เครือข่ายประชาชนไม่เอากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในฐานะพื้นที่กลางขององค์กรชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด และองค์กรเครือข่ายภาคีระหว่างภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 94 องค์กร ยื่นหนังสือคัดค้านการร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และจะมีการประกาศให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษในทุกภูมิภาคของประเทศไทยในอนาคตต่อไป กฎหมายดังกล่าวคือเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลและกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ รวมถึงโครงการการแลนด์บริดจ์ระนองด้วย

เนื้อความในจดหมายตอนหนึ่งระบุว่า “เครือข่ายประชาชนไม่เอากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสร้างอำนาจพิเศษเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนพิเศษบางกลุ่ม ผ่านการออกกฎหมายพิเศษ เช่น กฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมทั้งร่างกฎหมาย ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และที่จะมีการผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ไปทุกภูมิภาคในอนาคต โดยมีเหตุผลสำคัญคือ
1.กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีลักษณะของการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างประชาชนกับนักลงทุน โดยมีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่แล้วร่วม 20 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน การจัดการทรัพยากรและพื้นที่อนุรักษ์ การประกอบอาชีพสงวน การเงิน แรงงาน ผังเมือง และอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่พลเมืองไทยไม่เคยได้รับ หรือไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย แต่กฎหมายดังกล่าวนั้นกลับเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนักลงทุน (ต่างชาติ) เกือบทุกมิติ
2.ร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ที่ให้สิทธิพิเศษและยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับคนบางกลุ่ม มีลักษณะเข้าข่ายขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะมาตรา 4 ที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง … (วรรคสอง) ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน” และมาตรา 27 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน … (วรรคสาม) การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิดเชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”
3.ร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ รวมไปถึงพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ที่บังคับใช้ไปแล้วนั้น มีลักษณะของการสร้างอำนาจการบริหารประเทศในพื้นที่พิเศษขึ้นมาอีกอำนาจหนึ่งที่อาจเข้าข่ายเป็นการแบ่งแยกการปกครอง ถึงแม้รัฐบาลจะอ้างเหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ทางทางเศรษฐกิจของประเทศ หากแต่ยังมีข้อสงสัยว่าสามารถกระทำได้บนพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรตีความทบทวนเรื่องนี้อย่างระมัดระวังรอบคอบ ทั้งต้องอาศัยรับฟังความคิดและความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อครั้งที่มีการบัญญัติกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้นครั้งแรกในในยุครัฐบาล คสช. นั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศอยู่ในการปกครองแบบพิเศษ ที่ประชาชนแทบจะแสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลไม่ได้เลย ซึ่งหากรัฐบาลปัจจุบันจะสืบทอดนโยบายเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษต่อไป จึงต้องพิจารณาใคร่ครวญให้รอบด้าน
4.พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือ EEC เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาแล้วเกิน 5 ปี และมีข้อสังเกตจากการศึกษาประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายโดยกลุ่มนักวิชาการอิสระ ค้นพบว่า EEC เป็นกฎหมายที่มีความล้มเหลวในการบังคับใช้หลายกรณี อาทิ ความหละหลวมในการบริหารจัดการมลพิษและกากสารเคมี การคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการอยู่อาศัยและทำกิน รวมถึงเรื่องกองทุนการช่วยเหลือเยียวยา ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงภายใต้กฎหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงไม่ควรนำความล้มเหลวเหล่านั้นมาดำเนินการให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้หรือภาคอื่น ๆ อีกต่อไป

นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนไม่เอากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังเสนอให้รัฐบาลจัดทำแผนการพัฒนาประเทศแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยตั้งอยู่บนฐานศักยภาพของแต่ละภูมิภาคที่มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน โดยการพัฒนาเหล่านั้นจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงยั่งยืนด้านสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องไม่ละเลยทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องตั้งอยู่บนหลักความเท่าเทียมและเป็นธรรม