แม้ตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต โควิด-19 แต่เราก็ต้องปกป้องการฟื้นตัวของระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน

นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้น้ำนับล้านชีวิต ตั้งแต่ผืนน้ำสีฟ้าอันกว้างใหญ่สวยงามชวนหลงใหลไปจนถึงระดับความลึกอันน่าพิศวงที่ยังรอการค้นพบนี้  มหาสมุทรยังมีบทบาทที่ยิ่งใหญ่มากในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเหมือนอ่างกักเก็บความร้อนและคาร์บอนจากบนผิวโลกเอาไว้

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดพบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2514-2553 มหาสมุทร ดูดซับความร้อนจากพื้นผิวโลกมากกว่าร้อยละ 90 และยังดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์กว่าร้อยละ 40 อีกด้วย กล่าวได้ว่ามหาสมุทรนั่นเป็นเหมือนเกราะป้องกันเราไม่ให้พบเจอกับวิกฤตสภาพอากาศสุดเลวร้ายที่ควร จะเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ดังที่ จอช วิลลิส นักสมุทรศาสตร์ของนาซาได้กล่าวไว้ว่า “มหาสมุทรช่วยยืดเวลาการพิพากษาของพวกเราออกไป” ถ้าหากไม่ได้มหาสมุทรช่วยไว้ล่ะก็ ป่านนี้พวกเราก็คงเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้ายสุดบรรยายอยู่เป็นแน่

ในเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยมหาสมุทรและพื้นที่ในโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง (The Oceans and Cryosphere) โดยเป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อมหาสมุทรและภูมิภาคที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง รายงานแสดงให้เห็นว่าขีดจำกัดของมหาสมุทรในการดูดซับเหล่าก๊าซคาร์บอนและความร้อนได้มาถึงจุดวิกฤตแล้ว

ขณะนี้ทะเลกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และค่าความเป็นกรดที่เพิ่มมากขึ้นรวมถึงคลื่นความร้อน ที่กำลังทำร้ายสาหร่ายและปะการังให้เหลือน้อยลงไปทุกที หากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้หายไป กิ่งก้านที่เคยเป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น ปลา สัตว์ที่มีเปลือกแข็งจำพวกกุ้ง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์ต่างๆ ก็จะหายไปด้วย

Coral Reef Nauru in the Pacific Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ฝูงปลาว่ายน้ำข้ามแนวปะการัง แม้ครั้งหนึ่งสาธารณรัฐนาอูรู ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค จะเคยมีรายได้เข้าประเทศจำนวนมากจากการทำอุตสาหกรรมถลุงแร่ฟอสเฟต ในทะเล แต่เมื่อทรัพยากรดังกล่าวหมดไป ก็ส่งผลกระทบต่อเศษฐกิจและสังคมอย่างมาก ชาวนาอูรูจึงหันเปลี่ยนมาจัดตั้งเขตคุ้มครองการประมงในน่านน้ำของตนเองและน่านน้ำสากลใกล้เคียงแทน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ยังเหลืออยู่ไว้ให้ได้มากที่สุด © Paul Hilton / Greenpeace

สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลขนาดเล็กเหล่านี้ มีบทบาทที่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยโลกรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ใต้ทะเลลึก พืชในพื้นที่ชายฝั่งเช่นป่าชายเลนและทุ่งหญ้าทะเลก็เช่นกัน ที่ช่วยดักและดูดซับคาร์บอนไว้ในตะกอน ใต้น้ำและดิน เมื่อมีสัตว์ทะเลมากินพืชในบริเวณดังกล่าว คาร์บอนก็จะถูกถ่ายเทไปที่สัตว์ ก่อนจมลงสู่ใต้มหาสมุทรลึกพร้อมกับร่างของสัตว์เมื่อตายแล้ว เป็นไปตามวงจรห่วงโซ่อาหาร 

หากเรายังรบกวนมหาสมุทรโดยการสร้างมลพิษ ทำเหมืองแร่ในทะเล หรือยังคงทำการประมงเกินขนาด สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลก็ไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ ยิ่งในเวลาที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและต้องการให้คาร์บอนถูกมหามุทรกักเก็บไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

Humpback Whale in Tonga. © Paul Hilton / Greenpeace
วาฬหลังค่อมกำลังว่ายน้ำอย่างเพลิดเพลินในหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณประเทศตองกา © Paul Hilton / Greenpeace

สิ่งหนึ่งที่เรายังได้เรียนรู้สิ่งหนึ่งท่ามกลางความทุกข์ยากจากวิกฤตไวรัสนี้ คือธรรมชาติไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อจัดการหรือควบคุมกับไวรัสต่างๆ หรือสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างที่มันเคยทำได้ หากเรายังคงคุกคามและรบกวนระบบของธรรมชาติอยู่แบบนี้

ขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะสร้างโลกสีเขียวและสงบสุขใบใหม่ให้เกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะต้องปกป้องกลไกทางธรรมชาติซึ่งคอยสร้างสมดุลให้กับโลกใบนี้ เพราะหากไม่มีกลไกลทางธรรมชาติ เราจะไม่มีทางคาดเดาสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้

เวลานั้นเหลือน้อยเต็มทีแล้ว อย่าให้การปกป้องมหาสมุทรเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่เหลืออยู่ เราไม่สามารถมองข้ามหรือเพิกเฉยต่อสัญญาณจากธรรมชาติที่คอยเตือนเราได้อีกต่อไป

สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ นาทีนี้ คือการเร่งลดปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจของมนุษย์เพื่อให้ระบบนิเวศได้เจริญเติบโตและยังสามารถทำหน้าที่ของมันต่อไปได้ สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญในต่อการจัดการมหาสมุทร

โลมากำลังว่ายน้ำในทะเลอัลบอราน (Alboran Sea)

การกำหนดให้หนึ่งในสามของพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลกเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์คือ หัวใจสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันว่าการปกป้องพื้นที่ในมหาสมุทรทั่วโลกร้อยละ 30 เป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

องค์การสหประชาชาติ (UN) ขยายความของเป้าหมายนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ทั้งบนบกและทะเลบนโลกของเราร้อยละ 30 จะต้องได้รับการปกป้องเพื่อให้แน่ใจว่าในอนาคตโลกใบนี้จะยังคงเอื้อต่อการเป็นที่อยู่อาศัยต่อไป

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบผลสำเร็จ มีข้อมูลมากมายที่ระบุว่าเพียงแค่จำกัดพื้นที่บางส่วนของมหาสมุทรก็สามารถเพิ่มจำนวนประชากรปลาได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสามารถฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกด้วย

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลจะทำให้ทะเลฟื้นฟูตัวเองและกลับมาสวยงามอย่างที่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเมื่อเร็วๆ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จาก เนเจอร์ (Nature) ก็สรุปว่า การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลไม่เพียงแแต่จะช่วยให้มหาสมุทรฟื้นฟูตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่จะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ภายใน 30 ปีเท่านั้น

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงนามใน “สนธิสัญญาทะเลหลวง” ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้อยู่ในวาระการประชุมขององค์การสหประชาชาติมาเป็นระยะมากกว่า 1 ปีแล้ว หากสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นได้จริงจากการลงนามของผู้นำทั่วโลก การฟื้นฟูของมหาสมุทรทั่วโลกก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม