เมื่อโลกทั้งโลกสั่นสะเทือนจากโรคระบาดขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับคนนับล้านอย่าง Covid-19 เราทุกคนต่างกังวลกับสุขภาพของตนเอง คนที่เรารัก รวมถึงคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม ในเพียงเวลาไม่กี่สัปดาห์ Covid-19 กลายเป็นวาระเร่งด่วนมากที่สุด มากกว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือภัยคุกคามจากการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ หายนะภัยที่ครอบงำความสนใจของคนทั้งโลกก่อนหน้านี้ เช่น ไฟป่ามหากาฬในออสเตรเลีย หรือของสังคมไทยกรณีไฟป่าอนุรักษ์ เป็นต้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่จริงจังน้อยกว่าการระบาดของ Covid-19 ที่เรามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

ไฟป่าในเมืองนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย (13 มกราคม 2563)

เช่นเดียวกับโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้น ทั้งโรคเอดส์ อีโบลา โรคซาร์ส เป็นต้น แม้ว่าจะ ไม่มีหลักฐานถึงความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างการอุบัติของโคโรนาไวรัสกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพที่เราเผชิญอยู่ แต่ในวาระที่วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity: IDB) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เวียนมาบรรจบในปี 2563 นี้ คำถามที่สำคัญคือ วิกฤตโรคระบาดบอกถึงสถานภาพของความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและของประเทศไทยอย่างไร

ความหลากหลายทางชีวภาพ : ลึกซึ้งและกว้างขวาง

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศ “วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CDB) เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2535 โดยมุ่งหมายอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม

ความหลากหลายทางชีวภาพ (biological diversity หรือ biodiversity) มีความหมายกว้างและลึกซึ้งมากกว่าคําว่าสิ่งมีชีวิต(life) โดยสรุปหมายถึง คุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายตั้งแต่ระดับพันธุกรรมหรือยีน (gene) ระดับชนิดหรือสปีชีส์ (species) จนถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเชิงนิเวศวิทยา (ecological community) ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นผลจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการ (evolutionary changes) ตามกาลเวลาและตามสภาวะสมดุลธรรมชาติในถิ่นอาศัย (habitat) ที่หลากหลายรูปแบบ

ที่มา : ยุทธศาสตร์งานวิจัย การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ(พ.ศ.2555-2559)

ผลลัพธ์จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี พ.ศ. 2555 (Rio+20) ท่ีประชุมเน้นถึงความสําคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศในฐานะเป็นรากฐานของการพัฒนาท่ียั่งยืนและความกินดีอยู่ดีของมนุษย์

ในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าเราจะมีแผนแม่บทบูรณาการ เป้าหมายระดับชาติ แผนปฏิบัติการจัดการ รวมถึง พันธกรณีท่ีเก่ียวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพที่ต้องดำเนินการ เตรียมการและอยู่ระหว่างการเจรจา ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าท่ีใกล้สูญพันธ์ุ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES) อนุสัญญาว่าด้วยพื้นท่ีชุ่มน้ํา(Ramsar Convention on Wetlands) การสร้างกลไกในการกํากับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมตามพิธีสารคาร์ตาเฮนา ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture: ITPGR) อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าท่ีอพยพย้ายถิ่น(Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals: CMS) พิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม(the Nagoya Protocol on Access to Genetic Resources and the Fair and Equitable Sharing of Benefits Arising from their Utilization to the Convention on Biological Diversity) การดําเนินการในการกําหนดกลไกและกรอบกฎหมายระหว่างประเทศในการคุ้มครองภูมิปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรมและการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ภายใต้กรอบขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญา(WIPO) แต่หากไม่ยึดโยงกับ “ความเป็นธรรมทางสังคม” แล้ว “ความหลากหลายทางชีวภาพ”ของไทยก็จะอยู่ในสถานะที่วิกฤตขึ้นไปอีก

หากสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตสูญสิ้นนับล้านในทศวรรษหน้า ความมั่นคงของมนุษย์ย่อมสั่นคลอน

รายงานการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก(The global assessment report on biodiversity and ecosystem services) โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจระหว่างรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services) หรือ IPBES ในปี พ.ศ.2562 บ่งชี้ถึงวิกฤตความหลากหลายชีวภาพอย่างชัดเจน รายงานระบุว่า สิ่งมีชีวิตกว่า 1 ล้านสายพันธุ์อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่และร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยที่มนุษย์เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก

ในบทความล่าสุดของ IPBES ทีมผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้เขียนรับเชิญระบุในตอนต้นว่า “มีสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่รับผิดชอบต่อการระบาดของ COVID-19 นั่นก็คือมนุษย์เรา” เฉกเช่นวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ โรคระบาดทั่วโลกครั้งล่าสุดนี้เป็นผลพวงโดยตรงจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจและการเงินในระดับโลกที่ตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์การแสวงกำไรและผลประโยชน์โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรามีโอกาสอยู่น้อยนิดที่จะผ่านวิกฤตทั้งหลายเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตที่จะตามมาในอนาคต

