โครงการ Carbon Capture and Storage(CCS) นอกชายฝั่งกำลังถูกผลักดันในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ในช่วงกลางปี ​​2566 บริษัทและรัฐบาลต่างๆ ประกาศแผนการก่อสร้างโครงการ offshore CCS มากกว่า 50 แห่งทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือโครงการ CCS ที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย

จนถึงปัจจุบัน ประสบการณ์ทั่วโลกในเรื่อง offshore CCS นั้นมาจากโครงการเพียง 2 โครงการในนอร์เวย์ ซึ่งประสบปัญหาที่คาดเดาไม่ได้ แม้จะมีการออกแบบที่ค่อนข้างเรียบง่ายและมีขนาดเล็ก ก็พิสูจน์ความซับซ้อนของ offshore CCS และทำให้เกิดความกังวลอย่างจริงจังถึงโครงการ CCS ที่มีขนาดและขอบเขตที่ใหญ่ขึ้น

การผลักดันโครงการ offshore CCS อยู่บนแนวคิดแบบเดียวกับที่ทำให้มหาสมุทรตกอยู่ในภาวะวิกฤตในปัจจุบัน นั่นคือ มองเห็นทะเลและมหาสมุทรในฐานะแหล่งทรัพยากรที่ไร้ขีดจำกัดในการแสวงหาผลประโยชน์ และเป็นแหล่งกักเก็บของเสียของมนุษยชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กิจกรรมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งที่มีอยู่เดิมสร้างผลกระทบต่อทะเลและมหาสมุทรจากการที่มีการรั่วไหลตามท่อส่งบ่อยครั้ง ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่เลิกใช้งานแล้วมักจะถูกปล่อยทิ้งไว้ที่พื้นทะเลโดยไม่ได้รับการตรวจสอบ

ความล้มเหลวของอุตสาหกรรมและหน่วยงานกำกับดูแลในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานนอกชายฝั่งนี้ ทำให้เกิดคำถามต่อความสามารถในการจัดการโครงข่ายอุปกรณ์ใต้ทะเลทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับ offshore CCS ได้อย่างปลอดภัย การรั่วไหลและอุบัติเหตุอื่นๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ละเอียดอ่อน และทำให้น้ำทะเลโดยรอบมีความเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลให้เกิดวิกฤตความเป็นกรดในมหาสมุทร ผลกระทบดังกล่าวเชื่อมโยงกับสิทธิการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีรวมถึงสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

กรีนพีซ ประเทศไทย ขอแสดงข้อกังวลต่อแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินการ offshore CCS ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.)รวมถึงข้อกังวลหลักต่อไปนี้ :

  1. จากรายงาน Carbon Majors [1] ปตท.สผ.จัดอยู่ในอันดับ 96 จากจำนวนกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ก๊าซฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุด 122 แห่งของโลก ขณะเดียวกัน ปตท.สผ. ยังเป็นสมาชิกของ International Association of Oil and Gas Producers (IOGP) ซึ่งมีส่วนร่วมในนโยบายสภาพภูมิอากาศในทางลบโดยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น [2]
  2. ในฐานะที่ ปตท.สผ. เป็นหนึ่งในผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่จะต้องมีภาระรับผิด(accountability) โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างแท้จริง (real zero) และยุติการผลักภาระให้กับผู้คน ชุมชน สังคมและโลกใบนี้ผ่านกลไกชดเชยคาร์บอน

จากข้อกังวลดังกล่าวข้างต้น กรีนพีซ ประเทศไทย เชื่อมั่นว่า ด้วยการลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างแท้จริง (real zero)  ปตท.สผ. จะสามารถเป็นผู้นำระดับโลกเพื่อกู้วิกฤตโลกเดือด กรีนพีซ ประเทศไทย คาดหวังถึงการสนทนาอย่างมีความหมายของทั้งสองฝ่ายในเรื่อง offshore CCS ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วน

กรีนพีซ ประเทศไทย ส่งจดหมายฉบับนี้ถึงบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

  1. ปตท.สผ.ในฐานะเป็นอุตสาหกรรมฟอสซิลที่มีส่วนสำคัญในการก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศยกเลิกแผนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเลในทันที
  2. เปิดเผยต่อสาธารณะชนถึงรายงานการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) และรายงานการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ที่เกี่ยวข้องของโครงการ CCS ที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย และโครงการ Eastern Thailand CCS Hub รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง