ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ห้วงเวลาซึ่งเมืองเชียงใหม่ถูกปกคลุมไปด้วยกลุ่มควันไฟที่เกิดขึ้นจากไฟป่า และเชียงใหม่ขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก กรีนพีซ ประเทศไทย ได้มีโอกาสสนทนากับคุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา ถึงมุมมองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและทางออกที่ยั่งยืน

ถาม : ข้อสังเกตกรณีไฟป่าดอยสุเทพ-ปุย

ตอบ : ผมอยากให้เรามองถึงภาพรวม 2 ประการก่อนครับ ประการแรกคือภูมินิเวศ (landscape structure) ของภาคเหนือตอนบนซึ่งมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือประกอบด้วยพื้นที่ราบลุ่ม 10% พื้นที่ดอน 30% พื้นที่สูง (เขตภูเขา) 60% เฉพาะเขตจังหวัดเชียงใหม่มีดอยที่สูงอันดับ 1-3 ของประเทศ คือดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก และดอยหลวงเชียงดาว พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะและมีเทือกเขาใหญ่ดอยสูงรายล้อมอยู่ดังกล่าวนี้ เป็นเงื่อนไขทางกายภาพที่เอื้อให้ฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดที่พัดพาโดยกระแสลมเข้ามาในแอ่ง และในสภาวะที่มีความเร็วลมต่ำยิ่งทำให้มลพิษทางอากาศสะสมภายในแอ่งมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการรองรับ (carrying capacity) ของภูมินิเวศของพื้นที่ด้วย

ประการที่สองคือระบบนิเวศป่าไม้ ป่าภาคเหนือมีทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ช่วงฤดูแล้งป่าเหล่านี้จะผลัดใบ ทิ้งใบเพื่อความอยู่รอดเพราะน้ำน้อยลง จากประสบการณ์ของผม 40 ปี ที่ร่วมทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการป่าชุมชนร่วมกับ นักวิชาการและชุมชน ธรรมชาติของป่าผลัดใบต้องมีไฟ ดูจากเปลือกต้นไม้จะทนไฟ เปลือกเมล็ดจะแข็งหนาต้องมีไฟจึงงอกได้ดี และหากปล่อยให้เกิดการสะสมใบหนามากๆ ก็จะเกิดไฟที่ทำลายล้างผืนป่าอย่างหนักหน่วง ดังนั้น การห้ามเผาไม่สอดคล้องกับธรรมชาติที่เป็นจริง วิชาการสมัยใหม่จึงมีคำว่า “การจัดการไฟ (fire managment)” ให้เหมาะสม ไม่ทำลายล้างผืนป่าและไม่กระทบกับคุณภาพอากาศ

กรณีไฟป่าดอยสุเทพนี้คิดว่าน่าจะไม่มีไฟมาราว 10 ปีแล้ว ทำให้เชื้อเพลิง (ชีวมวลจากใบไม้) สะสม ชาวบ้านบอกว่าไฟป่าดอยสุเทพเป็นไฟสามชั้น ชั้นแรกคือเกิดจากใบไม้ที่เพิ่งผลัดใบ ชั้นที่สองเป็นใบไม้ที่ผลัดใบมาก่อนหน้านี้ ส่วนอีกชั้นก็อยู่ใต้ดินลงไปอีก บางทีถ้าดูจากข้างบนจะมองเห็นว่าไฟดับ แต่จริง ๆ แล้วมันคุกรุ่นอยู่ข้างล่างสุด และปะทุอยู่ตลอดเวลา

ไฟป่าใกล้วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ (29 มี.ค.63)  © โดรนอาสา

ชุมชนซึ่งอยู่กับภูมินิเวศแบบนี้จะเข้าใจถึงบทบาทของไฟและระบบนิเวศป่าไม้ ประเด็นที่ท้าทายในเรื่องไฟป่าและมลพิษทางอากาศมีทั้งช่องว่างระหว่างความรู้ของชุมชนกับความรู้จากข้างนอกและของรัฐที่ไม่ตรงกัน และในปีนี้ ผมอยากจะบอกว่า มันเป็นการประทุของสงครามระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้โดยมีคนในเมืองเป็นตัวประกัน

ถาม : เข้าใจว่าหน่วยงานรัฐที่ดูแลป่าก็มีองค์ความรู้ว่าด้วยการจัดการไฟ การจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลใบไม้ในป่า ทำไมจึงเกิดกรณีไฟที่ทำลายล้างผืนป่าอย่างหนักหน่วงขึ้นได้

ตอบ : กระแสหลักของการจัดการป่าไม้โดยเฉพาะในเขตป่าอนุรักษ์ใช้กฎหมายเคร่งครัด เข้มงวด เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด การจัดการไฟป่าเน้นไปที่ความพยายามที่จะกันพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดไฟ ซึ่งย้อนแย้งกับลักษณะธรรมชาติ ในปีนี้เรายังเผชิญภาวะแห้งแล้งยาวนานที่โยงกับภาวะโลกร้อน ปีนี้ ฝุ่นควันภาคเหนือมาเร็ว ตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งปกติจะมาในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

ถาม : ต้นตอ (root cause) การปะทุของไฟทำลายล้างที่ส่งผลกระทบหนักหน่วง

ตอบ : ถ้าเราย้อนกลับไปกลับไปดูนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่เราต้องการรักษาป่าไว้ 40% ทั่วประเทศเพื่อให้เกิดความสมดุลย์อะไรก็แล้วแต่ การประกาศเขตอนุรักษ์ เขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทยอยประกาศเรื่อยมาและซ้อนทับชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนแล้ว ประเด็นคือ การประกาศพื้นป่าโดยไม่ได้สำรวจพื้นที่จริง ชาวบ้านกลายเป็นคนผิดกฏหมาย เรื่องสิทธิชุมชนนี้ต่อสู้กันมาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี กฎหมายอุทยานก็ดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ดีมันค่อนข้างเข้มงวดมาก ชาวบ้านเด็ดใบไม้ใบเดียวคือผิดกฎหมายแล้ว

ไฟไหม้บ้านปาปง (27 มี.ค. 63) © โดรนอาสา

การห้ามเผาไม่ได้ผลและสถานการณ์ยิ่งหนักกว่าเดิม พอบอกว่าใครเผาโดนจับ ผิดกฏหมาย ก็มีการแอบ ลักลอบ ทุกอย่างลงใต้ดิน ต้องทำงานแบบ”แมวไล่จับหนู”วนไป เอาไปเอามาก็จับชาวบ้านจนๆ ได้ไม่กี่คน มีคำถามว่าเป็นธรรมหรือไม่ แท้จริงแล้วเกิดวิกฤตใหญ่ขนาดนี้ใครควรต้องรับผิดชอบ? ทำแบบเดิมมากว่า10 ปีแล้ว แก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนกระบวนการแก้ปัญหาใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง นี่คือโจทย์ของสาธารณะที่ทุกคนร่วมกันใช้ความรู้ทางวิชาการมาวางแผน วางระบบโดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ทั้งชุมชน ภาครัฐ วิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายร่วมกันลดฝุ่นควันอย่างยั่งยืน คืนอากาศบริสุทธิ์ใหัแก่ทุกคน

ถาม : เรามีนโยบาย ยุทธศาสตร์ เทคโนโลยีและเครื่องมือที่สามารถติดตามจุดความร้อน (hot spot) พื้นที่เผาไหม้ (burn scar) รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของการเกิดไฟ เรามีอย่างครบครัน แต่ปัญหายังเกิดขึ้นซ้ำซาก จริงๆ แล้วเราขาดอะไร

ตอบ : ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมขอพูดทำความเข้าใจเรื่องไร่หมุนเวียนสักนิด ระบบเกษตรยั่งยืนแบบดั้งเดิม ที่มีการศึกษากันในพื้นที่สูงทางภาคเหนือ คือป่าเมี่ยง และไร่หมุนเวียน แม้แต่กระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่เราคิดว่าทำไร่เลื่อนลอย ถ้าศึกษาให้ลึกลงไปจริงๆ แล้วคือไร่หมุนเวียนแบบหนึ่ง แต่นโยบายรัฐที่ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจและเกษตรเชิงเดี่ยวเข้าไป เปลี่ยนวิถีและแบบแผนการผลิตของชุมชนให้เข้าสู่ระบบตลาด ในที่สุดหน้าดินเริ่มพังทลาย ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะลดลง ต้องใช้สารเคมี และเมื่อทำซ้ำไปเรื่อยๆ ผลผลิตจะลดลง ต้องใช้สารเคมี และที่สำคัญต้นไม้ธรรมชาติตาย กลายเป็นดอยหัวโล้น แท้จริงแล้ว ไร่หมุนเวียนนั้นมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงซึ่งเป็นภูมิความรู้ที่สำคัญมาก FAO ยังได้ประกาศให้ไร่หมุนเวียนเป็นระบบวนเกษตรระบบหนึ่งที่มีความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน และระบบนี้ไม่ได้ทำลายป่าอย่างที่เคยเข้าใจกัน

กลับไปที่คำถาม ผมคิดว่าเป็นเรื่องของช่องว่าง ทั้งช่องว่างขององค์ความรู้ระหว่างรัฐ คนในเมือง กับชุมชนที่พึ่งพาผืนป่ามาตลอดชีวิต หลายชั่วอายุคน จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนา ต่อยอดให้กลายเป็นองค์ความรู้ร่วม และ ช่องว่างในเรื่องของกระบวนการทำงานระหว่าง Top Down กับ Bottom Up หมายถึงว่า การสั่งการจากข้างบนลงไป แล้วก็การมองปัญหาแบบเป็น event เป็นอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในช่วงสองเดือน (มีนาคม-เมษายน) จัดการสองเดือนแล้วก็จบ วิธีการสั่งการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล

ในส่วนของสภาลมหายใจเชียงใหม่ เราเสนอว่าต้องวิเคราะห์ปัญหาใหม่ ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีความซับซ้อน มีพลวัตตลอดเวลา  เชื่อมโยงตั้งแต่เรื่องของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนเมือง ไปจนถึงภาคคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนสถานการณ์โลกร้อน เราต้องวิเคราะห์ภาพรวมด้วย

เมื่อทุกภาคส่วนเข้าใจสถานการณ์ใหม่ก็ต้องปรับตัว เราจะเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนอย่างไร จะเปลี่ยนมาเป็นการใช้ประโยชน์จากชีวมวลแทนการเผาได้ไหม จะส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น มีการใช้จักรยานมากขึ้น ทางเดินที่น่าเดินมีมากขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มขึ้นได้ไหม หรือจะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่อง การจัดการปัญหาอย่างไร เราจะผลักดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไปปลูกข้าวโพดมีความโปร่งใสรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทานอย่างไร หมายถึงว่าเราต้องแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เป็นองค์รวมทั้งหมด เป็นแผนกระบวนการที่ต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว จนกระทั่งสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

อีกประการหนึ่งคือช่องว่างระหว่างความตื่นตัวของภาคประชาชนกับระบบที่ไม่เอื้อ ระบบที่ไม่รองรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะนี้ต้องยอมรับว่าคนเชียงใหม่ตื่นตัวมาก ใครต่อใครพร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ว่าระบบที่มีอยู่ไม่รองรับการมีส่วนร่วม ทั้งที่พยายามรณรงค์สร้างจิตสำนึก แต่พอคนเริ่มมีจิตสำนึกแล้วก็ไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวที หรือถูกกีดกัน

เราอยากเห็นการบริหารจัดการที่ให้ท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้จะต้องกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจการตัดสินใจมากขึ้นในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการ Single Command งบประมาณที่สนับสนุนก็ต้องเพียงพอด้วย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้จริงในระยะยาว

มีความเชื่อที่ฝังอยู่ในหัวของคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าชาวเขาเผาป่าทำลายป่า เราต้องทำงานเพื่อเปลี่ยน mindset ของคน ให้มองถึงอนาคตลมหายใจของภาคเหนือ คนที่จะมีบทบาทก็น่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ เชียงใหม่เป็นประชาคมเมือง เป็นพื้นที่ที่การรวมตัวของบุคคลต่างๆ เยอะแยะมากมาย นอกจากเมืองท่องเที่ยว ยังเป็นเมืองที่ได้รับยกย่องเรื่องดีไซน์ต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดแข็ง

สุดท้าย เราอยากเห็นชุมชนยั่งยืน เมืองน่าอยู่ ถ้าใช้คำใหญ่สุดก็คือ บ้านชุ่มเมืองเย็น ซึ่งในที่สุดคือการปูทางไปสู่การบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) น่าสนใจมากที่คนรุ่นใหม่ออกแบบเมืองให้เป็นเมืองพื้นที่สีเขียว วนานคร เมืองที่อยู่กับป่า เราอยากจะเห็นพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเป็น 30% การออกแบบใหม่รวมทั้งพื้นที่ป่าด้วย ต้องมีการโซนนิ่งพื้นที่ป่าให้ชัดเจน การโซนนิ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ชัดเจนมีความเข้าใจร่วมกัน มีการกำหนดเขตป่ากับเขตชุมชนให้ชัดเจน คุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนมีความสำคัญ ป่าอยู่ได้ ชุมชนดูแลป่าสืบทอดไปสู่คนอีกรุ่น เราอยากเห็นบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันแบบนี้ ซึ่งต้องเปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนระเบียบ เปลี่ยนวิธีการดำเนินการนั้นหมดเลย โดยให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เราต้องมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น วางแผนร่วมกันมากขึ้นเพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด เพราะทุกคนมีลมหายใจเดียวกัน

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม