หลังสหภาพยุโรปประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทยไปเมื่อมกราคมปีที่แล้วมีผลให้ตลาดการส่งออกสินค้าประมงของประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรปกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากซบเซาไปเกือบ 4 ปีนับตั้งแต่ที่ไทยได้ใบเหลืองไปเมื่อเดือนเมษายน 2558  

เนื้อหาโดยสรุป

  • แม้ว่าปัจจุบัน สหภาพยุโรปจะประกาศถอนใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) กับไทยแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายและระเบียบการทำประมงในอีกหลายมาตราที่ยังเป็นข้อถกเถียง และอยู่ระหว่างการต่อรองเพื่อเรียกร้องให้แก้ไข จากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
  • ผลของการประชุมเครือข่ายสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้ข้อสรุปร่วมกัน 9 ข้อ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการทำประมง และปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติ ข้อเสนอที่เกี่ยวกับการทำประมงหลัก ๆ คือ ควรมีมาตราการจัดการดูแลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ชัดเจน มีการกำหนดค่าปริมาณการจับสัตว์น้ำสูงสุดอย่างยั่งยืน ยกเลิกมาตรา 34 และแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนรวมของภาคประชาสังคม
  • “ผู้บริโภค” สามารถเริ่มต้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเลด้วยการตั้งคำถามถึงที่มาของอาหารของตัวเอง

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาจะครบ 1 ปีแล้ว เราอยากชวนทุกคนมาสำรวจภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมธุรกิจประมงไทยว่า มีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด และความเชื่อมโยงระหว่าง คนจับปลา- คนขายปลา-คนแปรรูปปลา-และเราในฐานะผู้บริโภคอย่างไรบ้าง

ทบทวนกันก่อน IUU Fishing คืออะไร

IUU ย่อมาจาก Illegal-Unreported-Unregulated Fishing โดยมีความหมายครอบคลุมถึงลักษณะการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐที่มีอำนาจเหนือน่านน้ำ ไม่มีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำประมง และไร้กฎเกณฑ์ควบคุม ซึ่ง คณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปได้บังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) กำหนดให้สัตว์น้ำที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรปต้องระบุว่า ไม่ได้มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย 

Fishermen Working with Purse Seine in Thailand. © Biel Calderon / Greenpeace
อวนล้อมจับหนึ่งในเครื่องมือประมงทำลายล้างที่ถูกใช้บนเรือประมงเพื่อใช้ในการจับปลาให้ได้มาก ๆ © Biel Calderon / Greenpeace

1 ปีหลังหลุด “ใบเหลือง” ประมงไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 

ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศต้นแบบ   ด้านการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงยังเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแรงงานในภาคประมง ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยหลุดจากบัญชีใบเหลืองมาได้ มาจากการเร่งแก้ไขกฎหมายด้านประมงหลายมาตรา ทั้งที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการออกทำประมง การกำหนดและควบคุมเรือประมง รวมไปถึงเรื่องปัญหาด้านแรงงาน 

Cambodian Fisherman at Hospital in Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ลูกเรือประมงชาวกัมพูชากำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง หลังจากถูกบังคับใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม © Chanklang Kanthong / Greenpeace

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัญหาอีกหลายด้าน ที่เป็นโจทย์ให้รัฐบาล และมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดการแก้ไขต่อไป ดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายประมง ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนข้อเสนอของกลุ่ม จำนวน 11 ข้อ โดยใจความสำคัญคือ ต้องการให้มีการทบทวนกฎระเบียบการทำประมงใหม่ และเร่งช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงแก้ไขกฎเกณฑ์การนำเข้าแรงงานประมง  ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อศึกษา แก้ไข และประเมินผลกระทบจากการใช้มาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย 

ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านก็ได้จัดการประชุมสมัชชาภาคีเครือข่ายประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ประจำปี 2563 ขึ้นที่ จ.สตูล  เพื่อเปิดเวทีให้สมาชิก ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งจากทะเลฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย รวม 23 จังหวัด ได้แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นถึงข้อกังวลใจ ปัญหา และรวบรวมเป็นข้อเรียกร้องส่งถึงรัฐบาล รวมด้วยกัน 9 ข้อ โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงหลัก ๆ  คือ ควรมีมาตราการจัดการดูแลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ชัดเจน มีการกำหนดค่าปริมาณการจับสัตว์น้ำสูงสุดอย่างยั่งยืน และขอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับ หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง เช่น คำนิยามของประมงพื้นบ้าน และกระบวนการ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนเรือ เป็นต้น

เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านรวมตัวกันยื่นจดหมายข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา © Korawit Matchathikhun

จะเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะได้รับใบเขียวในการทำประมงจากสหภาพยุโรป และได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติถึงความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย จนเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น ๆ แต่นั่นก็ไม่หมายความว่า การบริหารจัดการประมงไทยจะไร้ซึ่งปัญหาใด ๆ อีกต่อไป สิ่งที่เราจะต้องติดตามต่อไป ก็คือ ท่าทีของภาครัฐบาลต่อข้อเสนอของทั้งสองกลุ่ม ว่าจะมีแนวโน้มหรือทิศทางไปอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หากมีการแก้ไขขยายระยะเวลาทำการประมงจากรอบละ 30 วัน เป็น รอบละ 60 วัน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงกับทรัพยากรทางทะเล ให้เรือประมงสามารถจับสัตว์น้ำเกินโควตาที่กฎหมายกำหนด รวมไปถึงทำให้แรงงานต้องทำงานอยู่กลางทะเลนานขึ้นตามไปด้วย เพราะวัตถุประสงค์ของการกำหนดรอบทำการประมงที่ 30 วัน ก็เพื่อควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำและการใช้แรงงานในสภาพที่เลวร้าย  หรือการพิจารณานิรโทษกรรมเรือประมงพาณิชย์ที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง ภาครัฐก็ควรต้องพิจารณาสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลเสียก่อน ให้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน เพราะท้องทะเลไม่เพียงแต่เป็นแหล่งความมั่นคงทางรายได้ของผู้คนที่อาศัยอยู่กับทะเล แต่ยังเป็นแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงผู้คนอีกนับหลายล้าน การส่งเสริมการทำประมงด้วยความรับผิดชอบก็เท่ากับเรากำลังช่วยปกป้องท้องทะเลของเราอีกทางหนึ่ง

 มันเข้าใจยาก….แต่เพราะอะไรเราถึงควรรู้ไว้สักนิด

“คุณ” ในฐานะผู้บริโภคอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองมีพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่การผลิต และจัดจำหน่ายอาหารทะเลมากเพียงใด เพราะความเชื่อมโยงระหว่างคนผลิตอาหาร กับคนซื้ออาหารนั้นถูกตัดให้แยกจากกัน นับตั้งแต่ที่เรามีกลไก “ตลาด” แบบใหม่เข้ามาทำหน้าที่ตรงกลางในการต่อรอง รับซื้อ และแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้พร้อมสำหรับการจัดจำหน่าย แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และรีบเร่ง หากแต่ว่ามิติที่หายไปนี้ กำลังทำให้เราไม่รู้จักอาหารที่วางอยู่ตรงหน้าเราอีกต่อไป ปลากุ้ง หรือปูที่อยู่ในจาน ก็เป็นเพียงอาหารทะเลจานหนึ่งเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับว่าปลามาจากไหน เครื่องมือที่ใช้จับคืออะไร หรือราคาอาหารที่แสนถูกจะหมายถึงการขูดรีด เอาเปรียบแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของเราในฐานะ “ผู้บริโภค” ที่ไม่รู้ เพราะต้นทางอาหารของเราในปัจจุบันนั้น เต็มไปด้วยความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับใครหลายคนจำนวนมาก รวมถึงข้อกฎหมายหลายสิบมาตราเช่นกัน แต่อย่าปล่อยให้เรื่องยาก ๆ เหล่านี่มา ทำให้เราเลิกสนใจสิ่งรอบตัว และหยุดตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือวางอยู่ต่อหน้า เพราะผู้บริโภคอย่างคุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการเริ่มต้นถามคำถามง่าย ๆ และหาคำตอบจากโจทย์ที่ว่า “ปลาในจานนี้ มันมาจากไหน” หรือ “ใครเป็นคนหาอาหารทะเลมาให้ฉัน”

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม