Chiang Mai Air Quality Health Index หรือ CMAQHI เป็นเว็บไซต์ที่ชาวเชียงใหม่ทุกๆ อำเภอ (25อำเภอในปี2561) ​และขยายครบทุกตำบล (210 แห่งในปี 2562)​  ขณะที่เครื่องของทางการมีติดตั้งสถานีตรวจวัดเพียง 2 แห่งเฉพาะในอำเภอเมืองเท่านั้นซึ่งไม่สามารถสะท้อนคุณภาพอากาศได้ทั้งจังหวัดอย่างแน่นอน​​ 

ความน่าสนใจของเว็บไซต์นี้มีอยู่สองประการ ข้อแรกคือการคอยอัพเดทคุณภาพอากาศในทุกๆตำบล​ ทุกๆ หนึ่งชั่วโมง มีค่าเฉลี่ยทั้งรายชั่วโมง​ รายวัน​ รายเดือน​และรายปี​ ค่ารายชั่วโมงทำให้ทราบคุณภาพอากาศ​ระดับ PM2.5 ​ในเวลาใกล้เคียงเวลาจริงในพื้นที่แต่ละตำบลซึ่งช่วยทำให้​เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น​และประชาชนทุกตำบลสามารถทราบคุณภาพอากาศที่แท้จริงในแต่ละตำบล​ได้​ซึ่งจะช่วยให้พิจารณาได้อย่างมั่นใจว่าควรป้องกันตนอย่างไร​ในชั่วโมงถัดไป​และช่วยในการติดตามหาแหล่งกำเนิดฝุ่นในแต่ละตำบล​อีกด้วย  ส่วนค่ารายวันสะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพในวันที่ผ่านมา​ และยังช่วยวางแผนในการปฏิบัติตนในวันถัดไป​ เป็นต้น​ ส่วนข้อสองคือการที่เว็บไซต์นี้ถือกำเนิดจากการความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มแพทย์​ ​พยาบาล​ ​นักวิชาการ​ และผู้สนใจจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ เห็นว่าดัชนีคุณภาพอากาศที่ภาครัฐโดยกรมมลพิษประกาศให้ประชาชนใช้อย่างเป็นทางการ​ไม่ได้สะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง​ ตลอดจนคำเตือนในการป้องกันตนยังไม่ถูกต้องและไม่มีความชัดเจนในการปฏิบัติจริงเท่าที่​ควร กลุ่มจึงนำเสนอดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเชียงใหม่​ ที่สะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพในแต่ละพื้นที่ได้ดีกว่า​ ​ทันต่อสถานการณ์จริง​ และมีคำแนะนำเป็นแนวทางการป้องกันตนเองที่มีรายละเอียดที่เหมาะสมและชัดเจนมากกว่า​ ถือเป็นผลงานของภาคประชาชนล้วนๆ ทางกลุ่มได้นำเสนอต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่​ ซึ่งท่านให้ความเห็นชอบจึงประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2561 ​เป็นต้นมา​ 

เบื้องหลังการดำเนินการนี้ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์คือหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ

ในชีวิตประจำวัน คุณหมอชายชาญคือผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ​ ​เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้​ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เพราะตระหนักว่า PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ของจังหวัดและภูมิภาคมากว่า10ปี​ แต่ในช่วงแรกกลับไม่มีใครสนใจแม้จะมีการพูดในเวทีวิชาการ​ เสวนาต่างๆ​ จึงได้สร้างภาพยนตร์ Smog​ in​ the​ ​city ​เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อสังคมในวงกว้าง​ แต่หากไม่แสดงให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาพชาวเชียงใหม่ให้ชัดเจน​ ผู้บริหารบ้านเมือง​ ผู้นำสังคม​ ผู้ก่อให้เกิดมลพิษ​ และผู้ได้รับผลกระทบ​ อาจจะไม่ยอมรับ​ ไม่ตระหนักในการแก้ไขปัญหาร่วมกันเท่าที่ควร​ คุณหมอชายชาญจึงได้ตัดสินใจทำงานวิจัยผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพ​อย่างต่อเนื่อง​ และลุกขึ้นมาขับเคลื่อนประเด็นฝุ่นอย่างจริงจัง และแม้ว่าตารางในวันๆ หนึ่งจะยุ่ง หากก็เป็นโชคดีของเราที่คุณหมอยินดีจะสละเวลามาสนทนาเรื่องปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน 

PM 2.5 มีต้นกำเนิดจากอะไร

มลพิษที่เป็นก๊าซโดยส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้แหล่งกำเนิด เช่น ปล่องโรงงาน ท่อไอเสียรถยนต์ หรือในพื้นที่การเผา แต่ที่มันกระจายอยู่ทั่วไปในระดับสูงและต่อเนื่องเป็นเวลานานคือ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผา เพราะเวลาเราเผา มันจะอยู่ในบรรยากาศได้เป็นสัปดาห์ เคลื่อนที่ได้ไกลเป็นร้อยๆ กิโลเมตรตามทิศทางของกระแสลม เราอาจไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งกำเนิด แต่มันก็มา ตัวอย่างเช่นภาคเหนือตอนบน ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน จะเป็นแหล่งกำเนิดจากพม่าสัก 2 ใน 3 แต่กรณีกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม แหล่งกำเนิดจะเป็นบริเวณที่ลุ่มเจ้าพระยาจากการเผานาข้าว และเผาเพื่อเตรียมปลูก 

ประชาชนใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในวันที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน

ทำไมการปล่อย PM2.5 จากภาคการเกษตร จึงขยายตัวขึ้น

เป็นเพราะอุตสาหกรรมการเกษตรไง ตั้งแต่เรามีอุตสาหกรรมเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด น้ำตาล อ้อย มีการประกันราคาพืชผลเกษตร ส่งเสริมครัวไทยเป็นครัวโลก หรือพอพื้นที่ปลูกในประเทศไม่พอก็ไปจ้างพม่า จ้างลาว จ้างกัมพูชาปลูกอีก แล้วทีนี้การเผามันเริ่มจากกัมพูชาเผาก่อน มาลาวใต้ ลาวเหนือ ภาคอีสาน แล้วขึ้นมาภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน จนมาถึงพม่า รัฐฉาน การเผามันเลยยาวนานไง หรือถ้าลองถอยมาดูในระดับโลก กรณีไฟป่าที่แอมะซอน หรือไฟป่าที่ไซบีเรียก็เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมเกษตรทั้งนั้น เพราะอุตสาหกรรมเกษตรนำมาซึ่งการทำลายป่าไม้เพื่อจะสร้างผลผลิต และรายได้ คือการมองแต่เรื่องเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวขณะที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างเลือดเย็น มันเหมือนไปตายเอาดาบหน้าน่ะ คิดแค่ว่าขอให้รุ่นเราอยู่ดีมีสุขไว้ก่อน แต่มันอยู่ดีมีสุขจริงหรือเปล่า เผลอๆ จะอยู่ดีมีทุกข์ด้วยซ้ำไป

ผมในฐานะที่เป็นหมอก็ได้แต่สะท้อนเรื่องผลกระทบทางสุขภาพ เพราะมันทำให้เกิดการเสียชีวิตรายวัน คนอายุสั้นลง ก่อให้เกิดโรคมากมาย ซึ่งเป็นโรคที่เรียกว่า Non – Communicable Disease (NCD) คือโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อซึ่งเป็นเงาตามตัวของสังคมผู้สูงอายุเลยนะ แล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็มหาศาลด้วย เพราะโรคเรื้อรังพวกนี้ไม่หาย มันส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง แล้วยังเป็นภาระกับลูกหลานมากขึ้น เป็นภาระกับระบบสาธารณะสุขมากขึ้น เป็นภาระกับระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติมากขึ้น ภัยคุกคามอันดับแรกเลยคือ PM 2.5 นะ ถ้าวัดกันแค่เรื่องความตาย PM 2.5 ถือเป็นฆาตกรอันดับหนึ่งของโลก เพราะเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตปีหนึ่งประมาณเจ็ดล้านคนทั่วโลก แล้วปัญหามลภาวะน่ะ องค์การอนามัยโลกถือว่ามันเป็นภัยคุกคามชาวโลก ยิ่งกว่า HIV AIDS มากกว่าวัณโรค มากกว่าภัยสงคราม มากกว่าโรคระบาดร้ายแรงใดๆ ไปแล้ว

PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และชีวิตขนาดนี้ แต่คนกลับไม่รู้เรื่องนี้เลยเหรอ

ใช่ครับ เพราะมันมีผลกระทบในวงกว้าง สมมติครอบครัวเราเผาที่นาตรงนี้ แต่ผลกระทบมันไปไกลทั้งหมู่บ้าน อำเภอ ทั้งภูมิภาค ลูกเด็กเล็กแดง สตรีมีครรภ์ ไปจนถึงผู้สูงอายุได้รับผลกระทบหมด แล้ว PM 2.5 มันซึมผ่านเส้นเลือดไปอยู่ในทุกเซลส์ ทุกอวัยวะในร่างกาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรากฏอาการเมื่อไหร่ คือถ้าไม่ปรากฏอาการบางคนอาจบอกว่าไม่เป็นไร แต่ความจริงร่างกายอาจมีความเปลี่ยนแปลงเชิงชีวภาพแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพแล้ว ดีเอนเอของเซลส์มีการแตกหักและซ่อมแซมถี่ขึ้นๆ จนอาจกลายพันธ์ุได้ เพราะทุกๆ สิบไมโครกรัมของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นรายปี อุบัติการของมะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนในพื้นที่จะอายุสั้นลง 1 ปี

ซึ่งตอนนี้คนไทยเราก็ได้รับผลกระทบนี้เรียบร้อยแล้ว

เรียบร้อยแล้วครับ เป็นสิบปีแล้ว

ถ้าอย่างนั้นผลกระทบที่ชัดเจนของ PM 2.5 มันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

ประมาณปี พ.ศ. 2549 ครับ ปีนั้นที่เชียงใหม่มองไม่เห็นดอยสุเทพอีกแล้ว เราเห็นหมอกควันหนาแน่นมาก คือมันเป็นช่วงหลังจากมีการเซ็นสัญญา Asean Economic Community (AEC) ให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรระหว่างกัน มันเลยมีอุตสาหกรรมการเกษตรเกิดขึ้นมากมาย มีการทำเกษตรกรรมเพื่อไปเลี้ยงสัตว์ ผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกนอก ซึ่งอุตสาหกรรมเกษตรนั้นเท่ากับว่าเราไม่ได้ปราณีต่อสมดุลของธรรมชาติเลย เราไม่ได้ทำการเกษตรแบบพอเพียงอีกต่อไป แต่ผลิตแบบอุตสาหกรรม คือต้องเข้าใจนะว่าการทำการเกษตรน่ะ ถ้าไม่เผามันก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนะ จะด้วยการฝังกลบ การทำลายซาก หรือมีการนำซากไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่เพราะเรามักง่ายไง เราเผาอย่างเดียว มันเลยกลายเป็นปัญหา

ความจำเป็นที่ต้องเผาเพราะต้นทุนในการจะเปลี่ยนวิธีจัดการในเรื่องนี้ของพวกเขามีไม่มากพอด้วยหรือเปล่า

ใช่ เพราะรัฐบาลไม่ได้หามาตรการรองรับ ออกแต่กฎหมายมาบอกว่าห้ามเผาในที่โล่งแล้วไม่มีบังคับใช้กฎหมาย แถมรถแทรคเตอร์ก็ขึ้นดอยไม่ได้ ฝังกลบก็แพง หรือถ้าชาวบ้านจะขนส่งซากเกษตรมาขาย ค่าขนส่งก็แพง แถมไม่มีใครรับซื้ออีก

คือรัฐบาลเองก็ไม่ได้ไปทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตและภูมิประเทศเลย

ใช่ เวลาเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง สมมติบอกให้ปลูกไม้ยืนต้น แต่ในแต่ละพื้นที่มันมีความหลากหลายมาก มีการยอมรับในระดับที่หลากหลายมาก มันเลยไม่ง่าย แต่อย่างน้อยๆ กับกรณีการเผา เรารู้ว่าการเผาทำลายสิ่งแวดล้อม มนุษยชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ เพียงแต่คนเผาน่ะเขาไม่รู้หรอก เขารู้แค่จะอดตายถ้าปลูกไม่ทัน เพราะเดี๋ยวฝนจะมา หรือเดี๋ยวจะต้องรีบเก็บเกี่ยว เขาก็หาเช้ากินค่ำ หรือพออยู่บนดอย PM 2.5 มันไม่หนาแน่นเหมือนแอ่งกะทะในตัวเมือง ชาวบ้านก็อาจบอกว่า คนเมืองโวยวายอะไรกัน บางทีขึ้นไปดอยสุเทพนี่ฟ้ายังใสอยู่เลยนะ เพราะมันพ้นจากระดับการสะสมของ PM 2.5 มันเลยทำให้ชาวดอยกับชาวเมืองก็ไม่เข้าใจตรงกันนะ

ตรงนี้เลยเป็นหน้าที่ของคนกำหนดนโยบายมาจัดการ ไม่ใช่ดองแต่ปัญหา หรือแค่บินมาแจกหน้ากากอนามัยแล้วจบ แต่เขาต้องคุยกับเจ้าพ่อเกษตรเลย คุยกับผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านเลยว่าช่วงนี้การเผามันเป็นภัยพิบัติแล้ว เรามาจับมือกันเลื่อนรอบเกษตรไปก่อน หรือให้เงินชดเชยกับชาวนาก่อนไหม เพราะมันจะช่วยลดผลกระทบได้มากนะ ถ้าเขาเห็นว่าประชาชนต้องมาก่อนในเรื่องนี้ มองปัญหาอย่างรอบคอบ ฟังนักวิชาการ มันจะรู้จุดว่าต้องแก้ไขตรงไหน จะไม่มีมาตรการระยะสั้นรายไปไว้โชว์ผู้สื่อข่าว แล้วบอกว่ามีหน้ากากอนามัยก็พอ มาตรการเหล่านี้มันดูถูกประชาชน

อยากทราบเรื่องกลุ่ม Chiang Mai Air Quality Health Index กลุ่มนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

เริ่มจากการที่เราพบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่ใช้โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจากกรมมลพิษ ไม่ได้อิงระดับผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ไปเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการขนส่งมากกว่า คือเรายอมให้มีมลภาวะมากขึ้นได้ ซึ่งเราใช้ค่านี้มา 20 – 30 ปีแล้ว แต่ทีนี้องค์การอนามัยโลกเขากำหนดว่า PM 2.5 รายวันอยู่ที่ 25 ส่วนรายปีอยู่ที่ 10 เนี่ย แค่นี้ก็มีการตายเพิ่มขึ้นแล้ว เพียงแต่มันยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ถ้าจริงใจ และจริงจัง แต่ประเทศไทยเราไปกำหนดว่า ค่ารายวันอยู่ที่ 50 ส่วนรายปีอยู่ที่ 25 ปัญหาคือมันไม่มีงานวิจัยที่บอกว่า คนไทยสามารถทนมลพิษได้ดีกว่าชาติอื่นๆ สองเท่า เรามโนขึ้นมาเอง

ทีนี้ผมเลยเห็นว่า อะไรแบบนี้มันไม่เป็นธรรมต่อประชาชนนะ เพราะมันอาจมีคนไปเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนไข้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หัวใจ และหลอดเลือด คนไข้กลุ่มนี้มีเยอะมาก ซึ่งพวกเขาอาจได้รับผลกระทบมากขึ้นถ้าไปเชื่อว่า PM 2.5 ต้องเกิน 50 ก่อนมันถึงจะส่งผลต่อร่างกาย ผมกับเพื่อนๆ ที่เป็นหมอเลยรวมตัวกัน และเริ่มใช้ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่ ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้อิงมาตรฐานขององค์กรอนามัยโลกนะ แต่อิงตามองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ที่ค่า PM 2.5 ของเขาอยู่ที่ 35 ถึงจะมีผลกระทบกับร่างกาย

เพียงแต่ทีแรกเมื่อเริ่มทำ เราก็กลัวนะว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากต่างจังหวัด กลัวจะถูกมองเป็นดัชนีเถื่อน เราเลยไปคุยกับผู้ว่าคนเก่า (ปวิณ ชำนิประศาสน์) ช่วงต้นเดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2561 โชคดีว่าท่านก็ให้เข้าพบ ผมก็เริ่มชี้แจงทันที ปรากฎว่าท่านเข้าใจเลย เปลี่ยนทัศนคติเลย ท่านบอกว่าแต่ก่อนไม่เคยเข้าใจเรื่องฝุ่นควันเลยนะ หรือพอต่อมาเราเห็นว่า เครื่องวัดของกรมมลพิษที่เชียงใหม่มีอยู่แค่ศาลากลาง กับยุพราช มันวัดได้แค่มลพิษในเมืองรัศมีสิบกิโลเมตร ซึ่งเป็นมลพิษจากรถยนต์เท่านั้น ไม่ได้บอกค่ามลพิษในพื้นที่อื่นๆ เลย ซึ่งกลุ่มของเราเห็นว่าถ้าติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศแค่ในอำเภอน่ะมันไม่เพียงพอ เราเลยขอทุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อไปติดเครื่องวัดในทุกๆ ตำบลเลย โดยที่เราก็หวังว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะนำค่าคุณภาพอากาศในพื้นที่ของเขาไปสื่อสารกับชาวบ้านให้ตระหนักรับรู้

ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เราได้ติดตามผลลัพธ์ หรือพบอุปสรรคอะไรบ้างไหม

ในส่วนของการประเมินผลว่า ประชาชนได้รับความรู้แค่ไหนยังไม่มีการประเมินอย่างเป็นระบบ อย่างปีก่อนเรามีการสร้างคลีนรูม และเซฟตี้โซน ตามศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และโรงพยาบาลของชุมชนเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมีที่ได้พักหลบฝุ่น เพียงแต่มันก็จะเปิดได้แค่ในเวลาราชการ พอตกเย็นก็ต้องกลับบ้าน หรือบางคนเขาก็ห่วงบ้าน เราเลยบอกให้ใส่หน้ากาก N95 นอน แต่เขาก็จะบอกว่าอึดอัด หรือเราพยายามจะไปติดตั้งเครื่องฟอกอากาศให้บ้านเขา แต่บ้านของชาวบ้านบางหลังยังไม่มีฝ้าเพดานเลย เพราะงั้น PM 2.5 มันเลยผ่านเข้ามาตลอด ตอนนี้เราเลยเริ่มพยายามจะผลักดันให้มีมุ้งป้องกัน PM 2.5 อยู่ เพียงแต่ก็ยังไม่มีการทดสอบประสิทธิภาพว่า ถ้ามลภาวะสูงๆ มุ้งจะป้องกันได้ไหม

คุณหมอคิดว่า ชาวเชียงใหม่รับรู้ไหมว่า สถานการณ์ PM 2.5 ในเชียงใหม่กำลังแย่ขึ้นเรื่อยๆ

ผมว่าเขารู้นะ แต่รู้แค่ไหน มันมีการสื่อสารค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปีที่ผ่านมามีความตื่นตัวมาก ทีแรกผมคิดว่า การจะให้ประชาชนรับรู้เรื่อง PM 2.5 อาจต้องใช้เวลา 2 – 3 ปี แต่อาจเพราะโซเชียลเนตเวิร์คด้วยส่วนหนึ่ง ช่วยให้เริ่มตระหนักรู้มากขึ้น แต่ก็ยังหาทางออกไม่ได้ ติดปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขาเลยนะ

เมื่อภาคประชาชนตื่นตัวขนาดนี้ แล้วรัฐหันมาให้ความสนใจเพิ่มขึ้นไหม

ก็สนใจ แต่จริงใจหรือเปล่านั่นอีกเรื่องนะ (หัวเราะ) ยิ่งคนกรุงเทพฯ โวยวายรัฐบาลยิ่งให้เครดิตมาก แต่ตอนคนเหนือโวยวายนี่ นักข่าวยังไม่ค่อยสนใจเลย มันเหมือนเป็นข่าวท้องถิ่นไปแล้ว

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม