ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอีก 1 องศาเซลเซียสแล้ว เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อประชากรที่มีศักยภาพในการรับมือน้อยที่สุด ปัจจุบันมีประชากรกว่าหลายล้านคนในแอฟริกาใต้ที่ต้องเผชิญกับ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” เนื่องจากต้องเผชิญกับภัยแล้งและพายุหลายลูกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ช่วงฤดูร้อนในหลายพื้นที่ของประเทศอินเดียและปากีสถานมีอุณหภูมิสูงถึง 51 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีโรคระบาดในพืชที่กำลังเป็นปัญหาในกัวเตมาลา ชาวเปรูกำลังประสบกับผลกระทบจากธารน้ำแข็งละลาย ในขณะเดียวกันการทำเกษตรกรรมที่บังคลาเทศก็กำลังประสบกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นซึ่งทำให้ชาวไร่ชาวสวนจำเป็นต้องอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในเมืองแทน เช่นเดียวกับบางส่วนในเคนยาที่ผู้หญิงจะต้องเดินทางไกลเพื่อไปหาแหล่งน้ำสะอาด

วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังส่งผลต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในอังกฤษ พายุลูกใหญ่ในมาลาวี และอุทกภัยในอินโดนีเซีย เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วเหล่านี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนกระทั่งประชาชนสูญเสียบ้าน ที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตในชุมชน เช่น ตูวาลู ฟิจิ และปาปัวนิวกินี

Aftermath of Typhoon Kammuri in the Philippines. © Basilio H. Sepe / Greenpeace
เด็กคนนี้กำลังเดินอยู่บนถนนที่เต็มไปด้วยโคลนหลังจากพายุไต้ฝุ่น แคมมูริ พัดถล่มฟิลิปปินส์ ทำให้ผู้คนหลายพันคนไร้ที่อยู่อาศัย © Basilio H. Sepe / Greenpeace

วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบรุนแรงต่อกลุ่มคนจนมากกว่ากลุ่มคนที่มีความมั่งคั่ง

แม้ว่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ศักยภาพในการเอาตัวรอดของเรานั้นกลับไม่เท่ากัน ความอยู่รอดของเราขึ้นอยู่กับ “ความมั่งคั่ง” ที่เรามี เพราะคนที่ยิ่งมีความมั่งคั่งมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งมีศักยภาพมากพอที่จะซื้อ “ความปลอดภัย” ให้กับตัวเองได้มากเท่านั้น พวกเขามีทุนในการอพยพ มีทุนในการซื้อที่อยู่อาศัยชั่วคราวเพื่อหลบภัย ซึ่งกลุ่มคนจนทำแบบนั้นไม่ได้ พวกเขาไม่ได้มีเงินมากพอที่จะอพยพไปที่ไหน ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาอาจเข้าไม่ถึงอาหาร น้ำสะอาด อุปกรณ์เพื่อดำรงชีวิต พลังงาน หรือแม้กระทั่งระบบประกันต่างๆ ทั้งนี้พวกเขายังมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติของรัฐและนโยบายบางอย่างของภาคเอกชนที่ผลักภาระความเสี่ยงให้กับพวกเขา ซึ่งอันที่จริงแล้วรัฐหรือเอกชนนั้นๆสามารถจัดการได้ดีกว่านี้

แม้ว่าจะมีปัจจัยบางอย่างที่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่น เพศสภาพ อายุ สถานภาพทางเศรษฐกิจ และสถานที่ที่เราอาศัยอยู่ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อศักยภาพของเราอยู่บ้าง แต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นกลับแตกต่างออกไปเพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้น้อยที่สุด กลับเป็นกลุ่มคนที่สร้างผลกระทบนี้มากที่สุดนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นคนกลุ่มนี้ยังมีโอกาสเอาชีวิตรอดด้วยทรัพยากรที่มีน้อยลงทุกวันๆ ได้ดีกว่าอีกด้วย

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
กิจกรรม Climate Strike บริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร มีเยาวชนและคนที่สนใจร่วมกิจกรรมกว่าพันคน © Chanklang Kanthong / Greenpeace

งานวิจัยจากองค์การอ็อกแฟม (Oxfam )ระบุว่ากลุ่มคนมั่งคั่งที่สุดในโลกที่มีเพียงร้อยละ 10จากประชากรทั้งโลกนั้นเป็นสาเหตุก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 50 เลยทีเดียว คนกลุ่มนี้ยังครอบครองทรัพยากรของโลกเกินครึ่ง พวกเขาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในโลกที่ “พัฒนาแล้ว” ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 50 (คนกลุ่มนี้มีรายรับเพียงแค่ร้อยละ 8  ) ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าประชากร 1 คนในอังกฤษปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยมากกว่าประชากร 1 คนในมาลาวี 65 เท่า ในขณะที่ประชากรในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลียปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าถึง 150 เท่า ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งและเทคโนโลยีที่เราใช้ จากการบริโภคอาหารและเสื้อผ้าที่เราสวมใส่

Climate Change Impact Austria - City heatwave. © Mitja  Kobal / Greenpeace
เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทำให้ฤดูร้อนในกรุงเวียนนา ออสเตรีย ร้อนกว่าทุกๆปี ประชากรมากมายต้องใช้ชีวิตอยู่กับคลื่นความร้อนและมีปัญหาด้านสุขภาพ ในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากคลื่นความร้อนในออสเตรียกว่า 766 คน © Mitja Kobal / Greenpeace

อีกมุมหนึ่งของโลก ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกเป็นอันดับ 6 อย่างโมซัมบิกสูญเสียงบประมาณไปกับพายุไซโคลน 2 ลูกที่พัดถล่มในปี 2562 รวมเป็นมูลค่ากว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายงานองค์กร Civil Society Review ระบุว่าภายในปี 2573 ทั่วโลกจะต้องสูญเสียงบประมาณให้กับภัยพิบัติเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศราว 3-7แสนล้าน   ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว 

“ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

รายงานฉบับเดียวกันยังแนะนำอีกว่าทั่วโลกจำเป็นต้อง “ร่วมกัน” กระจายต้นทุนความเสียหายอย่างน้อยร้อยละ 50 สำหรับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (รวมถึงอังกฤษ) จีนต้องรับผิดชอบร้อยละ 10และอินเดียต้องรับผิดชอบที่ร้อยละ 0.5อย่างไรก็ดีตัวเลขเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับความเจ็บปวดของเด็กที่อดอยากสูญเสียครอบครัวถิ่นที่อยู่อาศัยและชุมชน

แม้ว่าการเยียวยาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่เพียงเท่านี้ยังไม่พอ เพราะเราจำเป็นต้องใช้หลัก “ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” (Climate justice) ที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนผ่านจากความไม่เท่าเทียมที่เราได้รับอยู่ในทุกวันนี้ และช่วยให้เราชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้คงตัวอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และเราจำเป็นต้องเริ่ม “ตอนนี้” โดยการยุติการพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทำลายโลกของเรา

Fridays for Future Student Demonstration in Japan. © Sawako Obara / Greenpeace
กิจกรรม Climate Strike ในญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2562 เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำโลกแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ © Sawako Obara / Greenpeace

เพราะสิ่งที่น่ากลัวนั่นก็คือหากเรายังคงทำทุกอย่างเหมือนเดิม เรายังปล่อยให้ “เงิน” เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแบบในปัจจุบันนี้ โลกของเราเสี่ยงที่อุณหภูมิเฉลี่ยจะร้อนขึ้นอีกราว 4 องศาเซลเซียส เมื่อถึงเวลานั้นเราทุกคนจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงหายนะจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้เลย

เราสามารถเปลี่ยนผ่านสู่โลกคาร์บอนต่ำได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ รวมทั้งแหล่งทุนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นผู้รับผิดชอบผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างยิ่งกลุ่มบริษัทเพียง 100 บริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ71ทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเงินทุนจากธนาคารเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกด้วย

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
เยาวชนหลายพันคนรณรงค์ บริเวณสวนลุมพินี เพื่อเรียกร้องการลงมือกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ของเยาวชนทั่วโลกในชื่อ Fridays for Future © Chanklang Kanthong / Greenpeace

การชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะเกิดขึ้นต่อเมื่อรัฐบาลต้องยุติการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ก่ออาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม มิเช่นนั้นแล้วประชาชนก็จะลุกขึ้นมาต่อต้านในที่สุดดังเช่นกรณีการประท้วงของขบวนการ “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสซึ่งมีสาเหตุมาจากการลดหย่อนภาษีให้กับกลุ่มคนมั่งคั่งและขึ้นราคาน้ำมันกับประชาชน 

เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า การยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์เหล่านั้นหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่จะต้องจ่ายต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

เรามีทางออก นั่นก็คือเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด การฟื้นฟูผืนป่าและหวนคืนสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งทางออกเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยชะลอวิกฤตเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว แต่ยังช่วยลดระยะความเหลื่อมล้ำด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศของกลุ่มคนจนและกลุ่มคนมั่งคั่ง เมื่อโลกต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประเทศที่มีส่วนรับผิดชอบในการก่อให้เกิดหายนะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่มากกว่าที่จะผลักภาระหนี้ให้กับประเทศเหล่านั้น

การที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้เท่าเทียมขึ้นนั้น คุณต้องมองภาพที่กว้างกว่ามูลค่าตลาดหุ้น มองภาพที่ใหญ่กว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) แต่ให้เรามองในมุมของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่จะทำให้เราเห็นถึงโอกาสในการสร้างความเป็นธรรมให้กับโลกของเราและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขนโยบายของประเทศ โครงสร้างสังคม และความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ

. ROENGCHAI_KONGMUANG / Greenpeace
โซลาร์รูผท็อปกำลังผลิตอย่างน้อย 35 กิโลวัตต์ จากการระดมทุนของประชาชนให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ผ่าน กองทุนแสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนและช่วยแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลรัฐ © ROENGCHAI_KONGMUANG / Greenpeace

ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศยังหมายถึงการหันกลับมามอง “ชุมชน” เป็นหลัก ซึ่งชุมชนนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและสามารถฟื้นฟู ปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติทั่วโลกได้มากถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว

ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ จะทำให้เรากล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้ให้เกิดความเท่าเทียมกันและทำให้เรากล้าที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางที่ไม่ใช่แค่เป็นไปได้ แต่มันจะเป็นแนวทางที่จำเป็นและจะทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม

เกี่ยวกับผู้เขียน Harpreet Kaur Paul  ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเป็นนักรณรงค์อิสระในด้านนโยบาย เธอเคยร่วมงานกับองค์กรต่างๆ อาทิ People & Planet, REDRESS, Amnesty International ปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Wretch of the Earth 

บทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม