สักครั้งหนึ่งในชีวิตของเรา เราเคยอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหมคะ? หลายคนคงมีความฝัน อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนหลายคนประสบความสำเร็จในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ แต่ในระหว่างการเดินทางเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

นันทิชา โอเจริญชัย หรือ หลิง หากไม่รู้จักเธอแล้วเราคงเห็นเธอเป็นวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่ชอบเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ แต่หากได้รู้จักเธอจริง ๆ แล้วก็จะทราบว่า เธอคือคนหนึ่งที่รักธรรมชาติและศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกมาอย่างดีในช่วงระหว่างการเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย ความฝันของเธอคือการเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม ใช้ทักษะการเขียนที่เธอรักสื่อสารข้อความปัญหานี้ให้กับคนอื่นได้ทราบ ด้วยความต้องการอยากแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ในช่วงการเรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย เธอได้รับแรงบันดาลใจจากบทความของ เกรียตา ทุนแบร์ และการรณรงค์หยุดเรียนประท้วงโลกร้อนในทุกวันศุกร์ หลังจากอ่านบทความนั้น หลิงตัดสินใจที่จะจัด Climate Strike ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

มาทำความรู้จักกับเธอและการเดินทางของ Climate Strike ในประเทศไทย ที่ หลิง อยากให้คนไทยได้เข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Fridays for Future Student Protest in Bangkok. Biel Calderon / Greenpeace
นันทิชา โอเจริญชัย หรือ หลิง หนึ่งในพลังของคนรุ่นใหม่ที่ทำให้กิจกรรม Climate Strike เกิดขึ้นในไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหากับ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังเกิดขึ้น © Biel Calderon / Greenpeace

เริ่มสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เมื่อไหร่ 

ก็คงจะเป็นตอนที่เรียนมัธยม เราได้มีโอกาสเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พอเรียนแล้วก็สนใจแล้วเริ่มไปเดินป่า ก็ไปเดินป่ากับโรงเรียนบ้าง และมีโอกาสได้ไปเดินป่าเองตอนที่เราไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อิตาลี ตอนนั้นบ้านที่เราพักอยู่ใกล้ ๆ ภูเขา เราก็ไปเดินด้วยตัวเองแล้วรู้สึกชอบธรรมชาติขึ้นมา แล้วด้วยความที่เป็นคนชอบเขียน พอเราเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เวลาเราเขียนข่าวส่งอาจารย์ก็จะเป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมตลอดเลย สมัยที่เราฝึกงานเราก็เลือกมาฝึกในองค์กรสิ่งแวดล้อมและสำนักข่าว ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เราเราค่อย ๆ ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมและเข้าใจมากขึ้น ๆ ความฝันส่วนตัวคืออยากเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม เพราะดูเป็นอาชีพที่น่าตื่นเต้นดีค่ะ (หัวเราะ) คือเรารู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่เราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาแล้วยังมีส่วนช่วยสังคมด้วยการเอาปัญหาต่าง ๆ มาเล่า มาบอกสังคม 

นอกจากนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ คือเราอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯแต่เราไม่ชอบกรุงเทพฯเลย เรารู้สึกว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่ถูกควบคุมด้วยแนวคิดบริโภคนิยมมากเกินไปซึ่งขัดกับความชอบของเราที่ชอบธรรมชาติ ยิ่งพอเราศึกษาเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเยอะเข้า เราก็พบว่าด้วยแนวคิดที่ทำให้เมืองเป็นไปในตอนนี้มันก่อให้เกิดปัญหา และเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าที่เราคิด สิ่งเหล่านี้ทำให้เราโกรธ ส่วนสิ่งที่ทำให้เราเหงาก็คือไลฟ์สไตล์ของเรามันไม่เหมือนกับที่คนทั่ว ๆ ไปเขาใช้ในเมือง เราไม่ไปดูหนัง ไม่ชอบเดินห้าง ในช่วงที่เราเรียนมหาวิทยาลัยเราก็เลยศึกษาสิ่งที่เราอิน ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือวิธีที่จะทำยังไงให้เราเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งความโกรธและความเหงาคอยผลักดันเราอยู่ตลอด

Fridays for Future Student Protest in Bangkok. Biel Calderon / Greenpeace
กิจกรรม Climate Strike ครั้งแรกใจกลางกรุงเทพมหานคร © Biel Calderon / Greenpeace

จนเราเรียนมหาวิทยาลัยมาถึงปีที่ 4 ตอนนั้นเหมือนเราบ่มความรู้สึกนี้มาพอสมควรแล้ว และเป็นจังหวะที่มีกิจกรรมที่ชื่อว่า Global Climate Strike คือเราได้ไปอ่านบทความของเกรียตา ทุนแบรย์ ผ่านเว็บไซต์สำนักข่าวแล้วเขาอธิบายความรู้สึกของเกรียตาว่า เกรียตารู้สึกเศร้า รู้สึกโกรธ เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนเราเจอเพื่อนเลย มีคนรู้สึกเหมือนกับเราด้วย พออ่านไปเรื่อยๆก็มีความคิดหนึ่งเกิดขึ้นมานั่นคือ เราเองเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกแย่กับปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เราได้แต่บ่นๆๆๆ ไม่ทำอะไรเลย แล้วทำไมเราไม่เริ่มทำอะไรสักอย่างล่ะ? คืนนั้นก็เลยคิดว่าจะทำ Climate Strike แล้วก็แชร์ไปในเฟสบุ๊คเลย Climate Strike ครั้งแรกก็เกิดขึ้น 

จริง ๆ เป็นคนที่ไม่ชอบการเดินประท้วงเลย แต่ก็มาทำ Climate Strike

เพราะว่าจริง ๆ เราเป็นคนที่ไม่ชอบการประท้วง คือไม่ชอบออกไปว่าใครอะไรแบบนั้น จริง ๆ แล้วเราชอบที่จะใช้งานเขียนเพื่อสะท้อนปัญหามากกว่า จะมีช่วงที่เราไม่อยากออกไปประท้วงเลยก็มี แต่ว่าคนก็เรียกร้องอยากให้มีกิจกรรม เราในฐานะที่เป็นแกนนำก็ต้องทำให้กิจกรรมเกิดขึ้น

ตอนแรกที่ทำ Climate Strike หลิงคิดว่ามันจะช่วยแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ เราออกไปพูดเสียงดัง ๆ ตะโกนดัง ๆ มันรู้สึกไม่สร้างสรรค์เลย ส่วนตัวเราเป็นคนไม่ชอบการบ่นๆๆๆ อย่างเดียว แล้วไม่ทำอะไรเลย เราเคยคิดว่าเราจะทำ Climate Strike ไปในแนวทางอื่น เช่น ไปทำกิจกรรมอย่างไปปลูกป่า ไปเก็บขยะ เราเคยท้อแล้วคิดว่าจะไม่ทำ Climate Strike แล้ว แต่ก็มีคนบอกกับเราว่า  Climate Strike มันคืองานของเราที่จะต้องสร้างการรับรู้ให้กับคนอื่น งานของเราไม่ใช่การลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่งานของเราคือการสร้างการรับรู้เรื่องของวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้ได้ก่อน เราก็เลยเก็บสิ่งนี้มาคิดแล้วก็บอกกับตัวเองว่า สุดท้ายแล้วการเป็นนักกิจกรรมเพื่อรณรงค์งานอะไรสักอย่างมันคือการพูดในสิ่งที่เราจะรณรงค์ไปจนกว่าจะมีคนฟังแล้วนำสิ่งที่เราพูดไปแก้ไข นั่นคือเราเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในกระบวนการการแก้ไขปัญหานะ ถึงแม้ว่าการออกไปพูดในที่สาธารณะ การประท้วงจะไม่ใช่สิ่งที่เราชอบมากที่สุด แต่มันก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่กระจายประเด็นนี้ออกไป 

Fridays for Future Student Protest in Bangkok. © Biel Calderon / Greenpeace
กิจกรรม Climate Strike ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดย หลิง และเยาวชนจากทั่วเมือง เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พร้อมๆกับเยาวชนทั่วโลก © Biel Calderon / Greenpeace

Climate Strike ที่ผ่านมา 3 ครั้ง ให้อะไรกับเราบ้าง?

สิ่งแรกเลยที่กิจกรรมนี้ให้เราก็คือ เราได้รู้เลยว่าจริงๆแล้วมีคนที่ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่เยอะ เราเริ่มจากการที่เราโกรธว่าทำไมไม่มีใครสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย เราไม่รู้เลยว่ามีคนที่ทำงานในเรื่องนี้อยู่เยอะมาก พอเรามาร่วมขับเคลื่อนในครั้งนี้ก็ได้รู้จักคนเหล่านี้มากขึ้น มันเป็นกฎแห่งการดึงดูด (Law of Attraction) เราเลยได้เจอเครือข่ายของคนกลุ่มนี้เยอะขึ้น 

สิ่งที่สองที่สำคัญก็คือเราได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมนี้เยอะมาก จริง ๆ เราไม่คิดว่าการทำกิจกรรมแบบนี้สัก 1 ครั้งมันจะยากขนาดนี้ คือต้องทำแคมเปญรณรงค์ที่ใช้การสื่อสารเป็นหลัก (communication campaign) เราต้องมาเรียนรู้การทำ กลุ่มผู้รับสาร (Target Audience) กระบวนการคิดของคน เพื่อมาออกแบบงานรณรงค์ที่เข้าถึงคนที่เราอยากสื่อสารด้วย ทักษะหลาย ๆ ทักษะก็ต้องเอามาใช้เช่น ทักษะการพูดในที่สาธารณะ การพูดในสื่อ นอกจากนี้ยังมีเรื่องพูดภาษาไทยด้วย คือเราเป็นคนพูดภาษาไทยไม่ชัดแต่ตอนนี้พูดเยอะมากจนพูดชัดแล้ว (ฮ่าๆ) 

เยาวชนที่มาร่วมในกิจกรรม Global Climate Strike ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562

เราได้เรียนรู้ตัวเองจากการทำกิจกรรมหนึ่งว่ามีส่วนไหนบ้างที่เราชอบทำ และเราไม่ชอบทำ และสิ่งสุดท้ายที่เราได้กลับมาจากกิจกรรมนี้ก็คือเราได้กำลังใจ เพราะเราทำงานเขียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาหลายปีแล้วพอได้เขียนงานในเพจ Climate Strike พอโพสต์ไปก็มีคนมากดไลค์ ก็เป็นความรู้สึกดีใจที่มีคนสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เราต้องการบอก เรามองว่าอย่างน้อยโซเชียลมีเดียก็เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้คนมีพื้นที่มาพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน พอแพลตฟอร์มนี้ขยายออกไปเราได้รับการติดต่อจากองค์กรต่าง ๆ เยอะขึ้นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เราก็รู้สึกได้ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน เขาก็จับตามองเรา ให้ความสำคัญกับเสียงของเราเหมือนกัน

เราเห็นการเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศในต่างประเทศที่ดุเดือดมาก หลิงคิดว่าเป็นเพราะอะไร?

เราคิดว่าด้วยความแตกต่างหลาย ๆ ด้านทำให้ Climate Strike ในไทยไม่ได้เป็นกระแสมากนัก อย่างในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในทวีปยุโรป ถ้าเทียบกับไทยแล้วเรามีความต่างทั้งในด้านของวัฒนธรรม การเมือง ด้านความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม อย่าง Climate Strike ของไทยเรา เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะบอกให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่สองสามเดือนให้หลังมานี้ เราก็คิดได้ว่าเราจะไปต้องการให้คนมาร่วมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายกับเราได้ยังไง ในเมื่อคนยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศเลย ก่อนที่เราจะไปเรียกร้องอะไรเราต้องมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เข้าใจถึงปัญหาและเข้าใจว่าทำไมต้องเรียกร้องการแก้ปัญหาแบบนี้ตั้งแต่แรก 

เยาวชนที่มาร่วมในกิจกรรม Global Climate Strike ที่เกิดขึเนในเดือนพฤศจิกายน 2562

แต่ว่าเด็ก ๆ ในฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกาเองเขารู้ดีว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญอย่างไรและรู้แล้วว่าตอนนี้โลกของเราเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เลยนั่นก็คือ เยาวชนที่นั่นมีเสรีภาพในการพูด (Freedom of speech) พอสมควรเลยทีเดียว รวมทั้งวัฒนธรรมในการสื่อสาร อย่างต่างประเทศเยาวชนเขาสามารถพูดอะไรตรงไปตรงมาได้เลย แต่ในประเทศไทยบางทีถ้าเราพูดตรง ๆ ไปอาจถูกมองว่าก้าวร้าวได้ แต่ว่าเราไม่ได้บอกนะว่าวัฒนธรรมของเราไม่ดี เรายังชอบวัฒนธรรมที่ว่าเด็กควรอ่อนน้อมถ่อมตนกับผู้ใหญ่เหมือนกัน 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของมุมมองด้วย คือในประเทศแถบเอเชียจะมีมุมมองว่าการประท้วง คือการรณรงค์ที่เอียงไปในเชิงลบ มีการใช้ความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งเยาวชนที่ทำ Climate Strike ในเอเชียต่างแชร์ประสบการณ์นี้เหมือน ๆ กัน

สำหรับตอนนี้พอเราสามารถวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ได้มากขึ้นแล้ว ก็ต้องมาปรับแผนการรณรงค์กันใหม่ โดยย้อนกลับไปสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้คนทั่วไป แม้ว่าจะมีอุปสรรคในเรื่องของการรับรู้ของคนอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็อยากให้มองว่างานรณรงค์ที่เราทำเป็นจุดเริ่มต้นของเสียงเล็ก ๆ จากคนที่เป็นห่วงในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เราก็ทำงานหาไอเดียใหม่ ๆ เพื่อในปีหน้าเราจะได้เดินหน้าการรณรงค์ของเราให้เกิดผลกระทบมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เยาวชนที่มาร่วมในกิจกรรม Global Climate Strike ที่เกิดขึเนในเดือนพฤศจิกายน 2562

เราเองมองว่าพลังของเยาวชนต่อการรณรงค์ในครั้งนี้พิเศษตรงที่ว่า เยาวชนกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าพูด ซึ่งมันอาจจะไปตรงใจใครหลาย ๆ คนเพราะสุดท้ายแล้วก็มีคนฟังเรา ข้อดีตรงนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขเร็วขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เรามองว่า Climate Strike ไม่ใช่เรื่องของเยาวชนเพียงกลุ่มเดียว เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศมันเกิดขึ้นแล้ว และปัญหานี้เป็นเรื่องของทุกคน เพราะผู้ใหญ่บางคนก็รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมกันเยอะ และทำงานด้านนี้มานาน แต่ที่หลาย ๆ คนมองว่าเยาวชนมีพลังเสียงมากก็ถูกนะ เพราะด้วยเทคโนโลยีต่างๆทำให้เยาวชนเรียนรู้อะไรได้เร็ว ทั้งความรู้ ทักษะ อีกทั้งยังกล้าแสดงออก พวกเขามีโอกาสและได้รับพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น เมื่อพวกเขามีโอกาสมีพื้นที่แสดงตัวเยอะขึ้น ผู้ใหญ่ก็เริ่มฟังพวกเขา

เวลาได้ยินคำว่า “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” Climate Emergency แล้วคิดถึงอะไร

คิดถึง “ความตาย” เป็นสิ่งแรก คือสิ่งที่เราเรียกร้องให้แก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศเนี่ย เราไม่ได้ต้องการเป็นฮีโร่นะ เราแค่กลัวตาย ซึ่งมีช่วงที่เราทำงานรณรงค์ Climate Strike จนกลายเป็นงานประจำเลย เราทำงานในประเด็นนี้ทุกวัน ก่อนนอนก็คิดเรื่องนี้ ตื่นมาทุกเช้าเราก็คิดถึงแต่เรื่องนี้ ช่วงนั้นเราเครียดไปเลย สำหรับเราเราคิดแบบนี้ แต่สำหรับคนทั่วไปคำว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศ อาจจะเป็นเรื่องยากเพราะเรายังมองไม่ออกว่ามันเป็นเรื่องฉุกเฉินยังไง คือมันเป็นเรื่องของระยะเวลาที่ทำให้คนเชื่อมโยงไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ววิกฤตสภาพภูมิอากาศมันมีความฉุกเฉินตรงที่ว่า ถ้าเราไม่แก้ไขมันตอนนี้ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เราแย่แน่ ๆ

เราเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาทำให้เข้าถึงคนไทย ยากไหม เคยลองทำวิธีไหนมาบ้าง และได้ผลอย่างไร

ด้วยความที่ว่าเราเองไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมไทยมาก ๆ เพื่อนของเราก็มีแต่เพื่อนต่างประเทศ ดังนั้นพอเราทำ Climate Strike เราต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมไทยใหม่ คือเราก็เป็นคนไทยนะ แต่แค่เราไม่ได้มีไลฟ์สไตล์ที่เหมือนกับคนไทยทั่วไป เรามีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนเด็ก ๆ มหาวิทยาลัยทั่วไป ก็เลยไม่ค่อยเข้าใจว่าคนไทยชอบคุยเรื่องอะไร เทรนด์ของคนไทยเป็นยังไง

Climate Strike ครั้งแรกเราทำโดยไม่ได้คิดบนพื้นฐานเงื่อนไขเหล่านี้ แต่หลังจากนั้นเราต้องการให้การรณรงค์ของเรามันเข้าถึงคนมากขึ้น สร้างผลกระทบมากขึ้น เราก็เลยเริ่มใส่ใจว่าคนไทยชอบอะไร หลายเดือนที่ผ่านมาก็พยายามสังเกตและทำความเข้าใจว่าคนไทยชอบทำกิจวัตรอะไร หรือมีนิสัยพื้นฐานเป็นยังไง เพื่อที่เราจะเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์หนัก ๆ ที่เข้าใจยาก มาเชื่อมโยงกับสิ่งที่คนไทยสนใจ ให้ง่ายต่อการเข้าถึงและเข้าใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะว่าถ้าเราพูดถึงสิ่งแวดล้อมในหลักของวิทยาศาตร์ให้คนอื่น ๆ ฟัง เขาจะไม่เข้าใจและไม่ฟังเรา หรืออย่างเรื่องการมีไลฟ์สไตล์อย่างยั่งยืนเองก็ใช้แนวคิดแบบนี้เหมือนกัน คือคนไทยเราชอบความสะดวกสบาย ถ้าเราปรับระบบบางอย่างให้ยั่งยืนขึ้นพร้อม ๆ กับทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนสะดวกขึ้นไปพร้อม ๆ กัน แน่นอนว่าคนเราต้องเลือกวิธีที่ดีกว่า สมาร์ทกว่าอยู่แล้วโดยที่เราไม่ต้องบังคับเขาเลย

ถ้าสมมติว่าครั้งนี้เราสามารถปกป้องไม่ให้โลกเข้าสู่หายนะได้ ในอนาคตเมื่อเราโตขึ้นไป โลกของเรายังอยู่รอดปลอดภัยอยู่ เราอยากบอกอะไรกับคนรุ่นหลัง?

อยากให้เขาคิดว่า ทุก ๆ อย่างที่เราบริโภคอยู่ ทุก ๆ อย่างที่เราใช้มันมาจากโลกใบนี้ เพราะทุกอย่างที่เราบริโภคมันไม่ได้มาจากมนุษย์แต่มันเกิดจากธรรมชาติ จริง ๆ ไม่ใช่แค่คนในอนาคตที่ต้องคิดถึงประเด็นนี้ คนรุ่นพวกเราเองก็ต้องคิดถึงประเด็นนี้เหมือนกัน เพราะนี่คือสาเหตุที่ทำให้เราไม่รู้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเกิดขึ้น เมื่อเราไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เราบริโภคอยู่กับสิ่งแวดล้อม เราจึงไม่เข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญยังไงบ้าง และกำลังเกิดปัญหาอะไรอยู่ ซึ่งปัจจุบันการบริโภคของเราก็ยิ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดบริโภคนิยม เราถูกหลอกว่าการบริโภคคือความสุขของเรา เราอยากได้สิ่งของใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้เลยว่ายิ่งเราบริโภคมาก เราต้องยิ่งต้องใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมาก

“ลองคิดดูว่าถ้าเราบ่นไปเรื่อย ๆ จนคนทั้งประเทศฟังเรา ถึงเวลานั้นภาครัฐก็ต้องฟังเรา หลังจาก Climate Strike ครั้งที่ 3 เราได้รับผลตอบรับที่ดี มีสื่อ มาทำข่าว มีคนดังมาร่วมกิจกรรม  มีภาครัฐและเอกชนติดต่อมาหาเรามากขึ้นเพื่อฟังเราเกี่ยวกับงานด้านสิ่งแวดล้อม นี่แปลว่าพวกเขาฟังเราอยู่ว่าเราคิดอะไร อยากแก้ปัญหาอะไร 

“ถ้าเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เข้มแข็ง พวกเขาทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายคนอื่น ๆ ก็ทำตามพวกเขา การเรียกร้องของเราไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในวันเดียว แต่มันต้องใช้เวลาชั่วขณะหนึ่งเพื่อเปลี่ยนผ่าน” – หลิง นันทิชา โอเจริญชัย

Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม