ในช่วงเวลาแบบนี้ เราแสดงความห่วงใยซึ่งกันและกันด้วยการรักษาระยะห่างทางกายภาพให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อความปลอดภัยและต่อสู้กับโรคระบาด

ย้อนมองกลับในเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) นับว่าเป็นปีที่ยิ่งใหญ่เลยทีเดียว โลกของเรามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่น การรวมตัวครั้งประวัติศาสตร์ของเยาวชนทั่วโลกที่ออกมาประท้วงเพื่ออนาคตของพวกเขา การประท้วงถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของคนรุ่นใหม่และทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง เพราะโลกได้ยินเสียงของพวกเขา

Global Climate Strike in Bangkok. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
นักเรียน เยาวชนกว่า 200 คน ร่วมกิจกรรม Global Climate Strike เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ.2562 © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

และในตอนนี้ การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับโรคระบาดก็ตาม

แม้ว่าจะต้องอยู่แต่ในบ้าน แต่เราก็สามารถเพิ่มการรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราได้ มาลองดูกันดีกว่าว่ามีวิธีเจ๋ง ๆ อะไรบ้างที่เราสามารถรณรงค์ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

1.ใช้พื้นที่บนโต๊ะอาหารพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมหลังอาหารมื้อเย็น

ใช้โอกาสนี้เริ่มบทสนทนาเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือประเด็นอื่น ๆ ที่สนใจกับคนในครอบครัว (จะพูดคุยกันที่บ้าน หรือคุยกับครอบครัวระหว่างมื้อเย็นก็ได้) ใช้ช่วงเวลานี้ทำความเข้าใจว่าคนอื่น ๆ มีความเห็นต่อปัญหานี้อย่างไร มีประเด็นอะไรที่พวกเขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสำคัญต่อตัวเอง คนที่เขารัก หรือต่อชุมชน และรับฟังความเห็นเกี่ยวกับทางออกของปัญหา หลายคนอาจจะงงว่าเพียงแค่พูดคุยกันจะกลายเป็นการรณรงค์แบบหนึ่งได้อย่างไร แต่เชื่อเถอะว่าการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจะทำให้เรามองเรื่องนั้น ๆ ในหลายมุมขึ้น และคนรอบข้างของเราตระหนักถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และอย่าลืมสูตรลับ 70/30 คือรับฟัง 70% แสดงความเห็น 30% หลังจากนั้นอย่าลืมจดใจความสำคัญของการพูดคุย สุดท้ายก็อย่าลืมแชร์วิธีรณรงค์แบบนี้กับเพื่อน ๆ

Volunteers End of Year Party in Seoul (Snapshot). © Soojung Do / Greenpeace
ใช้เวลาบนโต๊ะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นมื้อเย็น หรือมื้ออาหารว่าง ก็สามารถพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความเห็นจากคนอื่นๆได้ © Soojung Do / Greenpeace

ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มการพูดคุยยังไง เรามีทิปส์ง่าย ๆ มาแชร์ด้วยนะ โดยเราอาจเปิดบทสนทนาด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น “หากคุณได้เป็นนายกเทศมนตรี 1 สัปดาห์ อะไรคือ 3 สิ่งแรกที่คุณอยากเปลี่ยนให้กับจังหวัดของคุณ?”

นอกจากการพูดคุยในประเด็นสิ่งแวดล้อมกับครอบครัวแล้ว เรายังสามารถชวนคนที่เรารักร่วมสำรวจประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการแนะนำหนังสือดี ๆ หรือภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

2.ร่วมสนับสนุนกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน

ได้เวลางัดสกิลการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแล้ว! สิ่งที่เราต้องทำนั้นง่าย ๆ เลยแค่ค้นหากลุ่มที่รณรงค์ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนที่เราอาศัยอยู่ หรือกลุ่มที่รณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเช่น ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้รณรงค์ แล้วสนับสนุนพวกเขาด้วยการร่วมแชร์งานรณรงค์ออกไป ใครจะไปรู้ บางทีการกดปุ่มแชร์ของเราแค่ครั้งเดียวอาจจะเป็นช่องทางพาให้งานรณรงค์นั้นสำเร็จก็ได้

นอกจากการแชร์งานรณรงค์ของชุมชนหรือองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การลงชื่อร่วมผลักดันงานรณรงค์บนเว็บไซต์ยังเป็นการใช้สิทธิ์ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นการแสดงพลังมวลชนผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นการลงชื่อร่วมรณรงค์ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศ เป็นต้น ซึ่งนอกจากการร่วมลงชื่อผลักดันงานรณรงค์ในประเทศแล้ว เรายังสามารถร่วมลงชื่อในงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกอีกด้วย เช่น การร่วมลงชื่อสนับสนุน สนธิสัญญาทะเลหลวง ที่เป็นสนธิสัญญาคุ้มครองพื้นที่มหาสมุทร 1 ใน 3 ของโลก จำกัดการเข้าไปหาทรัพยากรของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 3 ล้านคน

Air Pollution Protest in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
นักศึกษา บุคคลทั่วไปและเครือข่ายร่วมกับกรีนพีซ จัดกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย ค้นหาเครือข่ายหรือกลุ่มที่รณรงค์ในประเด็นที่เราสนใจ (เช่น ประเด็นมลพิษทางอากาศ) แล้วร่วมแชร์การรณรงค์ของพวกเขา
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

3.ร่วมประชุมออนไลน์กับเพื่อน ๆ ทั่วโลกในประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

เป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนาในประเด็นภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศกับเพื่อนๆทั่วโลกผ่านการเสวนาออนไลน์ (หรือในชื่อภาษาอังเกฤษเก๋ๆ ที่กำลังมาแรงนั่นคือ ‘webinars’ ที่มาจากการผสมคำระหว่าง web กับ seminars) ช่องทางที่เปิดโอกาสให้เราได้ฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และเราสามารถแชร์เสวนาออนไลน์ให้กับเพื่อนๆในโซเชียลมีเดีย แถมยังต่อยอดกับเพื่อน ๆ ได้ด้วยการเอาประเด็นในการสัมมนามาพูดคุยกันต่อได้อีกด้วยนะ

ตอนนี้ในไทยเองก็มีการเสวนาผ่านเว็บไซต์มากมาย ยกตัวอย่างเช่น Fashion Revolution Week 2020: What’s On Earth โลก(ใหม่)เป็นไงบ้าง ? หรือเสวนาออนไลน์เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่สร้างปัญหาให้กับประเทศไทยและหลายพื้นที่ในโลกมาเป็นเวลายาวนาน  ลองฟังเสวนาย้อนหลังในประเด็นที่เราสนใจได้เลย

4.ใช้โซเชียลมีเดียที่อยู่ในมือของเรา

ใช้โซเชียลมีเดียที่เรามีอยู่เป็นช่องทางในการขับเคลื่อนงานรณรงค์ด้วยความครีเอทีฟ

  • Instagram Filter! : ใครถนัดวาดภาพไม่ควรพลาดเพราะฟิลเตอร์ในไอจีสตอรี่ก็กลายเป็นเครื่องมือสำหรับการรณรงค์ของเราได้ ยกตัวอย่างฟิลเตอร์จากการรณรงค์ปกป้องมหาสมุทร ซึ่งเราสามารถเล่นฟิลเตอร์แล้วแชร์ให้กับเพื่อน ๆได้
  • ใช้ # ในทวิตเตอร์ : ชวนชาวเน็ตให้รับรู้ถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมได้ด้วยเทรนด์ทวิตเตอร์ ยิ่งติดแฮชแท็ก คนก็ยิ่งเห็นเรื่องราวนั้นมากขึ้น และถ้าเรารู้จักใครที่ทวิตเตอร์ของเขามีผู้ติดตามจำนวนมาก อย่าลืมขอให้เขาแชร์เรื่องราวนี้ให้เพื่อนจำนวนมากได้ทราบ
  • สายชอบทำคลิป ลองทำ challenge เกี่ยวกับงานรณรงค์ลงในแอพฯ Tik Tok ดูสิ แล้วแท็กเพื่อนๆต่อเลย

ยังมีช่องทาางโซเชียลมีเดียอีกมากที่พร้อมให้เราเข้าไปแชร์สิ่งที่เราอยากบอก เราสามารถแชร์ข่าว คลิปวิดีโอ และไอเดียสร้างสรรค์ของตัวเองเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ถ้าคุณเจอข่าวที่ทำให้คุณรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก เช่น การทำลายป่า สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ มลพิษทางอากาศ และในประเด็นอื่น ๆ ก็สามารถแชร์ข่าวเหล่านี้ให้กับเพื่อน ๆ สิ่งหนึ่งที่ต้องเช็คให้แน่ใจนั่นคือแหล่งที่มาของข่าว อย่าลืมเช็คทุกครั้งว่าข่าวหรือข้อมูลนั้นมาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือหรือมาจากสำนักข่าว (ระวังเฟคนิวส์ด้วยนะจ้ะ) เพียงเท่านี้ก็จะสร้างการพูดคุยในโซเชียลมีเดียได้

5.‘คิดก่อนใช้’ ระมัดระวังพฤติกรรมการบริโภคของตัวเอง

อย่าลืมทบทวนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของตัวเองทุก ๆ วัน เพราะการทำแบบนี้จะช่วยให้เราเห็นว่าพฤติกรรมเล็กน้อยบางอย่างของเราสามารถช่วยบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้

MAKE SMTHNG Week Event in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
การปลูกผักกินเองที่บ้าน ช่วยทั้งประหยัดเงินและช่วยลดการสร้างรอยเท้าคาร์บอนในการขนส่งอีกด้วย © Wason Wanichakorn / Greenpeace
  • พฤติกรรมการกินอาหารของตัวเราสำคัญมาก เพราะการบริโภคเนื้อสัตว์มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพอ ๆ กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ร้อยละ 14.5 ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศนั้นมาจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ การลดการกินเนื้อสัตว์และหันมาบริโภคอาหารจากพืชผัก ถือเป็นการรณรงค์เพื่อชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ดีที่เริ่มจากตัวเรา 
  • ใช้ช่วงเวลานี้ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว เริ่มจากเช็คตัวเองในแต่ละวันว่าในวันนั้นเราใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวไปมากน้อยเท่าไหร่และจำเป็นต้องใช้หรือไม่ (ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่จำเป็น) รวมไปถึงการเช็คว่าพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายได้หรือไม่ (ถ้าไม่แน่ใจลองเช็คได้ที่ลิงก์นี้) เตือนตัวเองเกี่ยวกับการลดใช้พลาสติกอยู่เสมอหากเราต้องออกไปซื้อของในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต วางแผนการซื้อเพื่อจะได้วางแผนอุปกรณ์ที่เราจะเอาไปใส่วัตถุดิบอาหารหรือสิ่งของที่ซื้อ
  • จัดตู้เย็นเพื่อลดขยะอาหาร (Food Waste) ที่เป็นตัวการก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การจัดตู้เย็นยังช่วยลดเวลาการวางแผนซื้ออาหารและลดการซื้ออาหารที่ไม่จำเป็นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การปลูกผักกินเองก็เป็นทางเลือกที่ดีที่ทำให้เราปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคและลดการปล่อยรอยเท้าคาร์บอนจากการขนส่งอาหารอีกด้วย
  • หาวิธีการใช้ซ้ำ ด้วยภาชนะที่เรามีอยู่แล้ว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเช่น การใช้กล่องใส่อาหารที่ล้างสะอาด แต่ถ้าไม่สามารถใช้ซ้ำได้ก็ยังพอ ‘รีไซเคิลได้’ แยกขยะและค้นหาวิธีรีไซเคิล เราจะพบว่ามีร้านรับซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกแล้วเอาไปรีไซเคิล อย่างไรก็ตามการใช้ซ้ำยังเป็นทางออกที่ดีที่จะป้องกันไม่ให้เราได้รับพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวจากการซื้อของ
Plastic-Free Shopping Practices in Mangwon Market, Seoul. © Jung Park / Greenpeace
© Jung Park / Greenpeace

นักกิจกรรมออนไลน์ทั้งหลายลองเอาไอเดียเหล่านี้ไปปรับใช้กับตัวเองกันนะคะ อย่าลืมใส่ความคิดสร้างสรรค์และไอเดียเจ๋ง ๆ ลงไปด้วยล่ะ โลกของเราในตอนนี้การต้องอยู่แต่ในบ้านสร้างความปั่นป่วนต่อกิจกรรมนอกบ้านไม่น้อย แต่มันไม่สามารถหยุดการรณรงค์เพื่อชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศของเราได้

สุดท้ายแล้วก็อย่าลืม “การร่วมมือกัน” เพราะความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนการรณรงค์นั้นทรงพลังและมีความหมาย การร่วมมือกันจะช่วยให้เราชนะอุปสรรคไปได้ 

Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม