ประเด็นแรกสุดและสำคัญมากที่สุดในเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัส(COVID-19) คือประเด็นว่าด้วยสาธารณสุขและความปลอดภัย แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและแบบแผน ในชีวิตประจำวันของคนในสังคมเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการระบาดก็ได้ส่งผลกระทบที่ลึกซึ้งต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน อาจยังมีความเข้าใจและการสื่อสารข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนในเรื่องดังกล่าว และต่อไปนี้คือ ภาพสองด้านของวิกฤตมลพิษทางอากาศไทยในสถานการณ์ COVID-19

การลดลงมลพิษทางอากาศชนิดหนึ่ง(จากการวิเคราะห์ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม) ไม่ได้หมายถึงว่าอากาศจะปลอดจากมลพิษทั้งหมด

ข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-5 ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) เผยให้เห็นแหล่งกำเนิดและความหนาแน่นเฉลี่ยรายเดือนของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ในบรรยากาศของช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของปี 2562 เปรียบเทียบกับ 2563 บริเวณตอนกลางของประเทศไทย (ที่มา : http://www.gistda.or.th/main/th/node/3777)

ภาพแรกเป็นข้อมูลจากการวิเคราะห์ของจิสดา(GISTDA) ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณความหนาแน่นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมของทั้ง 2 ปี โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2563 มีการลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ค่าสูงสุดของเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ประมาณ 190 µmol/m² แต่ค่าสูงสุดของเดือนมีนาคม 2563 ลดเหลืออยู่ที่ประมาณ 130 µmol/m² ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากกิจกรรมต่างๆ เริ่มยุติลงเนื่องจากมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 เช่น ลดการเดินทาง ทำงานที่บ้าน ปิดสถานที่สาธารณะ เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งเป็นคู่หูของ PM2.5 ลดลง

ภาพแรกอาจมองดูว่าเป็นความตื่นตาตื่นใจที่เราสามารถติดตามตรวจสอบตัวชี้วัดของระดับกิจกรรมที่ลดลงของสังคมมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องกล่าวในที่นี้ว่า การลดลงมลพิษทางอากาศ ชนิดหนึ่ง (จากการวิเคราะห์ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม)ไม่ได้หมายถึงว่า อากาศจะปลอด จากมลพิษทั้งหมด

อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเจอทั้งฝุ่นและเชื้อโรคในเวลาเดียวกัน

ภาพเปรียบเทียบขอบเขตการกระจายตัวของมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง (the Mekong sub-region)และจุดความร้อนที่กระจายตัวอย่างหนาแน่นในเมียนมาร์ สปป.ลาวและไทย ในวันที่ 15 มกราคม 2563 และ 28 มีนาคม 2563 (ที่มา : http://asmc.asean.org/home/#)

ภาพที่สองแสดงแบบแผนการกระจายตัวของมลพิษทางอากาศในวันที่ 15 มกราคม 2563 และ 28 มีนาคม 2563 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศ จากหมอกควันข้ามพรมแดน (transboundary haze pollution) ของ ASEAN Specialised Meteorological Centre(ASMC) ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษทางอากาศ จากหมอกควันข้ามพรมแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) จะเห็นว่าในเดือนมีนาคม 2563 อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวมถึงภาคเหนือตอนบนของไทยต้อง เผชิญกับมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อผลกระทบต่อสุขภาพสูงมาก

เมื่อนำภาพทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เราได้เห็นความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วของมลพิษทางอากาศในสถานการณ์ COVID-19 ของไทย

มาตรการการป้องกันการระบาดโควิด-19 เช่น ลดการเดินทาง ทำงานที่บ้าน ปิดสถานที่สาธารณะ เป็นต้น ทำให้การปล่อยมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการคมนาคมขนส่งและภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ภาคเหนือตอนบนของไทยเผชิญกับวิกฤตสองด้านคือ ทั้งการแพร่ระบาด COVID-19 และหมอกควันพิษจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง

ภาพที่สองท้าทายเราให้พิจารณาถึงมลพิษทางอากาศในฐานะเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ซ้อนทับลงไปบนความขัดแย้งที่ลงลึกในทุกมิติและทุกระดับของสังคม และเห็นได้ชัดว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่อ้างว่าจะ “สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน” นั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

แน่นอนว่าเรายังคงมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากโรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จริงๆ แล้ว ระบบต่างๆ ที่เราเห็นอยู่และสำคัญยิ่งยวดในการต่อกรกับ COVID-19 นั้นเป็นที่ต้องการอย่างมากในการแก้ไขปัญหาผลกระทบสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศด้วย

ปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าหากรัฐบาลและเราทุกคนตระหนักว่าทุกสิ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (Everything Is Connected to Everything Else) และเมื่อเรารับรู้ร่วมกันต่อสภาวะที่เร่งด่วนร้อนรน ไม่ว่าจะเป็น การแพร่ระบาดของโรคหรือมลพิษทางอากาศ นอกจากภาวะผู้นำที่ใช้กำหนดทิศทางที่ชัดเจนต่อสาธารณะ ทำทุกอย่างอย่างมีเป้าหมาย และมีความเห็นอกเห็นใจแล้ว การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมเพื่อสังคมที่ยั่งยืนและเป็นธรรมก็มีความสำคัญในระดับเดียวกัน

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม