การระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด19 นอกจากจะส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของเราแล้ว ยังทำให้เรารู้จักกับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่างไวรัสมากขึ้น หลายคนถึงกับเกลียดและกลัวเชื้อโรคไป ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร อาจจะค้านกับความรู้สึกของเรา แต่หากจะบอกว่าโลกใบนี้จะน่าอยู่ขึ้น หากไม่มีไวรัสและจุลชีพใดอยู่เลยจริงหรือไม่ .. ต้องขอตอบว่า ไม่จริง และหากคุณได้รู้จักกับจุลชีพต่าง ๆ มากขึ้นอีกนิด คุณจะอาจจะเปลี่ยนมุมมองว่า ไม่ใช่จุลชีพที่ร้ายไปเสียหมด แต่การเปลี่ยนแปลงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศต่างหาก คือตัวการกระตุ้นให้เกิดโรคระบาด

ข้อมูลมากมายจากนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ระบุชัดว่า โรคระบาดครั้งใหญ่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่น เอดส์ อีโบล่า หวัดนก และชาร์ส ไม่ได้จู่ ๆ ก็เกิดขึ้นตามช่วงเวลา แต่เป็นผลจากการกระทำและกิจกรรมของมนุษย์ต่อระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อม หากเราไม่เริ่มทำความเข้าใจระบบนิเวศ และหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตั้งแต่วันนี้ อาจส่งผลให้เกิดโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่ดังที่กรณีของไวรัส โควิด-19 

Coronavirus (COVID-19) Shutdown in Prague. © Petr Zewlakk Vrabec / Greenpeace
บรรยากาศในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 © Petr Zewlakk Vrabec / Greenpeace

สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ลมหายใจของโลก

โรคภัยต่าง ๆ ถือเป็นภัยคุกคามหนึ่งอันเป็นผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ว่า ร้อยละ 60 ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่ได้รับรายงานทั่วโลกนั้น เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยที่ในจำนวนจุลชีพก่อโรคจำนวน 30 เชื้อที่เกิดขึ้นในสามทศวรรษล่าสุดนั้น มีมากถึงร้อยละ 75 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากจุลชีพที่อยู่อาศัยในตัวสัตว์ และภายหลังติดต่อมาสู่คน

โรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คนเหล่านี้ข้อมูลจากปี 2555 เผยว่า ได้คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วกว่า 2.2 ล้านคนต่อปี จากเชื้อจุลชีพร้ายเพียง 13 ชนิด (Reuters, 2012) แต่เชื่อหรือไม่ว่าเชื้อจุลชีพนั้นไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด แต่ประชากรหลากหลายสายพันธุ์ของจุลชีพประเภทต่าง ๆ อย่างไวรัสและแบคทีเรีย (ยังมีจุลชีพอื่นอีกแต่ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะแบคทีเรียและไวรัส) มีบทบาทสำคัญคือสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ และดำรงอยู่ได้ภายใต้ความสมดุลของระบบนิเวศเช่นกัน 

จุลชีพนั้นมีชีวิตอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลก แม้แต่ในที่ที่หนาวเย็นที่สุด ร้อนที่สุด มีสภาพเป็นกรด หรือพื้นที่อย่างท้องทะเลและผืนดิน ในดินนั้นมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้อยู่อาศัยจำนวนมาก กล่าวได้ว่า ดินที่อุดมสมบูรณ์หนึ่งช้อนชา (หนึ่งกรัม) มีแบคทีเรียอาศัยอยู่ราว 1 พันล้านตัว และหลากหลายสายพันธุ์ บางชนิดมีหน้าที่เปลี่ยนไนเตรทในอากาศให้ต้นไม้นำไปใช้ได้ บ้างก็ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ บางชนิดก็มีความโรแมนติกสักหน่อย กับการสร้างกลิ่นหอมเย็นของไอดินหลังฝนตกให้สัตว์ประเภทแมลงขาปล้องต่าง ๆ มากินและผสมพันธุ์ สร้างความอุดมบูรณ์ในผืนดินเป็นวัฏจักรต่อไป

Tapajós River in the Amazon Rainforest. © Valdemir Cunha / Greenpeace
แม่น้ำ Tapajós ในป่าแอมะซอน ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ในบราซิล © Valdemir Cunha / Greenpeace

ในท้องทะเลเอง แบคทีเรียและไวรัสเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแพลงก์ตอนด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มไฟโตแพลงตอน (Phytoplankton) เป็นกลุ่มที่สังเคราะห์แสงและคาร์บอนไดออกไซด์ ผลิตเป็นออกซิเจนให้กับโลกของเราในสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของออกซิเจนทั้งหมด ต้องขอบคุณสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ในท้องทะเล แต่หากว่ากันด้วยเรื่องทะเล ไวรัสน่าจะเป็นขาใหญ่ประจำถิ่น ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายที่สุดในทะเล โดยน้ำทะเลหนึ่งลิตรนั้นมีไวรัสอยู่อาศัยราว 1 หมื่นล้านตัว (มหาสมุทรครอบคลุมพื้นผิวโลกร้อยละ 65 ต้องลองคำนวนกันเล่น ๆ ดูนะคะ) แต่ไวรัสเหล่านั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ไวรัสนั้นช่วยควบคุมประชากรแบคทีเรียในท้องทะเลไม่ให้มีมากเกินไป ตัวอย่างหนึ่งที่สร้างสีสันอันโรแมนติกให้กับผู้ที่มองเห็นก็คือปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ที่ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี อาจเป็นสีฟ้า เขียว หรือแดง แต่หากเกิดเป็นระยะเวลานานย่อมไม่ดีแน่ เนื่องจากออกซิเจนในน้ำจะหมดไป อาจกลายเป็นเดดโซน (dead zone) หรือพื้นที่ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้ ดังนั้นบทบาทสำคัญของไวรัสในจุดนี้ คือควบคุมจำนวนประชากรแบคทีเรียในท้องทะเล

Planktonic Formation in the Sargasso Sea. © Shane Gross / Greenpeace
ภาพแพลงก์ตอนที่ถ่ายได้จากการสำรวจทะเลซากัสโซ หนึ่งในโครงการสำรวจมหาสมุทรของกรีนพีซ © Shane Gross / Greenpeace

ไม่เพียงเท่านั้น การที่ไวรัสเข้าไปฝังตัวในดีเอ็นเอแบคทีเรียนั้นยังช่วยให้แบคทีเรียปรับตัวและอยู่รอดได้แม้ในสภาวะที่ยากจะดำรงชีวิต เช่น ในระดับที่มีธาตุอาหารต่ำในทะเล อุณหภูมิสูง  มีความเข้มข้นของสารเคมีสูง เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับจุลชีพยังมีจำกัด และเพิ่งเริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 ที่ผ่านมาเท่านั้น แต่เพียงความรู้ที่มีอยู่นี้เราก็เริ่มรู้ว่า แม้จะมีขนาดเล็กจิ๋ว แต่ความสำคัญของจุลชีพนั้นมหาศาล และจำเป็นต่อสมดุลของระบบนิเวศ

สายสัมพันธ์ของโรคระบาดและระบบนิเวศ

ไม่ต่างจากผืนป่าและท้องทะเล แบคทีเรียและไวรัสก็เป็นสิ่งมีชีวิตประจำถิ่น (host) ในตัวของมนุษย์หรือสายพันธุ์สัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเช่นกัน เช่นเดียวกับการที่ไวรัสอาจอาศัยอยู่ในแบคทีเรียได้ แต่จุลชีพเหล่านี้ไม่ได้มีความคิดซับซ้อนว่าจะมุ่งทำร้ายมนุษย์ หรือคร่าชีวิตใด บ้างก็อยากจะอาศัยอยู่กับโฮสต์ไปนาน ๆ จึงพยายามหลบหนีภูมิคุ้มกันและซ่อนตัวอยู่ในร่างกาย เป้าหมายที่แท้จริงของไวรัสคือการดำรงชีวิตและแพร่กระจายเผ่าพันธุ์ แต่การติดโรคของมนุษย์จากสัตว์นั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร

ตามธรรมชาติแล้ว ไวรัสนั้นอาจอยู่อาศัยในสัตว์สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะ อาจฝังอยู่ในยีน เติบโตและวิวัฒนาการมาพร้อมกับสัตว์ อาจทำให้สัตว์ตัวใดตัวหนึ่งป่วย หรือไม่ป่วยได้ตามภูมิคุ้มกันที่สัตว์ตัวนั้นมี ดังเช่น กรณีของค้างคาวที่มีไวรัสอย่างอีโบลา และโคโรนา อาศัยอยู่นั้น แนวโน้มที่จะส่งต่อไวรัสไปยังสัตว์ชนิดอื่นมีน้อยมาก เนื่องจากตามสัญชาติญาณแล้ว ค้างคาวไม่ได้เข้าใกล้หรืออยู่รวมกลุ่มกับสัตว์ชนิดอื่น แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะตรวจพบโคโรนาไวรัสมากถึง 3,200 สายพันธุ์ในค้างคาว แต่โดยปกติแล้วไม่มีอันตรายอย่างไรต่อมนุษย์ ที่ผ่านมามีสองสายพันธุ์เท่านั้นที่ก่อโรคร้ายแรงอย่างซาร์ส และโควิด-19  (Watts, 2020) แต่การถูกรบกวนถิ่นที่อยู่โดยมนุษย์ หรือนำมาใช้ประโยชน์โดยวิธีต่าง ๆ ของมนุษย์ ทำให้มีโอกาสง่ายขึ้นที่ไวรัสจะต้องการเอาชีวิตรอด และหาเป้าหมายใหม่ในการแพร่พันธุ์ ซึ่งในที่นี้เป้าหมายอาจจะเป็นมนุษย์ซึ่งอยู่ใกล้ชิดที่สุด

Bat on Um Island in West Papua. © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace
ภาพค้างคาวสายพันธุ์ท้องถิ่นบินเหนือเกาะ Um ในโซโรง ปาปัวตะวันตก (West Papua) © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

หากไม่รวม Covid-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ลองย้อนดูความเชื่อมโยงของโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำในช่วงตั้งแต่ปี 2000 (พ.ศ.2543) เป็นต้นมา ว่าเชื่อมโยงกับระบบนิเวศที่ถูกทำลายอย่างไรบ้าง

HIVs (เอดส์) : โรคติดต่อจากไวรัสนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ย้อนกลับไปถึงที่มาดั้งเดิมว่ามาจากลิงสายพันธ์ุชิมแปนซีในคาเมรูน ซึ่งพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสชนิดใกล้เคียงกัน (ชื่อว่าไวรัส SIVs) ออกลักษณะอาการของโรคคล้ายเอดส์ ในช่วงนั้นสัตว์ชนิดนี้ถูกล่าเพื่อเอาเนื้อ และเป็นไปได้ว่าการติดเชื้อนั้นอาจเกิดจากการปนเปื้อนของเลือดในขั้นตอนการฆ่าและชำแหละ 

SARS-CoV 2003 : นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบหาต้นตอของที่มาโคโรนาไวรัสสายพันธุ์นี้ ซึ่งผลพบว่า เจอไวไรโคโรนาสายพันธุ์ใกล้เคียงกันในสัตว์ที่ถูกนำมาขายในตลาดสัตว์ที่มณฑลกวางตุ้ง โดยพบลักษณะเชื้อที่ตรงกันถึงร้อยละ 98.8% ในอีเห็นเครือ  (Y. Guan, 2003) แต่ภายหลังทราบที่มาที่แท้จริงว่าสัตว์ที่เป็นที่อยู่ของเชื้อไวรัสนี้มาจากค้างคาว ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า การที่นำสัตว์ต่างสายพันธุ์มารวมกันอย่างแออัดในตลาดค้าเนื้อสดนั้น ทำให้การติดเชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์เกิดขึ้น และเป็นชนวนทำให้แพร่ระบาด

อีกหนึ่งตัวอย่างของการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับค้างคาวเช่นกัน คือเหตุการณ์โรคระบาดในหมูที่มาเลเซียเมื่อปี 1997 (พ.ศ. 2540) และทำให้เกษตรกรติดเชื้อไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) โชคดีที่เชื้อนี้ไม่ได้ติดต่อระหว่างมนุษย์ได้โดยตรง ท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการฆ่าหมูไปทั้งสิ้นกว่าล้านตัวในปี 2542เกือบเป็นจุดจบของอุตสาหกรรมเนื้อหมู ไวรัสนี้ถูกตั้งชื่อว่า Nipah ตามหมู่บ้านที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น 

Bat in Leard State Forest in Australia. © Abram Powell / Greenpeace
การสำรวจประชากรค้างคาวในป่า Leard State ในออสเตรเลีย © Abram Powell / Greenpeace

เกี่ยวกับค้างคาวอย่างไร? นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบย้อนกลับไปหาสาเหตุของไวรัสเช่นกัน และพบว่าเกี่ยวข้องกับฝูงค้างคาวที่ถูกทำให้ไร้บ้านอันเป็นผลมาจากการทำลายป่าในท้องถิ่น โดยเมื่อไม่มีป่า ค้างคาวจึงย้ายมาอาศัยที่ต้นไม้ใกล้กับฟาร์มหมู และไวรัสนั้นแพร่สู่หมูผ่านทางมูลค้างคาว จากนั้นจึงส่งเชื้อต่อจากหมูยังเกษตรกรและแรงงาน ซึ่งเดิมทีนั้นความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งสัตว์ใหญ่และจุลชีพหลายสายพันธุ์เป็นสิ่งที่ช่วยรักษาสมดุล ไม่ได้ทำให้ไวรัสจากมูลค้างคาวสามารถแพร่กระจาย

อีโบลา 2014 : แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่การคาดเดาจากหลายงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์พบว่าสถานการณ์ต้นเหตุของอีโบลานั้นเชื่อมโยงกับการทำลายป่าของแอฟริกาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องก่อนหน้าการระบาดของโรคสองปี (Olivero et al, 2017) โดยการทำลายป่านี้ทำให้ฝูงค้างคาวต้องย้ายถิ่นฐานขยับเข้าใกล้เมืองที่มนุษย์อยู่มากขึ้น บ้างก็สันนิษฐานว่ามาจากกอริล่า ซึ่งการทำลายป่านั้นดำเนินการเพื่อค้าไม้ รวมถึงกระบวนการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่มีการเผา จนกระทั่งเมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557) นั้นเหลือพื้นที่ป่าเพียงร้อยละ 4 (Plumer, 2014)  

Zika 2016 : ยุงลาย เป็นพาหะสำคัญของไวรัสซิก้า ซึ่งเป็นพาหะนำโรคชนิดเดียวกับไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่และไข้เลือดออกชิคุนกุนย่า โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าของแอมะซอนอีกเช่นกัน “การทำลายป่าเพื่อเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์และเกษตรเชิงอุตสาหกรรมนั้นเป็นปัจจัยหลักในการก่อโรคระบาดในภูมิภาคแอมะซอน โดยการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเกินขึ้นกินอาณาบริเวณกว้างและเชื่อมโยงกับสาเหตุการก่อโรคติดต่อโดยตรง เช่น การสูญเสียพื้นที่ป่า และการคุกคามของมนุษย์ในพื้นที่ป่า ซึ่งปัญหาเรื่องสาธารณสุขและสุขอนามัยนั้นยิ่งทำให้ปัญหานี้เลวร้ายขึ้น” (An. Acad. et al., 2020)

ยุงเป็นพาหะส่งต่อเชื้อไวรัสจากลิงแสมไปยังมนุษย์ผู้ที่เข้าไปใกล้ชิดในบริเวณป่า ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่า ล่าสัตว์ หรือการเลี้ยงปศุสัตว์ และวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และการขยายตัวของเมืองและความแออัดของที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยิ่งเป็นปัจจัยทำให้แมลงรำคาญอย่างยุงเพิ่มจำนวนได้ง่ายเพียงแค่มีน้ำขัง 

หวัดนก: โรคหวัดนกเป็นโรคระบาดที่อุบัติซ้ำหลายครั้ง แทบจะพบเห็นได้ทุกปีในระยะหลัง  แม้ว่าจะไม่ระบาดระหว่างมนุษย์เท่าใดนัก (มีผู้เสียชีวิตจากหวัดนกกว่า 300 ราย ในปี 2556) แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคระบาดที่ส่งผลมาถึงมนุษย์นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ของสัตว์ การทำลายป่า และวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลต่อเส้นทางการบินอพยพของนกหรือเป็ดป่าที่มีเชื้อไวรัสอาศัยอยู่ในตัว ขยับเข้าใกล้กับมนุษย์หรือใกล้กับฟาร์มปศุสัตว์ โดยการทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดอุตสาหกรรมนั้นมีการเลี้ยงสัตว์ปีกรวมกันจำนวนมาก ส่งผลต่อความเครียดและสุขภาพของสัตว์ ทำให้ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติถดถอย ผลเสียที่ตามมาคือการฆ่าสัตว์ปีกในฟาร์มจำนวนมหาศาล ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้ที่ใกล้ชิดกับบริเวณฟาร์ม

โรคระบาดและแหล่งที่มาดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่เห็นการเชื่อมโยงของการทำลายป่าอันเป็นบ้านของสัตว์ การล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร การขยายตัวของเกษตรและปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม และการคุกคามของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราหยิบกันมาพูดและสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 

GAR Palm Oil Plantation in Central Kalimantan. © Kemal Jufri / Greenpeace
ภาพมุมสูงการทำลายป่าเพื่อนำพื้นที่ไปทำสวนปาล์มของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในรัฐกาลิมันตันกลาง © Kemal Jufri / Greenpeace

รายงานล่าสุดจากคณะวิจัยนำโดย Christine Kreuder Johnson จากสถาบัน One Health Institute มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เผยว่า ตั้งแต่ปี 1940 (พ.ศ. 2483) เป็นต้นมาโรคระบาดที่มาจากสัตว์สู่คนนั้นมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า เกษตรกรรม หรือการล่าสัตว์ โดยอาจมีไวรัสในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 1 หมื่นสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ (Johnson et al., 2020) 

แม้ว่าข้อมูลความเชื่อมโยงจะออกมาเช่นนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าป่าและสัตว์ป่าคือภัยคุกคามและเป็นแหล่งเชื้อโรคที่เราจะต้องกำจัดออกไป แต่ในทางกลับกัน จุลชีพและระบบนิเวศที่สมบูรณ์คือสิ่งที่รักษาความสมดุลของสรรพสิ่งบนโลก ควบคุมปริมาณของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อย่างสมดุล แต่กิจกรรมของมนุษย์ที่คุกคามป่าและสัตว์ป่าจนเกิดความสามารถในการฟื้นฟูของระบบนิเวศคือตัวแปรของโรคระบาด ภัยจากโรคระบาดจากการสูญเสียระบบนิเวศจึงเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยถูกนำมาคิดอย่างจริงจัง และน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นหลังจากนี้ 

แนวคิด One Health สุขภาพหนึ่งเดียว ทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม จึงควรถูกนำมาปรับใช้ในการติดตามเฝ้าระวังควบคุมโรคภัย รวมถึงเพื่อรักษาและคำนึงถึงสายสัมพันธ์ของสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งเดียว 

ธรรมชาติที่สมบูรณ์ คือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดของโลกต่อโรคระบาด เพื่อเลี่ยงและป้องกันเราและโลกจากการระบาดครั้งต่อไป

___________________________

ข้อมูลอ้างอิง

1. World Health Organisation, Zoonotic disease: emerging public health threats in the Region.  http://www.emro.who.int/about-who/rc61/zoonotic-diseases.html

2. K. Kelland, ‘Diseases from animals hit over two billion people a year’, Reuter, 5 July 2012.https://www.reuters.com/article/us-disease-animal-human/diseases-from-animals-hit-over-two-billion-people-a-year-idUSBRE8640D820120705

3. D.H. Crawford, Viruses: A Very Short Introduction (Oxford University Press, 2018)

4. F. Ryan, Virusphere. From Common Colds to Ebola Epidemics: Why We need the Viruses that Plague Us (William Collins, 2019)

5. United States Environmental Protection Agency, The Effects: Dead Zones and Harmful Algal Blooms. https://www.epa.gov/nutrientpollution/effects-dead-zones-and-harmful-algal-blooms

6. BBC Thai, แบคทีเรียใช้ความหอมของไอดินกลิ่นฝน หลอกล่อสัตว์ในดินให้มาช่วยแพร่พันธุ์, 17 เมษายน 2020. https://www.bbc.com/thai/features-52309596?fbclid=IwAR1kFZRl8YrEpA1ShaUe-MNzgjfbuuRBbcvDb0bGdkJIDk3Te2umUeOttnI

7. American Society of Agronomy, Probiotics—for plants: Helpful bacteria promote growth, less fertilizer on crops, Phys.org, 8 July 2015. https://phys.org/news/2015-07-probioticsfor-bacteria-growth-fertilizer-crops.html

8. J.Watts, ‘Promiscuous treatment of nature’ will lead to more pandemics – scientists, The Guardian, 7 May 2020. https://www.theguardian.com/environment/2020/may/07/promiscuous-treatment-of-nature-will-lead-to-more-pandemics-scientists

9. J. Berg, Animals in Chinese markets carried SARS-like virus, Center for Infectious Disease Research and Policy, University of Minnesota, 09 September 2003. https://www.cidrap.umn.edu/news-perspective/2003/09/animals-chinese-markets-carried-sars-virus

10. B Plumer, How deforestation is helping to spread Ebola, Vox, 13 July 2014. https://www.vox.com/2014/7/31/5956885/ebola-outbreak-virus-deforestation

11. J. Olivero, J. E. Fa, R. Real, el al., ‘Recent loss of closed forests is associated with Ebola virus disease outbreaks’, Scientific Report 7, 14291 (2017). https://doi.org/10.1038/s41598-017-14727-9

12. An. Acad. Bras. Ciênc,‘Beyond diversity loss and climate change: Impacts of Amazon deforestation on infectious diseases and public health’ vol.92 no.1, Epub,17  Apr 2020. https://doi.org/10.1590/0001-3765202020191375

13. C. Mooney, The hidden environmental factors behind the spread of Zika and other devastating diseases, The Washington Post, 3 February 2020. https://www.washingtonpost.com/news/energy-environment/wp/2016/02/03/the-hidden-environmental-factors-behind-the-spread-of-zika-and-other-deadly-diseases/

14. C. K. Johnson, P. L. Hitchens, P. S. Pandit, et al., ‘Global shifts in mammalian population trends reveal key predictors of virus spillover risk’, Proc. R. Soc. B.28720192736. http://doi.org/10.1098/rspb.2019.2736

15. R., Kessler, ‘What Exactly Is Deforestation Doing to Our Planet?’, EcoHealth Alliance, 2017, https://www. ecohealthalliance.org/2017/11/deforestation-impact-planet.