ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Justic ถึงแม้จะเป็นคำที่ไม่คุ้นหูพวกเราเท่าไหร่นัก แต่เชื่อหรือไม่ว่าหากไม่มี “ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” แล้ว มักก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา จึงถือได้ว่าความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศคือปัจจัยระดับต้น ๆ ที่เราไม่อาจมองข้ามเลยทีเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2561 ในช่วงการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรามีโอกาสได้เห็นกลุ่มผู้หญิง ที่ลุกขึ้นมาแสดงพลังปกป้องสิ่งแวดล้อม ในวัน Gender Day เพราะผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและรับภาระมากกว่า จากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากความยากจน (คนยากจนส่วนใหญ่ในโลกคือผู้หญิง) และด้วยความไม่เท่าเทียมทำให้ผู้หญิงขาดการมีส่วนร่วม รวมทั้งไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งมักจะถูกกีดกันออกจากการวางแผนด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม นโยบายทางการเมืองและแผนการดำเนินนโยบาย

แต่อย่าเพิ่งหมดหวังไปนะคะ เพราะปัจจุบัน มีกลุ่มผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาแสดงพลังในการปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศอยู่ไม่น้อย ซึ่งในวัน World International Woman Day ประจำปี พ.ศ.2563 นี้จัดภายใต้หัวข้อ An equal world is an enable world แปลเป็นภาษาไทยคือ “โลกของความเท่าเทียม เป็นโลกที่เป็นไปได้”  เราอยากเล่าเรื่องของผู้หญิงที่ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่างๆให้ทุกคนได้ฟังค่ะ

1. ผู้หญิงคนแรกที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก เธอคือหนึ่งในผู้ริเริ่ม Climate Strike ในประเทศไทย เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้ว และปัญหานี้เป็นเรื่องของทุกคน  ซึ่ง Climate Strike ในไทยคงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มี “หลิง” นันทิชา โอเจริญชัย กับเป้าหมายที่อยากให้คนไทยใส่ใจกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ใน การเดินทางของ Climate Strike ในประเทศไทย ผ่านมุมมองของหลิง นันทิชา โอเจริญชัย

หลิง นันทิชา โอเจริญชัย ผู้ริเริ่ม Climate Strike ในประเทศไทย

2.แม้ว่าชุมชนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะได้รับชัยชนะเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจนกระทั่งภาครัฐและเอกชนต้องพับเก็บโครงการขนาดรวม 4,100 เมกะวัตต์ไป แต่ในทุกวันนี้ชุมชนบ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์ ยังต้องเผชิญกับการคุกคามสิ่งแวดล้อมที่ไม่แตกต่างออกไปจากเดิมสักเท่าไรนัก สิทธิของประชาชนจึงถูกบดบังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนบ่อยครั้งที่ชุมชนท้องถิ่นถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิและเสียง

กรณ์อุมา พงษ์น้อย คือหนึ่งในชุมชนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษร แกนนำชุมชนผู้ถูกปลิดชีวิตไปด้วยปีน 9 นัด ในคืนวันที่ 21 มิถุนายน 2547 เรื่องราวของเธอและชุมชนบ่อนอกยังคงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึง “ความไม่เป็นธรรม” ต่อชุมชนได้อย่างชัดเจน 

อ่านเรื่องราวของเธออีกครั้งในบทความ กรณ์อุมา พงษ์น้อย: “เราไม่เคยคิดหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมแม้กระทั่งศาลปกครอง เพราะไม่คิดว่าจะสร้างความเป็นธรรมให้กับเราได้”

3. “How dare you?” ประโยคคำถามเด็ดจากเกรียตา ทุนแบร์ย ถึงผู้นำโลก เยาวชนผู้ทวงถามถึงความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศจากผู้นำประเทศให้กับเด็กๆทั่วโลก เกรียตาเริ่มสนใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ ป.3 ในตอนนั้นเธอสงสัยว่าทำไมคุณครูจึงบอกว่าเราต้องช่วยกันประหยัดพลังงานและผลกระทบของภาวะโลกร้อน หลังจากนั้นเธอก็เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น หยุดกินเนื้อสัตว์ เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เป็นต้น หลังจากเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองแล้ว เธอก็เริ่มเห็นแล้วว่าปัญหานี้ส่งผลต่ออนาคตของเธอและเพื่อนของเธอทั่วโลก เธอจึงเริ่มรณรงค์ด้วยการหยุดเรียนทุกวันศุกร์ และไปนั่งประท้วงที่หน้าอาคารรัฐสภาของสวีเดนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 อ่านเรื่องราวของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับเยาวชนทั่วโลก

เกรียตา ทุนแบร์ย ปลุกให้โลกเปลี่ยน

ตอนที่ 1 , ตอนที่ 2

Global Climate Student Strike March in Montreal. © Toma Iczkovits / Greenpeace
เกรียตา ทุนแบร์ย ใน Climate Strike ร่วมประท้วงกับเยาวชนอีกหลายล้านคนทั่วโลก © Toma Iczkovits / Greenpeace

4. เพราะหลงใหลในมหาสมุทรและปะการัง ทำให้คุณกิ๊ก กรณิศ ตันอังสนากุล หันมารณรงค์แก้ไขปัญหาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในมหาสมุทรอย่างจริงจัง เธอนำประสบการณ์จากการเป็นนักวิจัยทั้งหมดมาทำงานรณรงค์ให้คนลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อท้องทะเลของเราผ่านหน้าเฟซบุ๊คเพจชื่อ ReReef เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเป็นกระบอกเสียงให้กับมหาสมุทรว่าที่นี่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกมากแค่ไหน

“เราต้องสร้างความตระหนักและขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” กรณิศ ตันอังสนากุล

5.เกือบทั้งชีวิตของเธออุทิศให้กับวงการภาพยนตร์ จากบทบาท จินนี่ย์ วีสลีย์ ในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไปจนถึงการกำกับงานของตัวเอง วันนี้ บอนนี่ ไรท์ กลายมาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของกรีนพีซ เธอเป็นหนึ่งในคนดังที่ออกร่วมรณรงค์ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับกลุ่มเยาวชนในกิจกรรม Climate Strike และลงมือสำรวจปัญหาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง อ่านเรื่องราวบางส่วนของการปกป้องสิ่งแวดล้อมของเธอได้ใน

เรื่องราวจาก บอนนี่ ไรท์ “พลาสติก แม่น้ำ และเหตุผลที่เราต้องหยุดใช้พลาสติก”

บอนนี่ ไรท์ ร่วมเป็นอาสาสมัครกับกรีนพีซ สำรวจมลพิษพลาสติกในอังกฤษซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ
Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม