เนื้อหาโดยสรุป

  • รายงานของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกพบ บริษัทผู้จัดหาปลาทูน่ารายใหญ่ของไต้หวันเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การล่าฉลามเพื่อนำครีบมาขาย และขบวนการค้ามนุษย์บนเรือประมง
  • ปลาทูน่าที่ถูกจับได้จะถูกกระจายขายต่อให้บริษัทอาหารทะเลแปรรูปหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นทูน่ากระป๋องที่คุณเพิ่งซื้อมาก็ได้
  • กรีนพีซยื่นข้อเสนอให้ บริษัท FCF ก้าวขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่เอื้อให้เกิดการใช้แรงงานบังคับ และการทำลายสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาสนับสนุนอาหารทะเลที่จับโดยชาวประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้าน แทนการบริโภคอาหารทะเลที่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์

FCF คือใคร? 

บริษัท FCF เป็น บริษัทผู้จัดหาปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ซึ่งพัวพันกับการประมงผิดกฎหมาย และการใช้แรงงานบังคับบนเรือประมง

รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก เปิดเผยข้อมูลที่ระบุชัดถึงการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทค้าอาหารทะเลของไต้หวัน และกรณีการละเมิดสิทธิลูกเรือประมงที่มาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการทำประมงที่เข้าข่ายผิดกฎหมายสากล 

 ลูกเรือจากเรือประมง A สะท้อนถึงความยากลำบากในการทำงานว่า  “ถ้าเราจับปลาได้ เราก็อาจได้รับอนุญาตให้นอนได้ประมาณห้าชั่วโมง แต่ถ้าจับปลาไม่ได้เลย ก็แปลว่าเราต้องทำงานต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ มากกว่า 34 ชั่วโมงเลยทีเดียว”

บริษัท ฟุงชุนฟอร์โมซ่า หรือชื่อย่อ FCF มีรายได้ต่อปีประมาณ 45 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีบริษัทคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปเป็นจำนวนมาก ในหลายประเทศ ทั้งยังเป็นเจ้าของเรือประมงมากกว่า 500 ลำ

แผนที่แสดงตลาด ผู้ซื้อ คู่ค้า และโรงงานของ FCF ทั่วโลก

แม้ว่า บริษัท FCF จะมีมาตรการเรื่องความยั่งยืนและระบบการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน แต่หลักฐานหนึ่งที่ชี้ให้เห็น “จุดบอด” ที่สำคัญในของบริษัท FCF ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเรือประมง ว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับการล่าฉลาม เพื่อนำครีบมาขายและการค้ามนุษย์

Sharks Caught by Longliner. Copyright Reserved
ฉลาม สัตว์น้ำผลพลอยได้และโศกนาฏกรรมกับลูกฉลาม © Copyright Reserved

จากการสัมภาษณ์ลูกเรือประมงต่างชาติ บนเรือประมงอย่างน้อยสองลำ พบว่าเข้าข่ายการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ซึ่งเป็นหลักการสากลที่บริษัทเรือประมงทุกบริษัทต้องยึดถือ โดยปลาที่จับได้ด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย ถูกส่งให้แก่บริษัท FCF ก่อนจะกระจายขายต่อให้บริษัทอื่นๆ ไปแปรรูปทั่วโลก ซึ่งตอนนี้อาจเป็นทูน่ากระป๋องที่คุณเพิ่งซื้อมาก็ได้

คำสัมภาษณ์ลูกเรือประมง ยังเผยให้เห็นถึงวิธีการล่าฉลามที่โหดร้าย

“เราเก็บแค่หู (ครีบ) ฉลามเท่านั้นและทิ้งส่วนที่เหลือทั้งหมด เดือนก่อน ผมยังตากแห้งหูฉลามอยู่เลย แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน เราเห็นเรือลาดตระเวนของอเมริกันอยู่ใกล้ๆ  กัปตันเรือกลัวมากและบอกให้ผมเอาหูฉลามทั้งหมดไปซ่อน เพื่อไม่ให้คนอเมริกันเห็น”

รายงานของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ยังฉายภาพให้เห็นถึงการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล (Transshipment) จากเรือบางลำ ที่คาดว่าจะเป็นหนึ่งในเรือของบริษัท FCF ที่มีเครือข่ายให้บริการเรือขนถ่ายสินค้ากว่า 30 ราย  ทั้งนี้ มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล เชื่อมโยงกับการทำประมงมากเกินไปและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานกลางทะเล

การขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล เป็นกิจกรรมที่เปิดช่องให้เรือประมงลอยลำเพื่อทำประมงกลางทะเลและอยู่ห่างไกลจากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ได้นานมากขึ้น โดยดำเนินการนอกกรอบกฎหมาย เรือแม่จะทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหาร น้ำมัน และบางครั้งยังมีการส่งแรงงานบังคับที่มาจากการค้ามนุษย์อีกด้วย

Preparation of Transshipment at Sea. Copyright Reserved
ปลาทูน่าที่กำลังถูกขนถ่ายกลางทะเล © Copyright Reserved

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่ากิจกรรมที่ผิดกฎหมายนี้ยังคงดำเนินอยู่ได้ โดยไม่ถูก ‘เจ้าหน้าที่’ ตรวจสอบได้อย่างไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า พื้นที่ทะเลหลวง นั้นก็เปรียบเสมือนกับดินแดนที่ห่างไกล จึงหลุดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่ไปได้ง่าย ประกอบกับความคลุมเครือของกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้เป็นหลายบริษัทใช้โอกาสจากช่องว่างทางกฎหมายเหล่านี้

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่สำคัญ ก็คือนโยบายด้านแรงงานประมงของประเทศไต้หวัน ยังมี “ช่องโหว่” อยู่หลายด้าน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ การคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานต่างชาติที่ทำงานเขตประมงนอกน่านน้ำ (Deep Water Fleet) ทั้งนี้ มีลูกเรือประมงต่างชาติทำงานอยู่บนเรือประมงสัญชาติไต้หวันในเขตทะเลนอกน่านน้ำมากถึง 20,000 คน  ซึ่งปัจจุบัน ชีวิตของลูกเรือเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยง จากระบบกฎหมายประมงของไต้หวัน ที่เป็นแบบ โครงสร้างกฎหมายสองชั้น (Two-tiered system) กล่าวคือ กฎหมายแรงงานของไต้หวันจะคุ้มครองเฉพาะแรงงานในประเทศ แต่จะไม่ครอบคลุมถึงแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่บนเรือประมงที่ชักธงไต้หวัน และลอยลำอยู่นอกน่านน้ำ นำมาสู่ความเสี่ยงที่จะผลักให้แรงงานต่างชาติตกอยู่ในสภาวะการเป็นทาสสมัยใหม่ และการเลือกปฏิบัติกับแรงงาน

“ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากมีเวลาทำงานและเวลาพักที่สมดุลมากกว่านี้ ที่เหมาะสมกับขีดความสามารถของร่างกายแบบเดียวกับที่คนทำงานบนบกเขาทำกัน

ถึงเวลาอย่างยิ่งแล้ว ที่รัฐบาลไต้หวันจะต้องก้าวขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานประมงต่างชาติที่ทำงานให้กับอุตสาหกรรมของไต้หวัน  โดยเริ่มจากการยกเลิกระบบโครงสร้างกฎหมายสองชั้น และหันมาบังคับใช้

อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน รวมถึงเพิ่มมาตรการตรวจสอบ และกลไกการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้สมกับที่ไต้หวันประกาศตนเป็น ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียแปซิฟิก

บริษัทหนึ่งจะสามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมประมงได้อย่างไร  หากเราพิจารณาจากเครือข่ายและสถานะทางการเงินของบริษัท FCF ซึ่งล่าสุดเพิ่งเข้าไปซื้อกิจการของบริษัท Bumble bee บริษัทผลิตทูน่ากระป๋องยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่ากว่า 930 ล้านเหรียญสหรัฐ  ก็ตอกย้ำให้เห็นว่า บริษัทแห่งนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารทะเลนับตั้งแต่การจับปลาไปจนถึงชั้นวางขายสินค้า

Taiwanese Fishermen in the Pacific Ocean. © Greenpeace / Paul Hilton
ลูกเรือประมงไต้หวันกำลังวางเบ็ดราว © Greenpeace / Paul Hilton

4 สิ่งที่ FCF สามารถทำได้ เพื่อหยุดอาหารทะเลผิดกฎหมายมาถึงผู้บริโภค:

1) เปิดเผยบัญชีรายชื่อเรือที่เป็นซัพพลายเออร์สินค้าทั้งหมด พร้อมข้อมูลแผนงานเพื่อสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชนภายในองค์กร

2) ประกาศนโยบายเพื่อยุติการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลที่โปร่งใสต่อสาธารณะ สามารถวัดผลได้ มีขอบเขตเวลาที่ชัดเจน และหันมารับซื้อสินค้าจากเรือที่มีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนถ่ายในทะเล

3) จัดซื้อสินค้าจากเรือประมงที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า มีการจัดจ้างแรงงานที่เป็นธรรม 100% หรือมีการติดตั้งระบบอิเลกทรอนิกส์ ที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบจุดจอดเรือได้อย่างแม่นยำ

4) ยกระดับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนในเรือประมงทูน่า ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงกำหนดนโยบายเกี่ยวกับที่ชัดเจนถึงกรอบระยะเวลาที่เรือประมงควรอยู่ในทะเล และรับซื้อสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบโดยรัฐเจ้าของท่าเรือเท่านั้น

เราสามารถช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผ่านการแสดงออกที่สะท้อนว่า หากภาคธุรกิจยังไม่ปรับตัวคุณก็จะไม่มีวันได้เงินจากเรา  ด้วยการสนับสนุนอาหารทะเลที่จับโดยชาวประมงขนาดเล็ก หรือประมงพื้นบ้าน อาหารทะเลของเราต้องไม่มาจากการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ

ภาคอุตสาหกรรมประมงจะต้องตัดสินใจได้แล้วว่า จะยังคงเลือกทำประมงแบบเก่า ที่เน้นกวาดล้างมหาสมุทร และเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ต่อ หรือเลือกที่จะฟังเสียงลูกค้าและหันหัวเรือไปสู่อนาคตที่ยุติธรรมและยั่งยืนสำหรับการประมง

ดูรายงาน “ทะเลนอกน่านน้ำ: แรงงานบังคับและการประมงที่ผิดกฎหมายในไต้หวัน” ที่นี่

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม