“เราเคยพยายามทำตลาดปลาเหมือนซึกิจิ (Tsukiji) ของญี่ปุ่น  แต่จำนวนปลาพื้นบ้านของเราหมดตั้งแต่ตลาดท้องถิ่นมีการศึกษาจากคณะประมงบอกว่าปลาทูที่เรากินกันอยู่ 60เปอร์เซ็นต์คือปลานำเข้า 40เปอร์เซ็นต์คือปลาพื้นเมือง อย่างปลาทูแม่กลองที่ทั้งสวยทั้งเนื้อมัน ผมเคยไปตลาดหนองมน เห็นลูกค้าแทบกราบแม่ค้าให้ขาย แต่แม่ค้าบอกว่ามีคนจองแล้ว ปลาพื้นถิ่นบ้านเราหมดไปตั้งแต่ตลาดท้องถิ่น เหลือเข้ากรุงเทพฯ ไม่มากนัก”

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านประมง กล่าวถึงเพดานหนึ่งของตลาดปลาของไทย นั่นคือมีปลาพื้นถิ่นคุณภาพสูงเป็นปลาชูโรงของตลาดไม่มากพอ ขณะที่เมื่อไปตลาดปลาของญี่ปุ่นแม้จะพบปลานำเข้าวางขายด้วย แต่ยังมีปลาพื้นถิ่นตัวชูโรงหลากหลายทั้งไข่หอยเม่นสดหวาน โอโทโร่เนื้อมัน ฮามาจิย่างกลมกล่อม และปลาเด่นของแต่ละภูมิภาคอีกหลายชนิด

Whale Meat at Fish Market in Tokyo. © Michi Mathias / Greenpeace
ตลาดปลาซึกิจิ (Tsukiji) ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น © Michi Mathias / Greenpeace

ทำอย่างไรเราจะได้กินปลาอย่างที่คนท้องถิ่นได้กิน และท้องทะเลไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพไม่ด้อยกว่าญี่ปุ่นตรงไหนถึงจะผุดตลาดปลามีคุณภาพทัดเทียมได้ไม่ต่างกันเราต้องมูฟออนอีกหลายอย่างเลยทีเดียว

มูฟออนสต็อกให้โปร่งใส

บนพื้นผิวทะเลไทยชาวประมงต้องเผชิญกับการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนักหน่วงและยังพบปัญหาการขาดวิสัยทัศน์ร่วมกันในการจัดการประมงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ต่างจากการจัดการในญี่ปุ่น ซึ่งมีการกำกับอันละเอียดอ่อนจากรัฐเข้าช่วย

“ญี่ปุ่นมีระบบการจัดการทรัพยากรที่ค่อนข้างเสถียรแล้ว มีระบบสหกรณ์ที่ดี สหกรณ์แต่ละเมืองมีข้อจำกัดของการจับปลา มีจำนวนชาวประมงชัดเจนและจำกัดขนาดสัตว์น้ำว่าเล็กกว่านี้เอาขึ้นเรือไม่ได้ ถ้าขึ้นถือว่าโดนจับ เช่นเขากำหนดขนาดเป๋าฮื้อเลยว่าเท่านี้เขาไม่ยอมรับ ยกเว้นถ้าเป็นจากบ่อเพาะเลี้ยง และมีพื้นที่ไข่แดงสำหรับปลาหลายสายพันธุ์ พื้นที่นี้ไม่ได้ใหญ่มากนัก แต่ห้ามจับสัตว์น้ำโดยสิ้นเชิง 

ถ้าจับปลาเล็กหรือสัตว์น้ำวัยอ่อนเช่นปลาบู่หินจะมีการกำหนดทั้งพื้นที่จับ วิธีการ ฤดูกาล เครื่องมือ ปริมาณ วิธีฟื้นคืนจำนวนปลา ฯลฯ อย่างละเอียด หรือการจับปลาขนาดใหญ่ที่ถือว่ายั่งยืนแล้วก็จริง ยังต้องกำหนดโควตาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการวิจัยประชากรปลาหรือประมงแบบนั้นๆ ว่าจับเท่าไหร่ถึงจะเหมาะที่สุด” ชวลิตกล่าว

ใช่ว่าไทยไม่ทำเรื่องนี้ จริงๆ แล้วในไทยมีระบบโควตาเช่นกัน หลัง พ.ศ. 2558 ไทยได้นำหลักการป้องกันล่วงหน้าเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) ที่ยุโรปใช้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 มาใช้โดยกำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่จะเก็บเป็นสต็อก และกำหนดปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่อนุญาตให้ทำการประมงได้ (Total Allowable Catch: TAC) โดยกำหนดว่าจำนวนสัตว์น้ำที่เหลือจากเก็บสต็อกสามารถจับได้100%แล้วจัดสรรให้เรือประมงแต่ละลำ ด้วยวิธีกำหนดจำนวนวันทำประมง 

ฟังเผิน ๆ เหมือนกับเรากำลังทำให้สิ่งที่ชวลิตพูดไว้ว่าเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของซิกิจิ แต่เพราะเหตุใดจำนวนสัตว์น้ำไทยยังลดลงอย่างต่อเนื่อง?  ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งข้อสังเกตว่าการจัดสรรโควตานี้มีความน่าเคลือบแคลงหลายประการ

“ตอนนี้หมือนกับว่ามีการจัดการ แต่การจัดการนี้อยู่บนความจริงแค่ไหน?และโปร่งใสหรือไม่? 1) ผมคิดว่าสต็อกนี้ไม่ได้มาจากความเป็นจริงเพราะสูตรการคำนวณใช้จำนวนวันในการแบ่งโควตา ไม่ใช่จำนวนทรัพยากรที่สมเหตุสมผล ไม่ได้บอกว่าให้ชาวประมงคนนี้จับวันละ 5,000 กิโลฯ แล้วต้องหยุด เช่นตอนนี้จากค่า MSY บอกว่าเรามีทรัพยากรให้เรืออวนลากลากพอได้ทั้งปี แต่เรามีพอให้ทำได้อย่างนั้นได้จริงไหม? 2) ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของสต็อกกรมประมงควบคุมไว้ทั้งหมด ทำให้สต็อกนี้ขาดความโปร่งใสและขาดการตรวจสอบ  ถ้าคุมสต็อกนี้ให้โปร่งใสได้คนเล็กคนน้อยที่เป็นประมงรายย่อยจะเข้าถึงทรัพยากรได้จริงๆ”      

สต็อกที่ปิยะตั้งข้อสังเกตถึงความเคลือบแคลงนั้น จะมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจการพิจารณานิรโทษกรรมเรือประมงพาณิชย์ที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง (กลุ่มขาวส้ม) ซึ่งเกิดจากสองสาเหตุหลัก คือ 1) กลุ่มเรือที่ทำผิดกฎหมาย เช่น สวมทะเบียนเรือ ใช้เครื่องมือประมงผิดประเภท กลุ่มความผิดเรื่องเอกสาร  2) กลุ่มที่สมัครใจไม่ขอใบอนุญาต หลัง พ.ศ. 2558 เป็นต้นมาเรือเหล่านี้กว่าหมื่นลำถูกล็อกพังงาไม่ให้ออกจากฝั่งได้ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับมาเพิ่มมากขึ้น 

รัฐบาลพยายามผลักดันการนิรโทษกรรมหลายครั้งทว่ากระแสสังคมผลักกลับแต่หากผลการคำนวณสต็อก (ซึ่งไม่เปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชน) ชี้ว่าประเทศไทยมีจำนวนสัตว์น้ำเพียงพอจะนำเรือเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบได้ จะมีโอกาสสูงที่เรือเหล่านี้จะได้รับการนิรโทษกรรม 

หากรัฐต้องการมูฟออนเรื่องการจัดสรรทรัพยากร การเปิดเผยข้อมูลล่าสุดทั้งในส่วนของปริมาณผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (ค่า MSY ปีล่าสุด) และตัวเลขจากสมุดบันทึกการทำประมงจาก port-in port out ทั่วประเทศเป็นเรื่องจำเป็นรวมถึงควรคำนึงถึงเงื่อนไขประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตการประมงที่แตกต่างตามประเภทความผิดด้วย

 ทะเลสีเทากับช่องว่างของการกำกับ

ขณะนี้ภาคประมงของไทยประสบปัญหาอย่างหนักเนื่องภาครัฐ ภาคธุรกิจ ประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านขาดวิสัยทัศน์ร่วมกัน  ทำให้การกำกับดูแลของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเต็มไปด้วยความคลุมเครือและก่อให้เกิดพื้นที่สีเทาจำนวนมาก

มีหลายอย่างที่เราดูเหมือนมูฟออนแต่กลับมีสิ่งฉุดรั้งให้ละล้าละลังไม่ไปข้างหน้าเต็มที่ เช่นการออกมาตรการควบคุมทรัพยากรประเภทต่างๆ โดยใช้ “ขนาด” ของเรือประมงเป็นเกณฑ์สำคัญตาม พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558ได้กำหนดเกณฑ์วัดความเป็นประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ซึ่งเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ต่างกันด้วยขนาดเรือ 

กล่าวโดยย่นย่อคือเรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ให้นับเป็นเรือประมงพื้นบ้านและออกไปทำประมงชายฝั่งได้ไม่เกิน3 ไมล์ทะเล ส่วนเรือขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป จัดเป็นเรือประมงพาณิชย์ ออกไปทำประมงไกลๆ ได้แต่ห้ามเข้าเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล        

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการใช้ขนาดเป็นเกณฑ์เช่นนี้ไม่อาจตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนของการจัดการทรัพยากร เช่น ปริมาณเรือของผู้ประกอบการแต่ละรายเป็นช่องว่างที่มองข้ามไม่ได้

“กฎหมายบอกว่าผู้ใดก็ตามใช้เรือต่ำกว่า 10 ตันกรอส ให้นับเป็นประมงพื้นบ้าน ยังไม่พูดถึงเรื่องเครื่องมือ คนมีเรือประมงขนาด 9 ตันกรอสอยู่ 50 ลำ ก็ได้ทรัพยากรไปมาก นี่เป็นช่องโหว่”

ผลจากการใช้ขนาดเป็นเกณฑ์เดียว ยังทำให้พื้นที่ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง มีสภาพเป็นพื้นที่สีเทา โดยพบบ่อยครั้งว่าเรือต่ำกว่า 10 ตันกรอสแต่ติดตั้งเครื่องมือประมงทำลายล้าง ซึ่งผู้ประกอบเป็นผู้มีอิทธิพล มีกำลัง สามารถรุกกวาดกวักทรัพยากรอย่างหนักในพื้นที่ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งได้ไม่ต่างจากเรือประมงพาณิชย์ 

รวมทั้งยังคงพบเรือประมงพาณิชย์บางประเภทเช่น เรืออวนลาก อวนล้อมปั่นไฟ เข้ามาทำประมงในแนวเขตนี้ หากชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ณ พื้นที่นั้นไม่เข้มแข็งพอ ขณะเดียวกันเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กต้องเจอศึก 2 ด้าน คืออิทธิพลบนพื้นที่ 3 ไมล์ทะเล และกรอบกฎหมายที่กั้นไม่ให้เรือประมงพื้นบ้านออกไปไกลเกิน 3 ไมล์ทะเล 

“หลังปี พ.ศ.2558 มีการออกมาตรา 34 ห้ามมิให้ผู้ใดที่มีใบอนุญาตประมงพื้นบ้าน ทำประมงนอกเขตชายฝั่ง หมายความว่าบังคับให้อยู่ในเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล” 

วิโชคศักดิ์กล่าวว่าทางออกเช่นนี้ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องเลือกระหว่างเป็นเรือถูกกฎหมายแต่ออกหากินได้ไม่ไกล หรือเลือกเป็นเรือเถื่อนที่ออกไปได้ไกล ไม่เสียภาษี แต่ไม่รู้จะถูกจับวันไหน และเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านจำนวนมากเลือกวิธีหลังนี้เพื่อความอยู่รอด

“พอทะเบียนเรือไม่ชัดเจน ก็เข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้ เช่นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ความช่วยเหลือจากรัฐ  การเชื่อมโยงออกเสียงเรื่องนโยบาย” 

นอกจากนี้วิโชคศักดิ์กล่าวว่าการอยู่นอกระบบของประมงพื้นบ้านส่งผลเสียหายต่อส่วนรวมลึกซึ้ง เพราะเสียงของชาวประมงส่วนใหญ่ที่จะแสดงออกว่าต้องการให้ภาครัฐกำกับดูแลการจัดการทรัพยากรอย่างไรจะหายไป

“ประเทศไทยมีเรือประมงพื้นบ้านกระจายอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่ง 22 จังหวัด ในระบบระบุไว้ว่าประเทศไทยมีเรือประมงพื้นบ้านอยู่ 27,000 ลำ แต่ความจริงน่าจะมีเป็นแสนลำ แต่เขาไม่ได้ถูกนับรวม จ.สตูลมีเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กอยู่ 6,800 กว่าลำ มีเรือปั่นไฟ ไดร์หมึก รวมแล้ว 43 ลำ แต่ส่งเสียงดังมาก ชาวประมงอีก 6,700 กว่าคน กลับเป็นเสียงที่ไม่ดัง เสียงที่ไม่ดังมักจะเป็นเสียงของคนจนที่แท้จริง แต่กลุ่มที่เสียงดังอยู่ตอนนี้คือกลุ่มที่เสียผลประโยชน์มากกว่า”  

วิโชคศักดิ์สนับสนุนให้ชาวประมงพื้นบ้านอยู่ในระบบ ทำประมงอย่างถูกกฎหมาย และถูกนับรวม ขณะเดียวกันควรแก้มาตรา 34 ให้ชาวประมงพื้นบ้านออกไปทำมาหากินนอกเขตสามไมล์ทะเลได้

Tuna Gilnetters in Thailand. © Biel Calderon / Greenpeace
เรือประมงเชิงพาณิชย์ชนิดอวนลอย © Biel Calderon / Greenpeace

แต่ทั้งนี้รัฐต้องแก้ไขนิยามของประมงพื้นบ้านให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย เพื่อไม่ให้ใครฉวยใช้คำว่าประมงพื้นบ้านเพื่อทำประมงเกินขนาด โดยพิจารณาเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์การจับ วิธีจับที่ยั่งยืน รวมทั้งจำนวนเรือของผู้ประกอบการร่วมด้วย ไม่ใช่พิจารณาแค่ขนาดเรือเท่านั้น 

อีกความไม่มูฟออนของประมงไทย คือการพยายามลดช่วงเวลาการแสดงผลของระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) ซึ่งหลายประเทศนำมาใช้ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และขาดการควบคุม VMS เป็นเทคโนโลยีที่ใช้การผสมผสานระหว่างอินเทอร์เน็ต จุดพิกัดบอกตำแหน่งด้วยดาวเทียม และสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เมื่อนำมาทำงานร่วมกันจะทำให้รู้พิกัดเรือประมง และติดตามการเดินเรือได้ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยควบคุมให้เรือประมงไม่ทำประมงเกินขนาดและติดตามการค้ามนุษย์ได้ โดย VMS จะใช้กับเรือขนาดใหญ่หรือเรือขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปเท่านั้น 

ทว่าขณะนี้มีข้อเรียกร้องขอให้แก้ไขกฎหมายขยายสัญญาณ VMS จากไม่ปรากฏภายใน 6 ชั่วโมงในกรณีสุดวิสัย เช่นติดพายุ เป็น 24 ชั่วโมง

“ถ้าเทียบกับสมัยก่อนปีพ.ศ.2558 ก่อนนั้นเรือประมงผิดกฎหมายสามารถจ่ายใต้โต๊ะแล้วไม่ต้องทำอะไร แต่พอต้องติด VMS เขาถูกจับตา ลำบากขึ้น ถ้าเรือหายไปจากระบบนานขนาดนั้น (24 ชั่วโมง) จะเป็นช่องว่าให้จับปลาเกินขนาดได้มาก และอาจรุกเข้ามาในเขตประมงชายฝั่งได้ง่ายขึ้น” วิโชคศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการหลายรายอ้างว่าการติดสัญญาณ VMS นั้นสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และมีความพยายามให้ขยายเพดานจากเรือที่ต้องติดสัญญาณจากขนาด 30 ตันกรอสเป็น 50 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งวิโชคศักดิ์มองว่าเรือ30 ตันกรอสเป็นเรือขนาดใหญ่ ได้รับรายได้จากผลประกอบการค่อนข้างมาก น่าจะรับผิดชอบค่าอินเทอร์เน็ตเดือนละพันกว่าบาทได้

จิตสำนึกไม่พอ ขอการจัดการด้วย

เมื่อปลายปีที่แล้วข่าวชาวประมงพื้นบ้านส่งปลาไปช่วยประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานีกว่า 1.3 ตัน เป็นข่าวชวนอบอุ่นหัวใจข่าวหนึ่ง แม้ฟังดูไม่สมเหตุสมผลนักที่ในยามวิกฤติของประเทศ ผู้บริจาคปลารายใหญ่กลับไม่ใช่บริษัทส่งออกอาหารทะเลยักษ์ใหญ่แต่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน ที่ฟังดูเป็นหน่วยเล็กๆ ของสังคม ใช้เรือลำเล็ก มีสภาพการทำงานที่น่าจะทุนน้อย ขาดความมั่นคง แต่ในรถขนปลาของพวกเขานั้นมีทั้งอาหารทะเลแปรรูปพร้อมกิน อาหารทะเลสดๆ ทำความสะอาดแล่เรียบร้อยในบรรจุภัณฑ์และการจัดเก็บทันสมัย ช่วยเก็บความสดแม้ไม่ใส่ฟอร์มาลีน 

ทั้งหมดนี้พวกเขาใช้เวลาระดมและจัดเตรียมเพียงวันเดียว

“เป็นประมงพื้นบ้านอยู่ได้ ส่งลูกเรียนได้ แต่ต้องเรียนรู้ว่าทรัพยากรมีน้อย เราจะเพิ่มมูลค่าสินค้าเรายังไง เช่น 1.ถ่ายรูปสินค้าเอง นำเสนอเอง 2.แปรรูป  3.นำผลผลิตในชุมชนมาขายด้วยกัน ทำให้ชุมชนมีรายได้ควบคู่กับเราไปด้วย ทำธุรกิจที่เป็นธรรม ให้คนในชุมชนถือหุ้น ปันผลให้ชุมชนผ่านกฎระเบียบกติกา 4.อนุรักษ์และฟื้นฟู ผมว่ามันไปได้ถ้าเราบริหารจัดการและเปลี่ยนแนวคิดใหม่”  

Local Fishermen Choose Sustainable Fishing Practices in Thailand. © Biel Calderon / Greenpeace
การทำงานของประมงพื้นบ้านในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ © Biel Calderon / Greenpeace

ปิยะ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการรวบรวมปลาจากกลุ่มประมงพื้นบ้านหลายจังหวัดไปช่วยประชาชนชาวอุบลฯ ครั้งนั้นกล่าวไปพลางเช็กยอดขายสินค้าจากไอแพดไป ปฏิบัติการรวบรวมปลาครั้งนั้นนอกจากเรื่องน้ำใจที่พวกเขาได้รับคำชมอย่างล้นหลาม 

มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักคือประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการที่โดดเด่นครั้งหนึ่งของชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่ร่วมส่งปลาไปครั้งนั้นคือกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ยกระดับการทำประมงของพวกเขามาสักพักแล้ว 

พวกเขาคุ้นชินกับการสต็อกผลผลิต หาตลาด แปรรูป โลจิสติกส์ และสร้างข้อตกลงในการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำในชุมชนได้อย่างเข้มข้น โดยสร้างกฎกติกาขึ้นในกลุ่มว่าจะใช้อุปกรณ์ประมงแบบเลือกจับสัตว์น้ำตามประเภท และจับโดยอนุรักษ์ไปด้วย

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย © Korawit Matchathikhun

สิ่งที่ชาวประมงกลุ่มนี้ใช้ขับเคลื่อนความมีประสิทธิภาพของพวกเขาคือ “จิตสำนึก” และ “การจัดการพึ่งพาตนเอง”  มีกลุ่มชาวประมงหลายกลุ่มในประเทศไทยทำเช่นนี้ได้ดี แต่ใช่ว่าชาวประมงทุกกลุ่มจะทำเช่นนี้ได้ ในภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น แม้แต่กลุ่มประมงที่จัดการตนเองได้ดีอย่างกลุ่มของปิยะยังต้องการกฎหมายที่จะมาประคับประคองรองรับ ไม่ต่างจากชาวประมงญี่ปุ่นที่มีกฎหมายที่ทั้งเข้มแข็ง จริงใจ ละเอียดอ่อน อยู่เบื้องหลังความเติบโตและสมบูรณ์

“เวลาผมไปตามงานเสวนาต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาประมง ผมพบว่าสุดท้ายการพูดคุยมักวกกลับมาให้คนมีจิตสำนึก ซึ่งผมรู้สึกว่านั่นเป็นการเขี่ยลูกออก” วิโชคศักดิ์วิเคราะห์ ปิยะเสริมว่า

“การเจรจาต้องใช้กฎหมาย การบอกว่าแก้กฎหมายแก้ไม่ได้หรอก ถ้าประชาชนยังไม่มีจิตสำนึก วิธีคิดนี้ผมรู้สึกว่าไม่โอเค รัฐควรแก้ไขปัญหาประมงอย่างเข้มแข็ง ความเข้มแข็งไม่ได้หมายความว่าจับปืนขึ้นมา แต่หมายถึงเข้าใจว่าการทำประมงต้องทำคู่กับการฟื้นฟู โดยทำอย่างถูกกฎหมายและทำตามหลักการวิชาการ ผมคิดว่ากรมประมงทำแค่สามเรื่องพอ 1.ทำกฎหมายให้เสมอภาค การกำหนดโควตาต้องยุติธรรม2.กำหนดขนาดสัตว์น้ำขั้นต่ำที่จะเอาขึ้นเรือได้3. ควบคุมเครื่องมือตามหลักวิชาการ ดูเรื่องเครื่องมือที่ไม่สมควรเกิดขึ้นให้ได้ ทำแค่สามเรื่องนี้ ทะเลก็ยั่งยืนแล้ว เดี๋ยวมันไปเอง” ปิยะผู้เชื่อมั่นในศักยภาพการฟื้นฟูตัวเองของทะเลไทยกล่าว 

เขาเชื่อเสมอว่าถ้าทะเลไทยได้รับการจัดการที่ดี เพียงในเวลาไม่นาน จะกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ไม่ยาก ทำไมเพดานตลาดปลาของไทยจึงหยุดอยู่ที่อ่างศิลา ไม่ใช่สึกิจิ?หลายคนอาจบอกว่าอย่าไปเปรียบเทียบกับเขา นี่มันเป็นวิถีชีวิตไทยๆ ของเรา 

แต่ในทัศนะของวิโชคศักดิ์กล่าวว่าหากการหยุดย่ำอยู่กับที่เดิมเรียกว่าว่าเป็นวิถีชีวิต ก็ถึงเวลาที่ต้องก้าวไปข้างหน้า “ผมเห็นด้วยกับวิถีชีวิต แต่เราไม่จำเป็นต้องกอดคำว่าวิถีชีวิตไว้ตลอดเวลามันต้องเปลี่ยนแปลง” 

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม