ตอนนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 และยังมีแนวโน้มว่าโรคระบาดครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียมากมายให้กับทุก ๆ ภาคส่วน

เนื้อหาโดยสรุป

  • สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) สามารถเพิ่มการแพร่กระจายของพาหะนำเชื้อโรค เช่น แมลงต่าง ๆ แบคทีเรีย และไวรัส เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะยิ่งทำให้อากาศชื้น และส่งผลให้เชื้อโรคและพาหะ (มักจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ)พัฒนาตัวเอง อยู่รอด และแพร่กระจายได้ดีกว่าเดิม
  • การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรอุตสาหกรรม การทำเหมือง ไม่ได้เป็นแค่สาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง แต่ยังทำให้สัตว์ต่าง ๆ ต้องอพยพไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นมนุษย์เองที่บังคับให้พวกมันอพยพมาใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์และใกล้ชิดกับคน เมื่อคนกับสัตว์พาหะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มการระบาดของโรคอย่างมีนัยยะสำคัญ
  • หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้
  • พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติจะเป็นเหมือนกำแพงที่แยกที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ป่าออกจากกัน มนุษย์จะปลอดภัยจากโรคระบาดและสัตว์ก็จะปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์

Lia Patsavoudi ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเวสท์ แอทติกา ในประเทศกรีซ และยังเป็นอาสาสมัครกับกรีนพีซ ได้เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึงผลกระทบของโรคระบาดต่อชีวิตของเราทุกคน ด้วยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอีกหลาย ๆ ท่านที่ต่างเชื่อว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นและกิจกรรมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมแปรปรวนมีส่วนทำให้ไวรัสปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้รุนแรงขึ้นเช่น COVID – 19 อธิบายง่าย ๆ คือวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นมีความเชื่อมโยงกับการแพร่กระจายของเชื้อโรค

โลกที่ร้อนขึ้นอาจทำให้โรคระบาดแพร่กระจายบ่อยขึ้น

อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นบวกกับความถี่จากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events) คาดว่าเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ฤดูกาล และความรุนแรงของโรคติดเชื้อ

Heat Wave in Seoul. © Soojung Do / Greenpeace
ในปี พ.ศ.2562 เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนในฤดูร้อน © Soojung Do / Greenpeace

อุทกภัย (ที่เป็นหนึ่งในสภาพอากาศสุดขั้ว) สามารถเพิ่มการแพร่กระจายของพาหะนำเชื้อโรค เช่น แมลงต่าง ๆ แบคทีเรีย และไวรัส เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะยิ่งทำให้อากาศชื้น และส่งผลให้เชื้อโรคและพาหะ (มักจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ)พัฒนาตัวเอง อยู่รอด และแพร่กระจายได้ดีกว่าเดิม สัตว์พาหะที่ว่าก็อย่างเช่นยุงและแมลงต่าง ๆ เป็นตัวนำพาโรคระบาด อาทิ โรคมาลาเรีย เป็นต้น นอกจากนี้โรคระบาดเช่นโรคไข้เลือดออก และโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus) ยังมีโอกาสไปแพร่กระจายในไปยังพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่า เพราะปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว

สำหรับโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์นั้น เกิดระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 ทางตอนเหนือของมหานครนิวยอร์กหลังสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานานและเกิดฝนตกหนัก ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด อิริน มอร์เดอไค ระบุเอาไว้ว่า “ประชากรในประเทศที่มั่งคั่งอย่างสหรัฐอเมริกานั้นไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว”

การที่มนุษย์แทรกแซงสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลก

Break Free from Plastic Activity in Batu Cave, Malaysia. © Han Choo / Greenpeace
ภาพลิงกำลังถือขวดพลาสติกที่คุ้ยได้จากกองขยะในแหล่งท่องเที่ยว Batu Cave มาเลเซีย © Han Choo / Greenpeace

จากข้อมูลขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development) ชี้ว่าราวร้อยละ 75 ของโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งนั้นมาจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน โดยโรคที่มีลักษณะการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนที่เรารู้จักกันเช่น ซาร์ส (SARS), ไข้หวัดนก (H5N1 avian flu) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1 influenza virus) ในขณะเดียวกัน จำนวนของสัตว์พาหะนำโรคที่เพิ่มขึ้นนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอพยพไปยังพื้นที่ใหม่เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย

จากปรากฎการณ์ข้างต้น บวกกับการหาแหล่งอาหารเพื่อความต้องการของมนุษย์เรา กลับเพิ่มโอกาสที่ให้มนุษย์ใกล้ชิดกับสัตว์พาหะและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ มนุษย์เราสร้างความปั่นป่วนให้กับสิ่งแวดล้อม ดังเช่นการทำลายผืนป่าแอมะซอนซึ่งไม่ได้เป็นแค่สาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง แต่ยังทำให้สัตว์ต่าง ๆ ต้องอพยพไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นมนุษย์เองที่บังคับให้พวกมันอพยพมาใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์และใกล้ชิดกับคน

เมื่อคนกับสัตว์พาหะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นจึงทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มการระบาดของโรคอย่างมีนัยยะสำคัญ

การฟื้นฟูระบบนิเวศจะช่วยหยุดการแพร่กระจายของโรคระบาด

พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติจะเป็นเหมือนกำแพงที่แยกที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ป่าออกจากกัน มนุษย์จะปลอดภัยจากโรคระบาดและสัตว์ก็จะปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์

Bat on Um Island in West Papua. © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace
ภาพค้างคาวสายพันธุ์ท้องถิ่นบินเหนือเกาะ Um ในโซโรง ปาปัวตะวันตก (West Papua) © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้

เมื่อใดที่ระบบนิเวศแปรปรวน เมื่อนั้นมนุษย์จะมีความเสี่ยงต่อโรคภัยมากขึ้น

Deforestation for Farming and Agriculture in Chaco Province, Argentina. © Martin Katz / Greenpeace
ภาพถ่าย The Gran Chaco ผืนป่าที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากป่าแอมะซอนในแอฟริกาใต้ ซึ่งอาร์เจตินาสูญเสียผืนป่าไปถึง 8 ล้านเฮกตาร์ในระยะเวลาเพียง 30 ปี ผืนป่าเหล่านั้นถูกนำไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และเกษตรอุตสาหกรรม © Martin Katz / Greenpeace

“การรุกล้ำผืนป่าโบราณด้วยการตัดไม้ ทำเหมือง และการพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นการพามนุษย์เข้าไปใกล้ชิดกับสายพันธุ์สัตว์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” – เคท โจนส์ ประธานสถาบันนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยลอนดอนคอลเลจ

“มนุษย์บุกรุกทั้งป่าฝนเขตร้อนและพื้นที่ธรรมชาติเป็นวงกว้าง ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นเป็นบ้านของสัตว์หลากสายพันธุ์รวมทั้งพืชหลายชนิด และสัตว์ป่าที่หลากหลายนั้นมีไวรัสที่เราไม่รู้จักแฝงอยู่อีกมาก เราตัดต้นไม้ เราฆ่าสัตว์ เราขังและขายพวกมันไปยังตลาด เราทำให้ระบบนิเวศปั่นป่วนและเราปล่อยไวรัสให้เล็ดรอดออกมาจากสัตว์พาหะ เมื่อไวรัสต้องการพาหะใหม่ แน่นอนว่าก็คือพวกเรา

องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization) รายงานรูปแบบการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่เปลี่ยนไปเนื่องจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องศึกษาถึงความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบที่สลับซับซ้อน และใช้ข้อมูลที่ได้มาปรับใช้เพื่อประเมินผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ต่อการแพร่ระบาดกับการคาดการณ์รูปแบบการแพร่กระจาย และความเป็นได้ที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

เรายังมีโอกาสสร้างโลกที่เราอยากให้เป็นหลังวิกฤตครั้งนี้

แม้ว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสนี้เราจะต้องรักษาระยะห่างจากกัน แต่มาตรการ “การรักษาระยะห่างทางกายภาพ” นี้กำลังทำให้เราเสียสละบางอย่าง เพื่อสิ่งที่ดีกว่า เราได้เห็นความร่วมมือของชุมชนอย่างจริงจังขึ้น และได้เห็นการแบ่งปันของผู้คนในยามจำเป็นเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้เคยประกาศไปยังมีความเสี่ยงที่จะถูกยกเลิกเนื่องจากวิกฤตสถานการณ์การเงินของโลกหลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจังเพื่อโลกที่เราอยากเห็นหลังผ่านวิกฤตครั้งนี้

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
เยาวชนหลายพันคนรณรงค์ บริเวณสวนลุมพินี เพื่อเรียกร้องการลงมือกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ของเยาวชนทั่วโลกในชื่อ Fridays for Future © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ในช่วงเวลาที่มืดมนและยากลำบากนี้ สมควรที่จะยกประโยคของคุณ บิล แม็คคิบเบน ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว CNBC ที่ว่า “ถ้าบทเรียนในครั้งนี้ทำให้เรากลับไปสู่สถานะเดิมที่เป็นอยู่แล้วล่ะก็ บางทีไวรัสอาจจะชะลอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน แต่ถ้าบทเรียนนี้ทำให้เราลงมือปฏิบัติการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้รัฐบาลทำงานได้เร็วขึ้นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงโดยเฉพาะในเวลาที่ทั่วโลกไม่ได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้เลย”

Lia Patsavoudi ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัย เวสท์ แอทติกา และอาสาสมัครของกรีนพีซ กรีซ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :

  1. What could warming mean for pathogens like Coronavirus? by Chelsea Harvey, Scientific American March 9, 2020.
  2. How Climate Change is Exacerbating the Spread of Disease by Renee Cho. State of the Planet. Earth Institute, Columbia University, 2014.
  3. How does climate change affect disease? by Rob Jordan, Stanford Woods Institute for the Environment, 2019.
  4. Deforestation and threats to the biodiversity of Amazonia. IC Vieira et al. Braz. J.Biol.68, 949-956, 2008.
  5. Climate change and infectious diseases, World Health Organization 2020.
คืนอากาศดีให้คนไทย

เราทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดและต้องการให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนจากมลพิษทางอากาศ ร่วมผลักดันกรมควบคุมมลพิษเพื่อยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทย

มีส่วนร่วม