“ลด” เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรม “เพิ่ม” สุขภาวะที่ดีของมนุษย์และโลก

อ่านวิสัยทัศน์ของกรีนพีซต่อการลดผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2593

อาหารที่เรากินและวิธีการที่เราผลิตเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าอนาคตของลูกหลานของเราเป็นแบบไหน ในรายงานฉบับนี้ เราพยายามตอบคําถามที่ว่า “กินอะไรดี” โดยพิจารณาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของโลกจะช่วยปกป้องสุขภาวะของผู้คนและโลกได้อย่างไร และคำตอบนั่นก็คือการที่ทั่วโลกลดการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2593 และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต

ระบบอาหารของเรา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินที่เชื่อมโยงกับการเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงหนึ่งในสี่ส่วนของการปล่อยก๊าซทั้งหมด ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอ ๆ กันกับภาคการคมนาคมขนส่ง หากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหาร ในปี พ.ศ. 2593 อาจเพิ่มเป็นครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์

ผลกระทบจากการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมต่อความหลากหลายทางชีวภาพยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โลกสูญเสียสัตว์ป่าลงเกือบครึ่ง แต่จำนวนประชากรปศุสัตว์กลับเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมที่มากขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่า การก่อให้เกิดเขตมรณะในมหาสมุทร (เขตหรือน่านน้ำในมหาสมุทรที่ขาดออกซิเจนจนทำให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้) และก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของน้ำจืดทั่วโลก

บางทีสิ่งที่เลวร้่ายที่สุดคือ การเพิ่มขึ้นของการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเชิงอุตสาหกรรม เป็นตัวการที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติการสุขภาวะทั่วโลก การบริโภคเนื้อเนื้อแดงมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคเบาหวาน การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังเกี่ยวข้องกับการดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศว่าเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก” และเป็นแหล่งของเชื้อโรคร้ายแรงที่มาจากอาหาร เราจะสามารถปกป้องชีวิตของผู้คนนับล้านได้ หากพวกเขาสามารถเข้าถึงอาหารที่อุดมด้วยพืชผักได้มากกว่านี้

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนนี้ต้องถูกแปลงสู่การปฏิบัติทั่วทั้งโลก กรีนพีซจะทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อดูแลผู้คนและโลกของเราโดยการยืนหยัดต่อสู้กับการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างระบบอาหารโลกที่เป็นธรรมและยั่งยืนต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม เราเรียกร้องให้รัฐบาลยุตินโยบายที่สนับสนุนเนื้อสัตว์และการผลิตนมเชิงอุตสาหกรรม และช่วยให้เกษตรกรเปลี่ยนไปสู่การทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศ นอกจากนี้เรายังเรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมอาหารที่มาจากพืชผักเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย และชักชวนให้ผู้คนทั่วโลกเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในการลดการกินเนื้อสัตว์และหันมากินพืชผักให้มากขึ้น เพื่อสุขภาวะของโลกที่ดีขึ้น

อ่านหรือดาวน์โหลดรายงาน ที่นี่