โรค COVID-19 ที่เกิดจากจุลชีพที่ส่งผลให้ร่างกายเราติดเชื้อ เจ็บป่วยและเสียชีวิต มากกว่า 70% ของเชื้อโรคอุบัติใหม่ที่ส่งผลต่อมนุษย์มาจากสัตว์ป่าและสัตว์ที่มนุษย์นำมาเลี้ยง แต่การติดต่อและระบาดของเชื้อโรคเกิดจากการสัมผัสหรือการกินสัตว์ที่ติดเชื้อ และการระบาดระหว่างมนุษย์เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด

การทำลายป่าไม้ที่ดำเนินไปอย่างล้างผลาญจากเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ การขยายตัวของเกษตรเชิงเดี่ยวที่ไร้การควบคุม การทำเหมืองแร่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการแสวงประโยชน์จากพรรณพืชและสัตว์ป่าในธรรมชาติคือเงื่อนไขที่สมบูรณ์แบบอย่างยิ่งในการที่เชื้อโรคจากสัตว์ป่าในธรรมชาติแพร่เข้าสู่มนุษย์

กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบอย่างมากต่อ 3 ใน 4 ส่วนของภาคพื้นดินของโลก ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำของโลกไปมากกว่า 85%  เราใช้ที่ดินในโลกมากกว่า 1 ใน 3 และน้ำจืดที่มีอยู่ในโลก 75% เพื่อการเพาะปลูกพืชและอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

เราทุกคนต่างประสบและเป็นประจักษ์พยานต่อการแพร่ระบาด Covid-19 ไปทั่วโลก และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ถึงแม้ว่าโรคที่แพร่จากสัตว์สู่มนุษย์จะทำให้เกิดการเสียชีวิต 700,000 คนต่อปี โอกาสที่จะเป็นการระบาดของโรคครั้งใหญ่ในอนาคตนั้นมีสูงยิ่ง นักวิจัยเชื่อว่ามีเชื้อไวรัสที่ไม่อาจระบุได้มากถึง 1.7 ล้านชนิดที่มนุษย์สามารถติดเชื้อได้ปรากฎอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกน้ำ ไวรัสเหล่านี้สามารถกลายเป็น “Disease X” ปฐมบทของโรคระบาดครั้งต่อไปซึ่งจะพลิกโลกและร้ายแรงถึงชีวิตมากกว่า COVID-19

หากเราไม่ใส่ใจต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่เราเลือกในปัจจุบัน โรคระบาดครั้งใหญ่ในอนาคตจะเกิดถี่ขึ้น แพร่ระบาดได้รวดเร็วมากขึ้น สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักขึ้น และการสูญเสียชีวิตมากขึ้น

หัวใจสำคัญของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง Covid-19

ที่สำคัญที่สุด เราต้องสร้างการเปลี่ยนผ่านที่ลุ่มลึกและหนักแน่น(transformative change) ดังสารที่เตือนให้เราตระหนักในรายงานการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก “สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตอาจสูญสิ้นนับล้านในทศวรรษหน้า” : เราจำเป็นต้องจัดเรียงเชิงระบบในขั้นรากฐานทั้งปัจจัย กระบวนทัศน์ เป้าหมาย คุณค่าในทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี การเสริมสร้างความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วน ดังข้อเสนอต่อไปนี้

  • การฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเน้นสร้างแรงจูงใจต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเคารพธรรมชาติ การเห็นแก่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในระยะสั้นที่นำไปสู่การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว อุตสาหกรรมขุดเจาะ และอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล โดยไม่พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานอย่างเร่งด่วน แท้ที่จริงแล้วคือเส้นทางไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
  • แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว(One Health) ต้องรวมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจตั้งแต่ระดับโลก ประเทศ เมืองและท้องถิ่น โดยตระหนักถึงข่ายใยสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ พืชและสิ่งแวดล้อม แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้นจากการพิจารณาต้นทุนผลกระทบของกิจกรรมการพัฒนาในระยะยาว เพื่อมนุษย์และธรรมชาติ
  • ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรของระบบสาธารณสุขและสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มคนที่อยู่แนวหน้าความเสี่ยงจากโรคระบาด การขับเคลื่อนในระดับโลกเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคอุบัติใหม่ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล การตรวจตราเฝ้าระวังร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ การสำรวจความเสี่ยงเชิงพฤติกรรม การดำเนินงานดังกล่าวนี้ยังเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นไปได้สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงและถือเป็นการปกป้องสุขภาพของกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดในสังคม และนี่ไม่ใช่เพียงการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างพื้นๆ หากคือการลงทุนที่สำคัญยิ่งของการลงทุนทั้งหลายเพื่อป้องกันโรคระบาดครั้งใหญ่ในอนาคต

การลงมือทำตามข้อเสนอข้างต้นอาจดูเหมือนมีต้นทุนสูงและท้าทาย แต่จริงๆ แล้วน้อยนิดเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้วจาก Covid-19

การรับมือและฟื้นฟูจากวิกฤต COVID-19 เรียกร้องให้เราทุกคนออกมาท้าทายผลประโยชน์ทับซ้อนที่ขัดขวางการเปลี่ยนผ่านที่ลุ่มลึกและหนักแน่น เราจะต้องยุติ “สิ่งที่ดำเนินไปตามปกติ” เราต้องฟื้นคืนจากวิกฤตโดยเข้มแข็งขึ้นและดีขึ้นมากกว่าที่เคยเป็นมา

นั่นหมายถึงสิ่งที่เราเลือกทั้งนโยบายและปฏิบัติการต่างๆ เป็นไปเพื่อปกป้องธรรมชาติ และในท้ายที่สุด ธรรมชาติจะปกป้องเรา

คุณรู้หรือไม่ว่า

  • เมื่อเปรียบเทียบจํานวนชนิดพันธ์ุต่อหน่วยพื้นที่ เอกวาดอร์เป็นประเทศที่มีจํานวนชนิดพันธ์ุต่อพื้นที่สูงสุด โดยในพื้นที่ 100,000 ตารางกิโลเมตร พบพืชและสัตว์จํานวน 8,703 ชนิด รองลงมาได้แก่ ไทยและอินโดนีเซีย พบจํานวน 2,655 ชนิดและ 1,930 ชนิด ตามลําดับ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีจํานวนสิ่งมีชีวิตต่อพื้นที่น้อยกว่ามากโดยมีเพียง 234 ชนิดต่อพื้นที่ 100,000 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น
  • ประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตราวร้อยละ 10 ของโลก ประกอบด้วยพันธ์ุพืชประมาณ 10,000 ชนิด นก 980 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 300 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ําสะเทินบก 490 ชนิด ปลา 2,800 ชนิด และจุลินทรีย์ 150,000 ชนิด
  • ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่อยู่ระหว่างเขตหิมาลายันซึ่งมีอากาศเย็นทางเหนือกับเขต แหลมมาเลเซียทางใต้ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าร้อนชื้น (tropical Rain Forest) ประเทศไทยจึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง องค์การอาหารและการเกษตร (FAO) รายงานว่า พรรณไม้วงศ์ยาง (Dipterocapaceae) ในประเทศไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 65 ของจํานวนพรรณไม้วงศ์ยางท้ังหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น เมียนมา อินเดีย มีพรรณไม้ดังกล่าวอยู่ประมาณร้อยละ 30-40 เท่านั้น
  • บรรพบุรุษไทยและปราชญ์ชาวบ้านเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพตามวัฒนธรรม ท้องถิ่นและภูมิปัญญา มีการสั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์เป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนาน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรทั้งในรูปอาหารและยารักษาโรค ในภาคเหนือมีการนําพืช 1,647 ชนิด มาใช้ประโยชน์ เป็นพืชสมุนไพร 892 ชนิด และพืชอาหาร 984 ชนิด ภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้เปรียบเสมือนลายแทงขุมทรัพย์ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า นักวิจัยที่เข้าไปค้นหาพันธุกรรมจากพืชในป่าเขตร้อนมีโอกาสพบสารพันธุกรรมท่ีนํามาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มีเพียงร้อยละ 1 เท่าน้ัน แต่ถ้านักวิจัยได้ “ลายแทงแห่งปัญญา” จากภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว โอกาสพบสารพันธุกรรมที่นํามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มีมากกว่าร้อยละ 84
  • ใน พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้มีการสำรวจและประเมินสถานภาพการถูกคุกคามของสัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวน 2,276 ชนิด พบว่า มีสถานภาพสูญพันธุ์แล้ว 8 ชนิด ได้แก่ สมัน กูปรี กระซู่ แรด นกพงหญ้า นกช้อนหอยใหญ่ นกหัวขวานด่างหน้าผากเหลือง และปลาหวีเกศ อีกทั้งมีสถานภาพสูญพันธุ์ในธรรมชาติ 4 ชนิดส่วนชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพที่ถูกคุกคาม (Threatened species) มี 569 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 12.03 ของชนิดพันธุ์ในไทย จำแนกเป็นมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 282 ชนิด ใกล้สูญพันธุ์ 185 ชนิด และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 102 ชนิด โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคามมากที่สุดร้อยละ 35.65 ของชนิดพันธุ์ที่พบในไทย รองลงมา คือ นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ตามลำดับ
การฟื้นฟูอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมคือสิ่งที่โลกเราต้องการหลังจากวิกฤตไวรัสโควิด-19

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม