เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการถกเถียงประเด็นเรื่อง “ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย” หรือไม่ แต่เมื่อมาสัปดาห์นี้ที่มลพิษทางอากาศสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พอมองไปที่กล่องใส่หน้ากากอนามัย N95 ที่วางไว้บนชั้นหนังสือในห้องแล้วก็อดมีคำถามไม่ได้ว่า 

“หน้ากากอนามัย N95 เครื่องฟอกอากาศถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยหรือไม่?” 

ตามคำนิยามของนักเศรษฐศาสตร์ “สินค้าฟุ่มเฟือยหรือขึ้น Luxurious goods คือ สินค้าที่ผู้บริโภคจะจ่ายเงินซื้อมากขึ้นหากรายได้ของเขาเพิ่มขึ้นและจะจ่ายเงินซื้อสินค้าในอัตราที่สูงกว่ารายได้ที่เพิ่ม” 

น่าสนใจมากว่าปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยได้พลิกโฉมตลาดเครื่องฟอกอากาศ เฉพาะปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นปีที่ประชาชนเริ่มตระหนักถึงฝุ่น PM2.5 มูลค่าตลาดเติบโตมากถึง 18% นอกจากนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่มีวิกฤตมลพิษทางอากาศมีการซื้อขายเครื่องฟอกอากาศเพิ่มขึ้นถึง 400% เมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีวิกฤตดังกล่าว

ปริมาณอุปสงค์ (Demand) ที่เพิ่มขึ้นและลดลง พร้อมกับที่สินค้าทั้งสองอย่างไม่ได้อยู่ในรายการสินค้าควบคุมทำให้ราคาขึ้นลงตาม แม้ว่าหน้ากากอนามัย N95 จะเป็นสินค้าควบคุมทางการแพทย์ก็ตาม 

กลับมาที่คำถามว่าของบริโภคเหล่านี้ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยหรือไม่? 

หากเป็นสมัยเมื่อ 10 ปีก่อนที่มลพิษทางอากาศยังไม่เป็นปัญหาหรือสมัยที่มลพิษทางอากาศยังมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ความรู้เรื่องมลพิษทางอากาศเป็นความรู้ที่ยังถูกจำกัดในหมู่นักวิชาการและไม่เผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือปัญหามลพิษทางอากาศยังคงเป็นปัญหาของบางพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหนักเท่านั้น หน้ากากอนามัยหรือเครื่องฟอกอากาศดูเป็นสินค้าที่ไกลตัวและจะมีแค่บางบ้านเท่านั้นที่จะซื้อไว้ ทว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป สาธารณชนตระหนักรู้และเรื่องมลพิษทางอากาศไม่ใช่เรื่องของคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแต่เป็นเรื่องของทุกคน หน้ากากอนามัยและเครื่องฟอกอากาศกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนค้นหาและกว้านซื้อไว้ติดบ้านจนราคาขึ้น เพราะ มองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นการลงทุนต่อสุขภาพในอนาคต

Air Pollution in Chiang Mai (March 2019). © Vincenzo Floramo / Greenpeace
ประชาชนชาวเชียงใหม่สวมใส่หน้ากากกันฝุ่นควันจากการเผาในที่โล่ง © Vincenzo Floramo / Greenpeace

แต่สิ่งเหล่านี้เป็น #ของมันต้องมี หรือแค่เพราะรัฐไม่จัดการที่ต้นตอปัญหา? 

คำถามคือ สมควรแล้วหรือที่ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการต้องซื้อหน้ากากอนามัย N95 เปลี่ยนทุกๆ วันหรือสองวันหรือต้องควักเงินอนาคตเพื่อซื้อเครื่องฟอกอากาศ เพราะรัฐไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการให้ “อากาศที่ดี” แก่ประชาชน 

ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน?

มีคนกล่าวว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นและไม่ได้รับความสนใจเพราะว่าคนเราไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิมนุษยชนอะไรบ้าง” เมื่ออากาศไม่ดีก็ ทนๆ ไป หรือ มีเงินก็ซื้อหน้ากากเอา เราทุกคนมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะเข้าถึงอากาศที่ดีภายใต้สิทธิมนุษยชนข้อที่ว่าด้วย Rights to Clean and Healthy Environment หรือสิทธิที่จะเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและสะอาด 

นอกจากนี้คงไม่ใช่ทุกคนที่สามารถซื้อหน้ากากอนามัย N95 หรือเครื่องฟอกอากาศได้ 

เมื่อปีที่แล้ว Global Wealth Report ได้จัดอันดับประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งไทยขึ้นอันดับ 1 และรัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นวาระแห่งชาติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่กลับผลักให้ประชาชนหาวิธีปกป้องสุขภาพตัวเองตามมีตามเกิดทั้งที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถหาซื้อหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งราคาต่อชิ้นก็กินไปหนึ่งในเจ็ดของค่าแรงขั้นต่ำหรือเครื่องฟอกอากาศได้ 

สุดท้ายนี้ปัญหามลพิษทางอากาศยังเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้ 

ในแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติว่าด้วยเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 กรมควบคุมมลพิษระบุว่าจะใช้มาตรการ Precautionary หรือป้องกันไว้ดีกว่าแก้ แต่มาตรการที่ออกมาหรือคำประกาศของภาครัฐที่ออกมากลับผลักภาระให้ประชาชนแทบทั้งสิ้น ทั้งที่มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่สามารถคาดการณ์ได้แต่กลับไม่มีการแก้ปัญหาที่ต้นตอ

ฤดูหมอกควันในกรุงเทพในช่วง ปีพ.ศ. 2561 © Chanklang Kanthong / Greenpeace

อย่างการคมนาคม มีการรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวก็จริง แต่รถสาธารณะเล่า? อยู่ในราคาที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้แล้วหรือยัง? ทำให้รู้สึกมั่นใจว่าปลอดภัยหากต้องใช้บริการแล้วหรือไม่? หรือในแต่ละครั้งที่ใช้บริการยังต้องนั่งจิกเบาะกันอยู่? ทางเท้าเป็นทางเท้าที่ทุกคนสามารถใช้ได้หรือเปล่าไม่ว่าจะทุพพลภาพหรือไม่ มลพิษจากการเผาในที่โล่งแม้จะมีการออกมาตรการหยุดเผาแต่กลับประกันราคาข้าวโพด? นอกจากนี้ยังแตะมลพิษทางอากาศที่มาจากภาคอุตสาหกรรมน้อยมาก สะท้อนถึงความเกรงอกเกรงใจต่อเหล่านายทุน 

เหล่านี้เป็นความย้อนแย้งของภาครัฐที่พยายามชี้ให้ประชาชนเห็นว่า ปัญหานี้ประชาชนต้องจัดการด้วยตัวเอง จริงอยู่ที่ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมมือช่วยกันแก้ไข แต่ภาครัฐก็ต้องแสดงความรับผิดชอบให้มากกว่าที่เป็นอยู่ด้วยเช่นกันไม่ใช่แค่ผลักภาระมาที่คนตัวเล็กตัวน้อยแบบที่ทำอยู่ 

หน้ากากอนามัย N95 หรือเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่ใช่เพราะไม่อยู่ในลิสต์สินค้าควบคุมแต่เพราะรัฐไม่จัดการกับปัญหาที่ต้นตอ

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม