จากสถานการณ์การปิดเมืองลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์คุณภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงครั้งที่ใหญ่ที่สุดเลยทีเดียว เนื่องจากมีการรายงานถึงสภาพอากาศที่ดีขึ้น หลังอุตสาหกรรมในเมืองหลาย ๆ เมืองหยุดชะงักไปรวมทั้งการคมนาคม 

รายงานวิจัยโดย IQAir ได้เปรียบเทียบการวัดมลพิษทางอากาศในหลายประเทศที่มีคุณภาพอากาศเป็นพิษมากที่สุดในโลก โดยการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ใน 10 ประเทศทั่วโลกที่มีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุด 

เนื้อหาโดยสรุป

  • รายงานวิจัยโดย IQAir ระบุว่ามลพิษทางอากาศใน 10 เมืองทั่วโลกลดลงในช่วงที่มีมาตรการ Lockdown
  • รายงานวิเคราะห์ถึงระดับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ถูกวัดระดับจากสถานีใน 10 เมือง ข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บรวบรวมในช่วง 3 สัปดาห์ในระหว่างที่เมืองต่าง ๆ ถูกปิด และเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2562, 2561, 2560 และ 2559 ตามลำดับ
  • เมืองที่เคยถูกบันทึกไว้ว่ามีปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 สูง มีปริมาณฝุ่นละอองลดลงอย่างชัด เช่น ในกรุงเดลีมีปริมาณ PM2.5 ลดลง -60% กรุงโซลลดลง -54% และอู่ฮั่นลดลง -44%
  • ข้อมูลดาวเทียมของนาซ่าและองค์การอวกาศยุโรปชี้ชัดว่า หากเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมที่ผ่านมา ระดับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยควันของท่อไอเสียรถยนต์ รถโดยสาร และกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด
  • แม้ว่าผลของรายงานจะระบุถึงคุณภาพอากาศในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หลังจากการฟื้นตัวหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มลพิษทางอากาศกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งเช่นในจีน ที่มีรายงานว่าคุณภาพอากาศแย่ลงอีกครั้งหลังผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้นักวิจัยแสดงความกังวลว่าหลังจากเศรษฐกิจที่ซบเซาลงเนื่องจากวิกฤตไวรัส หลังจากนี้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าเดิมและอาจทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
  • หลังจากวิกฤตไวรัสครั้งนี้คือโอกาสที่จะทำให้เราทบทวนกันอีกครั้งถึงการสร้างเศรษฐกิจที่ดีบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเรา

การตรวจวัดในรายงานฉบับนี้เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง 10 เมืองในประเทศทั่วโลกนี้ได้แก่ กรุงเดลี, กรุงลอนดอน, ลอส แองเจลิส, มิลาน, มุมไบ, มหานครนิวยอร์ก, โรม, เซาท์ เปาโล, กรุงโซล และอู่ฮั่น การวิจัยครั้งนี้พบว่าฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลงในปริมาณมากในหลายเมืองทั่วโลกระหว่างที่ปิดเมือง

Pollution around the Taj Mahal in India. © Vinit Gupta / Greenpeace
บรรยากาศของทัชมาฮาลที่ถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษทางอากาศ © Vinit Gupta / Greenpeace

รายงานวิเคราะห์ถึงระดับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ถูกวัดระดับจากสถานีใน 10 เมืองดังกล่าว ข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บรวบรวมในช่วง 3 สัปดาห์ในระหว่างที่เมืองต่าง ๆ ถูกปิด จากนั้นก็ได้เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2562, 2561, 2560 และ 2559 ตามลำดับ โดยเหตุผลที่มีการเปรียบเทียบกับปีต่าง ๆ นั้นเนื่องจากการวัดคุณภาพอากาศมักมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเปรียบเทียบเช่นสภาพอากาศ ฤดูกาล เป็นต้น สำหรับระยะเวลาที่กำหนดไว้ 3 สัปดาห์สะท้อนถึงช่วงเวลาที่มาตรการการปิดเมืองในแต่ละเมืองมีเข้มข้นมากที่สุด หรือเป็นช่วงระหว่างการปิดเมืองอย่างเช่นในอู่ฮั่นที่เป็นช่วงพีคที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

ข้อสรุปของรายงานมีดังนี้

• 9 ใน 10 เมืองที่มีการสำรวจพบว่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ.2562

• เมืองที่เคยถูกบันทึกไว้ว่ามีปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 สูง มีปริมาณฝุ่นละอองลดลงอย่างชัด เช่น ในกรุงเดลีมีปริมาณ PM2.5 ลดลง -60% กรุงโซลลดลง -54% และอู่ฮั่นลดลง -44%

• ระหว่างที่เมืองอู่ฮั่นถูกปิดเป็นเวลา 10 สัปดาห์ รายงานระบว่าเมืองมีคุณภาพอากาศดีที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม เท่าที่เคยบันทึกมา

• ผลจากการปิดเมืองในช่วงที่ 1 ระดับความอันตรายของคุณภาพอากาศในกรุงเดลีที่วัดค่ารายชั่วโมงลดลงจาก 68% ในปี 2562 เป็น 17% ในปีนี้ 

•ลอส แองเจลิส มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้

ทั้งนี้ จากข้อมูลดาวเทียมของนาซ่าและองค์การอวกาศยุโรปชี้ชัดว่า หากเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมที่ผ่านมา ระดับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยควันของท่อไอเสียรถยนต์ รถโดยสาร และกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด 

Protest Sign at India Gate in New Delhi. © Saagnik Paul / Greenpeace
นักกิจกรรมของกรีนพีซ อินเดีย ถือป้ายที่มีข้อความ “Our lungs need a clean air action plan” เพื่อเรียกร้องกับภาครัฐในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในอินเดีย © Saagnik Paul / Greenpeace

แม้ว่าผลของรายงานจะระบุถึงคุณภาพอากาศในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หลังจากการฟื้นตัวหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มลพิษทางอากาศกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งเช่นในจีน ที่มีรายงานว่าคุณภาพอากาศแย่ลงอีกครั้งหลังผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งมลพิษทางอากาศกลับมามีแนวโน้มมาจากกิจกรรมของอุตสาหกรรม นักวิจัยแสดงความกังวลต่อสิ่งที่เกิดนี้เพราะหลังจากเศรษฐกิจที่ซบเซาลงเนื่องจากวิกฤตไวรัส หลังจากนี้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าเดิมและอาจทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มยกเลิกประกาศปิดเมือง ทำให้ผู้คนกลับมาสัญจรใช้รถยนต์และระบบขนส่งมวลชนกันตามปกติ Paul Monks ศาสตราจารย์ด้านมลพิษทางอากาศของ University of Leicester กล่าวว่า ในช่วงการประกาศล็อคดาวน์ไม่แปลกที่คุณภาพอากาศทั่วโลกจะดีขึ้น แต่ในเวลาต่อมาเมื่อทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำให้มลพิษทางอากาศกลับมาเข้าขั้นวิกฤตเหมือนเดิม ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเร่งแก้ไข และไม่สามารถเพิกเฉยได้

การประท้วงเรื่องมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
ประชาชนถือป้ายที่มีข้อความว่า “Need Fresh Air” เรียกร้องให้รัฐบาลลงมือจัดการกับปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยอย่างจริงจังและเร่งด่วน © Wason Wanichakorn / Greenpeace

ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควร “กลับไปสู่ความปกติเดิม” อย่างที่เคยเป็นได้อีกต่อไป เพราะความ “ปกติ” ที่เราเคยใช้ชีวิตอยู่นั้นอันตรายต่อเราและสิ่งแวดล้อม หลังจากวิกฤตไวรัสครั้งนี้คือโอกาสที่จะทำให้เราทบทวนกันอีกครั้งถึงการสร้างเศรษฐกิจที่ดีบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเรา

จะดีกว่าหรือไม่หากเราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจากรากฐานชุมชน สนับสนุนผู้คนแทนการสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นผู้ก่อมลพิษหลัก

#GreenRecovery #BetterNormal 

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม