มีภาพยนตร์และการ์ตูนไม่น้อยที่นำเอาประเด็น “สิ่งแวดล้อม” มาเป็นประเด็นหลักในการดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์สารคดีที่อ้างอิงจากข้อมูลจริง หรือภาพยนตร์ที่เติมแต่งจินตนาการจากฐานของข้อมูลจริง เพิ่มความตื่นเต้นที่ว่าหากมนุษย์ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้วพวกเขาจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์แบบนั้นได้อย่างไร รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือย้ำเตือนเราอีกว่า จริง ๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเองเลย แต่ก็มีภาพยนตร์อีกไม่น้อยที่นำเสนอการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยมนุษย์เรา ซึ่งเราเชื่อว่าหากใครได้ดูภาพยนตร์เหล่านี้แล้วจะสร้างพลังให้ผู้ชมอยากร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมบ้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

1.เมื่อมนุษย์ได้รับ “โอกาสอีกครั้ง” เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโลก ใน Wall E หุ่นจิ๋วหัวใจเกินร้อย

เป็นเวลากว่า 12 ปีของภาพยนตร์แอนิเมชั่น Wall E หุ่นจิ๋วหัวใจเกินร้อย (2551) ที่ยังคงครองใจแฟน ๆคอแอนิเมชั่น เรื่องราวของ Wall E หุ่นจัดการขยะที่ถูกทิ้งเอาไว้บนโลกมนุษย์ทิ้งร้าง โลกที่เราไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไปด้วยมลพิษและพายุรุนแรง กิจวัตรประจำวันของ Wall E นั่นคือการชาร์จแบตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทุกเช้า แล้วออกไปจัดการขยะที่กองพะเนินเป็นภูเขาจนกระทั่งวันหนึ่งหุ่นตัวจิ๋วตัวนี้ได้พบ “พืช” ต้นอ่อนสีเขียวที่เติบโตอยู่ในภูเขาขยะโดยบังเอิญ เป็นสัญญาณของชีวิตที่สามารถอยู่รอดบนโลกได้อีกครั้ง

ภาพยนตร์ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ด้วยเนื้อหาที่เรียกว่า ผู้ใหญ่ดูได้ เด็กก็ดูดี ดำเนินเรื่องด้วยความโรแมนซ์ แต่แฝงปัญหาการสร้างมลพิษของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างจนลูกหลานของพวกเขาไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้อีกต่อไป แต่ภาพยนตร์ก็ไม่ได้ใจร้ายเกินไปด้วยการหยิบยื่น “โอกาส” ให้มนุษย์อีกครั้ง เปรียบเสมือนการกระตุ้นให้ผู้ชมกระตุกคิดว่า เราจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่างก่อนจะสายเกินไป

2.How To Change The World – หากคุณรู้แล้วว่า สิ่งแวดล้อมกำลังถูกทำลาย คุณจะทำยังไง อยู่เฉยๆหรือทำอะไรสักอย่าง

“บ๊อบรู้สึกว่าเขาอยากให้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทุกคนพูดถึง เหมือนกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี และการรณรงค์ในประเด็นสันติภาพ” – เร็กส์ เวย์เลอร์ (Rex Weyler)

ย้อนกลับไปเมื่อ 49 ปีก่อนในยุคเบ่งบานของหนุ่มสาว “บุปผาชน” (หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ฮิปปี้) จากสถานการณ์การต่อต้านการส่งทหารเข้าร่วมในสงครามเวียดนาม บุปผาชนเหล่านี้มีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่มาก รวมถึงการพูดถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมและการรณรงค์ในประเด็นสิ่งแวดล้อม

How to Change The World ภาพยนตร์สารคดีที่รวบรวมกลุ่มวัยรุ่นในตอนนั้นมานั่งจับเข่าคุยถึงเหตุการณ์ที่พวกเขารวมตัวกันเช่าเรือใบลำเล็ก ๆ แล่นออกจากแคนาดาไปยังเกาะอัมชิตกาเพื่อขัดขวางการทดลองใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่สหรัฐอเมริกาใช้ทดลอง การประท้วงของพวกเขาในครั้งนั้นเหมือนการจุดไฟในใจของกลุ่มคนหนุ่มสาวจากที่ไม่เคยรู้เรื่องราวการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้ได้รู้จักกับ “อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม” ที่เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ไกลออกไปจากบ้านเมืองที่อาศัยอยู่ การเช่าเรือในครั้งนั้นทำให้ บ๊อบ ฮันเตอร์ และกลุ่มเพื่อนๆ เริ่มคิดถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกรีนพีซ องค์กรอิสระที่รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ยังอัดแน่นด้วยฟุตเทจที่ทำให้ผู้ชมอย่างเราต้องทึ่ง เปิดโปงหลักฐานการทำลายสิ่งแวดล้อมแบบเต็ม ๆ จนทำให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัล Prize Winner ในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปี พ.ศ.2558  ถือว่าเป็นภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อมที่นักอนุรักษ์ต้อง “ห้ามพลาด” 

3. Big Miracle ปาฏิหารย์วาฬสีเทา – พลังมวลชนทำให้การขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้

Big Miracle เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงเกี่ยวกับครอบครัววาฬสีเทาที่ติดอยู่ในกำแพงน้ำแข็งใกล้กับอลาสกา พวกมันถูกค้นพบโดยนักข่าวคนหนึ่งที่ทำข่าวทั่วไปในแถบนั้น เขาเริ่มรายงานข่าวเกี่ยวกับครอบครัววาฬสีเทาครอบครัวนี้และได้รับความสนใจจากผู้คนทันที 

ภาพยนตร์ฟีลกู๊ดเรื่องนี้รู้จักใครความขัดแย้งของภาระหน้าที่ของตัวละครในเรื่องมาเป็นตัวขับเคลื่อนการช่วยเหลือวาฬ และแสดงให้เห็นว่าพลังมวลชนนั้นสำคัญแค่ไหนในการปกป้องสัตว์และสิ่งแวดล้อม (แน่นอนว่าสำคัญมากกว่าเรื่องการเมือง) หากอยากหาภาพยนตร์ที่ดูแล้วหัวใจชุ่มฉ่ำ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่พร้อมจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อโลกของเรา เราแนะนำให้คุณลองเปิด Big Miracle ดูสักครั้ง

แล้วคุณมีภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในดวงใจเรื่องไหนอยากแชร์ต่อให้กับเพื่อนๆไหมคะ อย่าลืมแชร์เรื่องราวดีๆกับเรานะคะ

Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม