รายงาน Throwing Away the Future: How Companies Still Have It Wrong on Plastic Pollution “Solutions,” ของกรีนพีซ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ กระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคตั้งคำถามต่อวิธีการแก้ปัญหาของบรรดาบริษัทข้ามชาติที่นำมาใช้รับมือวิกฤตมลพิษพลาสติก ซึ่งแนวทางแก้ไขที่ผิดๆ เหล่านี้ เช่น การหันมาใช้กระดาษ พลาสติกชีวภาพ หรือ การรีไซเคิลวัสดุไม่ได้ช่วยทำให้เราห่างไกลจากการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งแม้แต่น้อย อีกทั้งยังหันเหความสนใจของผู้คนไปจากระบบที่เป็นประโยชน์มากกว่า อย่างการเติมและการใช้ซ้ำ (Refill and Reuse)

“แม้จะมีความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความเสียหายที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้ที่พลาสติกมีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่กลับมีการคาดการณ์ว่าการผลิตพลาสติกจะยังคงขยายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า” Ivy Schlegel ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการวิจัยของกรีนพีซ สหรัฐฯ ผู้จัดทำรายงานฉบับนี้กล่าว ก่อนเสริมว่า “บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามชาติเหล่านี้ยังคงมุ่งส่งเสริมทางเลือกที่อ้างว่ายั่งยืน ทั้งๆ ที่สร้างแรงกดดันที่ไม่อาจยอมรับต่อทรัพยากรธรรมชาติ อย่างป่าไม้และพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งถูกบีบเค้นจากการใช้ประโยชน์มากเกินไปอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติก บริษัทข้ามชาติทั้งหลายต้องหันกลับมาทบทวนใหม่ว่า จะจัดการกระจายผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปยังมือผู้บริโภคอย่างไร และมุ่งลงทุนระบบการใช้ซ้ำและการเติมให้มากขึ้น “

 

ทั้งนี้ บรรดาบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลกหลายราย อย่าง เนสท์เล่, ยูนิลีเวอร์, เป๊ปซี่โค, และ พร็อกเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือ พีแอนด์จี ต่างออกมาส่งสัญญาณแสดงเจตนารมณ์ที่จะหันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่สามารถรีไซเคิล, นำกลับมาใช้ซ้ำ, ย่อยสลายได้ หรือทำจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น ขณะเดียวกัน พวกเขายังมีเป้าหมายที่จะเดินหน้า หรือแม้แต่เพิ่มการผลิตสินค้าที่บรรจุห่อหุ้มอยู่ในพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือสิ่งที่ย่อยสลายได้จากวัสดุอื่นมากขึ้น

รายงานของกรีนพีซ พบว่า  บริษัทข้ามชาติทั้งหลายกำลังลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลเชิงเคมีซึ่งมีความเสี่ยงและทำให้เกิดความหวังที่ผิดๆ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคยังคงยึดติดกับการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกต่อไป บรรดาบริษัทต่างปกปิดผลกระทบที่แท้จริงของบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ภายใต้ศัพท์เทคนิคทางการตลาดที่น่าสับสน ภาษาสื่อสารที่ข้องแวะกับคำว่า “ความยั่งยืน” และพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม โดยหวังให้ผู้บริโภคทั้งหลายหลับหูหลับตาเชื่อในคำมั่นสัญญาลวงที่พลาสติกจะได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งคำกล่าวอ้างที่ชวนให้เข้าใจผิดที่ว่า “ผลิตภัณฑ์สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ(biodegradable)” หรือ “ทำจากพืช(made from plants)” นี้ ไม่ได้หมายความว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะดีต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดมลพิษขยะพลาสติกแต่อย่างใด

“สืบเนื่องจากความวิตกกังวลของสาธารณชนที่มีต่อวิกฤตมลพิษพลาสติกทั่วโลก เรากำลังเป็นประจักษ์พยานของบรรดาบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่พยายามดิ้นรนว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยใช้วิธีแก้ปัญหาหลอกๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้กับพฤติกรรมเสพติดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งของตนต่อไป” Graham Forbes หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติกระดับโลก (Global Project Leader) ของกรีนพีซ สหรัฐฯ กล่าว ก่อนระบุเพิ่มเติมว่า  “การหันไปใช้ พลาสติกชีวภาพ, กระดาษ, บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล100%, การเผา และการรีไซเคิลเชิงเคมีทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการรับประกันว่า วิกฤตสิ่งแวดล้อมจะเลวร้ายและรุนแรงมากขึ้น และผู้บริโภคจำเป็นต้องระมัดระวังบรรดากลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อสวยหรูเพื่อให้โลกยังคงพึ่งพาการใช้พลาสติกต่อไป อย่าง พันธมิตรเพื่อยุติขยะพลาสติก (Alliance to End Plastic Waste) ที่สนับสนุนโดยบริษัทน้ำมัน ผู้ผลิตพลาสติก และบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย เราจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อบรรดาบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่าง เนสท์เล่, ยูนิลีเวอร์, โคคาโคล่า และเป๊ปซี่ โค ซึ่งโกยกำไรจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เลิกขยายการใช้งานพลาสติก และหันไปให้ความสำคัญกับการมุ่งลงทุนในระบบการใช้ซ้ำ”

จนถึงสิ้นปี 2562 การผลิตและการเผาพลาสติกทั่วโลกจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 189 โรง ขณะที่ภายในปี 2593 มีการประเมินว่า จะมีขยะพลาสติกมากถึง 12,000 ล้านตัน ปนเปื้อนในธรรมชาติ กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทข้ามชาติที่ตระหนักถึงภัยคุกคามจากพลาสติกถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบรวดเร็วและง่ายซึ่งจะเป็นการทำร้ายทำลายโลกในด้านอื่นต่อไปได้ 

ปัจจุบัน มีผู้คนมากกว่า 4 ล้านคนทั่วโลกร่วมลงชื่อ เรียกร้องให้บริษัทข้ามชาติลงมือปฏิบัติการยุติวิกฤตมลพิษพลาสติก

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม