เนื้อหาโดยสรุป

  • ปลาข้าวสารแท้จริงแล้วคือลูกปลากะตัก ซึ่งมีหลายชื่อเรียกในช่วงชีวิต ตอนเพิ่งเกิดและไซส์จิ๋วจัวบางใส สถานะความเป็นลูกปลานั้นยังไม่คอขาดบาดตายเท่ากับการมีปลาข้าวสารทะลักมากมายในตลาดนั้นกำลังบ่งบอกอะไรอยู่
  • รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายที่ดูเหมือนก้าวหน้าไปอย่าง “ปิดอ่าวไทย” งดจับปลาในฤดูวางไข่รวม 3 เดือนติดกัน มายาวนานกว่า 50 ปี และยังเพิ่มจำนวนวันและพื้นที่ในการปิดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความชุกชุมของปลายังไม่กลับมาอย่างเป็นปริศนา
  • ลูกปลาทู ลูกปลากะตัก รวมถึงลูกปลาอื่นๆ มีอุปนิสัยเหมือนกันคือเมื่อเห็นแสงไฟจะเข้ามารวมตัวเล่นไฟที่ผิวน้ำ จากนั้นลูกปลาเหล่านี้ปรากฎตัวอีกทีกลายเป็นปลาทูคลุกงา ปลาทูแก้ว ปลาทูตากแห้งและปลากระตักขนาดเล็กหลากหลายชื่อเรียกทะลักสู่ตลาด

เรามีกระแสการต่อต้านการนำลูกปลาทูและลูกปลากะตักมาขายเมื่อปีก่อน  ครึกโครมมากๆ แต่ตอนนี้เราพบการกลับมากินลูกปลาเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นตลาด ร้านค้าออนไลน์ ภัตรคารชื่อดัง หรือแม้แต่ถ้อยคำจากปากของจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ไม่เว้น

“โอเค เดี๋ยวผมจะบอกให้ ในงานเลี้ยงแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลวันนั้น ผมไม่ได้กินอะไรเลยจึงไม่รู้ว่ามีหูฉลามด้วย มัวแต่โม้อยู่ มัวแต่คุยคุยคุยเรื่อยๆ ไม่ได้กินอะไรเลย เท่าที่จำได้พอกลับไปถึงบ้านหิวแทบตาย ในงานวันนั้นก็คุยกันธรรมดา คุย นี่ นั่น โน่น แต่ผมไม่ได้ไปก้าวล่วง เรื่องการเมืองอะไรของเขาเพราะรู้อยู่แล้วและเข้าใจ และวันข้างหน้าจะไม่มีแล้ว ไม่กินหูฉลามจะกินปลาตัวเล็ก กินปลาข้าวสารแทน”

หลังสังคมเรียกร้องให้เลิกเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงรัฐบาล พลเอกประยุทธ์กล่าวว่าจากนี้ท่านจะกินปลาข้าวสารแทน หลายคนกำลังซาบซึ้งกับการปรับตัวนี้แน่ๆ แต่ช้าก่อน! ปลาข้าวสารไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีแทนปลาฉลามเลยจริงๆ 

ปลาข้าวสารในฐานะปลานำร่อง

ปลาข้าวสารแท้จริงแล้วคือลูกปลากะตัก ซึ่งมีหลายชื่อเรียกในช่วงชีวิต ตอนเพิ่งเกิดและไซส์จิ๋วจัวบางใส คนภาคกลางเรียกว่าปลาข้าวสาร ปลาสายไหม ปลามะลิ และยังมีชื่อยิวเกี๊ยะในภาษาจีน บูร่าในภาษายาวี ฉิ้งฉ้าง และหัวอ่อนในภาษาถิ่นใต้ ฯลฯ แต่จากการทดลองเฝ้าดูการเจริญเติบโตของปลาข้าวสารโดยกรมประมงพบว่าเมื่อผ่านไปราว 39 วัน ปลาจิ๋วจะโตเต็มไวกลายเป็นที่รู้จักในชื่อปลากะตักหรือปลาไส้ตัน ลำตัวยาว 8-10 ซ.ม. สวนทางกับความเชื่อว่าปลาข้าวสารและสายไหมโตได้แค่ 2.3 – 3.7 ซ.ม. แล้วเคี้ยวกร้วมด้วยความมั่นใจว่าไม่ได้กินลูกปลา แต่สถานะความเป็นลูกปลานั้นยังไม่คอขาดบาดตายเท่ากับการมีปลาข้าวสารทะลักมากมายในตลาดนั้นกำลังบ่งบอกอะไรอยู่

Destructive Fishing Methods in the Gulf of Thailand. © Athit Perawongmetha / Greenpeace
ปลาข้าวสารแท้จริงแล้วคือลูกปลากะตัก ซึ่งมีหลายชื่อเรียกในช่วงชีวิต ตอนเพิ่งเกิดและไซส์จิ๋วจัวบางใส © Athit Perawongmetha / Greenpeace

“ถ้าบอกว่าเราควรต่อต้านไม่ให้รับประทานปลาข้าวสาร ปลาสายไหมเลย มันก็ไม่เชิง เพราะถ้าชาวบ้านจับด้วยวิธีพื้นบ้าน เช่นใช้มือ ใช้พรรคพวกช่วยกันลากตามชายฝั่งหรือรุนตามชายฝั่ง เขามีข้อจำกัดคือเขาลงได้ไม่ลึก มิดหัวเขาก็รุนไม่ได้ ลูกปลากะตักอยู่ตั้งแต่น้ำระดับลึกเท่าเข่า-10 กว่าเมตร เพราะฉะนั้นส่วนที่อาศัยที่ตื้นๆ ถึงถูกจับไปด้วยเครื่องมือพื้นบ้าน ส่วนที่อยู่ลึกกว่าก็ยังอยู่” 

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านปลากล่าวว่าหากจับปลาข้าวสารด้วยวิธีดั้งเดิมไม่ทำลายทรัพยากร มีการจัดการที่ดีนั้นยอมรับได้ ทว่าปัญหาคือในความเป็นจริงปลาข้าวสารมักถูกจับด้วยเครื่องมือประมงทำลายล้าง และปลาข้าวสารคือปลานำร่อง ที่จะนำลูกปลาทูและลูกปลาเศรษฐกิจอื่นๆ พ่วงขึ้นมาด้วย

รูเรี้ยวและเสี้ยวซอกของอ่าวไทย

รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายที่ดูเหมือนก้าวหน้าไปอย่าง “ปิดอ่าวไทย” งดจับปลาในฤดูวางไข่รวม 3 เดือนติดกัน มายาวนานกว่า 50 ปี และยังเพิ่มจำนวนวันและพื้นที่ในการปิดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความชุกชุมของปลายังไม่กลับมาอย่างเป็นปริศนา มีนาคม 2562  อธิบดีกรมประมงให้ข่าวว่าการปิดอ่าวไทยได้ผล พบลูกปลาจำนวนมาก แต่เมื่อถึงเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันชาวประมงพื้นบ้านหลายพื้นที่ยืนยันว่าจำนวนสัตว์น้ำไม่ได้มีมากอย่างที่คิด ชาวประมงพื้นบ้าน อ.แม่กลอง จ.สมุทรสงครามกล่าวว่าแทบไม่เหลือปลาทูให้จับ เพราะเหตุใดการปิดอ่าวจึงไม่ได้ผล ? 

หากนั่งเครื่องบินผ่านอ่าวไทยช่วงกลางคืนจะเห็นแสงระยิบระยับหนาแน่นที่ไม่เคยดับ นั่นคือสัญญาณว่าเรือปั่นไฟที่โหยหิวกำลังทำงาน โดยใช้แสงไฟล่อปลาเข้ามาเล่นไฟแล้วล้อมจับ 

มิถุนายน 2562 หลังสิ้นสุดการปิดอ่าวไทยตอนกลางเมื่อ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม ไม่นานนัก ทีมงานจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พบเรือประมงอวนล้อมปั่นไฟลำหนึ่งลักลอบจับลูกปลากระตักและลูกปลาทูได้ราว 2 ตันภายในคืนเดียว แต่นั่นไม่ใช่จำนวนที่มากกว่าที่กรมประมงเคยพบเคยมีเรือที่จับลูกปลาได้มากถึงคืนละ 15 ตัน 

“ประจวบฯ มี 8 อำเภอ มีปลาทูกับหมึกกล้วยเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอยู่ที่อำเภอบางสะพานกับอำเภอบางสะแก ใครๆ ก็อยากจะไปตกหมึกหลังเกาะช้าง หน้าทับสะแก หน้าวังเปิด เกาะทะลุ มาวันหนึ่ง พ.ศ. 2524 ที่อำเภอบางสะพานน้อย มีคนใช้แสงไฟล่อปลากะตักแล้วใช้อวนล้อมจับเป็นครั้งแรกแล้วคนทำตามกันมา จากนั้นที่นั่นกลายเป็นอำเภอที่ไม่มีหมึก สู้หมึกทางด้านสามร้อยยอดไม่ได้ หมึกมันอพยพ เซ็นส์ของคนกับสัตว์เหมือนกัน ไม่มีอาหารก็ไม่อยู่”

Activists in Southern Thailand. © Biel Calderon / Greenpeace
ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ © Biel Calderon / Greenpeace

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าถึงประวัติศาสตร์ชุมชนเมื่อเรือปั่นไฟล่อปลากระตักได้รับความนิยมมาถึงประจวบฯ บ้านของเขา                  

หลังนวัตกรรมล่อปลากะตักด้วยแสงไฟเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2524 ปลาอินทรี ปลากุเรา ปลาทรายแดง และหมึก ซึ่งกินปลากะตักเป็นอาหารของทั้งประเทศได้ลดจำนวนลง จนนำไปสู่การออกกฎหมายไม่ให้ใช้อุปกรณ์ปั่นไฟกับเรืออวนล้อม อวนรุน อวนลาก ที่ศักยภาพการทำลายล้างสูง

ปัจจุบันรูปแบบการจับปลากะตักอย่างถูกกฎหมายในไทยได้รับการผ่อนปรนให้เหลือเพียงสองแบบ คือ 1.จับกลางวัน ใช้อุปกรณ์แบบพื้นบ้านอย่างการใช้มือลากผ้าขาวบางช้อนริมชายฝั่ง หรือใช้อุปกรณ์อวนช้อน/ครอบ/ยก ที่มีทั้งในประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ได้ ใช้อวนล้อมได้ ใช้อวนที่เส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง 6 มิลลิเมตรซึ่งถี่จนยุงลอดไม่ได้ได้ อย่างไรก็ตามแม้อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่และอุปกรณ์กำลังจับสูงอย่างอวนล้อมแต่การจับกลางวันจะทำให้มีสัตว์น้ำวัยอ่อนเช่นลูกปลาทู ติดอวนขึ้นมาไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์   2.จับกลางคืน หากจับเวลานี้กฎเกณฑ์ยังคงเหมือนเมื่อปี พ.ศ.2539 คือใช้อุปกรณ์ปั่นไฟได้ แต่อนุญาตใช้ได้แค่อวนช้อน/ครอบ/ยก ห้ามใช้อวนล้อม อีกทั้งตาอวนต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ขึ้นคือ 4 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่มีไว้จับสัตว์ขนาดใหญ่เช่นปลาหมึกและปลาตัวเต็มวัยทั่วไป

ทว่าสิ่งที่พบคือชาวประมงจำนวนหนึ่งไม่มูฟออน ชวลิตได้ฟังเรื่องราวของกิจกรรมการ “ฮั้ว” กันของเรือที่หาช่องว่างจากการผ่อนปรนนี้ เอากฎเกณฑ์ทั้งสองแบบมาใช้รวมกัน โดยจอดเรือสองลำติดกัน เรือลำหนึ่งคือเรือติดอุปกรณ์อวนช้อน/ครอบ/ยก ที่ได้รับอนุญาตให้ปั่นไฟ อีกลำหนึ่งคือเรือที่ใช้เรืออวนล้อมและใช้อวนตาถี่แต่ไม่ปั่นไฟ  จากนั้นเรือลำหนึ่งปั่นไฟ ส่วนเรืออีกลำกวาดเก็บลูกปลาแล้วแบ่งกัน ชวลิตกล่าวว่าจากการบอกกล่าวของคนท้องถิ่นการกระทำนี้พบทั้งในเรือประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ และเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นที่มาของแสงไฟที่วิบวับที่ไม่เคยดับบนพื้นผิวอ่าวไทย

“สมมติผมมีใบอนุญาตเรือปั่นไฟ ผมออกไปในทะเล กลับมาปุ๊บ ผมมีลูกปลาทูเต็มทุกกระบะเลย ผมใส่ผลการจับปลารอบนี้ว่าเป็นปลาทูผมก็ไม่ผิด” ปิยะผู้สนับสนุนให้ชาวประมงจับปลากระตักเฉพาะเวลากลางวันเพื่อไม่ให้ลูกปลาเศรษฐกิจอื่นมาติดอวนปลากะตักมากเกินไป กล่าวว่าจากการสังเกตุการณ์ครั้งหนึ่งเมื่อเรือปั่นไฟจับปลากะตักมาถึงท่าเรือ ปลา 1 ตันที่เข้ามา 70 % เป็นปลาทูวัยอ่อนล้วนๆ 

นอกจากการฮั้วกันระหว่างเรือสองแบบที่อาจถูกฎหมายทั้งสองลำแต่ร่วมกันทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ยังมีอีก 1-2 ปัจจัยที่ทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมหาศาลยังทะลักออกมา นั่นคือการกลับมาของเรือเถื่อน และการรุมจับลูกปลาตั้งแต่เปิดอ่าว

“ปี 2558-2561 ปิดอ่าวแล้วปลาเพิ่มขึ้นจริง เพราะช่วงนั้นเรือผิดกฎหมาย เรือสวมทะเบียน (มีทะเบียนเล่มเดียวแต่มีเรือจริงๆ หลายลำ) ถูกเอาออกนอกระบบ ทำประมงไม่ได้ แต่ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2562 ไม่มีปลาเลย ปลาหมดแทบทุกอย่าง”

ปิยะ เล่าย้อนไปช่วง พ.ศ. 2558 ซึ่งกรมเจ้าท่า เพิกถอนทะเบียนเรือประมงที่ไม่มาแสดงตน กว่า 11,700 ลำ ทว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา เริ่มมีการวิ่งเต้นและใช้เส้นสายปรับเปลี่ยนผ่อนผันให้เรือจำนวนมากเหล่านั้นมาลงทะเบียนรับอาชญาบัตร และปรับสถานะให้ทำประมงได้อย่างถูกกฎหมายเป็นอีกหนึ่งรูรั่วในอ่าวไทย

นอกจากนี้ยังมีการรีบร้อนจ้วงจับสัตว์น้ำทันทีในฤดูเปิดอ่าว ปลาทูเป็นปลาชนิดหนึ่งที่ถูกสะกดรอยใกล้ชิด ในนิยามของชาวประมงพื้นบ้าน ลูกปลาทูอายุ 3 เดือนที่ช่วงปิดอ่าวฟูมฟักไว้นั้น ถือเป็นปลาเด็ก มีขนาดเล็ก หากรออีก 3 เดือนจะกลายเป็นปลาโตเต็มสาว ตั้งท้อง และวางไข่นับแสนฟองได้ แต่กลับถูกแสงไฟล่อจับ ขณะกำลังย้ายถิ่นตามวงจรการเติบโต 

Destructive Fishing Methods in the Gulf of Thailand. © Athit Perawongmetha / Greenpeace
การประมงแบบทำลายล้างจะจับสัตว์น้ำมาทุกขนาดโดยไม่สนว่าจะเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนหรือไม่ © Athit Perawongmetha / Greenpeace

“ให้ปลาได้แต่งงานหรือคลอดลูกสักรอบ” คือคำขอจากชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งขอให้สัตว์น้ำโตเต็มวัย มีโอกาสสืบพันธุ์และวางไข่ก่อนสัก 1-2 รอบแล้วค่อยจับมากิน รอบการวางไข่ของสัตว์น้ำแต่ละสายพันธุ์นั้นต่างกัน  เช่นปลาเกล็ดขาวที่นิยมนำมาทำปลากรอบ ไข่ครั้งแรกแล้วจับถือว่าไม่สร้างความเสียหาย เพราะช่วงชีวิตหนึ่งปลาเกล็ดขาวจะไข่แค่ 1-2 ครั้ง แต่ปลาพันธุ์กลางถึงใหญ่ทั่วไป รวมทั้งปลาทู ควรปล่อยให้วางไข่ก่อนสัก 1-2 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาแค่ 3 เดือนหลังเปิดอ่าวเท่านั้น การไม่ใช้เรือปั่นไฟและอวนตาถี่จับตอนปลายังเป็นปลาเด็ก รวมทั้งจำกัดจำนวนกับพื้นที่ของเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ไม่ให้ใกล้กับแหล่งของลูกปลาทู เพียงเท่านี้จะให้ทะเลอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาก 

ปลาทูแก้วมาจากไหน กลับไปที่ต้นทาง

ลูกปลาทู ลูกปลากะตัก รวมถึงลูกปลาอื่นๆ มีอุปนิสัยเหมือนกันคือเมื่อเห็นแสงไฟจะเข้ามารวมตัวเล่นไฟที่ผิวน้ำ จากนั้นลูกปลาเหล่านี้ปรากฎตัวอีกทีกลายเป็นปลาทูคลุกงา ปลาทูแก้ว ปลาทูตากแห้งและปลากระตักขนาดเล็กหลากหลายชื่อเรียกทะลักสู่ตลาด ส่วนลูกปลาอื่นๆ เช่นปลาอินทรี ปลาเก๋า ปลาจะละเม็ด ปลาสาก ปลาซีกุน ปลาสำลี ฯลฯ ที่ติดอวนมาเช่นกันไม่ได้ถูกทอดกรอบเพราะผู้คนคงกรี๊ดด้วยความรับไม่ได้หากเห็นลูกปลาเหล่านี้ถูกขายเป็นของขบเคี้ยว ถูกส่งเข้าโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ลูกชิ้น และซูริมิหรือเนื้อปลาเทียม ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งวัตถุดิบป้อนเข้าสู่สายพานการผลิตมากลำดับต้นๆ ของโลก

 “ถ้าเราแบนการปั่นไฟกลางคืนได้ และลดการกินลูกปลาทูได้ จะกระทบกับปลาขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ถูกจับมาอย่างไม่ยั่งยืนด้วย ปลาทูแก้วมาจากไหน กลับไปที่ต้นทาง ถ้าเราไปคัดค้านหรือรณรงค์ให้คนไม่กินลูกปลาทูแต่ยังมีการจับอยู่ ลูกปลาทูขนาดนั้นก็ยังถูกส่งโรงงานปลาป่นอยู่ดี เราต้องคัดค้านตั้งแต่ปลายทาง คือจับมาแล้วก็เอาขึ้นจากเรือไม่ได้ จับมาแล้วก็ไม่ได้ราคา คนทำก็ขายไม่ได้ ต้นเหตุปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหนตีไปที่จุดนั้น ลูกปลาทูก็ไม่ถูกจับ ส่วนคนจับปลาขนาดใหญ่ก็มีปลาให้จับได้มากขึ้น โป๊ะปลาทูที่แม้กลองจะจับปลาทูตัวใหญ่ได้มากขึ้น เพราะปลาจะโตทันกลับมาที่แม่กลอง ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ถูกตัดวงจร” ชวลิตกล่าว 

ความสัมพันธ์ระหว่างประมงไทยกับเรือปั่นไฟและปลาเล็กปลาน้อย ยืดเยื้อเรื้อรังมาหลายปี ความซับซ้อนและความพยายามหลบเลี่ยงกฎหมาย การปรับตัวของผู้ล่า และอำนาจจากภาคธุรกิจคอยตรึงกำลังให้สายพานการสูบฉีดปลาเล็กเข้าสู่อุตสาหกรรรมอาหารสัตว์ไม่ขาดช่วง แต่มีหนทางหนึ่งที่สามารถเคลียร์คัทตัดจบความเรื้อรังนี้ได้ 

พ.ร.ก. ประมง 2558 มาตรา 57 ‘ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำที่เล็กกว่ารัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง’  คือความหวัง หากรัฐบังคับใช้มาตรา 57 จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจเมื่อเรือเทียบท่าว่าเรือมีสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ขนาดเล็กกว่ากำหนดอยู่บนเรือหรือไม่ หากมีจะถูกเปรียบเทียบปรับ ซึ่งช่วยอุดรูรั่วของการลักลอบจับสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ ทว่าในความเป็นจริงมาตรา 57 ยังไม่ถูกนำมาบังคับใช้! ทั้งที่ พ.ร.ก. ประมง 2558 ประกาศมากว่า 4 ปีกว่าแล้ว เพราะข้อความที่ระบุขนาดปลาว่าต้อง ‘เล็กกว่ารัฐมนตรีประกาศกำหนด’  ซึ่งการประกาศกำหนดโดยรัฐมนตรีนี่เองที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้เราไม่ได้มูฟออนไปจริงๆ 

Destructive Fishing Methods in the Gulf of Thailand. © Athit Perawongmetha / Greenpeace
การใช้เตรื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายเช่นอวนลากอาจทำให้ปลาหมดไปจากท้องทะเลไทย © Athit Perawongmetha / Greenpeace

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยตั้งขอสังเกตถึงมาตรา 57ว่า ในบรรดา พ.ร.ก. ประมงปี 2558 ทั้งหมด มีกฎหมายทั้งหมด 157 มาตรา รัฐเลือกดำเนินการหลายมาตราต่างๆ ให้รุดหน้าไป เช่นตั้งคณะกรรมการชุดย่อยประจำจังหวัด เปลี่ยนถ้อยคำชื่อเรียกอุปกรณ์ประมง จัดตั้งส่วนงานใหม่ ฯลฯ แต่เว้นส่วนที่ก่อความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดอย่างการบังคับใช้มาตรา 57 เอาไว้ ทำให้โดยภาพรวมเหมือนรัฐมีการจัดการอะไรหลายอย่าง แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าประมงไทยอย่างมาตรา 57 นั้นยังอยู่ที่เดิม

4 ปีกว่าที่ผ่านมาของมาตรา 57 มีสิ่งที่คืบหน้าไปนั่นคือการหารือเพื่อกำหนดขนาดปลาทูที่นำขึ้นเรือได้ โดยกรมประมงกำหนดว่าปลาทูต้องมีความยาวจากหัวจดหางไม่ต่ำกว่า 14 เซนติเมตร กลุ่มประมงพื้นบ้านเห็นด้วยและยอมรับ แต่กลุ่มประมงพาณิชย์ขอให้รัฐไปศึกษาเพิ่มเติม และยืนกรานให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 57 ออกจาก พ.ร.ก. ประมง พ.ศ.2558 ส่วนรัฐบาลกล่าวว่า “มีความกังวลใจ” ว่าการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้  อาจทำให้ประมงพื้นบ้านและพาณิชย์มีโอกาสทำผิดกฎหมายจากการนำปลาไม่ได้ขนาดขึ้นเรือทั้งคู่

วิโชคศักดิ์กล่าวว่าหากรัฐบาลต้องการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 57  อย่างจริงใจ ข้อกังวลว่าชาวประมงอาจกระทำผิดตามมาตรา 57 อย่างไม่ตั้งใจเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ เพราะรัฐสามารถออก ‘เงื่อนไขประกอบ’ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริงๆ ของชาวประมงได้ 

“จริงๆ รัฐสามารถกำหนด ‘เงื่อนไขประกอบ’ เพิ่มเติมได้ กฎหมายเปิดช่องแต่เราไม่ค่อยทำเพราะว่าความรู้ไม่พอ หรือความรู้พอก็ขี้เกียจ  เช่นรัฐมนตรีประกาศว่าห้ามนำปลาทูขนาดเล็กกว่า 10-14 เซ็นติเมตรขึ้นเรือ แต่มีเงื่อนไขประกอบว่าใน 1 รอบการประมงอาจมีปลาทูขนาดเล็กกว่ามาตรฐานติดมาสัก 10 เปอร์เซ็นต์ได้ แต่ถ้าเกิน 10 เปอร์เซ็นต์คือผิด ถ้าประเมินสัดส่วนและรายละเอียดลงไปโดยเอาหลักวิชาการมารองรับมันทำได้”  

วิโชคศักดิ์กล่าวว่าในทางตรงกันข้ามความพยายามสื่อสารอย่างรวบรัดว่ากฎหมายมาตรา 57 ส่งผลให้  “ปลาเล็กตัวเดียวก็เอาขึ้นเรือไม่ได้” ทำให้มาตรา 57 มีภาพลักษณ์ที่สุดโต่ง และไม่มีทางออกอื่น นอกจากบังคับใช้โดยละเลยความเป็นจริงหรือยกเลิก

รัฐบาลจริงใจอยากมูฟออนไปใช้มาตรา 57 แค่ไหน รัฐต้องการปรับเพื่อหาทางออกให้มาตรานี้ได้ไปต่อ หรือพร้อมขยายความไม่เวิร์กให้แล้วถอนมาตรานี้ออกไป?  

“มันช่วยได้เยอะนะ สมมติมีเรือปั่นไฟวางอวนแล้วเจอลูกปลาผิดกฎหมาย ลำข้างๆ จะไม่กล้าวางตาม ปกติเรือไม่ได้ไปแค่ลำเดียวอยู่แล้ว อีก 2 ลำที่อยู่ใกล้ๆ กัน จะปั่นไฟทำไม ต้องปล่อยเดี๋ยวนั้นเลย เอาขึ้นเรือมาก็ขายไม่ได้ สมมติวันนั้นเขาได้ปลา 5 ตัน เป็นลูกปลาทู 4 ตัน เขาก็เอาขึ้นไม่ได้ ระยะแรกคนจะทิ้งปลาเยอะ ปลาตายจะลอยเกลื่อนเต็มทะเล ไม่มีใครยอมถูกจับหรอกครับ”

ชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดสตูลรวมตัวยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในการสนับสนุนประมงพื้นบ้าน © Korawit Matchathikhun

ชาวประมงพื้นบ้านอย่างปิยะเห็นด้วยกับมาตรา 57 เขาพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังบังคับใช้มาตรา 57 ว่าเรือที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนจะทิ้งสัตว์น้ำเหล่านั้นก่อนเข้าเทียบท่าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับและปรับในช่วงแรก เมื่อนานวันเข้าผู้ประกอบการจะรับการขาดทุนจากการต้องทิ้งสัตว์น้ำไม่ไหว และเปลี่ยนขนาดตาอวนให้กว้างขึ้น ปรับเปลี่ยนการใช้อุปกรณ์เป็นแบบยั่งยืนในที่สุด  ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่นในยุโรปซึ่งออกกฎหมายห้ามนำปลาขนาดเล็กขึ้นเรือก่อนไทยมาร่วม 30 ปี การทิ้งปลาน่าจะเกิดในไทยเช่นกัน แต่ขอให้อดทนใช้กฎหมายนี้อย่างต่อเนื่องยืนระยะ 

การรณรงค์ให้คนแบนทั้งลูกปลาทูและลูกปลากะตัก แม้มีช่องว่างบางประการ แต่นับว่ายังมีพลังทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เพราะหากค่านิยมกินลูกปลาไม่ได้รับการยอมรับ ย่อมทำให้ตลาดสัตว์น้ำวัยอ่อนหดตัวลงได้  ปลาทูแม่กลองของแท้ที่หากินได้ยากน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าทั้งหูฉลามและปลาข้าวสารในโต๊ะอาหารของงานเลี้ยงรัฐบาลครั้งหน้า ทว่าการสร้างค่านิยมใหม่นี้ควรดำเนินควบคู่ไปกับการออกมาตรการทางกฎหมายที่จริงใจและจริงจัง

เพราะนั่นคือการมูฟออนไปสู่การทำประมงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม