ทรัพยากรส่วนรวมของโลก การปกป้องสิ่งแวดล้อมและอนาคต

หลายประเทศที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกต่างลุกขึ้นมาอ้างสิทธิ์ในทรัพยากรอันมีค่าที่ค้นพบในชายแดนของชาติตนเอง อีกทั้งยังได้ยื่นคำร้องขอขยายพื้นที่ใต้ทะเลที่อยู่ในเขตขั้วโลกเหนืออีกด้วย รัฐบาลและอุตสาหกรรมต่างๆ มองการเปิดพื้นที่อาร์กติกเป็นเพียงโอกาสทางธุรกิจเพื่อสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิลและทำประมงเพิ่มขึ้น ทำให้ภูมิภาคที่มีลักษณะพิเศษนี้รวมถึงทั้งโลก ตกอยู่ในความเสี่ยงที่ร้ายแรงมากขึ้น

ขณะนี้ น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกกำลังละลาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ทำให้ปริมาณน้ำแข็งในทะเลช่วงฤดูร้อนลดลงไปอย่างน้อยร้อยละ 75 ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เคยประสบมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์ และในอีกไม่ช้ามหาสมุทรอาร์กติกจะกลายเป็นเหมือนมหาสมุทรอื่นๆ ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของทั้งปี คือ กลายเป็นน่านน้ำเปิดให้มนุษย์เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และทำลายสิ่งแวดล้อม

Icescape in Greenland. © Pedro Armestre / Greenpeace

Icescape in Greenland. © Pedro Armestre / Greenpeace

อาร์กติกมีลักษณะเฉพาะและจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ แต่ในบรรดามหาสมุทรทั้งหมดของโลก เขตอาร์กติกกลับได้รับการปกป้องน้อยที่สุด เห็นได้จากพื้นที่ดังกล่าวมีสถานะเป็นพื้นที่ที่ได้รับการปกป้องน้อยกว่าร้อยละ 1.5 ของพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าจะในเขตน่านน้ำสากลหรือพื้นที่อันเป็นทรัพยากรส่วนรวมของโลก ดังนั้นอาร์กติกจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ พื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งครั้งหนึ่ง ตามพฤตินัยแล้วต้องเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลที่ได้รับการปกป้องโดยน้ำแข็งในทะเลที่มีอยู่ถาวร แต่ขณะนี้ธารน้ำแข็งในทะเลที่กำลังละลายเป็นผลจากการกระทำอันเลวร้ายโดยเจตนาของมนุษย์  จึงทำให้ปัจจุบันมหาสมุทรอาร์กติกกลายเป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อสู้เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของโลกเรา

ประเทศต่างๆ ที่อยู่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก ได้แก่ แคนาดา กรีนแลนด์ นอร์เวย์ รัสเซียและสหรัฐอเมริกา ต่างกระตือรือร้นที่จะอ้างสิทธิ์ในทรัพยากรอันมีค่าที่ค้นพบเหนือชายแดนของตน อีกทั้งยังได้ยื่นคำร้องขอขยายพื้นที่ใต้ทะเลในเขตขั้วโลกเหนืออีกด้วย รัฐบาลและอุตสาหกรรมต่างๆ มองอาร์กติกเป็นเพียงโอกาสทางธุรกิจที่จะขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลและหาปลาเพิ่มขึ้นทำให้ภูมิภาคที่มีลักษณะพิเศษนี้ รวมถึงทั้งโลกตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรง

มนุษยชาติกำลังเผชิญกับทางเลือกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือการเลือกที่จะหาประโยชน์จากทรัพยากรของมหาสมุทรที่เปราะบางและล้ำค่าที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก หรือการเลือกที่จะอนุรักษ์ไว้เพื่อคนรุ่นหลังในอนาคต และเพื่อชุมชนพื้นเมืองทางตอนเหนือในปัจจุบันที่การดำรงชีพขึ้นอยู่กับมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์

ส่วนหนึ่งของทางแก้ปัญหานั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่สามารถทำได้เพียงแค่โดยการผลักดันให้พื้นที่อาร์กติกนี้เป็นเขตคุ้มครองธรรมชาติในบริเวณน่านน้ำสากลรอบขั้วโลกเหนือ

ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดเขตคุ้มครองธรรมชาตินี้

ไม่เพียงแค่ประเทศต่างๆ ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกทั้ง 5 ประเทศที่มีน่านน้ำล้อมรอบน่านน้ำสากลเท่านั้น แต่พื้นที่ดังกล่าวนั้น “อยู่เหนือขอบเขตอำนาจศาลแห่งรัฐ” ซึ่งหมายความว่าอาร์กติกเป็นส่วนที่ประชาคมโลกต้องร่วมรับผิดชอบ ดังนั้นความรับผิดชอบจึงเป็นของทุก ๆ คน ไม่ว่าประเทศนั้นจะอยู่อีกฟากหนึ่งของโลกหรือเป็นประเทศที่ไม่ติดทะเลเลยก็ตาม ทั้ง 5 ประเทศซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก รวมถึงรัฐที่เป็นสมาชิกสภาอาร์กติกต้องร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อรักษาเขตคุ้มครองธรรมชาติแห่งอาร์กติก ซึ่งเป็นความร่วมมือที่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้สำเร็จได้

เขตคุ้มครองธรรมชาติในพื้นที่สากลนี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองทางทะเลที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกทั้ง 5 ประเทศนั้นด้วย

เครือข่ายนี้ต้องเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดการระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งในกฎข้อบังคับของสภาอาร์กติกอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามแม้ว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์จะพยายามผลักดันประเด็นนี้มาเกือบ 20 ปี แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นเพียงความฝันที่ห่างไกล

Polar Bear at Robeson Channel. © Nick Cobbing / Greenpeace

Polar Bear at Robeson Channel. © Nick Cobbing / Greenpeace

การสร้างเขตคุ้มครองธรรมชาติในน่านน้ำสากลของอาร์กติก

Arctic Sanctuary การนำกฎของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลหรือ UNCLOS มาปรับใช้ในประเด็นดังกล่าว ก็เพื่อเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายให้ประเทศต่างๆร่วมมือกันในการปกป้องและจัดการสิ่งมีชีวิตในเขตอาร์กติกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงน่านน้ำที่มีน้ำแข็งปกคลุม ต้องมีการทำพันธะสัญญาทางการเมืองโดยประชาคมโลกเพื่อรับรองการปกป้องทางทะเล ใน พ.ศ. 2553

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ CBD ได้ตั้งเป้าสำหรับเครือข่ายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้องทางทะเล ทั้งภายในและภายนอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 10 ภายใน พ.ศ. 2563 และเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล (ข้อตกลงจากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ X/29 ย่อหน้าที่ 32) กระบวนการภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อระบุพื้นที่ทางทะเลที่มีความสำคัญทางชีวภาพ (EBSA) ซึ่งรวมถึงมหาสมุทรอาร์กติก จะทำให้รัฐบาลต่างๆ มีพันธะในการให้ความร่วมมือเพื่อออกมาตรการปกป้องพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ภัยคุมคามนั้น ซึ่งหมายรวมถึงบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกตอนกลาง

รากฐานและความเข้มแข็งของกฎหมาย การปฏิบัติงานด้านการเมืองและสิ่งแวดล้อมจะต้องชัดเจน แม้จะมีช่องว่างในเรื่องการปกครองเขตอาร์กติก แต่ก็มีอีกหลากหลายวิธีในการสร้างเขตคุ้มครองธรรมชาติขึ้นมา วิธีที่ง่ายที่สุดคือสร้างข้อตกลงแบบพหุภาคีที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และย่อมมีความเป็นไปได้สำหรับประเทศที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก ในการร่วมมือกับประชาคมนานาชาติโดยสร้างข้อตกลงแบบพหุภาคีเพื่อควบคุมกิจกรรมการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ และกิจกรรมทางทหารในบริเวณน่านน้ำสากลเหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศเหล่านั้น ข้อตกลงว่าด้วยการค้นหาและกู้ภัยแห่งอาร์กติก (The Arctic Search and Rescue Agreement) และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ การเตรียมความพร้อมและการตอบสนองเพื่อรับมือกับมลภาวะเกี่ยวกับน้ำมันในทะเลบริเวณอาร์กติก  (Agreement on Cooperation and Marine Oil Pollution Preparedness and Response in the Arctic) เป็นตัวอย่างล่าสุดของสนธิสัญญาในระดับภูมิภาคสองฉบับที่ได้ข้อสรุปจากสมาชิกสภาอาร์กติก แสดงให้เห็นว่าหากมีความแน่วแน่ทางการเมืองมากพอรัฐบาลต่างสามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายได้

อ่านหรือดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่


แปลและเรียบเรียงโดย รุ่งธิวา สันป่าแก้ว อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม