บทสรุป

การที่ผู้นำประชาคมอาเซียน 10 ประเทศเตรียมมาพบกันที่กรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน 2562 นี้ นับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ไม่มีประเด็นการนำเข้าขยะพลาสติกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา หลายประเทศในอาเซียนเหล่านี้ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย พยายามผลักดันการไหลบ่าของขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์และวัสดุซึ่งไม่เป็นที่ต้องการที่ส่งมาจากประเทศพัฒนาแล้ว นับตั้งแต่ประเทศจีนตัดสินใจห้ามนำเข้าในช่วงปลายปี 2560 และเมื่อดูจากสถิติก็รู้ได้โดยง่ายว่าเป็นเพราะเหตุใด โดยระหว่างปี 2559-2561 การนำเข้าขยะพลาสติกในภูมิภาคอาเซียนเติบโตอย่างน่าตกใจถึงร้อยละ 171 จาก 836,529 ตันเป็น 2,265,962 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 423,544 ใบ

ที่แย่ไปกว่านั้น ขยะส่วนใหญ่ติดป้ายผิดว่า “รีไซเคิลได้” แม้ว่าวัสดุที่ขนส่งมานั้นประกอบด้วยขยะพลาสติกปนเปื้อนและขยะอื่นๆ ที่ผสมปนเปกันจำนวนนับแสนตันจากประเทศพัฒนาแล้วซึ่งไม่สามารถผ่านกระบวนการแปรรูปได้ การนำเข้าบางส่วนขนส่งมาอย่างผิดกฎหมายปล่อยให้ประเทศผู้รับที่ไม่มีความสามารถรับมือกับขยะเหล่านี้ต่อสู้กับขยะมหาศาลเอาเอง

เมื่อการนำเข้าพุ่งทะยานขึ้น ประเทศต่างๆ หามาตรการเพื่อรับมือกับการไหลบ่าของขยะที่เพิ่มขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ ทั้งมาเลเซียและฟิลิปปินส์ได้ส่งขยะกลับสู่ประเทศต้นทาง ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะห้ามนำเข้าขยะพลาสติกภายในปี2564 มาเลเซียยุติการให้ใบอนุญาตใหม่แก่การนำเข้าขยะพลาสติก เช่นเดียวกับเวียดนามที่ยุติให้ใบอนุญาตใหม่สำหรับการนำเข้าขยะและจัดการกับการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย เมื่อปรากฎว่าขยะโลหะ พลาสติก และกระดาษนับพันตันกองอยู่ที่ท่าเรือของประเทศ ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

แต่มาตรการที่กระทำโดยลำพังเหล่านี้ไม่สามารถตอบโจทย์วิกฤติขยะระดับโลกได้ มีหลักฐานยืนยันว่าเมื่อประเทศต่างๆ บังคับใช้นโยบายห้ามนำเข้าและแผนรับมือสำรอง มันเพียงแค่ช่วยย้ายปัญหาไปที่อื่นเพราะผู้นำเข้าจะมองหาพื้นที่ที่กฎหมายและข้อบังคับอ่อนแอกว่า และยังไม่ได้มุ่งไปสู่ประเด็นที่เป็นต้นตอของปัญหา ทำไมการทิ้งพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจึงเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดในการจัดการทรัพยากรและการจัดการขยะที่ดี ทั้งในอาเซียนและทั่วโลก

ในข้อเสนอเชิงนโยบายต่อประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอดปี 2560 กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เรียกร้องให้ยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งและกระตุ้นผู้นำทั้งหลายให้ควบคุมการใช้และการผลิตพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าเป็นไปอย่างเชื่องช้าและประเด็นเหล่านี้ยังดำรงอยู่ถ้าวิกฤตินี้ถูกมองข้ามไป

เมื่อปีที่แล้วกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้บันทึกหลักฐานเน้นย้ำให้เห็นความเสี่ยงหลักที่ขยะเหล่านี้จะมีต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตโดยรอบ เมื่อพื้นที่บริสุทธิ์ถูกเปลี่ยนไปเป็นที่ทิ้งขยะชั่วข้ามคืน2 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขอเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนนำประเด็นนี้เข้าสู่วาระการประชุมสุดที่จะมาถึงและประกาศแถลงการณ์ร่วมที่จะต่อกรกับวิกฤติขยะพลาสติกของภูมิภาค

กรีนพีซนำเสนอยุทธศาสตร์ 3 ประการต่อประเทศสมาชิกอาเซียนนำไปขับเคลื่อนและทำงานอย่างเร่งด่วนเพื่อไปสู่ “โลกที่ปราศจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง”

  • ห้ามการนำเข้าขยะพลาสติก รวมถึงการนำเข้า “เพื่อรีไซเคิล” และรับรองว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะให้สัตยาบันในข้อแก้ไขเพิ่มเติมในอนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment)
  • สร้างนโยบายระดับภูมิภาคแบบองค์รวมที่มุ่งสู่การลดการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างมีนัยสำคัญ และเอื้อให้เกิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ.และระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้า
  • ผลักดันกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมบนพื้นฐานของแนวทางขยะเหลือศูนย์(zero waste) ที่ปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพาแบบแผนการถลุงใช้ทรัพยากร การผลิต การบริโภคและการเกิดของเสียอย่างไร้ขีดจำกัด

อ่านหรือดาวน์โหลดรายงาน ที่นี่