หลังจากที่กองทุนแสงอาทิตย์และกรีนพีซได้เดินทางเพื่อส่งมอบโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลรัฐใน 7 จังหวัดแล้ว แน่นอนว่าเราเองได้รู้จักกับเครือข่ายแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น และได้เรียนรู้วิธีการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในโรงพยาบาลเพิ่มเติมมากมาย

และหนึ่งในนั้นที่เราได้มีโอกาสพบและพูดคุยถึงนโยบายการใช้พลังงานในโรงพยาบาลที่น่าสนใจ นั่นก็คือ การเปิดพื้นที่หลังคาให้เช่าเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลไม่มีเงินทุนมากพอที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เอง เรามีโอกาสพูดคุยกับ นพ.สมชาย ภูนวกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ จันทบุรี  แกนหลักในการขับเคลื่อนนโยบายการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในโรงพยาบาลแห่งนี้  โดยแบ่งออกเป็นการขับเคลื่อน 2 แบบ คือการนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับโรงพยาบาล และการออกแบบระบบที่ช่วยให้พนักงานประหยัดพลังงานมากขึ้น

Solar Rooftop installation in Thailand. © Greenpeace / Arnaud Vittet
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา © Greenpeace / Arnaud Vittet

การประหยัดพลังงานทั้ง 2 ด้าน หนึ่งคือใช้นวัตกรรมช่วยประหยัดพลังงาน ส่วนที่สองคือการออกแบบการประหยัดพลังงานให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของพนักงานในโรงพยาบาล ในส่วนที่สองนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร?

ในระยะวลาที่ผ่านมามีการรณรงค์ และเสนอวิธีการที่เหมาะสมที่จะกระตุ้นให้พนักงานตระหนักถึงการประหยัดพลังงานกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่ผู้บริหารควรเอาใจใส่กับพนักงานในโรงพยาบาลคือการให้การแนะนำหรือให้ความรู้แก่พนักงานทุกคนภายในองค์กรถึงผลกระทบต่างๆ ที่ตามมาภายหลังหากเราไม่ร่วมมือกันประหยัด เช่น ค่าไฟฟ้าภายใน โรงพยาบาลที่แพง หรือการแนะนำให้เห็นข้อดีคือ หากพนักงานลดการใช้พลังงาน เขาก็จะได้รับความยั่งยืนในหน้าที่การงาน ความมั่นคงของวิชาชีพในการทำงาน และความมั่นคงของรายได้  หากมีการปลูกฝังเป็นวัฒนธรรมภายในองค์กรอย่างเป็นระบบแบบนี้แล้วก็จะนำไปสู่ค่านิยมภายในองค์กรที่พนักงานทุกคนจะเอาใส่ใจและทำตามกันมากขึ้น 

การนำเอานวัตกรรมมาช่วยให้โรงพยาบาลประหยัดพลังงานมากขึ้น มีวิธีอะไรบ้าง?

ในช่วงแรกนั้นเราเข้าร่วมโครงการการของกระทรวงพลังงานฯ เราเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศในโรงพยาบาลและ แอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมมีการนำ อุปกรณ์ควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ Variable Speed Drive หรือ VSD มาติดตั้งเป็นส่วนที่ช่วยในการควบคุมทำงานของระบบแอร์เพื่อปรับรอบของเครื่องทำความเย็น(Chiller) ซึ่งมีอายุมากกว่า 10ปี ทำให้ประหยัดไฟมากขึ้น และล่าสุดก็มีการเปลี่ยนแอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะเครื่องปรับอากาศเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าเยอะที่สุดโรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบแบบนี้ก็จะช่วยลดการใช้พลังงานได้มากเช่นกัน

นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีการควบคุมอุณหภูมิแอร์ผ่านสมาร์ทโฟน คอยควบคุมอุณหภูมิไม่ให้แอร์ทำงานหนักเกินไป ทั้งหมดนี้ถูกควบคุมโดยทีมวิศวกรของโรงพยาบาล

หนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่น นั่นก็คือ โรงพยาบาลเริ่มโครงการให้เช่าหลังคาติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว

เราตัดสินใจเปิดให้เช่าพื้นที่เพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์เพราะว่าเรามองเห็นว่าโรงพยาบาลมีพื้นที่บนหลังคาเยอะมาก แต่ไม่ได้เอาไปใช้งาน รวมทั้งโรงพยาบาลเองไม่มีเงินทุนมากพอที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์เอง ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่กระบวนการในการจัดทำข้อกำหนดการเช่าพื้นที่ดังกล่าว (TOR )ให้โรงพยาบาลทำงานร่วมกับบริษัทเพื่อเช่าหลังคาติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งต่อมาโครงการนี้ก็ทำให้โรงพยาบาลเป็นตัวอย่างให้กับโรงพยาบาลในเครืออีกกว่า 40 โรง ในการนำร่องว่าเมื่อโรงพยาบาลติดตั้งโซลาร์เซลล์เองบนหลังคา จะมีประโยชน์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

แผงโซลาร์เซลล์ © Greenpeace / Arnaud Vittet
© Greenpeace / Arnaud Vittet

เนื่องจากเราไม่สามารถลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้เอง จึงมีการทำงานร่วมกันกับทีมงานหลายๆทีม แม้ว่าเราจะต้องทำเอกสารหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสัญญาต่างๆ แต่เราเองมองว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการให้เช่าหลังคาเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้นจะทำให้เรามองทะลุจากกรอบข้อจำกัดในด้านงบประมาณ โดยเฉพาะโรงพยาบาลภาครัฐ

เราเชื่อว่านอกจากประโยชน์ทางด้านภาระค่าไฟฟ้าที่เราจะประหยัดได้ในแต่ละเดือนแล้ว การติดตั้งพลังงานหมุนเวียนจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว

เมื่อติดตั้งแล้วเกิดผลลัพธ์อะไร และโรงพยาบาลได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ?

ปัจจุบันบนหลังคาโรงพยาบาลมีโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตอยู่ทั้งหมด 482 กิโลวัตต์ ตอนนี้ติดตั้งมาได้ราว ๆ 1 ปีแล้ว ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ที่เราเปิดพื้นที่ให้เช่านั้น เรานำเอามาใช้ในตัวโรงพยาบาล 1 ใน 4 ของไฟฟ้าที่มีการใช้ในโรงพยาบาลทั้งหมด (ประมาณร้อยละ 25) เราประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้ราวๆเดือนละ 300,000 บาท ส่วนที่ได้คืนมานี้เราก็นำเอาไปพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป 

ความกล้าที่จะทดลองใช้โมเดลการเช่าหลังคาติดตั้งโซลาร์เซลล์นี้ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ของทั้งโรงพยาบาลและบริษัทที่เข้ามาติดตั้ง เราต้องเรียนรู้เรื่องเทคนิคการติดตั้ง รายละเอียดต่างๆที่เป็นเชิง เทคนิคทั้งหมด รวมถึงการประสานงานติดต่อขออนุญาตการไฟฟ้าฯ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ยังมีเรื่องภาษีที่เราต้องเรียนรู้กับกรมสรรพากรด้วยและมีข้อกฎหมายที่เราต้องเรียนรู้เยอะมากก่อนติดตั้งด้วย ตอนนี้เราได้เรียนรู้กระบวนการแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือการนำไปเผยแพร่เป็นแนวทางให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ หรือชุมชน หน่วยงานต่างๆในจังหวัดและสังคมต่อไป

สำหรับจุดมุ่งหมายและความตั้งใจของทางโรงพยาบาลหลังจากนี้ก็คืออยากให้โรงพยาบาลเป็นต้นแบบของชุมชนต่างๆ ที่สนใจอยากติดตั้ง เพื่อที่จะขยายผลให้กับหน่วยงานต่างๆในแต่ละจังหวัด ท้ายสุดแล้ว ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนที่ผ่านการพัฒนาแล้วก็จะมีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งต้นทุนก็จะถูกลง ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ระยะยาวของสังคมและชุมชน

แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา © Baramee Temboonkiat / Greenpeace
© Baramee Temboonkiat / Greenpeace

ความท้าทายของการนำเอาเรื่องการประหยัดพลังงานมาเชื่อมโยงกับองค์กร

ถ้าเราอ้างอิงถึงแนวคิดของการจัดการพลังงานแล้ว ก็จะต้องอ้างอิงถึงหลัก 3P ประกอบไปด้วย People คน Process กระบวนการ และ Placeพื้นที่ปฎิบัติการ (Hardware) สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการพัฒนา Process หรือกระบวนการที่จะนำไปสู่การประหยัดพลังงานนั่นเอง ย้อนกลับไปตอนที่เราได้รับรางวัล Asian Energy Award ทีมงานหลักได้พัฒนากระบวนการ “การจัดการห้องพักผู้ป่วย” ให้มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานสูงสุด โรงพยาบาลของเรามีห้องพักผู้ป่วยราว 200 ห้อง ทำให้ต้องออกแบบกระบวนการทำความสะอาดห้องให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุด สิ่งที่ทีมทำก็คือสังเกตการทำความสะอาดห้องในรูปแบบเดิมก่อน แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าในระหว่างกระบวนการเดิมนั้นเราใช้พลังงานสิ้นเปลืองในจุดใดบ้าง หลังจากนั้นก็มาแก้ปัญหาตรงจุดที่ใช้พลังงานสิ้นเปลืองนี้ แล้วทดสอบกระบวนการใหม่ เราปรับการทำงานของ “คน” ให้เหมาะกับการประหยัดพลังงาน 

กระบวนการที่ยกตัวอย่างนี้เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายกระบวนการที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องทำ เพราะนอกจากเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกองค์กรจะต้องทำแล้ว ถ้าเราสามารถปรับกระบวนการได้และทำให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร เราก็จะสามารถประหยัดพลังงานได้อย่างยั่งยืน

ในด้านของนโยบายคือนโยบายที่ได้รับมา เราคิดว่าเป็นนโยบายที่ดีอยู่แล้ว แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นโยบายถูกขับเคลื่อนไปได้ ฝ่ายบริหารต้องใช้ศิลปะในการสื่อสารกับทีมงานหรือที่เรามักจะพูดว่าต้องมีกลยุทธ์ในการสื่อสาร และสิ่งที่ทีมผู้บริหารต้องชวนฝั่งผู้ปฏิบัติงานร่วมกันคิดให้ได้คือ “Why” ทำไมเราต้องทำตามนโยบายนี้ ซึ่งถ้าเราเชื่อมโยง Why นี้กับตัวผู้ปฏิบัติงานไม่ได้แล้ว แน่นอนว่าการพัฒนากระบวนการการประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืนไม่มีทางเกิดขึ้น

นพ.สมชาย ภูนวกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ จันทบุรี
นพ.สมชาย ภูนวกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ จันทบุรี

ท้ายที่สุดแล้วเราเชื่อว่า พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น มีการใช้พลังงานหมุนเวียนนี้ไปแพร่หลายมากขึ้น ต้นทุนการติดตั้งก็จะลดลงและจะนำมาสู่ประโยชน์ให้กับสังคมในระยะยาว

ความแตกต่างของหลักคิดของ โรงพยาบาลรัฐ กับ โรงพยาบาลเอกชนที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

จากประสบการณ์ที่หมอเคยบริหารโรงพยาบาลรัฐมาก่อนจะเข้ามาบริหารโรงพยาบาลเอกชน มองว่าโรงพยาบาลรัฐยังมีความท้าทายมากกว่าโรงพยาบาลเอกชนในเชิงของการผลักดันนโยบายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพราะโรงพยาบาลรัฐจะมีกรอบเรื่องระเบียบและกฎหมายทางการเงินมากกว่า ยิ่งโรงพยาบาลรัฐประสบปัญหาขาดทุนอยู่แล้ว การผลักดันเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นเรื่องที่ยากมาก งบลงทุนเองไม่มีแน่นอน งบประมาณการติดตั้งจึงมาจากการบริจาคจากภาคประชาชนมากกว่า

สุดท้ายแล้ว ความล้มเหลวทางการเงินของโรงพยาบาลรัฐที่เราเคยประสบและเชื่อว่าหลายๆโรงพยาบาลก็กำลังประสบปัญหานี้อยู่ เราต้องย้อนกลับไปพูดถึง “ประสิทธิภาพ” ของการบริหารระบบของสาธารณสุขไทย เราจะหลุดออกจากกรอบเดิมๆร และจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงพยาบาลรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม