เชื่อหรือไม่คะว่าที่จังหวัดขอนแก่น หัวเมืองใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีการวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กันเป็นเรื่องเป็นราวเลย เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสพูดคุยกับรองนายกเทศมนตรีจังหวัดขอนแก่น คุณจุลนพ ทองโสพิศ และ คุณทัศนัย ประจวบมอญ ผู้อำนวยการส่วนสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม งานบริหารกองทุนสุขภาพ เทศบาลนครขอนแก่น ในฐานะคณะผู้บริหารเทศบาลนครขอนแก่น และคณะทำงานโครงการคนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ ถึงนโยบาย “ขอนแก่น เมืองคาร์บอนต่ำ” ที่ทางเทศบาลมีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 105,000 ตันภายในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งการบูรณาการแนวทางของเทศบาลนั้นเรียกได้ว่ามีความหลากหลายและมีความตั้งใจจริงมาก ๆ 

มาลองอ่านประสบการณ์ของรองนายกเทศมนตรีจังหวัดขอนแก่น และผู้อำนวยการส่วนสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม งานบริหารกองทุนสุขภาพ เทศบาลนครขอนแก่นกันเลยค่ะ

แผงโซลาร์เซลล์ 40 แผง กำลังผลิต 12.4 กิโลวัตต์ บนหลังคาของตลาดเทศบาลนครขอนแก่น

ขอนแก่นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 400,000 ตัน

เฉพาะตัวเมืองขอนแก่น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 400,000 ตัน ในส่วนของเทศบาลก็จะยึดแนวทางการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก แต่องค์กรอื่น ๆ ในจังหวัดก็จะมีการดำเนินงานในการเป็นเมืองอัจฉริยะเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่แตกต่างกันไปด้วย แต่ก็เริ่มมีหลาย ๆ เมืองที่หันมาตั้งเป้าหมายเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่เหมือนกัน 

Low Carbon City นโยบายขอนแก่น เมืองคาร์บอนต่ำ

ขอนแก่นมีนโยบายเรื่อง “เมืองคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon City) ซึ่งเริ่มทำมานานพอสมควรแล้ว และเราก็หยิบเอาเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นำมาสนับสนุนนโยบายเมืองคาร์บอนต่ำด้วย ซึ่งคุณจุลนพได้อธิบายถึงนโยบายนี้หลัก ๆ ว่ามีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ การประหยัดพลังงาน เมืองแห่งต้นไม้ การลดมลพิษ สังคมที่บริโภคอย่างยั่งยืน

นโยบายเมืองคาร์บอนต่ำข้างต้นนี้ ขอนแก่นก็ดำเนินให้เป็นกิจกรรมอยู่หลายด้าน เช่น ด้านการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือประเด็นเรื่องการจัดการขยะ  แต่หัวใจสำคัญที่สุดเราก็ยังมองว่าเป็นเรื่อง พลังงาน ซึ่งเป็นหัวใจของนโยบายเมืองคาร์บอนต่ำ สิ่งที่เราทำก็มีหลากหลายเพื่อประหยัดพลังงาน เช่น การรณรงค์เปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอด LED  มีการติดตั้งมิเตอร์เฉพาะห้องทำงานในสำนักงานเพื่อเช็คว่าห้องไหนใช้ไฟฟ้ามากน้อย นอกจากนี้ก็มีการนำน้ำมันทอดซ้ำจากตลาดมาทำไบโอดีเซล โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเอาไปใช้กับเครื่องปั่นไม้ ซึ่งโปรเจคนี้ยังช่วยในการลดการใช้น้ำมันทอดซ้ำเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคได้อีกด้วย หรือการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งหมดนี้เราก็มองแล้วว่าเรายังต้องปรับปรุงแผนอีกเยอะมากเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงเริ่มสนใจพลังงานหมุนเวียนขึ้นมา

ตลาดสดเทศบาลนครขอนแก่นในช่วงเช้าของวัน

ต่อจากนั้นเทศบาลก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องเป็นเมืองคาร์บอนต่ำกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งทางองค์การมียอดก๊าซเรือนกระจกให้ทางเทศบาลนครขอนแก่นลดให้ได้ 105,000 ตัน (คำนวนแบบสะสม) ภายใน 4 ปี เราก็มีการพัฒนาแผนด้านการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายด้าน เช่น การนำขยะอาหารเข้าสู่โรงงานปุ๋ย ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากขยะอาหาร และการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้เราลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้เรายังเสนอโครงการรถไฟฟ้าซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน

จุดเริ่มต้นในติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ตลาด

ถ้าถามว่าทำไมเทศบาลนครขอนแก่นถึงเลือกพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วยในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ต้องตอบว่ามันคือความคุ้นเคย เพราะทางทีมที่ดำเนินงานรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์มาก่อน ทางทีมเทศบาลก็รู้จักพลังงานแสงอาทิตย์อยู่เป็นทุนเดิม ได้มีโอกาสไปอบรมมาบ้างก็เห็นว่าโซลาร์เซลล์นี้สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริง สามารถชดเชยค่าไฟฟ้าของตลาดเทศบาลได้และราคาแผง ราคาค่าติดตั้งแผงก็เริ่มลดลงจากแต่ก่อนมาก เราก็เลยมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเริ่มรณรงค์เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์บ้าง โดยแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาตลาดนี้เพิ่งเริ่มติดตั้งใช้งานเมื่อ 28 มิถุนายน 2562

แผงขายของสดในตลาดสดเทศบาลนครขอนแก่น

ตอนที่ทางทีมเทศบาลวางแผนยุทธศาสตร์กัน เรามองเรื่องการลดภาระค่าไฟฟ้าของตลาดด้วย เราทั้งรณรงค์สร้างจิตสำนึกเรื่องการประหยัดไฟแต่ก็ไม่ได้เห็นผลอะไรมาก เราก็ต้องมาคุยกับทีมว่าเราจะทำอะไรกันต่อไปเพื่อให้การประหยัดพลังงานงานมันพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป เราก็เลยลองติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 40 แผง กำลังผลิต 12.4 กิโลวัตต์ (ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยขอนแก่น) ยกตัวอย่างเดือนกันยายน 2562 โซลาร์เซลล์ก็ผลิตพลังงานได้ 1,463 กิโลวัตต์ เป็นต้น

ผลคำนวนการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็คือเราจะลดได้ปีละ 10 ตัน ลดค่าไฟได้ปีละ 18,722 บาท (จากภาระค่าไฟฟ้าที่ตลาดต้องจ่ายเดือนละ 130,000 บาท) หากคิดเป็นเดือนก็จะลดได้ราว 5,000 บาท ต่อเดือน ปัจจุบันเทศบาลที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ 10% จากความต้องการใช้ในตลาด 100% ซึ่งถือเป็นความท้าทายหนึ่งที่จะต้องพัฒนากันต่อไป

ภาพมุมสูงของแผงโซลาร์เซลล์ 40 แผง ที่ติดตั้งและผลิตพลังงานให้กับตลาดสดเทศบาลนครขอนแก่น

เพราะอะไร เทศบาลนครขอนแก่นจึงเลือกติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ตลาด

ปัจจัยแรกที่ทำให้เราเลือกตลาดเลยก็คือตลาดเราใช้ไฟฟ้าเยอะมาก ปัจจัยที่สองคือเรามองเห็นว่าที่นี่มีพื้นที่สำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ก็คือหลังคาซึ่งเรามองว่าถ้าหลังคาสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าบังแดดก็น่าจะดี นอกจากนี้ตลาดยังเป็นสถานที่ที่ใช้ไฟฟ้า 24 ชั่วโมง ชุมชนใช้ประโยชน์จากตลาดจำนวนมากเนื่องจากเป็นตลาดใหญ่กลางเมือง ยกตัวอย่างเช่นเราใช้ไฟส่องสว่างตามลานจอดรถชั้นใต้ดินทั้งวันทั้งคืน ทางทีมก็มองว่าที่นี่แหละที่เหมาะสมจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เราออกแบบเผื่อสำหรับการขยายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอนาคตด้วย หากมีงบประมาณพอก็จะติดตั้งเพิ่มก็จะติดตั้งให้เท่ากับความต้องการใช้ไฟ 100% ให้ได้  และนอกจากตลาดสดเทศบาลแห่งนี้ เรายังมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อีก 1 จุดคือที่โรงบำบัดน้ำเสียของเมือง

ส่วนเรื่องการบำรุงรักษาก็จะมีการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาตลาด ฉีดน้ำล้างฝุ่นออกเพื่อไม่ให้รบกวนการผลิตพลังงาน แต่ถ้ามีปัญหาด้านเทคนิคก็มีทีมช่างไฟของทางเทศบาลเองมาช่วยแก้ไขหรือติดต่อบริษัทที่มาติดตั้งให้ก็ได้

การติดตั้งแผงโซลาร์ที่ตลาดแห่งนี้ก็เหมือนการต่อจิ๊กซอว์เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามนโยบาย เมืองคาร์บอนต่ำอยู่ เทศบาลเองค่อยๆต่อชิ้นส่วนเล็ก ๆ นี้ ปรับปรุง พัฒนาหลาย ๆ ด้านเพื่อให้ภาพของเมืองคาร์บอนต่ำสมบูรณ์ที่สุด ค่อย ๆ ทำไปทีละอย่าง ตอนนี้ก็มีแผนว่าเทศบาลอยากเปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอด LED ทั้งเมืองเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือสถานที่ทั่ว ๆ ไปอย่าง บึงแก่นนครก็มีการเปลี่ยนเสาไฟเป็นไฟ LED ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์แล้วเหมือนกัน

การเรียนรู้พลังงานแสงอาทิตย์

นอกจากการประหยัดพลังงานที่เชื่อมโยงกับนโยบายเมืองคาร์บอนต่ำแล้ว เทศบาลเองมองเห็นว่าการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นเครื่องมือที่ให้นักเรียน นักศึกษาได้ศึกษาเรื่องพลังงานอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ในด้านนี้ก็จะมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาช่วยดูแลให้ความรู้กับนักศึกษา และทางเทศบาลก็ให้ความรู้กับบุคคลทั่วไป เพื่อช่วยปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนได้

อนาคต  “พลังงานแสงอาทิตย์”เมืองขอนแก่น

ผอ.ทัศนัยให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มของพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ในอนาคตว่า มนุษย์เราจำเป็นต้องมองถึงการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาแทนที่แหล่งพลังงานเดิมในอนาคต โดยได้แบ่งสถานการณ์สองแบบคือ หนึ่งก็จะมีกลุ่มคนที่ได้เรียนรู้ เข้าใจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนและนำพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้มาทดลองใช้จริง และกลุ่มที่สองก็คือกลุ่มที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาวการณ์นั้น ๆ คือปรับตัวเองเมื่อแหล่งพลังงานเดิมหมดไปแล้ว 

ตลาดสดเทศบาลนครขอนแก่นช่วงเช้า พ่อค้าแม่ค้านำวัตถุดิบและอาหารมาขาย

ในอนาคต พลังงานหมุนเวียนจะต้องเข้ามามีบทบาทในภาคการผลิตพลังงานอย่างแน่นอน อีกทั้งปัจจุบันนี้พลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนในการติดตั้งต่ำลงเรื่อย ๆ เราสามารถจับต้อง นำมาทดลองแล้วเห็นผลดีอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็จะมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น และถ้าหากในอนาคตเราสามารถทำระบบซื้อขายไฟฟ้าในภาคครัวเรือนด้วยระบบหักลบกลบหน่วยได้แล้ว ก็เชื่อว่าจะมีประชาชนคนธรรมดาจะสนใจอยากติดตั้งและใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น

“ภายใน 5 ปี เราอยากเห็นภาพขอนแก่นมีสถานที่ที่มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเมืองใหม่ ที่นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้จริงเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของขอนแก่น เพราะเรื่องพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำและต้องบอกสังคมด้วยว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งจำเป็น” – จุลนพ ทองโสพิศ รองนายกเทศมนตรีจังหวัดขอนแก่น

อยากฝากอะไรถึงเทศบาลฯในจังหวัดอื่น ๆ ที่กำลังขับเคลื่อนให้ท้องถิ่นของตนเองยั่งยืนขึ้น

ต้องยอมรับว่าเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ การติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นสิ่งที่หลาย ๆ จังหวัดให้ความสนใจ แต่ยังมีอุปสรรค ความท้าทายเรื่องราคาอยู่ แต่ถ้าเทศบาลมีวิสัยทัศน์ในระยะยาว สามารถบริหารจัดการเรื่องงบประมาณและสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในจังหวัดของตัวเองได้ ถ้าเทศบาลสามารถโชว์ให้คนได้เห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำมาใช้ได้ในสถานที่สาธารณะที่มีขนาดใหญ่มากกว่าบ้านเรือนและได้ประโยชน์ในระยะยาว เทศบาลนครขอนแก่นก็มองว่าจะสร้างความคุ้มค่าในด้านการเรียนรู้ของชุมชนคนเมือง จนในที่สุดประชาชนก็จะมองว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นเรื่องปกติ ใคร ๆ ก็ติดตั้งได้ ไม่ได้มองว่าเป็นเทคโนโลยีที่จับต้องไม่ได้อีกต่อไป

จุลนพ ทองโสพิศ รองนายกเทศมนตรีจังหวัดขอนแก่น , ทัศนัย ประจวบมอญ ผู้อำนวยการส่วนสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม งานบริหารกองทุนสุขภาพ เทศบาลนครขอนแก่น และทีมงาน

“หากมองเรื่องความคุ้มค่าที่ตัวเงินอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องมองให้ลึกถึงความคุ้มค่าด้านอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเมืองด้วย เช่น การกระตุ้นให้คนเมืองหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้เมืองลดการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหลัก และทำให้แต่ละเมืองมีแหล่งเรียนรู้เรื่องพลังงานหมุนเวียนเป็นของตัวเองอีกด้วย” – จุลนพ ทองโสพิศ รองนายกเทศมนตรีจังหวัดขอนแก่น

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม