ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาด ทำให้หลายๆครอบครัวต้องอยู่ที่บ้านกันมากขึ้น และใช้เวลากับสมาชิกในครอบครัวมากขึ้นเช่นกัน กรีนพีซมีเกมและกิจกรรมสนุกๆ มาแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองที่ลูกๆ ในช่วงที่โรงเรียนหยุด เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องมลพิษพลาสติก จนนำไปสู่ความเข้าใจในสถานการณ์และเปลี่ยนพฤติกรรมลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในที่สุด

เกมและกิจกรรมที่นำเสนอนี้มีทั้งที่เหมาะกับเด็กเล็กวัย 6 ขวบขึ้นไป และเด็กโตอายุ 12 ปีขึ้นไป พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำไปปรับใช้กับเด็กๆ ของทุกท่านได้อย่างอิสระ เพื่อให้เข้ากับวัยและการเรียนรู้ของพวกเขา  

1.พลาสติกมีหลากเรื่องราว

Product Shot of Plastic Items. © Fred Dott / Greenpeace
อุปกรณ์ในชีวิตประจำวันที่เป็นพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง © Fred Dott / Greenpeace

นำของที่ทำจากพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาจำนวนหนึ่ง แล้วบอกเล่าเรื่องราววงจรชีวิตของพลาสติกให้เด็กๆ ฟัง เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนถึงระยะเวลาที่มันมีประโยชน์กับระยะเวลาที่มันทำลายสิ่งแวดล้อมว่าแบบไหนยาวนานกว่ากัน

มาเริ่มเตรียมวัสดุอุปกรณ์กันเลย

  • พลาสติกที่ทำความสะอาดแล้ว เช่น ขวดน้ำดื่ม พลาสติกหุ้มฝาเครื่องดื่ม  ช้อนส้อมพลาสติก ถุงพลาสติก แก้วกาแฟ
  • กระดาษรีไซเคิล
  • ดินสอสี

ขั้นตอนการเล่น

1.พ่อแม่เลือกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่พบได้ทั่วไปและใช้ในชีวิตประจำวันมาให้เด็กๆ ได้เห็น

2.หลังจากนั้น ก็เล่าเรื่องราวของพลาสติกชิ้นนั้นให้ลูกๆฟัง เช่น วงจรชีวิต แหล่งกำเนิด ในแง่ทำไมมันจึงถูกสร้างขึ้นมาและมันจะจบลงที่ไหน ลองให้ลูกวิเคราะห์ถึงระยะเวลาอันสั้นที่มันมีชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เปรียบเทียบกับระยะเวลาอันยาวนานที่มันเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

3. ให้เด็กๆ ช่วยกันคิดว่า พลาสติกชิ้นนั้นๆ ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ สัตว์ และมนุษย์อย่างไร และให้เด็กๆ วาดภาพเรื่องราวพลาสติกในความเข้าใจของตนเองลงบนกระดาษที่เตรียมไว้ และแลกเปลี่ยนกับพ่อแม่หรือพี่น้องในบ้าน

4. ก่อนจบกิจกรรม พ่อแม่ลองชวนเด็กๆ พูดคุยถึงแนวทางหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

2.แต่งแต้มสิ่งของใช้ซ้ำตามใจชอบ

Children's Day Event about Mobility in Seoul. © David Jaemin Byun / Greenpeace
© David Jaemin Byun / Greenpeace

พ่อแม่จัดกิจกรรมให้ลูกๆ แต่งแต้มอุปกรณ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำให้สวยงามตามความชอบของพวกเขาเอง เพื่อสร้างพลังบวกให้เด็กๆ อยากหยุดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

มาเริ่มเตรียมวัสดุอุปกรณ์กันเลย

  • ปากกากันน้ำ 
  • แปรงและสีที่ไม่ผสมสารอันตราย
  • สิ่งของใช้ซ้ำซึ่งนักเรียนสามารถปรับแต่งได้ เช่น แก้วเซรามิกขนาดเล็ก
  • จานและช้อนส้อมที่นำมาใช้ซ้ำได้ 
  • ขวดน้ำดื่มใช้ซ้ำ

ขั้นตอนการประดิษฐ์

1. พ่อแม่จัดเตรียมสิ่งของใช้ซ้ำที่มีอยู่แล้วที่บ้าน เช่น แก้วเซรามิก ช้อนส้อม และขวดน้ำดื่ม ฯลฯ ให้เด็กๆ เลือกชิ้นที่พวกเขาชอบ แล้วให้พวกเขาระบายสีตกแต่งภาชนะใช้ซ้ำของตัวเอง

2. ในขณะที่เด็กๆ กำลังตกแต่งอุปกรณ์ของตัวเอง พ่อแม่ก็ชวนเขาคุยเรื่องการใช้ซ้ำ หรือชวนเขาตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงต้องใช้แก้วพลาสติกล่ะในเมื่อเรามีแก้วเซรามิกสวยๆ อยู่แล้ว เป็นต้น 

3.มลพิษพลาสติกคืออะไร?

เอาวัสดุจากธรรมชาติและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งมาประกอบการเล่นกับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงการใช้พลาสติก สัตว์ป่า และชุมชนของพวกเขาได้

มาเริ่มเตรียมวัสดุอุปกรณ์กันเลย 

  • แผนที่โลกขนาดใหญ่
  • รูปภาพธรรมชาติสวยงามปราศจากมลพิษ
  • วัสดุจากธรรมชาติที่สามารถพบได้ในธรรมชาติอันสวยงามตามรูปภาพที่เตรียมไว้ เช่น ก้อนหิน ใบไม้แห้ง ทราย หญ้า
  • พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ขวดน้ำ พลาสติกหุ้มฝาเครื่องดื่ม ช้อนส้อมพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก 
World Oceans Day Mural in London. © Michelle Meola @michellemeolamuraldesigns
© Michelle Meola @michellemeolamuraldesigns

ขั้นตอนการเล่น

1. พ่อแม่ให้เด็กๆ ดูรูปภาพธรรมชาติที่หลากหลาย และให้พวกเขาพูดถึงธรรมชาติแต่ละที่ และลองทายกันเล่นๆ ว่าธรรมชาติที่พวกเขาเห็นนั้นควรตั้งอยู่ตรงไหนของแผนที่โลก หลักจากนั้น ให้นำรูปภาพไปวางบนแผนที่โลกขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้

3. พ่อแม่นำวัสดุจากธรรมชาติมาให้นักเรียนรู้จัก ให้พวกเขาระบุลักษณะของวัสดุแต่ละชิ้น และเลือกว่าวัสดุชิ้นไหนอยู่ในธรรมชาติรูปแบบไหน  

4. ต่อจากนั้น พ่อแม่นำพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งออกมา ให้เด็ก ๆ อธิบายลักษณะของพลาสติกแต่ละชิ้น และวางมันบนแผนที่โลกและบนรูปภาพธรรมชาติจนเต็มแผนที่

5. พ่อแม่ลองชวนเด็กๆ คิดต่อว่า มลพิษเหล่านี้มีข้อดีหรือข้อเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า มลพิษอย่างไร และเราจะหยุดใช้มันได้อย่างไร 

4.ผจญภัยในโลกมหาสมุทร

ใช้วิดีโอการ์ตูนหรือสารคดีง่ายๆแต่สื่อสารข้อมูลชัดเจน เพื่อจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับมลพิษพลาสติก

มาเริ่มเตรียมวัสดุอุปกรณ์กันเลย 

ขั้นตอนการเล่น

1. พ่อแม่เปิดแอนิเมชั่นชุด ‘Sea Turtle and Girl’s Plastic Story’ หรือ ซีรีย์ ‘Blue Planet II’ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวมลพิษพลาสติกให้เด็กๆ ดู 

2. ชวนลูกๆคุยกันถึงปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นในแอนิเมชั่น เช่น สิ่งที่ลูก ๆ ได้เรียนรู้ในแอนิเมชั่น มลพิษเหล่านั้นส่งผลต่อสัตว์ไหม สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ฯลฯ พ่อแม่ลองให้เด็กๆ ถามคำถามที่พวกเขารู้สึกสะท้อนใจเกี่ยวกับพลาสติกที่เกิดขึ้นในแอนิเมชั่น และพ่อแม่เขียนลงบนกระดาษ

3. ให้พวกเขาช่วยกันเลือกข้อความที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญที่สุด และแลกเปลี่ยนกัน พ่อแม่และเด็กๆ ช่วยกันคิดต่อว่าเราจะช่วยกันลดมลพิษพลาสติกได้อย่างไร

5.ชั่วโมงศิลปะ ตัดแปะ สรรสร้างมหาสมุทร

ชั่วโมงของความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้เด็กๆ มองเห็นภาพใหญ่ของมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์กับมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยมลพิษ โดยใช้เทคนิคการตัดแปะ (collage)

Children's Day Event about Mobility in Seoul. © David Jaemin Byun / Greenpeace
© David Jaemin Byun / Greenpeace

มาเริ่มเตรียมวัสดุอุปกรณ์กันเลย 

  • กระดาษขนาดใหญ่
  • เทปกาว
  • วัสดุใช้ครั้งเดียวทิ้งและพลาสติกสะอาด เช่น ขวดน้ำ พลาสติกหุ้มฝาเครื่องดื่ม ช้อนส้อมพลาสติก ถุงพลาสติก แก้ว และจานใส่อาหารพลาสติก 
  • สีสำหรับทาที่ไม่มีสารพิษ
  • แปรง
  • กรรไกร
  • กระดาษรีไซเคิล

ขั้นตอนการเล่น

1.พ่อแม่และลูกๆ ช่วยกันรังสรรค์กระดาษเป็นมหาสมุทร เช่น ทาสีน้ำเงินหรือหากระดาษสีน้ำเงินมาปิดลงบนกระดาษ แล้ววาดขอบด้านล่างเป็นรูปพื้นมหาสมุทร และวาดรูปคลื่นที่ด้านบน 

2.พ่อแม่นำวัสดุใช้ครั้งเดียวทิ้งมาวาง แล้วหยิบขึ้นมาทีละชิ้นและถามเด็กๆ ว่า สิ่งนี้สามารถเล็ดลอดสู่มหาสมุทรได้หรือไม่ ถ้าได้ ให้นำไปแปะลงบนกระดาษสีน้ำเงิน (ซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ที่เตรียมไว้สามารถเล็ดลอดลงสู่มหาสมุทรได้)

3. ทุกคนในครอบครัวพูดคุยกันถึงความเสียหายหรือผลกระทบของพลาสติกที่ส่งผลต่อมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อม และคิดหาทางออกที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ไร้ขยะพลาสติก และพวกเขามีส่วนทำให้เป้าหมายสำเร็จได้อย่างไร 

4. หลังจากทราบวิธีแก้ปัญหาแล้ว ให้ดึงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งออกจากมหาสมุทร หรือ ช่วยกันสร้างมหาสมุทรแห่งใหม่ที่ปราศจากมลพิษพลาสติก

5. หลังจากนั้น ให้เด็กๆ วาดหรือตัดภาพสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอันอุดมสมบูรณ์ แล้วแปะเพิ่มเข้าไปบนมหาสมุทร

6. กิจกรรมนี้ย่อมต้องมีวัสดุเหลือจากการทำกิจกรรม พ่อแม่ลองให้ลูกๆ พิจารณาวัสดุที่เหลือว่าสามารถนำไปใช้ซ้ำต่อได้หรือไม่ หรือนำไปสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่อะไรสำหรับกิจกรรมในอนาคต และเน้นย้ำให้เด็กๆ ระลึกเสมอว่า ยิ่งพวกเขาซื้อวัสดุน้อยเท่าไหร่ พวกเขายิ่งสร้างขยะน้อยเท่านั้น

6.Plastic Concentration

Waste Audit at Rujiseri School in Thailand. © Roengchai  Kongmuang / Greenpeace
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

จุดหน้าสนใจของเกมนี้คือ  ‘สมาธิและการจดจำ’ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งมีเยอะและเกลื่อนกลาดมากแค่ไหน และพวกเขาจะสามารถนำวิธีการ ‘ใช้ซ้ำและแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน’ มาใช้เป็นหนทางนำไปสู่อนาคตปราศจากขยะ

มาเริ่มเตรียมวัสดุอุปกรณ์กันเลย 

  • ผ้าผืนใหญ่ เช่น ผ้าปูโต๊ะ 
  • พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ทุกคนรู้จักกันดี เช่น 
    • ฝาขวด 
    • ขวดน้ำพลาสติก 
    • อุปกรณ์การกินอาหารแบบพลาสติกใช้แล้วทิ้ง
    • ภาชนะใช้อาหารแบบพลาสติกใช้แล้วทิ้ง
    • ถุงหิ้วพลาสติก 
    • บรรจุภัณฑ์พลาสติก 
    • ฝาครอบแก้วน้ำ
    • หลอดพลาสติก 

ขั้นตอนการเล่น

  1. พ่อแม่นำพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหมดวางกระจายบนโต๊ะ
  2. ให้เด็กๆ มายืนรอบๆ โต๊ะ แล้วให้เวลาพวกเขา 15 วินาทีเพื่อมองและจดจำว่าพลาสติกชิ้นไหนที่อยู่ใต้ผ้า
  3. หลังจากนั้น พ่อแม่นำผ้าผืนใหญ่ที่เตรียมไว้มาคลุมพลาสติกทั้งหมด
  4. ให้เด็กๆ ผลัดกันตอบว่าพลาสติกที่อยู่ใต้ผ้ามีอะไรบ้าง คนไหนจำได้มากที่สุดก็เป็นผู้ชนะ 
  5. ขั้นสุดท้าย พ่อแม่อธิบายลักษณะพลาสติกทุกชิ้นและให้ลูกๆ ช่วยกันคิดว่า พลาสติกชิ้นไหนที่สามารถนำภาชนะใช้ซ้ำมาใช้แทนได้บ้าง

7.แยกขยะลงถังให้ถูกต้อง

เกมนี้ช่วยทดสอบความรู้ของเด็กๆ และสอนให้พวกเขารู้จักการแยกขยะพลาสติกและขยะประเภทอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ลองดูเกมที่ตนเองสนใจและเหมาะกับวัยของลูกๆ เพื่อสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และสนุกไปกับการเรียนรู้ผ่านเกมได้ 

เกมที่แนะนำนี้เป็นเกมภาษาอังกฤษ ที่ใช้คำศัพท์ง่ายๆ และวิธีการเล่นไม่ซับซ้อน ทั้งครอบครัวสามารถสนุกไปพร้อมกันได้ 

Waste Audit at Rujiseri School in Thailand. © Roengchai  Kongmuang / Greenpeace
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

สิ่งที่ต้องเตรียม

  • คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน

ขั้นตอน

1.หลังจากที่พ่อแม่สอนลูกๆ เกี่ยวกับการรีไซเคิล การหมัก การใช้ซ้ำ และการกำจัดขยะอย่างถูกต้องแล้ว ถึงเวลาที่เด็กๆจะได้ลองเล่นเกมสนุกๆ เพื่อช่วยให้จดจำได้มากขึ้น

2. ถ้าที่บ้านมีเด็กหลายคน อาจให้พวกเขาจับคู่กันเล่น หรือจะเล่นเป็นกลุ่มก็ได้

3. หลังจากเล่นเกมเสร็จแล้ว ทั้งครอบครัวพูดคุยกันถึงการแยกขยะว่า ขยะประเภทไหนต้องทิ้งลงถังแบบไหน และเกมอะไรเล่นยากที่สุด เป็นต้น

หลังจากเล่นเกม อย่าลืมลงมือทำจริงกัน! เริ่มแยกขยะที่บ้าน แยกขยะออกเป็นประเภท ติดป้ายที่แต่ละถังให้ชัดเจน สามารถเริ่มแบ่งตามประเภทโดยดูเพิ่มเติมได้จากที่นี่เลย