
ไม่นานมานี้ปัญหาฝุ่นพิษในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ําโขงได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.2558 และ พ.ศ.2562 และได้มีการสันนิษฐานถึงสาเหตุของปัญหาที่ทําให้ระดับความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้น คือ การปลูกข้าวโพดภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาทั้งประเทศไทย เมียนมา และ สปป.ลาว ซึ่งทําให้เกิดปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นับว่าเป็นหนึ่งในวัตถุดิบในการผลิตอาหารสําหรับสัตว์เลี้ยงแทนที่เศษข้าวหัก เนื่องจากมีราคาถูกกว่า
โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น ทําให้ความต้องการการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น โดยประเทศไทยมีกําลังการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 5 ล้านตัน และใช้ผลิตอาหารสัตว์สําหรับปศุสัตว์ภายในประเทศเกือบทั้งหมด สปป.ลาวและกัมพูชาผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละราว 1 ล้านตัน และใช้ภายในประเทศเกือบทั้งหมด คือ 7-8 แสนตัน ที่เหลือจึงส่งมาขายยังประเทศไทย (กรมส่งเสริมสหกรณ์, 2560) ขณะที่ประเทศเมียนมาผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 2 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศเพียงส่วนน้อย ส่งออกไปยังประเทศจีนกว่าร้อยละ 70-80 ของผลผลิต และการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาร้อยละ 60-70 ดําเนินการโดยบริษัท Myanmar CP Livestock Company (MCPLC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ของไทย (USDA Foreign Agricultural Service, 2015)
เป็นที่น่าสังเกตว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมาคือพื้นที่ในบริเวณรัฐฉาน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับภาคเหนือของประเทศไทย จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวทําให้เกิดความสนใจในการติดตามพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีการถูกกล่าวถึงว่าเป็นสาเหตุของการเพิ่มระดับความรุนแรงของปัญหาหมอกควันในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้
นอกจากนี้ ยังติดตามหาความสัมพันธ์ของร่องรอยของพื้นที่เผาไหม้ และจุดความร้อน เพื่อระบุและหาคําตอบว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นปัจจัยหรือสาเหตุของการเกิดปัญหาหมอกควัน ซึ่งการศึกษาครั้งนี้เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านรีโมทเซนซิงด้วยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Terra/AQUA ระบบ MODIS ข้อมูล vegetationindices (MOD13Q1) ความละเอียดเชิงพื้นที่ 250 เมตร เพื่อศึกษาแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน/สิ่งปกคลุมดิน (เน้นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) และร่องรอยการเผาไหม้ และดาวเทียม Suomi-NPP ระบบ VIIRS ที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ 375 เมตร เพื่อตรวจหาจุดความร้อน (Hot spot) ระยะเวลาการศึกษาได้ถูกออกแบบไว้ในช่วงปี พ.ศ. 2567 เน้นข้อมูลรายเดือนของเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี
นอกจากนี้ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลรายปีของทุกปีในพื้นที่กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ําโขง ประกอบไปด้วยพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้สามารถนําไปเป็นแนวทางขั้นต้นในการตอบคําถามแหล่งที่มาของหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สามารถนําผลลัพธ์เป็นแนวทางสําหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่ในการรับผิดชอบในการหาแนวทางในการลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาต่อไป

ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ
เราทำงานรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัยข้อมูล รายงานทางวิทยาศาสตร์ และรณรงค์กับประชาชนด้วยข้อมูลเหล่านี้