บทคัดย่อ

ข้าว “สีทอง” (Golden rice) เป็นสายพันธุ์ข้าวที่ได้จากกระบวนการทาง

พันธุวิศวกรรม (genetically engineered) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การดัดแปลงพันธุกรรม (genetically modified – GM)  ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อผลิตสารตั้งต้นของวิตามินเอ หรือเบต้าแคโรทีน ผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการนี้วาดภาพข้าวสีทองว่า เป็นวิธีแก้ปัญหาทางเทคนิคที่รวดเร็วสำหรับภาวะการขาดวิตามินเอในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ แต่ที่จริงแล้ว ข้าว “สีทอง” ไม่เพียงแต่จะเป็นเครื่องมือที่ไร้ประสิทธิภาพในการต่อสู้กับปัญหาการขาดวิตามินเอเท่านั้น แต่โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์ และคุกคามความมั่นคงทางอาหารด้วย

แม้ว่าข้าวทองจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี แต่ก็ยังไม่มีการนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้เนื่องมาจากความซับซ้อนของพันธุวิศวกรรม ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพืชผลิตสารเบตาแคโรทีนได้อย่างไร ทั้งนี้ความซับซ้อนของพันธุวิศวกรรมก็ยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดผลกระทบที่คาดเดาไม่ได้สูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางอาหาร แต่การประเมินความปลอดภัยทางอาหารก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับผู้ออกกฏระเบียบ เพราะสาระสำคัญของหลักการของความเท่าเทียมกัน (substantially equivalent) ยังไม่สามารถนำมาปรับใช้กับข้าวสีทองได้ อีกทั้งยังมีปัญหาด้านเทคนิคอีกหลายประการเกี่ยวกับเบตาแคโรทีนในข้าวสีทอง เป็นต้นว่า ที่จริงแล้วสารที่ผลิตได้คืออะไร ผลิตได้แน่นอนแค่ไหน และอะไรจะเกิดขึ้นหากสารที่ผลิตออกมานั้นเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

ขณะที่ความปลอดภัยทางอาหารของข้าวสีทองยังเป็นปัญหาอยู่ สิ่งที่เรารู้แน่ชัดก็คือข้าวจีอีจะทำให้ข้าวที่ไม่ใช่ข้าวจีอีเกิดการปนเปื้อน โดยเฉพาะข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิมและข้าวพันธุ์พื้นเมือง การที่แหล่งอาหารถูกปนเปื้อนจากพันธุวิศวกรรมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ หากส่งเสริมการบริโภคอาหารหลักเพียงอย่างเดียวแทนที่จะเพิ่มพืชผักหลากหลายชนิดซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ และหากมีการบริโภคข้าวสีทองกันอย่างแพร่หลายก็จะทำให้ภาวะทุพโภชนาการเลวร้ายขึ้น สุดท้ายแล้วจะเป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร น่าเสียดายว่าเงินกว่าหลายสิบล้านดอลล่าร์ที่ทุ่มไปกับโครงการนี้ควรจะถูกนำมาใช้แก้ปัญหาภาวะการขาดวิตามินในรูปแบบอื่นที่ได้ผล ข้าวสีทองเป็นเพียงแนวทางที่ผิดและเป็นการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ โครงการนี้ผลาญทรัพยากรสำคัญ ๆ ไปกับเรื่องที่ไม่ใช่สาเหตุแท้จริงของการขาดวิตามินเอและภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งส่วนใหญ่คือความยากจนและการเข้าไม่ถึงแหล่งอาหารที่หลากหลาย นี่คือความเสี่ยงของการแก้ปัญหาที่ผิดทิศผิดทาง ไม่สนใจวิธีที่ใช้กันอยู่ซึ่งได้ผลดีกว่าในการต่อสู้กับการขาดวิตามินเอและภาวะทุพโภชนาการทั้งยังไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้ต่อสุขภาพของเราอีกด้วย

บทสรุป

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่งบประมาณหลายล้านดอลล่าร์ถูกใช้ไปกับโครงการนี้ แต่ข้าว “สีทอง” ก็ยังคงเป็นเพียงภาพลวงตา เป็นเพียงแค่โครงการวิจัยที่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี นั่นเพราะข้าวจีอีจะทำลายข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิม ข้าวพันธุ์พื้นเมือง และข้าววัชพืชป่า ด้วยการผสมข้ามสายพันธุ์และการผสมเมล็ด ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อม การเกษตร และวัฒนธรรม ทั้งยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร นอกจากไม่มีใครเข้าใจดีนักว่าการสังเคราะห์เบตาแคโรทีนในพืชทำได้อย่างไรแล้ว ความซับซ้อนของพันธุวิศวกรรมก็ยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดผลกระทบที่คาดเดาไม่ได้สูงขึ้น และไม่มีใครรู้ว่าข้าวทองมีความปลอดภัยทางอาหารต่อมนุษย์หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงทางชีวเคมีของพืช และคำถามทางเทคนิคว่าเมื่อได้รับเบตาแคโรทีนจากข้าวสีทองไปแล้วร่างกายมนุษย์จะมีปฏิกิริยาอย่างไร ทั้งนี้ เราไม่สามารถนำข้าวสีทองไปพิจารณาในสาระสำคัญของหลักการความเท่าเทียมกัน (substantially equivalent) ได้ กล่าวคือเราไม่สามารถประเมินข้าวชนิดนี้ด้วยกฎระเบียบที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ และข้าวสีทองจีอีก็ไม่ใช่คำตอบของภาวะการขาดวิตามินเอไม่ว่าจะมีปริมาณเบตาแคโรทีนอยู่มากน้อยเพียงไร ข้าวสีเป็นเพียงแนวทางที่ผิดพลาดเท่านั้น

ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ทั่วโลกพยายามต่อสู้กับภาวะขาดวิตามินเอโดยใช้วิธีการที่ปลอดภัยกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า หรือหากจำเป็นจริง ๆ ก็สามารถใช้การเสริมอาหารแบบชีวภาพ (Biofortification) ที่ไม่ต้องพึ่งพาพันธุวิศวกรรมแต่อย่างใด พืชที่ไม่ใช่จีอีและได้รับการเสริมอาหารแบบนี้มีอยู่แล้วทั้งในเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรและในอาหารของเรา การทุ่มเวลาและงบประมาณไปกับการพัฒนาข้าวทองนั้นไม่ใช่แค่การไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติอีกด้วย

แปลและเรียบเรียงโดย โชติมา ใช้เทียมวงศ์ อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก