นักอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ถึงการเกิดไฟป่าขั้นรุนแรงทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา(4-5 มกราคม 2563) ได้อย่างถูกต้อง ภาพถ่ายที่บันทึกโดยเครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) บนดาวเทียม Aqua ในวันที่ 4 มกราคม 2563 แสดงควันไฟป่าในส่วนที่เป็นสีแทน เมฆคือส่วนที่เป็นสีขาว ในขณะสีขาวที่กระจัดกระจายอยู่เหนือควันไฟป่าคือเมฆไพโรคิวมูโลนิมบัส (pyrocumulonimbus) ซึ่งเป็นเมฆฝนชนิดพิเศษที่ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากแรงยกตัวของกระแสอากาศร้อนที่เกิดจากไฟป่า

ภาพจาก Earth Observatory

ไฟป่ามหากาฬที่ออสเตรเลียสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ประเมินโดยรวมว่ามีสัตว์ป่า 480 ล้านตัวได้รับผลกระทบนับตั้งแต่เกิดไฟป่านับในรัฐนิวเซาท์เวลล์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 จนถึงเดือนธันวาคม 2562 ไฟป่าในรัฐนิวเซาท์เวลส์กินบริเวณ 27,000 ตารางกิโลเมตร (10,000 ตารางไมล์) ขนาดราว 26 เท่าของเนื้อที่กรุงมหานคร รัฐบาลออสเตรเลียประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนพฤศจิกายน 2562 เมื่อไฟป่ามหากาศขยายลุกลามออกไป มีผู้เสียชีวิต 23 คน สูญหาย 6 คน นับตั้งแต่เกิดฤดูไฟป่าขึ้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรีย เฉพาะในรัฐวิกตอเรีย บ้านเรือน 1,500 หลังสูญไปในเปลวไฟ

ไฟป่ากลายเป็นดรามาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562 และช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2563 จากการที่ท้องฟ้ากลางวันสีแดงฉานจากควันไฟป่าหนาทึบปกคลุมเต็มท้องฟ้า ผู้คนแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ต้องหนีออกจากบ้านเรือนของตน และกองทัพเรือออสเตรเลียต้องใช้เรืออพยพประชาชนและนักท่องเที่ยวกว่า 1 พันคนออกจากพื้นที่เมืองชายฝั่ง Mallacoota

ใน Mallacoota เมืองท่องเที่ยวชายฝั่ง ไฟป่ามหากาฬเข้าขวางถนนสายหลัก เพื่อหาที่ปลอดภัย ชาวเมือง นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ป้องกันไฟป่าต้องร่นมาอยู่ตามชายหาดจากการที่ไฟป่ารุกเข้ามา หน่วยงานรัฐบาลเตือนนักท่องเที่ยวให้ออกจากพื้นที่ชายฝั่งของรัฐวิกตอเรียและนิวเซาท์เวลส์ และมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน 7 วัน นับจากวันที่ 3 มกราคม 2563 การประกาศภาวะฉุกเฉินรวมถึงการบังคับให้ย้ายออกหากคาดการณ์ว่าอันตรายจากไฟป่ามีมากขึ้นในวันต่อ ๆ ไป

ควันไฟป่าและมลพิษทางอากาศเข้าปกคลุมพื้นที่ตามบริเวณชายฝั่งและเมืองต่างๆ เป็นบริเวณกว้างนานหลายสัปดาห์ จากการรายงานข่าว หลายส่วนของซิดนีย์ เมืองใหญ่ที่มีประชากร 5 ล้านคนต้องผจญกับมลพิษทางอากาศที่สูงกว่าระดับปลอดภัยหลายเท่า ดัชนีคุณภาพอากาศในออสเตรเลียตะวันตกเฉียงใต้และไปไกลจนถึงนิวซีแลนด์อยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่มีการรายงาน ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากไฟป่าคิดเป็น 2 พันล้านเหรียญออสเตรเลียและยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

https://www.instagram.com/p/B62KYB_HjLD/

ฤดูกาลไฟที่มาเร็วขึ้น

โดยทั่วไป ฤดูกาลไฟในรัฐนิวเซาท์เวลของออสเตรเลียเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ในปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา อากาศที่ร้อนและความแห้งแล้งที่ผิดปกติ เข้าปกคลุมพื้นที่นับตั้งแต่เดือนตุลาคม สองเดือนหลังจากนั้น เกิดไฟมากกว่า 100 จุด ในผืนป่าและป่าไม้พุ่ม(bush)ทางแถบพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ป่าที่เกิดไฟรวมถึงป่าฝนกึ่งเขตร้อน และป่ายูคาลิปตัสแบบชื้นซึ่งปกติมักไม่เกิดไฟ

ไฟสร้างความเสียหายต่อป่ายูคาลิปตัสและป่าปลูกซึ่งอยู่รอดในพื้นที่แห้งแล้งและมีธาตุอาหารต่ำ พื้นที่ป่าไม้เหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดไฟเนื่องจากสายพันธุ์ของพืชหลายชนิดอุดมไปด้วยน้ำมันที่จุดไฟติดง่ายมาก แผนที่จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรแห่งออสเตรเลียแสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของพื้นที่ป่ายูคาลิปตัส จุดสีแดงแสดงให้เห็นถึงจุดความร้อนที่ตรวจวัดโดย Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) บนดาวเทียม Suomi ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายนถึง 5 ธันวาคม 2562

ภาพจาก Earth Observatory

รายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลียปลายเดือนธันวาคม 2562 ระบุว่าดัชนีอันตรายของไฟป่า (Forest Fire Danger Index-FFDI) ที่วิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลอุณหภูมิอากาศ ความชื้น น้ำฟ้า ลม และปัจจัยอื่นๆ มีค่าเฉลี่ยอันตรายรุนแรง(extreme) ทั้งประเทศ ในขณะที่ฤดูร้อนเพิ่งจะเริ่มต้น

ไฟป่า – วิกฤตสภาพภูมิอากาศ : ความเชื่อมโยงที่ซับซ้อน

การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกและความเสี่ยงของเหตุการณ์ไฟป่าที่มากขึ้นเป็นความเชื่อมโยงที่ซับซ้อน แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ทำให้เกิดไฟป่าแต่สามารถทำให้ไฟป่าสร้างความหายนะมากขึ้น เงื่อนไขของความเสี่ยงการเกิดไฟป่าคืออุณหภูมิ เชื้อเพลิง(เศษชีวมวลในป่า) ความแห้ง ความเร็วลมและความชื้น

กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลีย ระบุว่า อุณหภูมิพื้นผิวของออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 1 องศา นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1910 และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) ชี้ให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่สูงมากๆ ว่าการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 คือสาเหตุหลักของการที่อุณหภูมิผิวโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติและไฟป่า เห็นว่าความแปรปรวนจากเหตการณ์ปกตินั้นคือประเด็นหลัก อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้จำนวนวันที่ร้อนขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไฟป่ามากขึ้น

ปัจจัยความแห้ง (Dryness) ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก ผลจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ไม่พบถึงความเชื่อมโยงที่สอดคล้องต้องกันของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นและปริมาณฝนที่ลดลงซึ่งนำไปสู่สภาพที่แห้งแล้งของออสเตรเลียตะวันออก แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้เร่งการระเหยของน้ำ และทำให้ฤดูกาลเพาะปลูกพืชขยายออกไป นำไปสู่การคายน้ำจากพืชที่ดึงความชื้นจากดินมากขึ้น  ผลคือดิน พืชและอากาศแห้งขึ้นกว่าที่ผ่านมาโดยที่ปริมาณการตกของฝนยังเท่าเดิม

เราจึงได้เห็นช่วงฤดูร้อนปี 2562-2563 ของออสเตรเลียร้อนกว่าปกติและพื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลียมีความแห้งแล้ง ในออสเตรเลีย เดือนที่ร้อนที่สุดทุบสถิติความร้อนคือมกราคม 2562, its รองลงไปคือเดือนกรกฏาคม 2562 และ ในบางพื้นที่ วันที่ร้อนที่สุดเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม

ถึงเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

ไฟป่ามหากาฬของออสเตรเลียที่เร่งเร้าโดยความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลง ในขณะที่ ชาวออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบกำลังมองบ้านเรือนของตนมอดไหม้จากผลของมัน และหน่วยงานด้านภาวะฉุกเฉินต่างๆ (Australia’s emergency services) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครอยู่ในแนวหน้าของการรับมือกับวิกฤตนี้ต่างทำงานอย่างกล้าหาญ อดทน และอุทิศตน แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีสก็อต มอริสัน (Scott Morrison) กลับล้มเหลวที่จะลงมือเพื่อกู้วิกฤตไฟป่ามหากาฬของประเทศเพราะคิดว่าเป็นเพียงไฟป่าธรรมดา ซ้ำร้าย พวกเขายังคงมุ่งผลักดันให้ออสเตรเลียเป็นแชมป์ของผู้ส่งออกถ่านหินในตลาดโลกที่นำไปสู่ความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศยิ่งขึ้น ในขณะที่สภาว่าด้วยการประกันภัยแห่งออสเตรเลีย(the Insurance Council of Australia) ประกาศชัดเจนว่า “รัฐบาล (ออสเตรเลีย) ต้องลงทุนในมาตรการที่ยั่งยืนถาวรเพื่อลดผลกระทบและสร้างศักยภาพในการฟื้นคืนจากวิกฤตเพื่อปกป้องชุมชนที่ได้รับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นพายุไซโคลน พายุฝน อุทกภัยหรือไฟป่า”

Banners at the Bushfires and Climate Emergency Rally in  Sydney. © Dean Sewell / Greenpeace
ประชาชนในเมืองซิดนีย์เดินประท้วงเรียกร้องให้สก็อต มอริสันลงมือปกป้องสภาพภูมิอากาศ © Dean Sewell / Greenpeace

การประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” มิใช่เพื่อสร้างความแตกตื่น แต่คือการตระหนักวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเชิญอยู่ และลงมือทำในสิ่งที่ควรในขณะที่เรายังมีเวลา

ปกป้องป่าฝนเขตร้อน

ทุก ๆ วันอุรังอุตังกว่า 25 ตัวต้องสูญเสียชีวิตและที่อยู่อาศัยจากการทำลายป่าฝนเขตร้อนของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม 6% คือตัวเลขของป่าฝนเขตร้อนที่เหลืออยู่บนโลก ผืนป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียเป็น 1 ในร้อยละ 6 นี้ ป่าฝนเขตร้อนเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนที่สำคัญที่สุดให้กับมนุษย์ และยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่าสามหมื่นห้าพันล้านตัน

มีส่วนร่วม