ครั้งสุดท้ายที่คุณได้สัมผัสดินอย่างแท้จริงคือเมื่อไหร่

ความอุดมสมบูรณ์ของดินอาจเป็นสิ่งที่เรามองข้ามไป หากนึกถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี เราคงมักนึกถึงป่าไม้ สายน้ำที่สะอาด อากาศดี และบรรดาสัตว์ แต่ดินนั้นคือรากฐานของชีวิต และสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ที่เกื้อกุลกันของธรรมชาติ ข่าวร้ายคือ การเสื่อมถอยของความอุดมสมบูรณ์ของดินกำลังเป็นอีกปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความมั่นคงทางอาหาร น้ำที่เราดื่ม และอากาศที่เราหายใจ ทุก 5 วินาที ดินที่อุดมสมบูรณ์ของโลกพื้นที่เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลสนามหนึ่งได้ทุกทำลายไปด้วยการทำเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม และนั่นเทียบเท่ากับแหล่งอาหาร แหล่งอากาศ และแหล่งน้ำของโลกที่กำลังค่อย ๆ สูญหายไป

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า ดินหนึ่งในสามของโลกได้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว ผืนดินที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของเรานั้นมักถูกละเลยความสำคัญ ปนเปื้อนด้วยมลพิษ และขาดการฟื้นฟู ซึ่งสาเหตุหลักของการทำลายผืนดินนั้นมาจากเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีอย่างมหาศาล การทำลายป่า การขยายตัวของเมือง และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ดิน คืออะไร

ดิน ไม่ใช่เป็นเพียงก้อนดินหรือเศษหินที่มาอยู่รวมกัน แต่ดินของโลกเกิดขึ้นจากแร่ธาตุของสิ่งมีชีวิต  ตั้งแต่ใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถม ต้นไม้ที่ผุเปื่อย แมลง จุลินทรีย์ ประกอบกับน้ำ และอากาศ มีความแตกต่างหลากหลายไปตามภูมิประเทศและภูมิอากาศ และพืชที่เติบโตบนนั้น ดินนั้นมีการหมุนเวียนสร้างชีวิตขึ้นใหม่อยู่เสมอโดยสิ่งมีชีวิต เช่น แมลง เชื้อรา แบคทีเรีย โปรโตซัว หรือไส้เดือนที่อาศัยอยู่ในดิน กาลเวลา สภาพอากาศ และสายฝนทำให้ก้อนหินถูกกัดกร่อนและกลายเป็นก้อนกรวดได้ แต่หากปราศจากสิ่งมีชีวิต ดินก็ไร้ชีวิต และผืนดินก็จะกลายเป็นเพียงเศษฝุ่น เศษหิน ไม่ต่างอะไรจากพื้นผิวของดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือดาวศุกร์ 

2nd Year of 'We Grow' Project in Bangkok. © Roengchai  Kongmuang / Greenpeace
สภาพของดินจากบริเวณที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ดินที่อุดมสมบูรณ์เพียงหนึ่งช้อนชานั้นประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายยิ่งกว่าประชากรมนุษย์บนโลกทั้งหมด ดินไม่ต่างอะไรจากน้ำ และอากาศ ที่สามารถรับผลกระทบจากการปนเปื้อนของมลพิษ และเสื่อมถอยได้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมการเกษตร

แม้ดินจะมีการหมุนเวียนสร้างใหม่อยู่เสมอ แต่การสร้างหน้าดินใหม่ 3 เซนดิเมตรนั้นต้องใช้เวลานานถึง 1,000 ปี และหากอัตราการทำลายดินที่สูงในระดับปัจจุบันยังดำเนินต่อไป หน้าดินทั่วโลกที่สามารถใช้งานได้นั้นจะสูญสิ้นไปภายในเวลา 60 ปี (ข้อมูลจากสหประชาชาติ) 

แต่ความหวังคือ เกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เน้นการปลูกพืชอย่างหลากหลายและยั่งยืน ดูแลทั้งพืชและให้อาหารผืนดิน

ดิน เลี้ยง โลก

ระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นมักทำให้เราหลงเชื่อว่า ผู้ที่เลี้ยงโลกคือบรรษัทอุตสาหกรรม เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการผลิตอาหาร และจำเป็นต่อการเลี้ยงประชากรมนุษย์ทั่วโลก แต่ที่จริงแล้ว ดินและแมลง ต่างหากคือผู้ที่ผลิตอาหารให้กับโลกอย่างแท้จริง และระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมนั้นกลับเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมถอยของผืนดินสูงสุด ความหิวโหยของประชากรโลกนั้นมิใช่เป็นเพราะอาหารไม่ได้ผลิตมาอย่างพอเพียง แต่เป็นเพราะความเลื่อมล้ำและโอกาสในการเข้าถึงอาหาร แต่ปัจจุบันนี้ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นนั้นต้องถูกทิ้งไปโดยไม่ได้รับการบริโภค 

Bee on a Flower in Slovakia. © Greenpeace / Juraj Rizman
ผึ้ง หนึ่งในแมลงที่เป็นผู้ผลิตอาหารให้แก่โลกใบนี้ © Greenpeace / Juraj Rizman

การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมี และการทำลายป่า ในวัฏจักรการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมนั้นทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน เกิดการปนเปื้อนและตกค้างของสารเคมี ฆ่าสิ่งมีชีวิตในดินและแมลงซึ่งเป็นผู้ผสมเกสรและย่อยวัสดุอินทรีย์ รวมถึงยังส่งผลถึงนกและสัตว์ป่า การทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์เองก็ก่อสารปนเปื้อนต่อดิน ทั้งการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในดินได้ ยาปฏิชีวนะสามารถอยู่ในดินยาวนานถึงกว่าร้อยวัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มของยา บางงานวิจัยเผยว่าต้นไม้สามารถดูดซึมยาปฏิชีวนะบางกลุ่มได้ เช่น เตตราไซคลีน 

ไม่ใช่เพียงแค่ดินเท่านั้น องค์การอนามัยโลกยังคาดการณ์ว่าในแต่ละปีสารเคมีอันตรายจากยาฆ่าแมลงนั้นยังคุกคามสุขภาพของเกษตรกรราว 3 ล้านรายต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิต 220,000 รายต่อปี ซึ่งโดยมากนั้นเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา 

ดิน ทางออกของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ดินที่อุดมสมบูรณ์นั้นคือแหล่งกักเก็บคาร์บอนของโลกที่ใหญ่ที่สุด  หากมีการจัดการที่ดีและยั่งยืน เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ และทำเกษตรอินทรีย์หมุนเวียน ดินจะเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้ แต่ในทางกลับกัน หากดินยังคงถูกทำให้เสื่อมความอุดมสมบูรณ์จากการทำเกษตรอย่างไม่ยั่งยืนไปเรื่อย ๆ คาร์บอนที่อยู่ในดินจะถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์ เร่งให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขยับใกล้วิกฤตมากขึ้น

Soybean Plantation in Formosa do Rio Preto, Bahia State, Brazil. © Victor Moriyama / Greenpeace
การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่น ถั่วเหลือง เพื่อนำมาป้อนอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์คือสาเหตุหลักของการทำลายผืนดินและความหลากหลายทางชีวภาพ © Victor Moriyama / Greenpeace