• “เคี้ยวเขียว” ธุรกิจจัดเลี้ยงซึ่งเดิมทีก่อนเกิดภาวะโรคระบาดก็ไม่ใช้ภาชนะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่แล้ว เกิดไอเดียโมเดลธุรกิจบริการจัดส่งอาหารโดยใช้ภาชนะใช้ซ้ำ ภายใต้ชื่อ “Stay Green by Keawkeaw” พร้อมสโลแกน “เข้าถึงอาหารที่ดี โดยไม่มีขยะ” 
  • พอเราเริ่มจัดส่งอาหาร เราเริ่มประเมินดูปฏิกิริยาของลูกค้า ปรากฏว่า มีคนที่ชอบมากกว่าคนไม่ชอบมากเลย ตอนนี้เรายังไม่เจอลูกค้าที่มีข้อสงสัยกับภาชนะใช้ซ้ำเลย เราเดาว่า เพราะเขาเข้าใจประมาณหนึ่งว่า ความเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อไวรัสระหว่างพลาสติกใช้แล้วทิ้งกับพลาสติกใช้ซ้ำมีเหมือนกัน
  • ความท้าทายมีแน่นอนครับ และมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ เราเคยโดนตั้งคำถามมาเยอะมากตอนทำเกษตรอินทรีย์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราก็ให้คำตอบพวกเขาเท่าที่เราให้ได้และให้อย่างจริงใจและเต็มที่ ข้อกังวลที่ว่าคนจะติดเชื้อไวรัสจากภาชนะใช้ซ้ำ ถ้าเราจัดการตามที่แพทย์แนะนำ เราล้างภาชนะให้สะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน รักษาระยะห่างเวลาเอาสินค้าไปส่งและใส่มาส์กตลอดเวลา 
  • เราอยากตอกย้ำในสิ่งที่เราสามารถทำร่วมกันได้ เราไม่บอกว่าเราดีที่สุดนะครับ แต่เราพยายามทำให้เต็มที่เท่าที่เราทำได้ 
  • เราภูมิใจที่ได้เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนการรณรงค์ลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งและทำให้นวัตกรรมกาบหมากเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากตอนแรกที่เราซื้ออยู่ที่ชุดละ 8 บาท จนลดลงมา 5 บาท ทีนี้พอเป็นที่ต้องการมากขึ้น ก็มีกลุ่มชุมชนผลิตเยอะขึ้น จากชุมชนบ้านท่าดีหมี จ.เลย ก็ขยายไปอีก 7 ชุมชน มันก่อให้เกิดแรงบันดาลใจไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ทั้งเหนือ ใต้  และมีวัสดุอื่น ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ผู้บริโภคเองก็ตื่นตัวมากขึ้น มีการซื้อขายเครื่องจักรที่ผลิตมากขึ้น มันเริ่มจากก้าวแรกที่แพงนั่นแหละ
  • เรื่องต่าง ๆ ในชีวิตเรา มันอยู่ที่แต่ละคนให้คุณค่ากับอะไร สิ่งที่เราให้คุณค่า เราก็จะมีแรงกระตุ้นอยากทำสิ่งนั้น การที่มันลดความสะดวกสบายที่เราเคยชิน  มันเป็นเครื่องมือขัดเกลาจิตใจและลดอัตตาของเราด้วย มันมีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ “หนักที่เรา เบาที่โลก” ถ้าสิ่งนั้นมีคุณค่าพอ เราจะทำมันได้

ในภาวะไวรัสโควิดระบาด เราได้เห็นความนิยมของบริการส่งอาหารหรือ food delivery มากขึ้น จนทำให้เกิดขยะบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวหลายเท่าตัว และเมื่อบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนเศษอาหารซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการอื่น ๆ ได้ด้วยแล้ว ความเป็นไปได้ของการที่ขยะเหล่านี้จะมีจุดจบที่หลุมฝังกลบสักแห่งในประเทศไทยก็เป็นไปได้มากขึ้น 

ท่ามกลางความคึกคักของธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร เรากลับได้เห็น “เคี้ยวเขียว” ธุรกิจจัดเลี้ยงซึ่งเดิมทีก่อนเกิดภาวะโรคระบาดก็ไม่ใช้ภาชนะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่แล้ว เกิดไอเดียโมเดลธุรกิจบริการจัดส่งอาหารโดยใช้ภาชนะใช้ซ้ำ ภายใต้ชื่อ “Stay Green by Keawkeaw” พร้อมสโลแกน “เข้าถึงอาหารที่ดี โดยไม่มีขยะ” เมื่อลูกค้าสั่งอาหารแล้ว ทางร้านจะจัดส่งด้วยกล่องถนอมอาหาร มีฝาล็อค ใช้ซ้ำได้ ไม่เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ ให้แก่ผู้ที่ต้องกักตัวอยู่บ้านและต้องการสั่งอาหารมารับประทานโดยไม่สร้างขยะเพิ่ม หลังจากธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่ได้ลดน้อยลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด 

https://www.facebook.com/KeawKeaw.GreenCatering/photos/a.454138798027895/2713246968783722/?type=3&theater

ความตั้งใจของการดำเนินกิจการโดยใช้ภาชนะใช้ซ้ำและปราศจากการสร้างขยะพลาสติกเพิ่มในช่วงที่หลายคนพยายามปกป้องตัวเองโดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะใช้ซ้ำ และการพึ่งพาฟู้ดดิลิเวอรี่จนสร้างขยะจำนวนมหาศาลในขณะนี้ ถือเป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจอย่างมากทั้งในเชิงการดำเนินธุรกิจ เจตนารมณ์ ความท้าทาย เป็นต้น จนทำให้เราตัดสินใจต่อสายหาคุณธีรพจน์ เมฆเอี่ยมนภา ผู้ประกอบการเคี้ยวเขียวกรีนเคเทอริ่ง เพื่อพูดคุยและศึกษาแนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง Stay Green by Keawkeaw

ก่อร่างสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ในช่วงไวรัสโควิดระบาด

“เริ่มแรกเลยเคี้ยวเขียวเป็นธุรกิจจัดเลี้ยงจัดส่งอาหารกล่องตามงานประชุมต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่มเล็ก ๆ 30 คน ไปจนถึงกลุ่มใหญ่ประมาณ 700 คน พอไวรัสโควิดระบาด ภาครัฐไม่อนุญาตให้มีการจัดงานที่มีการรวมตัวของคนเยอะ ธุรกิจของเราจึงเรียกได้ว่า เป็น ‘ศูนย์’เลยครับ เราจึงต้องปรับตัว ในตอนแรกเราไม่รู้จะทำอะไรเหมือนกันนะ จนวันหนึ่ง คุณแม่ของน้องที่เป็นทีมงานของเราส่งอาหารของคนในชุมชนมาให้เรากิน เราเลยได้คิดว่า สิ่งที่คนต้องการในช่วงล็อคดาวน์คือ อาหาร พอคิดได้ดังนั้น เราเลยลองทำ “Stay Green by Keawkeaw 

“หลังจากนั้น เราก็ทำการบ้านเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเข้าใจไวรัสโควิดและทราบว่า ไวรัสโควิดแพ้น้ำยาล้างจานและแอลกอฮอล์ เรารู้สึกอุ่นใจขึ้นมานิดหน่อย เพราะมันมีวิธีการจัดการอยู่ แล้วเรามาคิดต่อเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน เรื่องการขนส่ง และอีกหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องครับ  

“การทำ Stay Green by Keawkeaw ในภาวะวิกฤติโรคระบาด แน่นอนว่ามันมีความท้าทายหลายอย่าง แต่เราก็ยังอยากทำ เพราะถ้ามองภาพรวม เราจะเห็นว่ามีการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมาก และมันมีความเป็นไปได้สูงว่าจะกลายเป็นขยะ เราจึงอยากเป็นธุรกิจหนึ่งที่นำเสนอทางเลือกในสภาพที่มีข้อจำกัดและแสดงจุดยืนของเราเองว่าเราอยากให้เกิดการรณรงค์เรื่องนี้เพื่อไม่ให้ในอนาคต เราต้องเผชิญกับวิกฤติขยะพลาสติก 

https://www.facebook.com/KeawKeaw.GreenCatering/photos/a.348875398554236/2670254066416346/?type=3&theater

“เมื่อโมเดลธุรกิจเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เราก็นำเสนอกับลูกค้าที่ติดตามเพจเคี้ยวเขียวและทางไลน์ ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีประมาณหนึ่งเลยครับ” 

ลูกค้าหน้าใหม่ที่น่ารักกับจุดคุ้มทุนในเชิงธุรกิจ

“ในสถานการณ์ปกติ ลูกค้าของเราจะเป็นองค์กรและภาครัฐต่าง ๆ แต่เมื่อเราทำ Stay Green ในช่วงไวรัสโควิดระบาด กลายเป็นว่าเราได้ลูกค้าหน้าใหม่ที่ทำงานอยู่ในองค์กรหรือภาครัฐที่เคยใช้บริการเรา และกดติดตามเพจเคี้ยวเขียวเอาไว้ กับกลุ่มลูกค้าที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมแล้วกดไลค์เพจเคี้ยวเขียว ลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาสั่งซื้อกับเราสัปดาห์ละประมาณ 5-10 รายเลยครับ และเราจะจัดส่งสัปดาห์ละครั้ง 

“พอเราเริ่มจัดส่งอาหาร เราเริ่มประเมินดูปฏิกิริยาของลูกค้า ปรากฏว่า มีคนที่ชอบมากกว่าคนไม่ชอบมากเลยครับ ตอนนี้เรายังไม่เจอลูกค้าที่มีข้อสงสัยกับภาชนะใช้ซ้ำเลย เราเดาว่า เพราะเขาเข้าใจประมาณหนึ่งว่า ความเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อไวรัสระหว่างพลาสติกใช้แล้วทิ้งกับพลาสติกใช้ซ้ำมีเหมือนกัน ลูกค้าที่เราเจอส่วนใหญ่จะนำภาชนะของตัวเองมาถ่ายอาหารจากภาชนะของเราไปใส่ของเขา ด้วยเหตุผลว่าเขามีภาชนะอยู่แล้วและเขาจะไม่ได้ต้องเอาภาชนะของร้านมาคืนเราในภายหลังมากกว่า

https://www.facebook.com/KeawKeaw.GreenCatering/photos/a.454138798027895/2687099081398511/?type=3&theater

“การที่ออเดอร์เข้ามาประมาณ 5-10 รายต่อสัปดาห์ ถามว่ามันน้อยไหม ก็ถือว่าน้อยนะครับ ถ้าเทียบกับบริการจัดส่งอาหารเจ้าอื่น ๆ และถามว่ามันคุ้มทุนไหม เราก็สามารถตอบได้ว่า มันไม่ขาดทุนเพราะพวกเราพยายามปรับตัวกันมาก ๆ เราเห็นข้อมูลผู้บริโภคชัดเจนมากขึ้น การทำ Stay Green ไม่ใช่สิ่งแรกที่เราลองทำ ตอนแรกเราทำข้าวกล่องก่อนและมันล้มเหลวเพราะค่าจัดส่งสูง ทีนี้ เราเอาบทเรียนตรงนั้นมาปรับกับ Stay Green บางรายการที่ส่งไปรษณีย์ได้ เราก็ส่ง บางรายการส่งเองได้เราก็ส่งเอง และคิดค่าจัดส่งถูกหน่อย ประมาณ 10-50 บาท มันจึงถึงจุดคุ้มทุนขึ้นมา 

“ในเชิงการทำกิจการ เรามองจุดแข็งของเรา เรารู้จักเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์โดยตรง เรามีอาหารที่ดี และมีเกษตรกรส่งวัตถุดิบมาให้เรา เรามีครัวทำอาหารเอง เราส่งสินค้าเอง ไม่จ้างพนักงานเพิ่ม เรียกได้ว่า เราจัดการเองตั้งแต่ขั้นตอนรับวัตถุดิบมาจากเกษตรกรจนถึงมือผู้บริโภคเลย Stay Green จึงถือได้ว่าเป็นโปรเจคทดลองและเก็บข้อมูลเพื่อดูความต้องการของผู้บริโภคครับ”

“ในการเลือกใช้ภาชนะ เราเลือกภาชนะที่มีราคาไม่แพงมากนัก เพื่อที่จะได้มีต้นทุนไม่สูงมากและราคาอาหารก็อยู่ในจุดที่ลูกค้ารับได้ โจทย์ของการทำงานรณรงค์มันใหญ่เสมอไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เราเลือกทำที่เราทำไหวและมีความสุข ที่เหลืออาจจะต้องอาศัยภาคส่วนอื่นที่พร้อมกว่าเข้ามาจัดการเหมือนกันครับ” 

ความท้าทายที่ต้องเผชิญ เมื่อหันมาใช้ภาชนะใช้ซ้ำในช่วงโรคระบาด

“ความท้าทายมีแน่นอนครับ และมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเคยเจอมาตอนทำงานเกษตรอินทรีย์ เราเคยโดนตั้งคำถามมาเยอะมากในสิ่งที่คนสงสัย เราก็ให้คำตอบพวกเขาเท่าที่เราให้ได้และให้อย่างจริงใจและเต็มที่ ข้อกังวลที่ว่าคนจะติดเชื้อไวรัสจากภาชนะใช้ซ้ำ ถ้าเราจัดการตามที่แพทย์แนะนำ เราล้างภาชนะให้สะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน รักษาระยะห่างเวลาเอาสินค้าไปส่ง ใส่มาส์กตลอดเวลา ซึ่งแม้ว่าเราไม่ทำ Stay Green เราก็ต้องปฏิบัติตัวแบบนี้อยู่แล้วครับ 

“เรื่องความปลอดภัยของพนักงาน เคี้ยวเขียวมีทีมงานหลักอยู่ไม่เยอะครับ เรารับวัตถุดิบจากเครือข่าย แล้วส่งให้ทีมครัว คนส่งคือ ผมและทีมงานจะขับรถส่งกันเองถึงบ้านในทุกวันพุธของสัปดาห์ เราไม่จ้างขนส่งทั่วไป เราทำเอง เราระวังเอง มันเลยอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ครับ”

https://www.facebook.com/KeawKeaw.GreenCatering/photos/a.454138798027895/2687099441398475/?type=3&theater

จุดยืนของเคี้ยวเขียวกับการเป็น Green Delivery 

“เราอยากตอกย้ำในสิ่งที่เราสามารถทำร่วมกันได้ เราไม่บอกว่าเราดีที่สุดนะครับ แต่เราพยายามทำให้เต็มที่เท่าที่เราทำได้ ถ้าในส่วนการจัดการของเคี้ยวเขียวเอง มันก็มีบ้างที่เราต้องรับพลาสติกจากเครือข่ายและซัพพลายเออร์ เราก็พูดคุยกับเขาเพื่อหาทางเลือกอื่นที่จะช่วยลดใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด และเราแสดงเจตนารมณ์ของเราผ่านการตั้งแฮชแท็กบนเฟซบุ๊คเพจด้วยครับ เช่น #อาหารที่ดีไม่มีขยะ #รักษ์โลกเท่าที่เราทำได้ #ยังคงรักษ์โลกได้แม้ในวิกฤต #ความมั่นคงทางอาหาร #เชื่อมโยงกันเพื่อโลกที่ดีขึ้น #thismealforbetterworld เพื่อเน้นย้ำจุดยืนของเราอีกทางด้วยครับ

“นอกเหนือจากภาชนะใช้ซ้ำ ในภาวะปกติ เรายังใช้ภาชนะที่มาจากธรรมชาติ เช่น กล่องข้าวจากกาบหมากด้วยครับ ซึ่งมันก็มีราคาค่อนข้างสูงอยู่ แต่เรายืนหยัดที่จะใช้ เพราะเราภูมิใจที่ได้เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนการรณรงค์ลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งและทำให้นวัตกรรมกาบหมากเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากตอนแรกที่เราซื้ออยู่ที่ชุดละ 8 บาท จนลดลงมา 5 บาท ทีนี้พอเป็นที่ต้องการมากขึ้น ก็มีกลุ่มชุมชนผลิตเยอะขึ้น จากชุมชนบ้านท่าดีหมี จ.เลย ก็ขยายไปอีก 7 ชุมชน มันก่อให้เกิดแรงบันดาลใจไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ทั้งเหนือ ใต้  และมีวัสดุอื่น ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ผู้บริโภคเองก็ตื่นตัวมากขึ้น มีการซื้อขายเครื่องจักรที่ผลิตมากขึ้น มันเริ่มจากก้าวแรกที่แพงนั่นแหละ เราเลือกใช้เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่ามันมีทางเลือกอื่นนอกจากพลาสติกและโฟมนะ นอกจากนั้น การเลือกใช้กาบหมากแทนที่จะใช้โฟมหรือพลาสติก เพราะเราเห็นว่ายังมีคนที่เห็นมูลค่าทางสิ่งแวดล้อมอยู่ เราจะเห็นคนที่ขายผัดไทใช้ใบบัวห่อ เมื่อผู้ประกอบการเข้าใจ ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อม เขาขายได้ มันก็วินวินทั้งคู่ครับ” 

ในอนาคตมองว่าการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในช่วงไวรัสโควิดระบาด มันจะกลายเป็นนิวนอร์มัลไหม

“การใช้พลาสติกในช่วงนี้มันเยอะขึ้นมาจริง ๆ แต่มันก็มีกระแสการตื่นตัวเรื่องขยะมาพร้อมกันด้วย เราว่าก็มีคนที่ไม่เคยตระหนักมาก่อนหันมาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เราเคยเห็นกลุ่มอาชีพอื่นหันมาทำคุกกี้ขายโดยใช้บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ บัวลอยใส่กล่องกระดาษก็มี แม้ว่ามันยังไม่สามารถทดแทนพลาสติกได้ 100% แต่มันก็เป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น”

“ในส่วนตัวของการฟื้นฟูขยะหลังวิกฤติโควิด ผมว่าวิธีการจัดการไม่ต่างกับก่อนเกิดวิกฤติเลย ทุกภาคส่วนต้องทำให้ผู้บริโภคตระหนักปัญหาขยะแล้วเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรม ผมว่าคนเข้าใจปัญหาขยะเยอะขึ้นนะครับ แต่ระบบแยกขยะบ้านเรามันไม่เอื้อต่อการแยกขยะในระดับครัวเรือนเลย มันเลยยังทำไม่ได้และไปไม่สุดสักที”

ถ้าการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจากบริการส่งอาหารจะกลายเป็นนิวนอร์มัลจะกระทบต่อการทำธุรกิจของเคี้ยวเขียวไหม

“แน่นอนครับ แต่เพราะเคี้ยวเขียวเปิดมาเกือบ 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2556 แม้ว่าคนสนใจเรื่องพลาสติกน้อยลง แต่ยังไงก็จะมากกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วแน่นอนครับ ตอนผมเข้ามาทำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มันเป็นช่วงที่คนสนใจสิ่งแวดล้อมมาก ๆ ลูกค้าเลือกใช้บริการเคี้ยวเขียวเยอะขึ้น และเรามองว่าหลังจากนี้ถ้าคนรวมตัวกันน้อยลง เราก็ต้องทำการบ้านมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ใหม่ครับ”

วิกฤติความไม่สะดวกสบาย

“เรื่องต่าง ๆ ในชีวิตเรา มันอยู่ที่แต่ละคนให้คุณค่ากับอะไร สิ่งที่เราให้คุณค่า เราก็จะมีแรงกระตุ้นอยากทำสิ่งนั้น ตอนเคี้ยวเขียวทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เราทำเพราะเรามองว่านอกจากจะได้กินผักผลไม้ดีต่อสุขภาพจากเกษตรกรโดยตรง เช่น สมัชชาอาหารปลอดภัย จ.สมุทรสงคราม แล้ว มันยังเป็นเครื่องมือขัดเกลาจิตใจและลดอัตตาของเราด้วย เพราะมันลดความสะดวกสบายที่เราเคยชิน มันมีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ “หนักที่เรา เบาที่โลก” ถ้าสิ่งนั้นมีคุณค่าพอ เราจะทำมันได้ เราเต็มใจจะเพิ่มการจัดการขึ้นมาหน่อย ขัดเกลาจิตใจตัวเองให้ไม่มักง่าย ใส่ใจสิ่งอื่นอีกสักนิด ถ้าเราให้คุณค่ากับมัน เราก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ซึ่งมันก็ไม่ยากจนเกินไป

ก้าวต่อไป

“ในส่วนโมเดลธุรกิจ Stay Green ในอนาคต เราอาจจะยังต้องปรับแผนธุรกิจไปเรื่อย ๆ เพราะเรายังใหม่อยู่ เราอาจต้องคิดเรื่องการจัดส่งมากขึ้นในวันที่มีลูกค้าเยอะขึ้นกว่านี้ เรื่องเวลา และต้นทุนต่าง ๆ แต่ยืนยันว่าจะยังคงทำงานเพื่อแสดงจุดยืนเรื่องการลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่ครับ”

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม