แม้ว่าอีกเพียงไม่กี่วัน เราก็จะข้ามผ่านไปสู่ปี พ.ศ. ใหม่แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ยังพบการค้าแรงงานทาส ในโลกยุคใหม่ไม่ต่างจากในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมประมง และกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนจากหลากหลายประเทศต่างสนใจนำเสนอประเด็นการใช้แรงงานบังคับบนเรือประมงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง 

ลูกเรือประมงพร้อมปลาจำนวนที่ได้จากเรืออวนเบ็ดรอกบริเวณท่อเรือเทกาล (Tegal) © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ในรายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่อง “เส้นทางการบังคับใช้แรงงานของลูกเรือประมงในโลกยุคใหม่” เผยให้เห็นเรื่องราวและสภาพการทำงานของลูกเรือประมงที่ทำงานบนเรือประมงในทะเลนอกน่านน้ำ ที่หลายคนนักจะมีโอกาสได้รู้

เรามาดูถึงสาเหตุและปัจจัยที่เอื้อให้การค้าแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงยังคงมีอยู่กัน

1. “ชีวิตที่ดี งานที่มั่นคง” เหยื่อล่อให้แรงงานตกหลุมของบริษัทจัดหางาน

“Rahmatullah ฝันที่จะให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากงานที่ให้ค่าตอบแทนสูง” บทความตีพิมพ์ใน Liputan BMI ของอินโดนีเซีย

ลูกเรือประมงข้ามชาติหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อและกับทางกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุตรงกันว่า โอกาสในการทำงานและความกดดันทางสภาพเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้พวกเขาต้องเสี่ยงเลือกทำงานกลางทะเล ประกอบกับบริบททางวัฒนธรรมในเอเชีย ที่คาดหวังให้ผู้ชายต้องเป็นคนดูแล หาเลี้ยงครอบครัว ทำให้แม้แรงงานรู้ถึงโอกาสความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ก็ตัดสินใจเลือกเดินทางไปทำงานในเรือ

2. นายหน้าจัดหางานผิดกฎหมายและคำสัญญาจอมปลอม

“ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ชั่วโมงการทำงาน ประกันสังคม ไม่มีอะไรเหมือนที่บริษัทจัดหางานบอกเราเลยสักอย่าง” คำให้การของนาย ซี นามสมมติอดีตลูกเรือ

คำให้การลักษณะเดียวกันจากลูกเรือคนแล้วคนเล่า สะท้อนให้วิธีการที่เหมือนกันของบริษัทจัดหางานที่ใช้ล่อลวงแรงงานให้ไปทำงานบนเรือ โดยสัญญาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนจำนวนสูงให้ แต่เมื่อแรงงานตัดสินใจรับทำงาน กับต้องเผชิญกับวงจรของการเป็นหนี้ นับตั้งแต่ค่าดำเนินการ ค่าธรรมเนียมต่างๆ อดีตลูกเรือคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เค้าต้องเซ็นสัญญาจ้างที่เขียนด้วยภาษาต่างประเทศที่ตนเองไม่เข้าใจเงื่อนไขใดๆ ของการจ้างงาน

Migrant Fisherman in Central Java. © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace
นาย เอ็น (นามสมมติ) หนึ่งในอดีตลูกเรือ ถ่ายที่บ้านของเค้าในเกาะชวากลาง © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

3. ยิ่งปลามีน้อย ก็ต้องออกทะเลไกลขึ้น

ปริมาณปลาที่ลดจำนวนลงบังคับให้เรือประมงต้องออกไปหาปลาไกลมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้การตรวจสอบควบคุมเรือประมงยิ่งทำยากมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ การทำประมงในพื้นที่น่านน้ำสากลที่อยู่ห่างไกลนั้นมีผลให้ต้นทุนการทำประมงทั้งค่าบริหารจัดการ ค่าเชื้อเพลิงสูงมากขึ้น วิธีการที่บริษัทใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายก็คือ การหาประโยชน์จากการลดค่าแรงที่จ่ายให้ลูกเรือประมง นอกจากนี้การทำประมงที่มากเกินไปยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเสี่ยงเข้าข่ายกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

4. การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำระหว่างเรือในทะเล (Transshipment)

การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำระหว่างเรือในทะเล คือ ลักษณะการขนถ่าย หรือเคลื่อนย้ายสินค้าซึ่งคือสัตว์ทะเลที่จับได้ รวมไปถึงเชื้อเพลิงและปัจจัยต่างๆ ระหว่างเรือลำหนึ่งกับเรืออีกลำหนึ่งในพื้นที่กลางทะเล แทนการนำเรือเข้าท่า กิจกรรมในลักษณะดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงกับลูกเรือประมงเพราะ เป็นการขยายเวลาให้ลูกเรือต้องอยู่กลางทะเลนานขึ้น จำกัดช่องทางให้ลูกเรือติดต่อขอความช่วยเหลือหากประสบปัญหา เสี่ยงต่อการเป็นแรงงานบังคับ รวมไปถึงเปิดช่องในเรือรอดพ้นจากการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่มากขึ้นตามไปด้วย

ขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำระหว่างเรือในทะเล © Alex Hofford / Greenpeace

5. ขาดการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังจากภาครัฐ 

ที่สุดแล้ว ภาครัฐมีหน้าที่หลักที่จะต้องปกป้องประชาชนของตนเองจากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในรายงาน “เส้นทางการบังคับใช้แรงงานของลูกเรือประมงในโลกยุคใหม่” ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหากระบวนการจัดหาแรงงาน ทำให้แรงงานตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบ
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการเน้นย้ำให้ผู้นำทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะรัฐบาลประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดำเนินมาตราการทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมและจริงจังมากขึ้น รวมถึงแก้ไขปัญหาการเลือกใช้กฎหมายที่แตกต่างกันกับเรือที่อยู่พื้นที่น่านน้ำไกล เพราะขณะนี้ ทั่วโลกกำลังจับตามองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าจะเริ่มต้นแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับกลางทะเล และทำให้โศกนาฏกรรมที่มนุษย์ทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันสิ้นสุดลงเสียที

ในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลปีนี้ เราขอเรียกร้องให้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐดำเนินมาตรการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ไร้แรงงานบังคับ ที่ซึ่งมหาสมุทรจะได้รับการดูแลและปกป้องเช่นเดียวกับชีวิตของแรงงานที่ทำงานอยู่ในทะเล

แชร์เรื่องราวอีกด้านของอุตสาหกรรมประมง มุมมืดที่มีมากกว่าแค่การผลิตอาหารป้อนทุกคนในโลก อ่านรายงานฉบับเต็ม

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม