• หลังจากที่ร้านค้าปลีกในไทยกว่า 75 แห่งงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว การใช้พลาสติกอาจลดลงบางส่วนจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าบางแห่ง แต่ยังไม่รวมถึงร้านขายของชำและตลาดสดที่ยังบริโภคตามปกติ
  • ปัญหามลพิษพลาสติกในไทยยังคงมุ่งเน้นเฉพาะถุงพลาสติกหูหิ้ว แต่ยังมีพลาสติกชนิดอื่นๆ อีกที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร ซอง หรือหีบห่อต่างๆ
  • ภาครัฐควรกำหนดการยกเลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นกฏหมายซึ่งเป็นเงื่อนไขภาคบังคับที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องปฏิบัติตาม และกฏหมายนั้นต้องมีความทันสมัยสอดรับกับปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้น เพราะการยกเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่อยู่ใน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก 2561-2573 นั้นกำหนดระยะเวลายกเลิกพลาสติกช้าเกินไป และไม่ครอบคลุมพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน
  • การขับเคลื่อนประเด็นการแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกจึงต้องทำพร้อมกันทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และต้องมุ่งไปที่การลดตั้งแต่ต้นทาง การใช้ซ้ำ และการเติม ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สร้างขยะตั้งแต่แรก พร้อมๆ กับการสนับสนุนให้เกิดการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นแล้วและนำมันเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ร้านค้าปลีกต่างๆ กว่า 75 แห่ง ร่วมใจกับภาครัฐไม่แจกถุงพลาสติกหูหิ้ว หลังจากที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอความร่วมมือภาคธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรม “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” ให้มีการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วในวันที่ 1 มกราคม 2563 การประกาศออกมาของนายวราวุธดูเหมือนว่าเป็นการช่วยย่นระยะทางให้การยกเลิกถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยนั่นเร็วขึ้น หลังจากที่ภาครัฐออก Roadmap การจัดการขยะพลาสติก 2561 – 2573 ซึ่งระบุให้ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน จะถูกยกเลิกในปี 2565 นั่นคืออีก 3 ปีข้างหน้า

แต่ความจริงแล้วนั้น การออกมาขอความร่วมมือภาคธุรกิจงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วนั้นจะช่วยย่นระยะทางความหายนะทางสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือ?

ประเทศไทยผลิตถุงพลาสติกหูหิ้วต่อปีถึงปีละ 45,000 ล้านใบ เพื่อใช้บริโภคใน 3 ภาคส่วน คือร้านสะดวกซื้อ/ห้างสรรพสินค้า 13,500 ล้านใบ ร้านขายของชำ 13,500 ล้านใบ และตลาดสด 18,000 ล้านใบ การออกมา ‘ขอความร่วมมือ’ ให้งดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วเพียงภาคส่วนเดียว จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ปัญหามลพิษพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะลดลง การใช้พลาสติกอาจลดลงไปส่วนหนึ่ง แต่ในภาพรวมการบริโภคถุงพลาสติกหูหิ้วยังคงดำเนินต่อไปเป็นปกติในอีก 2 ภาคส่วน (ร้านขายของชำ และตลาดสด) ซึ่งถูกผลิตออกมาเยอะไม่ต่างกัน

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ‘การขอความร่วมมือ’ จากภาครัฐ หรือ ‘การงดแจกแบบสมัครใจ’ จากภาคค้าปลีกจะสามารถช่วยให้ถุงพลาสติกหูหิ้วลดลงไปจากสังคมไทยได้ เพราะการงดแจกถุงหูหิ้วเป็นไปตามนโยบายของร้านค้านั้นๆ ทั้งในเรื่องประเภท/ขนาดถุงพลาสติก ระยะเวลาในการงดแจก และความจริงจังในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น ในตอนนี้ที่เวลาผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน เราเริ่มเห็นการอะลุ่มอล่วยจากร้านค้าปลีกที่ยังคงมีถุงพลาสติก (ที่ไม่ระบุโลโกห้างร้าน) ให้ในบางกรณีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่อาจมั่นใจได้ว่า ถุงพลาสติกหูหิ้วจำนวน 13,500 ใบที่หมุนเวียนอยู่ในร้านสะดวกซื้อนั้นจะหายไปได้ทั้งหมด

นอกเหนือจากถุงพลาสติกหูหิ้วแล้ว ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในการผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 100% มีพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์ 41.4% เท่ากับ 2.331 ล้านตัน และเป็นบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มสินค้า 7.63 แสนตันปัญหามลพิษพลาสติกจึงไม่ใช่แค่ถุงพลาสติกหูหิ้วเท่านั้น แต่มีพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์ด้วย และบรรจุภัณฑ์นี้เองที่จากการสำรวจแบรนด์ขยะพลาสติกของกรีนพีซเมื่อปีที่ผ่านมา พบขยะประเภทบรรจุภัณฑ์มากที่สุดทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสงขลา และเมื่อรวมกับที่บรรจุภัณฑ์สินค้าบางประเภทเป็นแบบบรรจุภัณฑ์หลายชั้น (multi-layer) จึงยิ่งทำให้บรรจุภัณฑ์สินค้ากลายเป็นขยะทันทีที่มันถูกแกะออกจากสินค้า

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรกำหนดการยกเลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นกฏหมายซึ่งเป็นเงื่อนไขภาคบังคับที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องปฏิบัติตาม และกฏหมายนั้นต้องมีความทันสมัยสอดรับกับปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้น เพราะการยกเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่อยู่ใน Roadmap นั้นกำหนดระยะเวลายกเลิกพลาสติกช้าเกินไป และไม่ครอบคลุมพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน รวมถึง การออกกฏหมายควรกำหนดทางเลือกให้ผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติและครอบคลุมทุกภาคส่วนการบริโภคพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในสังคมหรือบังคับใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ผู้ผลิตต้องมีส่วนรับผิดชอบในการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ของตนที่ขายออกสู่ตลาดตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ด้วย อาทิ การจัดการเก็บรวบรวมกลับคืน การขนส่ง การรีไซเคิล เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่า การแยกขยะของเขาจะนำไปสู่การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพได้ ในขณะที่คนในสังคมยังคงถกเถียงกันอย่างมากว่า ขยะที่พวกเขาแยกแล้วนั้นถูกนำไปเทรวมกันในรถขยะอยู่ดี ก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นและไม่ให้ความร่วมมือและความพยายามในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ร้อยละของขยะพลาสติกที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลซึ่งมีเพียงร้อยละ 9 นั้น จึงยิ่งดูเหมือนว่าเท่าเดิมหรือมีแนวโน้มลดลง ถ้าการคัดแยกขยะจากภาครัฐยังคงไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อประชาชนไม่คัดแยกขยะแล้ว พลาสติกจากการใช้งานจึงกลายเป็นขยะอย่างสมบูรณ์ และไม่สามารถนำไปจัดการต่อได้ สุดท้ายจึงจบลงที่หลุมฝังกลบใกล้บ้านเรา

นอกจากนี้ การใช้เตาเผาขยะก็ไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหา เพราะนำมาซึ่งสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การศึกษาไข่ไก่ในชุมชนใกล้โรงงานเผาพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงในอินโดนีเซีย ของเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกําจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network – IPEN) พบว่ามีสารเคมีที่เป็นพิษที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงจำเป็นต้องลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ต้นทางดีกว่าไปหาทางจัดการปัญหาขยะที่ปลายเหตุ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นทางสิ่งแวดล้อมตามมา

นอกเหนือจากภาครัฐที่ต้องออกกฏหมายภาคบังคับอย่างเร่งด่วนและทันต่อวิกฤตมลพิษที่เกิดขึ้นแล้ว ภาคธุรกิจยังต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการปัญหาด้วย ภาคธุรกิจใช้หลายประเทศก็มีการขับเคลื่อนเรื่องการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างจริงจังผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้แทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น แบรนด์ Laser Food ในสเปนเป็นผู้บุกเบิกระบบติดฉลากเลเซอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรียกว่า  “การสร้างแบรนด์แบบธรรมชาติ” (Natural Branding) ซึ่งเอาผิวของผักและผลไม้ขนาดบางจิ๋วออกเพื่อเป็นฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์แทนการติดสติกเกอร์ และในประเทศนิวซีแลนด์ ห้างค้าปลีก Foodstuffs เริ่มโครงการ “อาหารเปลือย” โดยทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อยุติการห่อหุ้มผักและผลไม้ด้วยพลาสติก ซูเปอร์มาร์เก็ตจะติดตั้งเครื่องทำความเย็นระบบ “ละอองน้ำ” เพื่อให้สินค้าสดใหม่และคงอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถือเป็นความจำเป็นอย่างมากที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน มิใช่เพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกคนต้องช่วยกันโดยถือว่าหน้าที่ความรับผิดชอบของเราทุกคนในฐานะพลเมืองของโลกใบนี้ที่ใช้ชีวิตโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น ภาคประชาชนเองก็ต้องลงมือทำในส่วนที่ตัวเองทำได้เพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นและไม่แย่ลงไปกว่าเดิม ต้องช่วยกันลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่จำเป็นและคำนึงถึงการใช้ซ้ำให้มากที่สุดจนหมดอายุขัยของวัสดุนั้นๆ และตระหนักอยู่เสมอว่า เราเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการบรรเทาวิกฤตมลพิษพลาสติกได้

การขับเคลื่อนประเด็นการแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกจึงต้องทำพร้อมกันทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และต้องมุ่งไปที่การลดตั้งแต่ต้นทาง การใช้ซ้ำ และการเติม ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สร้างขยะตั้งแต่แรก พร้อมๆ กับการสนับสนุนให้เกิดการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นแล้วและนำมันเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อทุกคนในสังคมตระหนักและมองเห็นทิศทางที่สังคมต้องมุ่งไป ปัญหามลพิษพลาสติกก็มีโอกาสคลี่คลายลงได้ในอนาคต

#BreakFreeFromPlastic