถึงหันมารับประทานมังสวิรัติ เข้าร่วมในการประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ มุ่งให้ผู้คนหันมาสนใจวิกฤตภูมิอากาศมากขึ้น”

เรเนผิดหวังที่ผู้นำนานาชาติไม่มีแผนการที่เป็นรูปธรรมในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “พวกเราส่งเสียงแสดงความกังวลและข้อเรียกร้องออกมาแล้ว เหล่าผู้นำนานาชาติถืออำนาจในการตัดสินใจ พวกเขาจึงได้รับการคาดหวังให้ลงมือปกป้องโลก นโนบายลดการปล่อยคาร์บอนควรถูกกำหนดเป็นเป้าหมายให้ทุกคนปฏิบัติตาม ลงมือกระทำ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้น”

เรเนและเพื่อนร่วมรณรงค์ในกิจกรรม Friday For Future หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Climate Strike ร่วมกับเยาวชนทั่วโลกที่อยากจะปกป้องสภาพภูมิอากาศ © Greenpeace

ในฐานะของนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่ง ฉันอาจมีอิทธิพลชักจูงในวงจำกัด ตรงข้ามกันกับการไม่ลงมือกระทำของเหล่าผู้นำนานาชาติ ฉันตัดสินใจเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวฉันเองและชักจูงให้ผู้คนรอบตัวบรรเทาภาวะวิกฤตของภูมิอากาศ


ร่วมแลกเปลี่ยน พูดคุยถึงการกินอาหารเพื่อสุขภาพเราและสุขภาพโลก ได้ที่ Facebook Group : เมนูอาหารจานผักเพื่อเราและเพื่อโลก

ผู้แปล : ศิริวรรณ ชีวธนากรณ์กุล อาสาสมัคร กรีนพีซ

อ่านบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่

Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม